ห่วงสงกรานต์การ์ดตก! ติดเชื้อพุ่งวันละแสนคน

ไทยติดเชื้อต่ำ 2 หมื่น ดับยังทะลุเกินร้อยต่อเนื่อง ครม.อนุมัติ 211 ล้านให้สถาบันวัคซีนฯ ศึกษาประสิทธิภาพวัคซีน สธ.ชี้โควิดยังทรงตัว ห่วงผู้ป่วยปอดอักเสบเพิ่มสูงขึ้น เปิด 3 ฉากทัศน์หลังสงกรานต์ เตือนการ์ดตกพุ่งวันละแสน ย้ำเสียชีวิตไม่เกิน 250 คนต่อวัน ระบบสาธารณสุขยังรับไหว

เมื่อวันที่ 12 เมษายน ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. รายงานสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 19,982 ราย ติดเชื้อในประเทศ 19,903 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 19,591 ราย, มาจากการค้นหาเชิงรุกในชุมชน 312 ราย, มาจากเรือนจำ 27 ราย เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 52 ราย หายป่วยเพิ่มขึ้น 28,057 ราย อยู่ระหว่างรักษา 237,399 ราย อาการหนัก 2,056 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 885 ราย เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 101 ราย เป็นชาย 47 ราย หญิง 54 ราย อายุ 60 ปีขึ้นไป 83 ราย มีโรคเรื้อรัง 15 ราย ไม่มีประวัติโรคเรื้อรัง 3 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสมยืนยันตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 3,925,854 ราย มียอดหายป่วยสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 3,662,166 ราย มียอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 26,289 ราย  ขณะที่สถานการณ์โลกมีผู้ติดเชื้อสะสม 499,977,020 ราย ผู้เสียชีวิตสะสม 6,205,888 ราย

สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุด ได้แก่ กทม. 3,339 ราย, นนทบุรี 884 ราย, ชลบุรี 791 ราย, นครปฐม 736 ราย,  สมุทรปราการ 724 ราย, สมุทรสาคร 544 ราย, ขอนแก่น 527 ราย, บุรีรัมย์ 489 ราย, นครศรีธรรมราช 478 ราย และระยอง 433 ราย 

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้เงินกู้ ภายใต้พระราชกำหนดฯ เพิ่มเติม พ.ศ.2564 ซึ่งได้อนุมัติโครงการศึกษาความปลอดภัย ความสามารถในการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน และประสิทธิภาพ ของแคนดิเดตซับยูนิตวัคซีนสำหรับป้องกันโรคโควิด-19 ที่ใช้พืชเป็นแหล่งผลิตในมนุษย์ระยะ 2a โดยบริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด ของสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กรอบวงเงิน 211 ล้านบาท โดยให้ใช้จ่ายจากเงินกู้ภายใต้แผนงาน/โครงการกลุ่มที่ 1 (การแพทย์/สาธารณสุข) ตามบัญชีท้ายพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงินเพิ่มเติม พ.ศ.2564 พร้อมกับมอบหมายให้สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ร่วมกับบริษัท   ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด เร่งดำเนินการจัดทำแผนฉุกเฉิน เพื่อเตรียมการสำหรับรองรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้ไม่สามารถดำเนินการทดสอบการฉีดวัคซีนในมนุษย์ภายในเดือน ก.ค.2565 ตามแผนดำเนินโครงการ เพื่อให้สามารถดำเนินการเบิกจ่ายงบประมาณตามโครงการให้แล้วเสร็จภายในเดือน ธ.ค.2565 รวมถึงจัดทำแผนเร่งรัดการดำเนินโครงการในระยะที่ 3 เสนอคณะกรรมการกลั่นกรองฯ พิจารณาภายในระยะเวลา 2 สัปดาห์ นับจากวันที่ ครม.ได้อนุมัติโครงการ

พร้อมกันนี้ ครม.ได้อนุมัติให้นำวงเงินกู้เพื่อการตามมาตรา 5(2) (เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชย ให้แก่ประชาชนทุกสาขาอาชีพ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19) วงเงิน 211 ล้านบาท มาใช้เพื่อการตามมาตรา 5(1) (เพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคโควิด-19) เพื่อดำเนินโครงการศึกษาความปลอดภัยฯ ของสถาบันวัคซีนและบริษัท  ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด ข้างต้น ทั้งนี้ หลังจากการอนุมัติปรับปรุงการใช้งบประมาณครั้งนี้ ทำให้วงเงินตาม พ.ร.ก.กู้เงิน เพิ่มเติม พ.ศ.2564 เหลืออยู่ 74,250 ล้านบาท จากวงเงินทั้งหมด 500,000 ล้านบาท

 ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงสถานการณ์โควิด-19 ว่า ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ก่อนไปต้องคลีนตัวเองให้ดี เคร่งครัดมาตรการส่วนบุคคล เมื่อกลับมาหลังเทศกาลสงกรานต์ก็เช่นกัน เพราะพบว่าสาเหตุการติดเชื้อส่วนใหญ่วนเวียนติดจากบ้านมาที่ทำงาน จากที่ทำงานมาบ้าน  ลักษณะเช่นนี้เสมอ โดยคาดการณ์สถานการณ์ของไทยจะทรงตัว และอาจมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างช้าๆ ในส่วนของตัวเลขผู้ป่วยปอดอักเสบและใส่ท่อช่วยหายใจ

จากการคาดการณ์ผลจากมาตรการป้องกันควบคุมโรคปี 65 เปรียบเทียบจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่, จำนวนผู้ป่วยปอดอักเสบ, จำนวนผู้ป่วยปอดอักเสบใส่ท่อช่วยหายใจ และจำนวนผู้เสียชีวิต ภาพรวมในประเทศ สามารถแบ่งออกเป็น 3 ฉากทัศน์ คือ

ฉากทัศน์ที่ 1 หรือสถานการณ์เลวร้ายที่สุด คือผ่อนคลายมาตรการป้องกันโรค ลดแยกกัก-กักตัว ฉีดวัคซีนทุกเข็มน้อยกว่า 200,000 โดสต่อวัน ประชาชนส่วนใหญ่ย่อหย่อนต่อมาตรการ Universal Prevention (UP) คาดจำนวนผู้ติดเชื้อพุ่งสูงสุดในวันที่ 19 เม.ย.65 อยู่ที่ประมาณ 100,000 รายต่อวัน ผู้ป่วยที่มีอาการปอดอักเสบพุ่งสูงสุดในช่วงวันที่ 3-5 พ.ค.65 อยู่ที่เกือบ 6,000 รายต่อวัน ผู้เสียชีวิต ในช่วงวันที่ 3-5 พ.ค.65 พุ่งสูงสุดอยู่ที่ประมาณ 250 รายต่อวัน

ฉากทัศน์ที่ 2 หรือสถานการณ์ปานกลาง คือยังคงมาตรการต่างๆ และประชาชนร่วมมือ ในระดับปัจจุบัน และคาดการณ์พบการแพร่โรคต่อเนื่องไปทุกจังหวัด จนถึงช่วงเทศกาลสงกรานต์ คาดผู้ติดเชื้อในวันที่ 19 เม.ย.65 อยู่ที่ 50,000 รายต่อวัน ผู้ป่วยอาการปอดอักเสบในช่วงวันที่ 3-5 พ.ค.65 อยู่ที่ 3,000 รายต่อวัน ผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 100-150 รายต่อวัน

ฉากทัศน์ที่ 3 หรือสถานการณ์ที่ดีที่สุด คือผลจากการติดเชื้อเพิ่มช่วง ม.ค.-ก.พ.65 และเพิ่มความเข้มข้นของมาตรการป้องกันโรค มี.ค.-เม.ย.65 ปฏิบัติได้ตามการเตือนภัยโควิด-19 ระดับ 4 คาดจำนวนผู้ติดเชื้อเฉลี่ยอยู่ที่ 20,000 รายต่อวัน ผู้ป่วยที่มีอาการปอดอักเสบในช่วงวันที่ 3-5 พ.ค.65 อยู่ที่ 1,000-2,000 รายต่อวัน ผู้เสียชีวิต เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 50 รายต่อวัน

นพ.โอภาสกล่าวว่า สถานการณ์ในขณะนี้ จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ของไทยอยู่ที่ฉากทัศน์ที่ 3 ส่วนจำนวนผู้ป่วยที่มีอาการปอดอักเสบ ขณะนี้มีแนวโน้มสูงขึ้นอยู่ระหว่างระดับฉากทัศน์ที่ 3 และฉากทัศน์ที่ 2 สถานการณ์ขณะนี้มีแนวโน้มสูงขึ้น โดยอยู่ระหว่างฉากทัศน์ที่ 2 และฉากทัศน์ที่ 1 ส่วนจำนวนผู้เสียชีวิต ขณะนี้อยู่ในระดับฉากทัศน์ที่ 2

ในภาพรวมจากการประมาณเหตุการณ์พบว่า สถานการณ์การโควิด-19 ของไทยอยู่ในระดับใกล้เคียงฉากทัศน์ที่ 2 หรืออยู่ในระดับกลางจากที่คาดการณ์ไว้ทั้งหมด โดยความร่วมมือของประชาชนยังคงอยู่ในระดับดี และหากสามารถคงมาตรการไว้ได้ จะสามารถควบคุมการระบาดได้อย่างต่อเนื่องถึงช่วงเทศกาลสงกรานต์ แต่หากหย่อนยานมาตรการ จำนวนผู้ติดเชื้อจะเพิ่มสูงขึ้นได้

ทั้งนี้ การรับวัคซีนจะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตได้ถึง 31 เท่า ซึ่งในช่วงสงกรานต์ สธ.ได้มีการกระจายวัคซีนลงไปในระดับโรงพยาบาลส่งเสริมตำบล (รพ.สต.) ให้มีความพร้อมในการฉีดให้กับประชาชนที่มีบุตรหลานเดินทางกลับภูมิลำเนาแล้วพาผู้ปกครอง ผู้สูงอายุมาฉีด โดยเป็นวัคซีนแบบชนิดไฟเซอร์ ฝาสีเทา ที่เป็นวัคซีนที่ได้รับบริจาคมาจากฝรั่งเศสส่วนหนึ่ง และการสั่งซื้อส่วนหนึ่ง เป็นวัคซีนรุ่นใหม่ มีการผสมน้ำเกลือมาแล้ว พร้อมฉีดได้ทันทีไม่เหมือนวัคซีนไฟเซอร์ ฝาสีม่วง ที่ต้องผสมน้ำเกลือ

ส่วนเรื่องมาตรการลดวันกักตัว เนื่องจากทั่วโลกก็เริ่มมีการปรับเปลี่ยนการกักตัวในกลุ่มผู้ป่วยเสี่ยงสูง เพื่อให้สอดคล้องกับปัจจุบัน ย้ำว่ากักตัวไม่ได้หมายความเท่ากับป่วย และจะเปลี่ยนจาก 7+3 วัน เป็น 5+5 วัน ภาพรวมยังเป็น 10 วันเท่าเดิม โดยคาดว่าการบังคับใช้น่าจะมีขึ้นในเดือน พ.ค. แต่ต้องหลังจากดูสถานการณ์การติดเชื้อหลังเทศกาลสงกรานต์

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวถึงผลสำรวจอนามัยโพล ความรู้สึกกังวลของประชาชนต่อโควิดสายพันธุ์ใหม่ ว่า พบว่าประชาชน 3 ใน 4 หรือคิดเป็น 75% มีความกังวลเกี่ยวกับเชื้อโควิดที่เปลี่ยนแปลงไป อย่างไรก็ตาม โควิดทุกสายพันธุ์ มาตรการป้องกันตนเองยังต้องเคร่งครัดเหมือนเดิม สวมหน้ากากอนามัย มีระยะห่าง โดยพบว่าการรับวัคซีนเข็มกระตุ้น หรือเข็ม 3 สามารถป้องกันการเสียชีวิตได้ถึง 98-99%

นพ.สุวรรณชัยกล่าวว่า จากการติดตามและเปรียบเทียบสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 63-64 พบว่าปี 63 มีการบังคับมาตรการอย่างเคร่งครัด ปิดกิจกรรมกิจการ งดการเดินทาง ทำให้ตัวเลขผู้ป่วยติดเชื้อน้อย ส่วนปี 64 ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น มีการผ่อนคลายกิจกรรมกิจการ ทำให้สถิติการติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้นคาดการณ์ว่าปี 65 ช่วงสงกรานต์นี้มีการคนเดินทางจำนวนมาก มีทั้งกิจกรรมเสี่ยง บุคคลเสี่ยง สถานที่เสี่ยง จะทำให้ตัวเลขผู้ป่วยติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น โดยคาดการณ์ว่าผู้ติดเชื้อสูงถึง 5 หมื่นคนถึง 1 แสนคน หากป้องกันตนเองอย่างเคร่งครัด จะสามารถควบคุมป้องกันการติดเชื้อได้ดี ทำให้พบผู้เสียชีวิตไม่ถึง 250 คนต่อวัน และไม่กระทบต่อระบบบริการสาธารณสุข.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'อนุทิน' นั่งหัวโต๊ะตอกย้ำแนวปฏิบัติจัดระเบียบสังคม

'อนุทิน' นั่งหัวโต๊ะวางแนวปฏิบัติคณะทำงานบูรณาการมหาดไทย – ตำรวจ ขับเคลื่อนจัดระเบียบสังคม ปราบปรามผู้กระทำผิด ชี้ความมั่นคงคือหัวใจเมื่อประชาชนเชื่อมั่น สังคมปลอดภัยแล้วเศรษฐกิจจะตามมา