ทีมศก.เดินสาย โรดโชว์นักลงทุน ประเดิมที่ญี่ปุ่น

นายกฯ สั่งเดินหน้าสร้างความเชื่อมั่น ดึงต่างชาติลงทุนไทย มอบ "ทีมเศรษฐกิจ" นำโดย "สุพัฒนพงษ์" เดินสายโรดโชว์ให้ข้อมูลมาตรการจูงใจ ประเดิมญี่ปุ่นประเทศแรก ต่อด้วยประเทศผู้ลงทุนหลักที่เปิดประเทศแล้ว รมช.พาณิชย์เผย มี.ค.65 อนุญาตให้ต่างชาติลงทุนในไทย 53 ราย เงินลงทุน 10,838 ล้านบาท จ้างงานคนไทย 447 คน

เมื่อวันจันทร์ น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ได้มีนโยบายให้ตั้งแต่หลังเทศกาลสงกรานต์เป็นจุดเริ่มต้นการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ และในการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ที่นายกรัฐมนตรีเป็นประธานเมื่อวันที่ 22 เม.ย.ที่ผ่านมา ได้มีมติยกเลิกข้อกำหนดการเดินทางเข้าประเทศไทยในรูปแบบ  Test&Go เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยว โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.65 เป็นต้นไปนั้น ด้านการลงทุนเพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนต่างชาติ นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ทีมเศรษฐกิจ ซึ่งมีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงานดูแลรับผิดชอบ  จัดทำแผนเพื่อให้ข้อมูลแก่นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศเกี่ยวกับมาตรการส่งเสริมการลงทุน สิทธิประโยชน์ต่างๆ  ที่ก่อนหน้านี้รัฐบาลได้ประกาศหลายมาตรการ 

น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่า ในส่วนของนักลงทุนต่างประเทศ ระหว่างวันที่ 19-23 เม.ย.ที่ผ่านมา นายสุพัฒนพงษ์ได้นำคณะไปจัดกิจกรรมส่งเสริมและชักจูงการลงทุนที่ประเทศญี่ปุ่น เนื่องจากญี่ปุ่นเป็นต่างชาติที่มีการลงทุนในประเทศไทยมากที่สุด และเป็นประเทศผู้ผลิตรถยนต์รายสำคัญของโลก ซึ่งในโอกาสนี้รองนายกรัฐมนตรีและคณะได้ให้ข้อมูลนักลงทุนเกี่ยวกับมาตรการส่งเสริมการลงทุนรถยนต์ไฟฟ้า อุตสาหกรรม S-Curve รวมถึงมาตรการจูงใจนักธุรกิจและนักลงทุนเดินทางเข้ามาพำนักในประเทศไทย โดยถือวีซ่าสำหรับผู้พำนักระยะยาว  (Long-Term Resident Visa: LTR) 

“ต่อเนื่องจากการผ่อนคลายมาตรการเพื่อฟื้นฟูการท่องเที่ยว นายกรัฐมนตรีให้มีการเจรจาทั้งทางการค้า การลงทุนระหว่างประเทศ เพื่อเร่งให้การค้าและการลงทุนเข้ามาฟื้นฟูเศรษฐกิจด้วย ซึ่งตอนนี้เป็นจังหวะที่ดีเนื่องจากหลายประเทศได้เปิดประเทศ สามารถเดินทางได้มากขึ้นกว่า 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งส่วนของการโรดโชว์ในต่างประเทศนั้นเริ่มจากญี่ปุ่นเป็นแห่งแรก ซึ่งตามแผนงานของสำนักงานบีโอไอจะทยอยเดินทางไปประเทศที่มีการลงทุนในไทยมากและเปิดประเทศแล้ว เช่น ยุโรป, สหรัฐฯ, ไต้หวัน,  เกาหลีใต้ ซึ่งจะมีทั้งรูปแบบที่รองนายกรัฐมนตรีนำคณะไปในนามของรัฐบาล และระดับการให้ข้อมูลโดยสำนักงานบีโอไอเอง” น.ส.ไตรศุลีกล่าว 

น.ส.ไตรศุลีกล่าวอีกว่า ข้อมูลการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในปี 2564 มีการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนทั้งหมด 1,674 โครงการ มูลค่าการลงทุน  642,680 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นคำขอของนักลงทุนต่างชาติ 783 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 455,331  ล้านบาท ประเทศที่มีการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุน  10 อันดับแรก ได้แก่ ญี่ปุ่น 178 โครงการ เงินลงทุน  80,733 ล้านบาท, จีน 112 โครงการ เงินลงทุน  38,567 ล้านบาท, สิงคโปร์ 96 โครงการ เงินลงทุน  29,669 ล้านบาท, สหรัฐฯ 41 โครงการ เงินลงทุน  29,519 ล้านบาท, ไต้หวัน 39 โครงการ เงินลงทุน  21,804 ล้านบาท, ออสเตรีย 2 โครงการ เงินลงทุน  14,808 ล้านบาท, อิตาลี 5 โครงการ เงินลงทุน  13,158 ล้านบาท, เกาหลีใต้ 28 โครงการ เงินลงทุน  12,419 ล้านบาท, ฮ่องกง 62 โครงการ เงินลงทุน  12,390 ล้านบาท และนอร์เวย์ 2 โครงการ เงินลงทุน  10,314 ล้านบาท

นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า (นายทศพล ทังสุบุตร) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว รายงานให้ทราบว่า เดือนมีนาคม 2565 คณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ได้อนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทยจำนวน 53 ราย โดยเป็นการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว และการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว แบ่งเป็นใบอนุญาตประกอบธุรกิจจำนวน 17  ราย และหนังสือรับรองประกอบธุรกิจจำนวน 36 ราย  โดยมีเม็ดเงินลงทุนทั้งสิ้น 10,838 ล้านบาท

 เมื่อวันพุธที่ 23 มีนาคม 2565 คณะกรรมการได้อนุญาตให้คนต่างชาติ 17 รายประกอบธุรกิจในประเทศไทย ส่วนใหญ่เป็นคนต่างชาติจากฮ่องกง, ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ มีการนำเงินเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจกว่า 962  ล้านบาท ส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานคนไทย 447 คน  รวมถึงมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีอันเป็นองค์ความรู้เฉพาะด้านโดยตรงจากประเทศผู้เข้ามาลงทุน การอนุญาตให้ประกอบธุรกิจในครั้งนี้จะมีผลให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยี อันเป็นวิทยาการซึ่งเป็นองค์ความรู้ในแขนงที่คนไทยยังไม่มีความชำนาญ หรือมีความเชี่ยวชาญในระดับที่ไม่สูงมากนัก เช่น องค์ความรู้เกี่ยวกับการควบคุมหลุมเจาะปิโตรเลียม, องค์ความรู้เกี่ยวกับการใช้โปรแกรมในการออกแบบระบบโซลาร์ขั้นสูง และองค์ความรู้เกี่ยวกับการติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า เป็นต้น

เมื่อเดือนมีนาคม 2565 ธุรกิจที่ได้รับอนุญาตส่วนใหญ่เป็นธุรกิจที่สอดคล้องกับนโยบายส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐ และสนับสนุนธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (New S-Curve) รวมถึงสนับสนุนการดำเนินธุรกิจในอุตสาหกรรมอื่นที่จะเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในอนาคต อาทิ บริการขุดเจาะปิโตรเลียมภายในบริเวณพื้นที่แปลงสำรวจที่ได้รับสัมปทานในอ่าวไทย, บริการออกแบบ ก่อสร้าง ติดตั้ง  ตรวจสอบ ดำเนินงาน ทดสอบ รวมถึงการบำรุงรักษาและฝึกอบรมเกี่ยวกับระบบกักเก็บพลังงาน, บริการสถานีอัดประจุไฟฟ้า (Electric Vehicle Charging  Station) สำหรับรถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า, บริการรับจ้างผลิตและประกอบรถยนต์ เป็นต้น

การลงทุนในพื้นที่ EEC ของนักลงทุนต่างชาติในเดือนมีนาคม 2565 นักลงทุนส่วนใหญ่จะลงทุนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จำนวน 29 ราย และนักลงทุนต่างชาติยังสนใจลงทุนในพื้นที่ EEC จำนวน 10 ราย คิดเป็นร้อยละ 19 ของจำนวนนักลงทุนทั้งหมดในเดือนนี้ โดยมีเงินลงทุนในพื้นที่ EEC กว่า 6,323 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 58 ของเงินลงทุนทั้งหมด ทั้งนี้ เป็นนักลงทุนจากจีน 3 ราย ลงทุน 3,189 ล้านบาท, ญี่ปุ่น 2 ราย  ลงทุน 630 ล้านบาท และสหรัฐอเมริกา 1 ราย ลงทุน  637 ล้านบาท ธุรกิจที่ลงทุน อาทิ 1.บริการโทรคมนาคมเพื่อสาธารณะ (Public Switched  Telecommunication Service) ภายในประเทศ ประเภทบริการขายต่อบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 2.การเป็นบริษัทการค้าระหว่างประเทศเพื่อจัดซื้อสินค้า  วัตถุดิบ และชิ้นส่วนสำหรับอุตสาหกรรมต่างๆ และ 3. บริการรับจ้างผลิตชิ้นส่วนประกอบรถยนต์ เป็นต้น.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง