เร่งเบิกจ่ายงบฯชงอุ้มดีเซลต่อ

นายกฯ สั่งเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณ  คลังชง ครม.ลดภาษีดีเซลต่อ หวังมาตรการต่อเนื่องไม่สะดุด แจงเสนอ 2 โมเดล ลดต่อลิตรละ 3 บาท 3 เดือน  หรือดัมป์ภาษีสูงสุดลิตรละ 5 บาท

เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2565 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า  สำนักงบประมาณได้รายงานให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ทราบถึงความคืบหน้าการเบิกจ่ายงบประมาณ ณ สิ้นไตรมาสที่ 2 ปีงบประมาณ 2565 (ต.ค.64-มี.ค.65) รวมระยะเวลา  6 เดือน มีการเบิกจ่ายแล้ว 1.59 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 51.40 ของงบประมาณทั้งหมด 3.1 ล้านล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายร้อยละ 0.40 มีการก่อหนี้ผูกพันแล้ว 1.82 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 58.73 สูงกว่าเป้าหมายร้อยละ 2.49

ทั้งนี้ เฉพาะรายจ่ายด้านการลงทุนมีการเบิกจ่ายแล้ว  1.91 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 31.48 ของวงเงินรายจ่ายลงทุนรวม 6.08 แสนล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายร้อยละ 2.48 มีการก่อหนี้ผูกพันแล้ว 4.04 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 66.43 สูงกว่าเป้าหมายร้อยละ  8.28   

น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่า การเบิกจ่ายงบประมาณในภาพรวมตลอดจนรายจ่ายเพื่อการลงทุนที่ดำเนินการได้เกินกว่าเป้าหมายนั้น มาจากนโยบายของนายกรัฐมนตรีที่เร่งรัดให้มีการเบิกจ่ายเพื่อให้เม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ  เนื่องจากเศรษฐกิจที่อยู่ในช่วงฟื้นตัวต้องการแรงสนับสนุนจากเม็ดเงินของภาครัฐ โดยนายกรัฐมนตรีได้มีข้อสั่งการตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ ให้ทุกหน่วยงานจัดทำแผนปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายและการก่อหนี้ผูกพันแต่ละไตรมาส

รองโฆษกรัฐบาลกล่าวว่า อย่างไรก็ตามสำนักงบประมาณได้รายงานเพิ่มเติมว่า เฉพาะรายจ่ายลงทุนในปีงบประมาณ 2565 ทั้งสิ้น 112,163 รายการ วงเงินรวม 6.08 แสนล้านบาทนั้น ณ สิ้นไตรมาสที่ 2/65 มีรายการที่เข้าสู่กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างแล้ว 80,727  รายการ วงเงินรวม 5.02 แสนล้านบาท คงเหลือสถานะไม่อยู่ในระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ 31,436 รายการ วงเงิน 1.06 แสนล้าน ของ 568 หน่วยงาน ซึ่งในจำนวนนี้เป็นโครงการที่ยังไม่เข้าสู่กระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง  4,374 รายการ วงเงิน 3.12 หมื่นล้านบาท 

น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้มีข้อสั่งการให้ทุกหน่วยงานเร่งดำเนินการเบิกจ่ายงบประมาณการลงทุนให้แล้วเสร็จ พร้อมกับมอบหมายให้รัฐมนตรีเจ้าสังกัด หรือรัฐมนตรีที่กำกับดูแลมีการติดตาม เร่งรัด และประเมินผลการปฏิบัติงานและการใช้จ่ายงบประมาณให้เป็นไปตามเป้าหมาย หากพบว่ารายการใดหมดความจำเป็น หรือคาดว่าจะไม่สามารถดำเนินการได้ทันในปีงบประมาณ ก็ให้พิจารณาปรับแผนปฏิบัติการและการใช้จ่ายไปดำเนินการแก้ไขปัญหาความยากจนของประชาชนเป็นอันดับแรกตามนโยบายสำคัญของรัฐบาล เพื่อเป็นกลไกการขจัดปัญหาความยากจน สอดคล้องกับสถานการณ์ข้อเท็จจริงและบริบทของแต่ละพื้นที่

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลระบุว่า กระทรวงการคลังจะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 17  พ.ค.65 ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหมเป็นประธาน พิจารณาเกี่ยวกับการขยายระยะเวลามาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลง 3  บาทต่อลิตร ซึ่งมาตรการดังกล่าวกำลังจะหมดอายุลงในวันที่ 20 พ.ค.65 เพื่อให้มาตรการให้ความช่วยเหลือและบรรเทาภาระของภาคประชาชนและภาคธุรกิจมีความต่อเนื่องไม่สะดุด หลังจากสถานการณ์ราคาน้ำมันมีการปรับตัวเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ เบื้องต้นจะมีการเสนอทางเลือกสำหรับมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลให้ที่ประชุม ครม.พิจารณา เพื่อให้เห็นข้อดีและข้อเสียต่างๆ อย่างชัดเจน ส่วนท้ายที่สุด ครม.จะพิจารณาลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลในอัตราเดิม หรือลดมากกว่าเดิม และระยะเวลาการลดภาษีจะนานเท่าไหร่นั้น ทั้งหมดขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของฝ่ายนโยบายทั้งสิ้น

 “มีความจำเป็นที่จะต้องเสนอต่ออายุมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลิตรละ 3 บาทออกไป จากที่มาตรการจะหมดอายุในวันที่ 20 พ.ค.นี้ เพื่อไม่ให้มาตรการสะดุด ซึ่งกระทรวงการคลังโดยกรมสรรพสามิตได้เตรียมทางเลือกในมิติต่างๆ เพื่อให้ ครม.พิจารณาอย่างชัดเจน ส่วนการตัดสินใจว่าจะดำเนินมาตรการดังกล่าวต่อไปอย่างไรขึ้นอยู่กับ พล.อ.ประยุทธ์” รายงานข่าวระบุ

โดยก่อนหน้านี้ นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวถึงแนวทางการต่ออายุมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลงลิตรละ 3 บาทว่า  นโยบายช่วยเหลือมีแน่นอน ทั้งการขยายอายุลดภาษีดีเซลออกไป หรือจะมีการลดภาษีเพิ่มเติม ส่วนจะเลือกใช้แนวทางใดบ้างต้องขอพิจารณาอีกครั้งให้รอดู ซึ่งการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลต่อไปอีกสามารถทำได้ และยืนยันว่าไม่กระทบกับฐานะการคลังทั้งปี

อย่างไรก็ดี เบื้องต้นคาดว่ากระทรวงการคลังจะมีการเสนอ 2 แนวทางในการลดปัญหาราคาน้ำมันดีเซลที่อยู่ในระดับสูง ได้แก่ 1.การลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลงลิตรละ 3 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน ซึ่งเป็นมาตรการที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน และ 2.การลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลงในอัตราลิตรละ 5 บาท โดยระยะเวลาจะน้อยกว่า 3 เดือน โดยทั้ง 2 แนวทางประเมินว่าจะใช้งบประมาณไม่เกิน 2 หมื่นล้านบาท เพื่อไม่ให้กระทบกับการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลในปีงบประมาณ 2565

สำหรับมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลที่จะหมดอายุในวันที่ 20 พ.ค.นี้ ครม.ได้อนุมัติลดเก็บภาษีน้ำมันดีเซลทุกรายการลง 3 บาทต่อลิตร เป็นระยะเวลา 3  เดือน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ซึ่งที่ผ่านมาภาคเอกชนเสนอให้ขยายเวลาลดภาษีดังกล่าวออกไปอีก 3 เดือน โดยการลดภาษีดังกล่าว ทำให้กรมสรรพสามิตสูญเสียรายได้เดือนละ 5.7 พันล้านบาท รวม 3 เดือนสูญเสียรายได้ 1.7 หมื่นล้านบาท แต่รัฐบาลยืนยันว่าเรื่องดังกล่าวมีความจำเป็นต้องดำเนินการ เพื่อช่วยเหลือพยุงราคาน้ำมันร่วมกับกระทรวงพลังงาน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เช็กเงื่อนไข 'ครอบครัวอุปถัมภ์' ผู้สูงอายุ รับเดือนละ 3 พัน

'รองโฆษกรัฐบาล' เผยเงื่อนไขคุณสมบัติ 'ครอบครัวอุปถัมภ์' ผู้สูงอายุ มีสิทธิได้รับเงินช่วยเหลือเดือนละ 3 พันบาท เริ่มยื่นเรื่องได้ตั้งแต่เดือน พ.ค.