ปักหมุดเที่ยวงาน'มรดกสยาม 3 สมัย'

เปิดพื้นที่จัดงาน’มรดกสยาม3 สมัย’ เชื่อมโยงคนรุ่นใหม่สู่เรื่องราววัฒนธรรมล้ำค่า พาย้อนรอยจากทวารวดี สุโขทัย สู่อยุธยาผ่านทัวร์ประวัติศาสตร์ ชมวัด-มิวเซียม-โบราณวัตถุชิ้นสำคัญ

14 มิ.ย.2567 ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร นางยุพา  ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เป็นประธานเปิดงาน Happy Journey with BEM “มรดกสยาม ๓ สมัย” โดยมีนายเจษฎา ชีวะวิชวาลกุล รองอธิบดีกรมศิลปากร นายอนวัช สุวรรณฤทธิ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM นายอภิรัตน์ ทวีทรัพย์ รองผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานกรุงเทพฯ นางสาวจิรนันท์ วรจักร ผู้ช่วยผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) เข้าร่วมงาน

นางยุพา กล่าวว่า สำหรับการจัดงาน”มรดกสยาม ๓ สมัย” จากทวารวดี สุโขทัย สู่กรุงศรีอยุธยา ถือเป็นกิจกรรมที่เปิดมุมมองให้กับประชาชน ให้เห็นว่า ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมมีความเป็นมาที่ยาวนาน แต่ละยุคสมัยมีอัตลักษณ์ที่แตกต่างกัน การที่ BEM และภาคีเครือข่ายต่างๆ อาทิ ททท.  กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ได้ให้การสนับสนุน ถือเป็นการช่วยกันดูแลรักษาวัฒนธรรม เปิดพื้นที่ทางวัฒนธรรมให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว ประชาชนได้มาสัมผัสศิลปวัฒนธรรม ย้อนรอยประวัติศาสตร์แต่ละยุคสมัย เป็นกิจกรรมที่ประชาชนให้ความสนใจ จากการเปิดงานในวันแรกมีประชาชนทุกเพศทุกวัยหลั่งไหลเข้ามาเที่ยวชมงานที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร จำนวนมาก

 “ งานนี้จะส่งเสริมให้ประชาชนได้ความรู้ ได้สัมผัสความงดงาม และความเจริญรุ่งเรืองของศิลปวัฒนธรรมทั้ง 3 ยุค อันเป็นอารยธรรมของประเทศไทยที่มีมายาวนานสืบเนื่องจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ การเปิดพื้นที่จัดกิจกรรมเสวนาให้ความรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมกับประชาชน ถือว่ามีความสำคัญในการส่งเสริมความรู้ สร้างแรงกระเพื่อมด้านศิลปวัฒนธรรมในวงกว้าง ไม่จำกัดเฉพาะคนในแวดวงศิลปวัฒนธรรมหรือนักประวัติศาสตร์เท่านั้น รวมถึงดึงดูดให้คนรุ่นใหม่สนใจประวัติศาสตร์มากขึ้น เพราะกิจกรรมภายในงานมีความสนุกสนาน จุดประกายให้เยาวชนไทยหันมาสนใจประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรมของชาติ วธ.ในฐานะหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบเรื่องนี้ขอบคุณทุกภาคส่วนที่มาร่วมกันจัดกิจกรรมดีๆ ถือเป็นการพัฒนาความร่วมมือไปอีกก้าว และอนาคตจะขยายความร่วมมือในการส่งเสริมการท่องเที่ยวเส้นทางประวัติศาสตร์รอบเกาะรัตนโกสินทร์ ที่มีทั้งพิพิธภัณฑ์ วัดวาอาราม ตลอดจนชุมชนในย่านต่าง ๆ ซึ่งปัจจุบันการเดินทางท่องเที่ยวรอบเกาะรัตนโกสินทร์มีความสะดวกสบาย เนื่องจากระบบขนส่งมวลชนรองรับ ส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมได้ง่ายยิ่งขึ้น” นางยุพา กล่าว

บรรยากาศ การเปิดงาน Happy Journey with BEM ปีที่ 3 ภายใต้ธีม “มรดกสยาม ๓ สมัย” เป็นไปอย่างคึกคัก ตั้งแต่ช่วงเช้าได้รับความสนใจจากประชาชนและนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าร่วมงานจำนวนมาก ก่อนการเปิดงานอย่างเป็นทางการ ปลัด วธ. พร้อมด้วยผู้บริหาร BEM ผู้บริหาร ททท. เยี่ยมชมประติมากรรมสำริดรูปพระศิวะ (The Standing Shiva) หรือ Golden Boy และประติมากรรมรูปสตรีพนมมือ ซึ่งจัดแสดงที่ห้องศิลปะลพบุรี พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

นอกจากนี้ ยังมีการจัดเวทีการแสดง ตีกลองสะบัดชัย ซึ่งเป็นศิลปะการแสดงพื้นบ้านแห่งล้านนา และสนุกสนานกับการแสดงเพลงฉ่อย มรดกสยาม ๓ สมัย ที่แต่งขึ้นเป็นพิเศษเฉพาะในงานนี้ จัดการแสดงโดยสำนักการสังคีต กรมศิลปากร หลังจบการแสดง ปลัด วธ. ประธานในพิธีตีกลองสะบัดชัยเพื่อเปิดงานอย่างเป็นทางการ ภายในงานยังมีการเปิดบูท จำหน่ายอาหารไทย อาทิ น้ำตาลปั้นโบราณ ขนมไทย ขนมฝรั่งกุฎีจีน เมี่ยงกลีบบัวบ้านสวน เป็นต้น

สำหรับกิจกรรม Happy Journey with BEM “มรดกสยาม ๓ สมัย” จัดขึ้นตลอด 3 วันเต็ม ตั้งแต่วันที่ 14-16 มิถุนายน 2567 เวลา 09.00-20.00 น. (ภายในอาคารพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เปิดให้บริการตามเวลาปกติ คือ 09.00-16.00 น.) 

ตารางกิจกรรมวันเสาร์ที่ 15 มิถุนายน 2567  ธีมมรดกโลกสุโขทัย พบกับ History Trip กับเส้นทางที่ ดร.ธนภัทร์ ลิ้มหัสนัยกุล แฟนพันธุ์แท้วัดไทย ผู้จารึกสถิติไปวัดเกิน 1,500 แห่ง คัดสรรมาบอกเล่าเรื่องราวแบบเต็มอิ่ม เริ่มต้นที่ มิวเซียม สยาม ก่อนเดินเท้าสู่ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามฯ หรือวัดโพธิ์ ท่าเตียน อีกหนึ่งมรดกล้ำค่าของไทยที่โด่งดังในระดับโลก ศูนย์รวมองค์ความรู้สมฉายา “มหาวิทยาลัยแห่งแรกของคนไทย” เดินชมจารึกตำรา ศาลานวด สถาปัตยกรรม ประติมากรรม วรรณคดี และอีกมากมาย จากนั้นไปต่อยัง ‘วังท่าพระ’ อันเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยศิลปากรในปัจจุบัน ผ่านเรื่องราวมากมายในหลากยุคสมัย แล้วแวะไปเรียนรู้เกร็ดประวัติศาสตร์ของ ตึกถาวรวัตถุ หรือ ตึกแดง ก่อนเดินเท้าไปยัง วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ แล้วปิดจบที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร สถานที่รวบรวมโบราณวัตถุล้ำค่าของชาติ

นอกจากนี้ มีกิจกรรม Exclusive Talk & Walk ในหัวข้อ ‘มรดกโลกสุโขทัย ย้อนรอยความรุ่งเรืองเมืองพระร่วง’ พร้อมชมห้องศิลปะสุโขทัย ภายในพิพิธภัณฑ์ พระนคร ส่องอักขระศิลาจารึกหลักที่ 1 ถกปัญหา ‘สุโขทัย’ คือราชธานีแรกของไทย จริงหรือไม่? ในขณะที่นักวิชาการบางส่วนเสนอว่าแท้จริงแล้วนั้น สุโขทัยตีคู่มาพร้อมๆ กับอยุธยาต่างหาก ฟังคอมเมนต์ดีๆ จาก ผศ.ธนกฤต ลออสุวรรณ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง จากนั้น รศ.ดร.รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เตรียมไขปริศนาประวัติศาสตร์ของรุ่งอรุณแห่งความสุขสุโขทัย ที่ยังไม่มีคำตอบสำเร็จรูป กลายเป็นเสน่ห์ให้ครุ่นคิด วิเคราะห์ ตีความ ณ พระที่นั่งอิศเรศราชนุสรณ์ ในพิพิธภัณฑ์ พระนคร เช่นกัน

ตลอดจน Workshop ศิลปะ ‘พับดอกบัวและการจัดช่อถวายพระ’ โดย ศิริภัสสร โชควศิน อดีตอาจารย์โรงเรียนช่างฝีมือในวังหญิง  กิจกรรมพิเศษ ชิมเมนูโบราณ จาก ‘น้องแดน’ และ ‘พี่จูดี้’ อินฟลูเอนเซอร์ชื่อดัง มาร่วมสืบสานวัฒนธรรมทำอาหารไทยโบราณ ในเมนู ‘ยำผักกูด’ กับ ‘ปลาแห้งแตงโม’ Show การแสดงบรรเลงดนตรีและละคร ‘พระร่วง’ โดยศิลปินจากสำนักการสังคีต กรมศิลปากร

 ส่วนวันอาทิตย์ที่ 16 มิถุนายน 2567 ธีม มรดกโลกอยุธยา พบกับ History Trip โดย ผศ.ธนโชติ เกียรติณภัทร อาจารย์ภาควิชาภาษาไทยและภาษาตะวันออก คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ชวนก้าวเท้าเข้าสู่ ‘พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร’แล้วเดินเท้าไปยังจุดหมายปลายทางแรก คือ วัดพระแก้ววังหน้าพระอารามที่เกือบได้ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์จากนั้นพาเดินไปเยี่ยมชุมชนป้อมพระสุเมรุ แนวปราการป้องกันพระนคร หนึ่งในสองป้อมที่ยังคงเหลืออยู่ในปัจจุบัน

กิจกรรม Exclusive Talk & Walk ตามรอย ‘พรหมลิขิต’ ชมความอลังการและฟังเรื่องเล่าของ พระราชวังหลวงและวัดสำคัญแห่งกรุงศรีอยุธยาที่ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.สันติ เล็กสุขุม ราชบัณฑิตควง ประทีป เพ็งตะโก อดีตอธิบดีกรมศิลปากร ล้อมวงชวนย้อนเวลา แล้วพาจูงมือชมโบราณวัตถุเลอค่าให้ประจักษ์แก่สายตา ณ ห้องศิลปะอยุธยา พิพิธภัณฑ์พระนคร ชมนิทรรศการพิเศษ อย่าง ‘เอกสารล้ำค่าจารึกสยาม’ นำชมโดย ผศ.ดร. พีรศรี โพวาทอง อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมด้วย ยุทธนาวรากร แสงอร่าม ภัณฑารักษ์ระดับชำนาญการ พิพิธภัณฑ์ พระนคร ยลโฉมเอกสารหาชมยาก อย่างต้นฉบับ สนธิสัญญาเบาว์ริงระหว่างไทยกับอังกฤษ เอกสารการเลิกทาสของสยาม อีกทั้งตำราจินดามณีแบบเรียนโบราณ เป็นต้น ชวนร่วม Workshop เครื่องแขวนไทยหน้าช้าง ตามแบบอย่างกรุงศรีอยุธยา โดย ศิริภัสสร โชควศิน อดีตอาจารย์จากโรงเรียนช่างฝีมือในวังหญิง อีกทั้งการแสดงShow เสียงเพลงบรรเลงอันไพเราะและการแสดงโขน ตอน สำมนักขาก่อศึก โดยสำนักการสังคีต 

ตลอดการจัดงาน BEM จัดบริการรถ EV รับ-ส่งฟรีจากรถไฟฟ้า MRT สถานีสถานีสนามไชย – พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ตั้งแต่เวลา 11.30 น. เป็นต้นไป ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ เฟซบุ๊ก : BEM Bangkok Expressway and Metro  

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

BEM รับรางวัล “องค์กรผู้นำด้านการจัดการก๊าซเรือนกระจก” (CALO) 2 ปีต่อเนื่อง

บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM รับรางวัล “องค์กรผู้นำด้านการจัดการก๊าซเรือนกระจก” (Climate Action Leading Organization : CALO) ระดับ “ดีเด่น”สาขาบริการ ประจำปี 2567 โดยการตรวจวัด (Measure)

โบราณสถานเวียงกุมกามเสียหายหนักจากน้ำท่วม

7 ต.ค.2567 - นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ จ.เชียงใหม่ เพื่อติดตามผลกระทบของสถานการณ์อุทกภัยที่มีต่อโบราณสถานสำคัญของจังหวัด โดยพบว่า พื้นที่เวียงกุมกามที่เป็นเมืองโบราณสมัยพญามังรายปฐมกษัตริย์ล้านนา ที่ตั้งอยู่ในอำเภอสา

ประเพณีถือศีลกินผักภูเก็ต อัตลักษณ์แห่งศรัทธาสืบทอดมา 199 ปี

จังหวัดภูเก็ต พร้อมหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน คณะกรรมการอ๊าม (ศาลเจ้า) และองค์กรต่าง ๆ พร้อมใจกันจัดกิจกรรมเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในงานประเพณีถือศีลกินผักจังหวัดภูเก็ต ประจำปี 2567  โดยมี นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล

คนรักศิลปฯแย้งผู้ว่าฯทุบปูนปั้นครูทองร่วง ยันผู้เสียหายคือสาธารณะ เตือนผิดม.157

นายวรา จันทร์มณี เลขาธิการชมรมคนรักศิลปวัฒนธรรม อดีตเลขาฯศิลปินแห่งชาติ อังคาร กัลยาณพงศ์ โพสต์เฟซบุ๊ก กรณีทุบปูนปั้นครูทองร่วง เอมโอษฐ ที่วัดมหาธาตุวรวิหาร จังหวัดเพชรบุรี (ตอนที่ 2) ระบุว่า