'ภูพระบาท'คุณค่าโดดเด่น ไทยลุ้นมรดกโลก

เวลานี้คนไทยร่วมส่งแรงใจสนับสนุนการขึ้นบัญชีอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี เป็นแหล่งมรดกโลกแห่งใหม่ล่าสุดของประเทศไทยต่อจากอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ วาระการพิจารณาภูพระบาทคาดว่าจะเข้าสู่การประชุมคณะกรรมการมรดกโลก สมัยสามัญ ครั้งที่  46  ณ กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย วันที่ 27 กรกฎาคม 2567 นี้

นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ได้มอบกรมศิลปากร ส่งตัวแทนเข้าร่วมประชุมกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 46 ซึ่งจัดขึ้นที่สาธารณรัฐอินเดีย ระหว่างวันที่ 21 ถึง 31 กรกฎาคม 2567 เนื่องจากมีวาระประชุมเพื่อรับรองอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม โดยคาดว่าจะนำเข้าพิจารณา ในวันที่ 26 หรือ 27 กรกฎาคม 2567

ทั้งนี้ รมว.วธ.มั่นใจจากศักยภาพภูพระบาท และการเตรียมข้อมูลที่สมบูรณ์ของคณะทำงานในการนำเสนอ เชื่อมั่นว่า อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทและแหล่งวัฒนธรรมสีมา วัดพระพุทธบาทบัวบาน จะได้รับการประกาศให้เป็นมรดกโลกแห่งใหม่อย่างแน่นอน ซึ่งทางกรมศิลปากรจะถ่ายทอดบรรยากาศส่งตรงจากสาธารณรัฐอินเดีย และจัดการแถลงผลการประกาศ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ให้ได้ร่วมลุ้นไปพร้อมกันทั่วประเทศ ผ่านทาง facebook live: กรมศิลปากร

โอกาสนี้ รมว.ปุ๋ง เชิญชวนชาวไทยร่วมส่งกำลังใจช่วยเชียร์ให้ภูพระบาทได้รับการรับรองเป็นมรดกโลก อันจะทำให้ประเทศไทยมีชื่อเสียงและเป็นเกียรติภูมิที่สำคัญบนเวทีโลกต่อไป รวมถึงส่งเสริมการเดินทางท่องเที่ยวแหล่งโบราณคดีและแหล่งประวัติศาสตร์ในประเทศไทยให้เพิ่มมากขึ้น

จากข้อมูลของอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท นำเสนอเกี่ยวกับความผลักดันแหล่งโบราณคดีแห่งนี้ขึ้นแท่นมรดกโลก โดยอุทยานฯ ภูพระบาทเป็นแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมแบบต่อเนื่องจำนวนสองแหล่ง ประกอบด้วยอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทและแหล่งวัฒนธรรมสีมา วัดพระพุทธบาทบัวบาน รวมพื้นที่นำเสนอขึ้นทะเบีบนมรดกโลกจำนวน 3,622 ไร่ 89 ตารางวา อุทยานฯ ภูพระบาทตั้งอยู่ทางทิศตะวันตก ห่างจากอำเภอบ้านผือ จ.อุดรธานี ออกมาประมาณ  12 กิโลเมตร ส่วนแหล่งวัฒนธรรมสีมา วัดพระพุทธบาทบัวบาน  ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของอุทยานฯ ภูพระบาท ห่างออกมาประมาณ 8 กม. ทั้งสองแหล่งโบราณคดีสำคัญนี้ตั้งอยู่ในเขตป่าเขือน้ำ ซึ่งเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติ ที่ตั้งอยู่บนเทือกเขาภูพาน

ขอบเขตของแหล่งวัฒนธรรมทั้งสองแหล่งนี้อยู่ภายใต้เกณฑ์คุณค่าโดดเด่นอันเป็นสากล ซึ่งได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานตามพระราชบัญญัติโบราณสถานโบราณวัตถุศิลปะวัตถุและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 แก้ไชเพิ่มเติมฉบับที่ 2 พ.ศ. 2535  แหล่งมรดกวัฒนธรรมทั้งสองแหล่งแสดงคุณค่าโดดเด่นอันเป็นสากลที่มีความเกี่ยวเนื่องและสัมพันธ์กันทางวัฒนธรรม โดยยังคงความครบถ้วนสมบูรณ์ และความเป็นของแท้ดั้งเดิมไว้ได้เป็นอย่างดี

อุทยานฯ ภูพระบาท มีแหล่งโบราณสถานสำคัญกระจายทั่วพื้นที่ อาทิ หอนางอุสา เป็นเสาเฉลียงรูปเห็ด ประกอบด้วยแกนหินขนาดใหญ่ลักษณะคล้ายเสาหิน  และมีก้อนหินเป็นแผ่นหนาขนาด ใหญ่ทับอยู่ด้านบน แกนหินสูง 10 เมตร  ก้อนหินด้านบน กว้าง 5 เมตร  ยาว 7 เมตร  แกนของเสาหินมีการก่อหินกั้นเป็นห้องไว้ส่วนบนของเสาที่อยู่ใต้แผ่นหิน มีการเจาะช่องเป็นช่องๆ  เป็นประตูและหน้าต่างคล้ายช่องสังเกตุการณ์คล้ายหอคอย ที่เพิงหินโบราณแห่งนี้ได้พบหลักฐานภาพเขียนสีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่บริเวณผนังด้านทิศเหนือของหินก้อนล่าง เป็นภาพเส้น 2 3 เส้น  ปัจจุบันนี้ภาพลบเลือนไปมากแล้ว  มีการปักสีมาล้อมรอบแปดทิศ  เพื่อแสดงว่าเพิงหินนี้มีความศักดิ์สิทธิ์  เป็นที่ประดิษฐานรูปเคารพ  หรืออาจใช้เป็นเขตศักดิ์สิทธิ์ที่ประกอบพิธีกรรมทางพุทธศาสนา ปัจจุบันสีมาเหลืออยู่  7 หลัก แต่เดิมน่าจะครบ 8 หลัก

อีกโบราณสถานสำคัญ ถ้ำพระ เป็นเพิงหินขนาดใหญ่ที่เกิดการวางตัวทับซ้อนกันของหิน มีการสกัดส่วนที่เป็นหินด้านล่างให้เกิดเป็นห้องขนาดใหญ่  โดยมีการสลักรูปประติมากรรม พระพุทธรูป และรูปบุคคลไว้ที่ผนังถ้ำ และยังพบภาพเขียนสีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ด้วย พื้นที่บริเวณด้านข้างพบหลุมเสาเรียงเป็นแนวและอยู่ในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า  แสดงให้เห็นว่ามีการปรับปรุงพื้นที่ให้เป็นส่วนของหลังคาอาคารที่เป็นเครื่องไม้ โดยมีการทรุดตัวลงมาของแผ่นหินด้านบนและพังทลายลงมา ส่งผลให้ทำลายประติมากรรมบางส่วนชำรุดเสียหายลงด้วย จุดนี้พบการปักสีมาล้อมรอบ  2 ชั้น แปดทิศ  แสดงถึงเพิงหินนี้มีความศักดิ์สิทธิ์  เป็นที่ประดิษฐานรูปเคารพ  หรือใช้เป็นเขตศักดิ์สิทธิ์ที่ประกอบพิธีกรรมทางพุทธศาสนา  ปัจจุบันคงเหลือเสาสีมาตามตำแหน่งเดิมเพียง 6 หลัก   นอกจากนี้ ยังมีกู่นางอุสา ฉางข้าวนายพราน พีบศพท้าวบารส  ถ้ำช้าง  โบสถ์วัดพ่อตา  วัดพ่อตา  หีบศพพ่อตา  คอกม้าท้าวบารส วัดลูกเขย บ่อน้ำนางอุสา   ลานหินมณฑลพิธี ฯลฯ ทุกแหล่งล้วนมีเรื่องราวและหลักฐานบ่งชี้ความสำคัญทางประวัติศาสตร์

อุทยานฯ ภูพระบาทยังถือเป็นโบราณสถานที่ปรากฎการปักใบสีมามากที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย  ในปีงบประมาณ 2567  อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท  ได้ดำเนินงานโครงการอนุรักษ์และพัฒนาให้อยู่ในสภาพที่ดีขึ้น โดยดำเนินการปรับตำแหน่งและจัดวางใบสีมาที่ทรุดเอียงให้อยู่ในตำแหน่งเดิม รวมถึงประกอบชิ้นส่วนของใบสีมาที่แตกให้เข้าด้วยกัน อีกทั้งปรับแต่งดินส่วนฐานล่างของใบสีมาบดอัดให้แน่น เพื่อเป็นการเสริมสภาพของแหล่งให้มีความครบถ้วนสมบูรณ์มากที่สุด  เกิดประโยชน์ต่อการเรียนรู้และรองรับการท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมในพื้นที่หากได้รับการรับรองเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งล่าสุด ซึ่งคณะกรรมการมรดกโลกกำลังพิจารณากันเข้มข้นในแต่ละวาระอยู่ในตอนนี้

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'พระเจ้าตอง' กลับพะเยา หลังโดนขโมย 36 ปีก่อน ค้นพบที่สวิต กรมศิลป์พิสูจน์แล้วของจริง

นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส. บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้ประสานงานและติดตามนำ “พระเจ้าตอง” กลับจังหวัดพะเยา รับส่งมอบพระเจ้าตอง จากนางสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม 

ชมพิพิธภัณฑ์ยามค่ำ Night at The Museum

กลับมาอีกครั้งสำหรับบิ๊กอีเว้นท์ของคนรักพิพิธภัณฑ์ เมื่อกรมศิลปากร โดยพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำหนดจัดกิจกรรม "ชมพิพิธภัณฑ์ยามค่ำ" Night at the Museum ในเทศกาลท่องเที่ยวพิพิธภัณฑ์ยามค่ำคืน

บูรณะวัดไชยวัฒนารามนำชีวิตชีวาสู่มรดกโลก

วัดไชยวัฒนาราม จ.พระนครศรีอยุธยา งดงามทรงคุณค่า เป็นหนึ่งในหลักฐานที่แสดงถึงความยิ่งใหญ่และรุ่มรวยทางวัฒนธรรมของกรุงศรีอยุธยาอดีตเมืองหลวงอันยิ่งใหญ่ วัดเก่าแก่แห่งนี้เป็นโบราณสถานสำคัญของอยุธยา และเป็นส่วนหนึ่งของอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาที่โดย

'4วัด1วัง'เที่ยวมรดกโลกอยุธยายามราตรี

กระแสตอบรับดีสำหรับโครงการท่องเที่ยวโบราณสถานยามค่ำคืนในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปีนี้กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมศิลปากร ยกระดับท่องเที่ยวโบราณสถานยามราตรีเปิดโบราณสถานให้นักท่องเที่ยวได้เข้าชมเพิ่มขึ้นเป็น 5 แห่ง ประกอบด้วย 

ย้อนเวลา 4 วัด 1 วัง เมื่อครั้งต้นกรุงฯ

ชวนแต่งชุดไทยเดินทางย้อนเวลากลับไปสู่ช่วงต้นกรุงศรีอยุธยา  ดื่มด่ำกับบรรยากาศโบราณสถานยามค่ำคืนที่งดงามในงาน “ 4 วัด 1 วัง เมื่อครั้งต้นกรุงฯ” ภายใต้แนวคิด “ย้อนเวลา ส่องวิถี ปลุกแสงสี พระนครศรีอยุธยา” โดยจะจัดกิจกรรมตามวัดและโบราณสถานที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์

โบราณสถานเวียงกุมกามเสียหายหนักจากน้ำท่วม

7 ต.ค.2567 - นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ จ.เชียงใหม่ เพื่อติดตามผลกระทบของสถานการณ์อุทกภัยที่มีต่อโบราณสถานสำคัญของจังหวัด โดยพบว่า พื้นที่เวียงกุมกามที่เป็นเมืองโบราณสมัยพญามังรายปฐมกษัตริย์ล้านนา ที่ตั้งอยู่ในอำเภอสา