14 พ.ย. 2567 – เวลา 11.30 น. ณ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร กรุงเทพฯ สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ร่วมกับสำนักงานยูเนสโกระดับภูมิภาค ณ กรุงเทพมหานคร และกรมศิลปากร จัดพิธีส่งคืนโบราณวัตถุจากแหล่งมรดกโลกบ้านเชียง โดยนายโรเบิร์ต แฟรงก์ โกเด็ค เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย และนายราฟีค แมนซัวร์ รองผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา เป็นผู้แทนส่งมอบโบราณวัตถุให้ น.ส.สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รมว.วัฒนธรรม โดยมี นางซูฮย็อน คิม ผอ.ส่วนภูมิภาค สำนักงานยูเนสโกส่วนภูมิภาค ณ กรุงเทพฯ เป็นสักขีพยาน
นายโรเบิร์ต แฟรงก์ โกเด็ค กล่าวว่า ในนามของสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย มีความยินดีที่จะประกาศการส่งคืนโบราณวัตถุจำนวน 4 ชิ้นจากแหล่งบ้านเชียงและแหล่งอื่นๆ ทางภาคกลางของไทย ซึ่งประกอบด้วยภาชนะดินเผา กำไลข้อมือ และลูกกลิ้งทรงกระบอก 2 ชิ้นที่ยังไม่ทราบการใช้งานที่แน่ชัด ที่มาของโบราณวัตถุเหล่านี้มีประวัติย้อนหลังถึงช่วงปลายทศวรรษ 1960 เมื่อทหารอเมริกันได้รับโบราณวัตถุเหล่านี้เป็นของขวัญจากรัฐบาลไทย ซึ่งนำมาเก็บรักษาไว้ที่สถานทูตเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา โบราณวัตถุดังกล่าวได้ถูกเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดีที่สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ถึงเวลาที่จะส่งคืนสิ่งของล้ำค่านี้กลับสู่บ้านเกิดที่แท้จริง โดยเฉพาะเมื่อรัฐบาลสหรัฐฯ ได้ดำเนินการตามขั้นตอนที่สำคัญในช่วงหลายปีที่ผ่านมาในการส่งคืนทรัพย์สินทางวัฒนธรรมจากทั่วโลกกลับไปยังเจ้าของที่แท้จริง โดยได้ร่วมมือกับสำนักงานยูเนสโกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในกรุงเทพฯ เพื่อติดต่อกับกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม เพื่อส่งคืนโบราณวัตถุดังกล่าวจากแหล่งบ้านเชียง หวังว่าสิ่งของเหล่านี้จะมีส่วนช่วยการศึกษาวิจัยและทำให้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับหนึ่งในสังคมยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่สำคัญที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
นายโรเบิร์ต แฟรงก์ โกเด็ค กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังได้จัดสัมมนาในระดับภูมิภาค ซึ่งเป็นการรำลึกถึงครบรอบ 54 ปีของอนุสัญญายูเนสโกว่าด้วยวิธีการในการห้ามและป้องกันการนำเข้า การส่งออก และการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินทางวัฒนธรรมโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ค.ศ. 1970 ซึ่งหวังว่าจะช่วยเพิ่มความตระหนักรู้ของประชาชนว่าการโจรกรรม การลักขโมย และการลักลอบค้าทรัพย์สินทางวัฒนธรรมอันมิชอบด้วยกฎหมายซึ่งเกิดขึ้นในทุกประเทศนั้น ทำให้เกิดความเสียหายแก่วัฒนธรรม เอกลักษณ์ และประวัติศาสตร์ของผู้คนได้อย่างไร ทั้งนี้ สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ จะยังคงสนับสนุนการส่งคืนโบราณวัตถุทางวัฒนธรรมที่สำคัญซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของมรดกของไทย โดยก่อนหน้านี้ เมื่อเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา เราได้ส่งคืนประติมากรรมสำริดรูปพระศิวะ (The Standing Shiva) หรือ โกลเด้นบอย และประติมากรรมรูปสตรีพนมมือ (The Kneeling Female) จากพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิทันในนิวยอร์ก คืนสู่ประเทศไทย
น.ส.สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล กล่าวว่า แหล่งโบราณคดีบ้านเชียงได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกเมื่อ พ.ศ. 2535 การส่งคืนโบราณวัตถุในครั้งนี้ นับเป็นการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ทั้งยังเป็นการเน้นย้ำในการรักษามรดกทางวัฒนธรรมของมวลมนุษยชาติด้วย เพราะการส่งมอบคืนครั้งนี้ตรงกับวันที่ 14 พ.ย. ซึ่งเป็นวันสากลเพื่อการต่อต้านการลักลอบค้าทรัพย์สินทางวัฒนธรรม ด้วย โดยโบราณวัตถุทั้ง 4 รายการ จะมีการจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติก่อน จากนั้นจะมีการนำกลับไปยังแหล่งโบราณคดีบ้านเชียงต่อไป
นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า ประเทศไทยและสหรัฐฯมีความสัมพันธ์ยืนยาวกว่าร้อยปี ทั้งมีความร่วมมือทุกด้าน หลายปีที่ผ่านมา เราเพิ่มความร่วมมือด้านวัฒนธรรมมากขึ้น และมีบันทึกข้อตกลงความร่วมมือร่วมกันที่จะให้องค์ความรู้ สร้างบุคลากร การแลกเปลี่ยนและยืมโบราณวัตถุ ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีที่เราจะได้ศึกษาค้นคว้าและแลกเปลี่ยนความรู้ ต้องยอมรับว่า โบราณวัตถุต่างๆ นั้น เป็นสมบัติของมวลมนุษยชาติ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน แต่จะดีที่สุดที่โบราณวัตถุนั้นได้กลับคืนแผ่นดินแม่ ซึ่งหลายปีที่ผ่านมาสหรัฐฯช่วยทำให้เป็นจริง ซึ่งยังคงมีโบราณวัตถุอีกหลายรายการถูกนำออกไปจากประเทศไทยในอดีตที่ผ่านมา แต่ปัจจุบันคงไม่ค่อยมีเหตุการณ์ในลักษณะดังกล่าวอีก สำหรับการส่งคืนโบราณวัตถุบ้านเชียง ซึ่งเป็นแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรม ต้องขอบคุณทางสหรัฐฯเป็นอย่างยิ่ง นอกจากนี้กรมศิลปากรยังได้รับการประสานจากสหรัฐฯเตรียมส่งคืนโบราณวัตถุอีก 2 รายการ ซึ่งเป็นประติมากรรมรูปเคารพในศาสนาฮินดู โดยขั้นตอนต่อไปจะดำเนินการพิสูจน์และนำเข้าสู่คณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศกลับคืนสู่ประเทศไทยต่อไป
ด้านนางสาวซูฮย็อน คิม ผู้อำนวยการส่วนภูมิภาค สำนักงานยูเนสโกส่วนภูมิภาค ณ กรุงเทพฯ กล่าวว่า ในนามของยูเนสโก รู้สึกเป็นเกียรติยิ่งที่ได้มาร่วมฉลองนาทีแห่งประวัติศาสตร์นี้ วันนี้เราได้เป็นประจักษ์พยานการกลับมาของโบราณวัตถุที่เป็นมรดกของอารยธรรมโบราณ แหล่งโบราณคดีบ้านเชียงจากยุคก่อนประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นแหล่งที่มาของโบราณวัตถุเหล่านี้ ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกยูเนสโกเมื่อปี พ.ศ. 2535
ผอ.ยูเนสโก ส่วนภูมิภาค กล่าวว่า สิ่งที่ทำให้บ้านเชียงมีความพิเศษก็คือบ้านเชียงช่วยทำให้เราเข้าใจในความเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม สังคม และเทคโนโลยีที่ช่วยให้มนุษย์แปรเปลี่ยนจากกลุ่มคนเร่ร่อนย้ายถิ่นมาเป็นอารยธรรมตั้งรกรากในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งนี้ได้ เรื่องราวของบ้านเชียงได้รับการบอกเล่าผ่านห้วงนาทีสำคัญในประวัติศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นการผลิตสำริดในช่วงแรก ๆ กำเนิดของการเกษตรทำนาทดน้ำและการเลี้ยงปศุสัตว์ ตลอดจนการพัฒนาวิธีการฝังศพที่ซับซ้อนมากขึ้น โบราณวัตถุทุกชิ้น ไม่ว่าเล็กแค่ไหน ก็เป็นส่วนหนึ่งของเรื่องราวนี้ ด้วยเหตุนี้ การคืนโบราณวัตถุในวันนี้จึงสำคัญยิ่ง ด้วยเป็นการเน้นย้ำถึงคุณค่าโดดเด่นอันเป็นสากลของแหล่งมรดกโลกบ้านเชียง
“โบราณวัตถุเหล่านี้ไม่เพียงแต่เป็นสิ่งที่หลงเหลือมาจากอดีต แต่ยังเป็นสะพานถึงมรดกที่เรามีร่วมกัน ในห้วงเวลาที่คนจำนวนมากได้รับผลกระทบจากการแตกแยกที่เพิ่มมากขึ้นทุกที โบราณวัตถุเหล่านี้เป็นสิ่งที่เชื่อมโยงเรื่องราวที่มนุษย์เรามีร่วมกันข้ามพรมแดนและชั่วอายุคน โบราณวัตถุเหล่านี้ย้ำเตือนเราถึงคุณค่าของการร่วมมือกันและความรับผิดชอบร่วมกัน ความเข้าใจที่เรามีต่อประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และอัตลักษณ์ในทุกวันนี้มักได้รับการกลั่นกรองผ่านสื่อสังคมออนไลน์ โอกาสที่จะได้ศึกษาโบราณวัตถุเหล่านี้ในบริบทดั้งเดิมทำให้เราได้เข้าใจมุมมองอีกแบบที่ลึกซึ้งกว่าเดิม มุมมองที่ช่วยให้เราได้เข้าใจสังคมที่มีมาก่อนหน้าเราและเน้นย้ำถึงพันธะที่เชื่อมโยงเราเข้าด้วยกันข้ามผ่านกาลเวลา ยูเนสโกรู้สึกยินดียิ่งที่ได้สนับสนุนความร่วมมือสำคัญนี้ระหว่างสหรัฐและไทย เราหวังว่าการคืนโบราณวัตถุในวันนี้จะปูทางไปสู่การคืนโบราณวัตถุอื่นอีกมากมายในอนาคต“นางสาวซูฮย็อน คิม กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ชาวบาบ๋าอันดามันเตรียมฉลอง 'เคบายา' ขึ้นทะเบียนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้
ในเวทีประชุมองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) จะมีการประชุมคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลเพื่อการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ครั้งที่ 19 ในวันที่ 3 ธ.ค.นี้ ณ นครอซุนซิออน ประเทศปารากวัย หรือตรงวันที่ 4 ธ.ค.นี้ ของไทย
ยูเนสโกขึ้นทะเบียน ‘ต้มยำกุ้ง’ มรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้วธ.จัดฉลองยิ่งใหญ่ 6-8 ธ.ค.ที่เอ็มควอเทียร์
4 ธ.ค.2567 - นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศลรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลเพื่อการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ครั้งที่ 19 (The nineteenth session of the Intergovernmental Committee for the
แสดง'โขน-โนรา'สานสัมพันธ์ที่เขมร
25 พ.ย.2567 - นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) มีนโยบายนำมิติทางศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรมมาส่งเสริมความร่วมมือและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่ประเทศไทยในภูมิภาคอาเซียนและเวทีนานาชาติ
นายกฯ พบค่ายหนังยักษ์มะกันหวังดันไทยเป็นฮับถ่ายทำภาพยนตร์
นายกฯ พบค่ายหนังยักษ์ใหญ่สหรัฐฯ ดันไทยเป็นฮับถ่ายทำภาพยนตร์ โชว์ซอฟพาวเวอร์ทำรายได้เข้าประเทศ
จับตา ‘อุ๊งอิ๊ง’! โชว์วิสัยทัศน์ เวทีผู้นำเอเปก
จับตา "นายกฯ อิ๊งค์" โกอินเตอร์! บินลัดฟ้าสหรัฐ ไม่ได้พบตัวแทนทำเนียบขาว แต่ไปเจอทีมไทยแลนด์ มอบนโยบายขับเคลื่อนความร่วมมือในภูมิภาคอเมริกา