ส่อเมินชื่อ‘เศรษฐา’ พรรคร่วม-สว.ชู‘อุ๊งอิ๊ง’ ดันแบ่งเค้กนั่งรมต.เดิม

พรรคร่วมรัฐบาล-ส.ว.ส่อเค้าไม่เอา "เศรษฐา" ตั้งเงื่อนไขแบ่งกระทรวงให้ชัดเจนก่อนโหวตนายกฯ ไม่ห้ามนั่งเก้าอี้เดิมหวังสานงานต่อ เล็งหนุน "อุ๊งอิ๊ง" ขึ้นแทน "วันชัย" อ้าง สว.พร้อมโหวตแคนดิเดตนายกฯ พท. "2 สว.ตัวตึง" โต้กลับไม่ได้มีมากขนาดกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ยังต้องเช็ก "คุณสมบัติ-ลักษณะต้องห้าม" ประกอบ  "ไผ่" ย้ำ 40 พปชร.โหวตนายกฯ พท. รอมติพรรคทางการ ด้าน พท.ประกาศหลังตั้งรัฐบาล "ค่าไฟ-ค่าน้ำมัน" ลดทันที พักหนี้เกษตรกร 3 ปี มุ่งมั่นเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจ แกนนำ ก.ก.ลั่นไม่โหวตเปิดประตูให้ 2 ลุง

เมื่อวันอาทิตย์ มีรายงานความคืบหน้าการจัดตั้งรัฐบาลระบุว่า ภายหลังที่นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย (พท.) ให้สัมภาษณ์ชูหลักการห้ามพรรคเก่าคุมกระทรวงเดิม สอดรับการนายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ต้องการให้ตกลงเรื่องโควตารัฐมนตรีก่อนการโหวตนายกฯ

ล่าสุดมีกระแสข่าวพรรคร่วมรัฐบาลที่สนับสนุนพรรค พท.ในการจัดตั้งรัฐบาลและแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคพท.เป็นนายกฯ ยื่นข้อเสนอต่อคณะผู้แทนจัดตั้งรัฐบาลของพรรค พท. ต้องแบ่งกระทรวงให้เป็นที่ยุติชัดเจนก่อนการโหวตนายกฯ และไม่มีเงื่อนไขห้ามนั่งในกระทรวงเดิม แต่ให้พิจารณากระทรวงเดิมเป็นอันดับแรก เพื่อที่จะทำงานได้ต่อเนื่อง และยังต้องการให้รัฐบาลใหม่เร่งรัดนโยบายแก้ปัญหาปากท้องประชาชนเป็นอันดับแรก ทั้งนี้ หากพรรค พท.และนายเศรษฐาไม่รับเงื่อนไข มีความเป็นไปได้อยากจะให้เปลี่ยนตัวเป็น น.ส.แพทองธาร ชินวัตร แคนดิเดตนายกฯ จากพรรค พท. ขึ้นมาเป็นนายกฯ แทน

นอกจาก ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลแล้ว   ยังพบท่าทีจากสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ก็ออกมาแสดงอาการไม่ยอมรับนายเศรษฐา เพราะยังติดใจเรื่องคุณสมบัติ  และลักษณะต้องห้ามต่างๆ อีกด้วย 

ด้านนายวันชัย สอนศิริ สว. ให้สัมภาษณ์ยืนยันว่า สว.จะลงมติสนับสนุนการจัดตั้งรัฐบาลของพรรค พท. เพราะถือว่าเป็นฝั่งที่สามารถรวมเสียงข้างมากในสภาได้ การแสดงท่าทีนั้นไม่เกี่ยวข้องต่อกรณีที่พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) หรือพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) แสดงท่าทีสนับสนุน เพราะ สว.ยืนยันมาตั้งแต่ต้นว่าหากไม่มีพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ไม่มีประเด็นแก้ไขมาตรา 112 และพรรคไหนรวมเสียงข้างมากได้ พร้อมจะสนับสนุน แม้จะมีหรือไม่มี รทสช.หรือ พปชร.ก็ตาม เมื่อ พท.ประกาศออกมา สว.มีความพร้อม เมื่อบอกว่ามี 2 ลุงอีก ถือเป็นฝีมือของ พท.ที่สามารถหาความมั่นใจในเสียงสนับสนุนได้ ดังนั้นแม้จะมีพรรค 2 ลุงหรือไม่มี สว. พร้อมจะโหวตให้

เมื่อถามว่า การตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญกรณีคำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดินวันที่ 16 ส.ค. จะเป็นตัวแปรหรือไม่ นายวันชัยกล่าวว่า เชื่อว่าไม่เป็นประเด็นปัญหาหรืออุปสรรค เพราะมองว่าศาลจะวินิจฉัยออกมาใน 2 แนวทาง คือรับและไม่รับเท่านั้น โดยไม่มีคำสั่งให้ทุเลาหรือหยุดเลือกนายกฯ ดังนั้น การโหวตเลือกจะเดินหน้าต่อได้ แต่หากพรรค ก.ก.จะเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ให้รัฐสภาโหวต เชื่อว่าจะไม่มีใครโหวตให้ เสนอมาก็จะแพ้ ดังนั้นจะเสนอดังกล่าวไม่เป็นประโยชน์ แม้จะเป็นการกระทำเชิงสัญลักษณ์ก็ได้ ในชื่อของนายพิธานั้น มติของรัฐสภาชี้ชัดว่าไม่สามารถเสนอซ้ำได้ เชื่อว่าพรรค ก.ก.รู้ว่าอะไรควรหรือไม่ควรทำ

เมื่อถามถึงฤกษ์ดีที่สุดสำหรับการโหวตนายกฯ รอบสาม ระหว่างวันที่ 18 ส.ค. กับวันที่ 22 ส.ค. นายวันชัยกล่าวว่า ทั้ง 2 วันถือเป็นดีทั้งสิ้น แต่วันที่ 18 ส.ค.นั้น ถือว่าเป็นพลังแห่งอำนาจที่สยบราหู มีอำนาจ และขจัดความชั่วร้ายต่างๆ ให้หายสิ้นไปได้ ถือเป็นวันที่ก้าวข้ามความขัดแย้งไปสู่การแก้ปัญหาให้ประเทศ ส่วนตัวมองว่ามีแนวโน้มโหวตวันที่ 18 ส.ค.นี้ เพราะประเมินจากความพร้อมและทุกอย่างเจรจาลงตัว   ส่วนวันที่ 22 ส.ค. ถือเป็นวันมหาเสน่ห์ มีมนตร์ขลัง สร้างความรักและความปรองดองสมานฉันท์ให้เกิดขึ้นได้

โหวต 'เศรษฐา' อาจเปลี่ยนได้

นายเสรี สุวรรณภานนท์ สว. กล่าวถึงกรณีนายวันชัยระบุวันโหวตนายกฯ จะเป็นวันที่ 22 ส.ค.ว่า ยังไม่ชัดเจนจะเป็นวันใด อยู่ที่นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภาเป็นผู้กำหนด ถ้าประธานบรรจุวาระก่อนวันที่ศาล รธน.จะพิจารณาคำร้องเรื่องข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อ 41 ในวันที่ 16 ส.ค. ก็อาจนัดโหวตวันที่ 17 หรือ 18 ส.ค.ได้ แต่ถ้าจะรอฟังความชัดเจนจากศาล รธน.ก่อน ก็อาจโหวตช่วงวันที่ 21 หรือ 22 ส.ค. แต่ก็ยังไม่แน่

ส่วนความชัดเจนการโหวตนายกฯ ที่นายวันชัยระบุว่ามีเสียง สว.กว่า 90 เปอร์เซ็นต์พร้อมโหวตสนับสนุนนายเศรษฐา ทวีสินนั้น นายเสรีกล่าวว่า ยังไม่ชัดเจน สว.คงต้องดูข้อมูลประกอบการตัดสินใจทั้งเรื่องคุณสมบัตินายกฯ  และลักษณะต้องห้าม หรือกรณีนโยบายบริหารประเทศ เช่น แจกเงิน 10,000 บาท จะนำงบประมาณจากไหน กระทบการบริหารประเทศหรือไม่ และจะหารายได้เข้าประเทศอย่างไร สิ่งเหล่านี้ สว.อยากได้ยินจากปากนายเศรษฐาให้ชัดเจนในวันโหวตนายกฯ ถ้าปล่อยให้คลุมเครือจะมีปัญหาเยอะ

"ตามหลักการ เมื่อยังไม่ถึงเวลาก็มีโอกาสเปลี่ยนแปลงได้ตลอด จะต้องดูพรรคการเมืองจะยืนยันชื่อนายเศรษฐาหรือไม่ เพราะเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงได้ตลอด เช่น เรื่องคุณสมบัติ ถ้าขัดรัฐธรรมนูญมีโอกาสถูกเปลี่ยนชื่อได้ อาจปรากฏอีก 1-2 วัน ของจริงให้รอดูวันโหวต ถ้าพรรคร่วมรัฐบาลตกลงโควตาครม.กันไม่ได้แล้วถอนตัว ก็เป็นตัวแปรได้ ดังนั้นทุกอย่างจะชัดเจนจริงๆ ต้องรอวันโหวต" นายเสรีกล่าว

นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ สว. กล่าวว่า ขณะนี้วันโหวตนายกฯ ยังไม่ชัดจะเป็นวันใด ไม่รู้จะเป็นวันที่ 22 ส.ค.ตามที่นายวันชัยว่าไว้หรือไม่ แต่สิ่งที่ชัดคือ เสียง สว.ที่จะหนุนนายเศรษฐาเป็นนายกฯ ไม่ได้มีมากมาย 90 กว่าเปอร์เซ็นต์ตามที่นายวันชัยพูดแน่นอน ขณะนี้ยังเหลือเวลาอีกหลายวันอะไรก็เกิดขึ้นได้ ทุกอย่างจะนิ่งต้องรอ 1-2 วัน ก่อนวันโหวตจริงว่าชื่อนายเศรษฐาจะผ่านหรือไม่

เมื่อถามว่า ขณะนี้พรรค พปชร.ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค ประกาศยกเสียง ส.ส. 40 คนให้พท.เป็นนายกฯ แล้ว จะช่วยสร้างความมั่นใจให้ พท.เพิ่มขึ้นหรือไม่ นายกิตติศักดิ์กล่าวว่า สิ่งที่เห็นอาจไม่ใช่ สิ่งที่ใช่อาจไม่เห็น สิ่งที่ พปชร.พูดเป็นสัญญาปากเปล่า ยังไม่แถลงข่าวจับมือเป็นรัฐบาลอย่างเป็นทางการ แต่เป็นการส่งสัญญาณต่อรองอย่างเข้มข้น เพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการ ถ้าไม่ได้ตามที่เรียกร้อง พท.ก็เสียงไม่พอ เหมือนเป็นการบีบให้พท.ต้องเดินหน้าหาลุงป้อมอย่างเดียว เพราะขณะนี้ พท.ไม่สามารถกลับไปหา ก.ก.ได้แล้ว

"คนถืออำนาจการต่อรองทั้งหมดขณะนี้อยู่ที่ 2 ลุง คือลุงป้อม กับลุงหนู นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) เป็นคนกำหนด แค่ลุงหนูถอนตัวเพื่อไทยก็เจ๊ง หรือลุงป้อมไม่เข้าร่วมด้วย สว.ก็ไม่โหวตให้ ดังนั้นลุงไม่มีเพื่อไทยได้ แต่เพื่อไทยไม่มีลุงไม่ได้ ทางของพรรคเพื่อไทยตีบมาก อาจไม่ได้อย่างที่หวัง เพราะอำนาจต่อรองน้อยกว่าฝั่ง 2 ลุง" นายกิตติศักดิ์กล่าว

พปชร.โหวตให้แน่รอมติเคาะ

นายไผ่ ลิกค์ ส.ส.กำแพงเพชร ในฐานะกรรมการบริหารพรรค พปชร.กล่าวถึงกรณีประกาศ 40 เสียงพรรคพปชร.โหวตนายกฯ พรรค พท.ว่า เรายังยืนยันคำพูดเดิมทั้งหมด และสิ่งที่ยืนยันชัดเจนเรามีความประสงค์อยากให้จัดตั้งรัฐบาลให้ได้โดยเร็วที่สุด เพื่อแก้ปัญหาประชาชน เราอยากผลักดันนโยบายบางส่วนที่หาเสียงไว้กับประชาชน ซึ่งมีหลายนโยบายที่ดีได้ทำบ้าง เราก็อยากให้นโยบายเป็นจริง

เมื่อถามว่า เวลานี้เท่ากับเป็นการประกาศได้เลยหรือไม่ร่วมรัฐบาลกับพรรค พท. นายไผ่กล่าวว่า ยังยืนยันคำพูดเดิมว่าไม่ได้คาดหวัง ไม่มีข้อแม้อะไรใดๆ ทั้งสิ้น ไม่ได้จะบอกว่าจะต้องทำอะไร จะได้ร่วมหรือไม่ได้ร่วมรัฐบาล แต่เราก็ไม่ได้ปฏิเสธว่าเราไม่ได้อยากเป็นรัฐบาล เราต้องการให้ประเทศเดินหน้าจริงๆ เราไม่ได้มีข้อแม้ว่าจะได้เป็นหรือไม่ได้เป็นรัฐบาล ได้ที่นั่งตรงไหน ถ้าทำอย่างนั้นโดยนำมาต่อรอง ตนว่าไม่ใช่สิ่งสวยงาม

เมื่อถามว่า ก่อนโหวตนายกฯ พรรคพปชร.ต้องมีมติพรรคเป็นทางการก่อนหรือไม่ นายไผ่กล่าวว่า ขอให้เป็นเรื่องในวันที่ 15 ส.ค. ที่จะมีการประชุมพรรค เรื่องนี้จะมีความชัดเจนมากขึ้นจะอย่างไร ส่วนกระข่าวเรื่องโควตารัฐมนตรี โดยมีสัดส่วนของ พปชร.ด้วย เป็นการคาดเดากัน สำหรับคนที่จะมาต่อต้านมาโจมตี เราอยากจะให้มองว่ายังไงการที่มีรัฐบาลของ พท.เป็นรัฐบาลที่มีอำนาจเต็ม ย่อมดีกว่ารัฐบาลที่ไม่มีอำนาจ การออกมาประท้วงยังมีเวลาอีกเยอะแยะมากมาย ตัดสินกันที่การกระทำก่อนดีกว่า

วันเดียวกัน เพจเฟซบุ๊กพรรคเพื่อไทย ได้โพสต์ข้อความประกาศนโยบายที่จะทำทันทีหลังจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จ  ประกาศ ค่าไฟ-ค่าน้ำมัน ลดทันที โดยระบุรายละเอียดว่า พรรคเพื่อไทยในฐานะพรรคการเมืองที่เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล มุ่งมั่นที่จะเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจ แก้วิกฤตปัญหาให้พี่น้องประชาชน ปัญหาปากท้องของประชาชนเป็นเรื่องเร่งด่วนที่จะต้องแก้ไข  พรรคเพื่อไทยมีแนวทางในการปรับลดราคาพลังงาน น้ำมัน ไฟฟ้าและก๊าช  เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันให้ประชาชน

ในฐานะพรรคการเมืองที่เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล มุ่งมั่นที่จะแก้วิกฤตเศรษฐกิจที่เป็นปัญหาใหญ่ของพี่น้องประชาชน ภาระหนี้สินเป็นเรื่องเร่งด่วนที่จะต้องได้รับการแก้ไข โดยเฉพาะพี่น้องเกษตรกรและกลุ่มผู้ประกอบการ SME เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวจึงจะต้องมีหนทางในการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน  พรรคเพื่อไทยมีแนวทางในการพักหนี้เกษตรกร 3 ปีทั้งต้น ทั้งดอก เพื่อลดภาระและเปิดโอกาสใหม่ให้พี่น้องเกษตรกรในการทำมาหากิน พลิกฟื้นภาคการเกษตรของไทย ด้วยหลัก ‘ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้’ รวมทั้งการผลักดันการพักชำระหนี้ SME ที่ประสบภัยโควิด 1 ปี คู่ขนานไปกับการปรับโครงสร้างหนี้แบบเฉพาะเจาะจง  พร้อมต่อยอดด้วยชุดนโยบายของพรรคต่อไป

ภายหลังโพสต์ดังกล่าวได้มีประชาชนฝ่ายสนับสนุนเข้าไปแสดงความคิดเห็นเป็นจำนวนมาก รวมไปถึงชาวเน็ตบางส่วนได้โพสต์ข้อความแซวกึ่งตั้งคำถามว่า การประกาศดังกล่าว เป็นนโยบาย หรือเพียงเทคนิคการหาเสียงเท่านั้น

นายนพดล ปัทมะ สส.บัญชีรายชื่อ  พรรค พท. ให้สัมภาษณ์กรณีความคืบหน้าในการรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาล มองอย่างไรหากมีการเชิญพรรค พปชร. และพรรค รทสช.เข้ามาร่วมจัดตั้งรัฐบาลด้วยว่า ต้องดูว่าท้ายที่สุดแล้วจะเป็นเช่นนั้นหรือไม่ เพราะตอนนี้เป็นแค่การที่ สส.จากพรรค พปชร. ที่แสดงความจำนงว่าจะโหวตให้นายเศรษฐา ทวีสินก่อน ความเห็นทั่วไปคือ มีความจำเป็นในทางการเมืองที่ต้องรวบรวมเสียงในการจัดตั้งรัฐบาลให้ได้ เนื่องจาก  8 พรรคร่วมรัฐบาลเดิมไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ต้องถามตัวเองว่าการมีรัฐบาลที่มีแคนดิเดตนายกฯ จาก พท.เป็นนายกฯ นั้น ดีกว่าการที่ พท.ไปสนับสนุนคนอื่นเป็นนายกฯ หรือไม่ ท้ายที่สุดหาก พท.ตัดสินใจอย่างไร ก็ต้องความรับผิดชอบในทุกเรื่อง

เมื่อถามว่า มั่นใจหรือไม่ว่าเสียงสนับสนุนนายเศรษฐาจะสามารถโหวตผ่าน  นายนพดลกล่าวว่า เชื่อว่าผ่าน เพราะเรารู้อยู่แล้วว่าโหวตได้แค่ครั้งเดียว ซึ่งต้องเตรียมเสียงให้ชัดเจนแน่นอน

ก.ก.ไม่โหวตเปิดประตูให้ 2 ลุง

นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ทางพรรค พท.รวมเสียงจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคขั้วอำนาจเดิม และมีแนวโน้มที่จะดึงพรรค 2 ลุงเข้ามาร่วมด้วย จุดยืนในการโหวตนายกฯ ของพรรคก้าวไกลจะโหวตสนับสนุนหรือไม่ ว่า ขณะนี้ยังไม่มีการประชุมพรรคเพื่อหารือ จึงยังไม่มีข้อสรุปในเรื่องนี้ ที่ผ่านมาเคยมีการประชุมและอภิปรายในเรื่องนี้ ซึ่งเป็นภายหลังที่พรรค พท.แจ้งว่าขอถอนตัวออกจากพรรคร่วม ต้องยอมรับว่าในมุมของ สส.หลายคนอาจมีการวิพากษ์วิจารณ์การจัดตั้งรัฐบาลในตอนนี้

 "สถานการณ์ก็ค่อนข้างมีความชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ว่าจะมั่นใจได้อย่างไรว่าการโหวตของพรรคก้าวไกลจะไม่เป็นการเปิดประตูให้ 2 ลุง ซึ่งก็หาเสียงไว้ว่า มีลุงต้องไม่มีก้าวไกล ฉะนั้นจากทิศทางในตอนนี้ จึงมีมุมที่ สส.จะวิจารณ์ในสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น แต่จะนำไปสู่ข้อสรุปได้เลยหรือไม่นั้น ต้องรอการหารือภายในพรรคอีกครั้ง" นายรังสิมันต์กล่าว

ขณะที่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล   ลงพื้นที่ปราศรัยช่วยหาเสียงให้นายพงศธร ศรเพชรนรินทร์ ว่าที่ผู้สมัคร สส.ระยอง ตอนหนึ่งว่า เรียนตรงนี้ว่ารัฐบาลแห่งชาติที่กำลังพยายามจัดตั้งกันอยู่ มันจะสู้ฝ่ายค้านประชาชนได้อย่างไร เพราะฉะนั้นอย่าลืมบรรยากาศแบบนี้ ให้เป็นฝ่ายค้าน แต่เป็นฝ่ายค้านของประชาชน ฝ่ายค้านที่มีประชาชนอยู่ข้างๆ ทำงานได้มากกว่ารัฐบาลแห่งชาติแน่นอน

นายตรีรัตน์ ศิริจันทโรภาส รองเลขาธิการพรรคไทยสร้างไทย (ทสท.)  แถลงทิศทางการเมืองของพรรคว่า เรายืนยันทำตามสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน คือการไม่เป็นนั่งร้านให้เผด็จการสืบทอดอำนาจ ด้วยการไม่ร่วมรัฐบาลกับลุงและพรรคของลุง พร้อมแนะนำให้พรรคการเมืองให้ทำตามคำพูดที่เคยหาเสียงและสัญญาไว้กับประชาชน ทางที่ดีที่สุดคือกลับมาจับมือกับ 8 พรรคการเมืองตามเอ็มโอยูเดิม  พรรค ทสท.พร้อมทำงานเพื่อประชาชนไม่ว่าเป็นรัฐบาลหรือเป็นฝ่ายค้านก็ทำงานได้

ที่ห้องกรุงธน ชั้น 3 โรงแรมรอยัลริเวอร์ พรรคเป็นธรรม (ปธ.) ได้มีการประชุมใหญ่สามัญ ครั้งที่ 2/2556 เพื่อเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคในตำแหน่งที่ว่างลง และปรับยุทธศาสตร์เตรียมพร้อมในการเลือกตั้งครั้งหน้า

โดยนายกัณวีร์ สืบแสง สส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะเลขาธิการพรรค ปธ. ให้สัมภาษณ์ถึงจุดยืนในการเลือกนายกฯ  หลังจากพรรค พท.ว่า หากมีพรรค 2 ลุงเข้าร่วมรัฐบาล จะไม่เลือกนายกฯ จากพรรค พท. ไม่ส่งเสริมการสืบทอดอำนาจ ซึ่งหากพรรค ก.ก.จะตัดสินใจร่วมโหวตให้พรรค พท.ก็เป็นสิทธิ์ แต่พรรค ปธ.จะไม่โหวตให้อย่างแน่นอน แม้จะกลายเป็นเสียงเดียวในสภาก็ตาม

นายชัยชนะ เดชเดโช ส.ส.นครศรีธรรมราช และรักษาการรองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงการโหวตนายกฯ รอบที่ 3 ว่า การประชุม สส.ช่วงบ่ายวันที่ 15 ส.ค.นี้ จะหยิบยกประเด็นการโหวตนายกฯ ขึ้นมาหารือ และหาข้อสรุปว่าจะโหวตทิศทางไหน โดยจะต้องให้ประเทศมีทางออกให้ได้ ไม่ใช่มีทางตัน เพราะหานายกฯ ไม่ได้ เมื่อหลักการของพรรค ยึดหลักว่าต้องไม่มีการแก้ไขมาตรา 112 ต้องไม่มีพรรคการเมืองสนับสนุนแก้ไขมาตรานี้ และต้องไม่เป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย คิดว่าถ้าผู้จัดตั้งรัฐบาลปราศจาก 3 เงื่อนไขนี้ จะต้องหยิบยกมาหารือในที่ประชุม สส.ว่าจะโหวตอย่างไรเพื่อเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

เมื่อถามว่า พรรค พท.ได้ติดต่อมายังพรรค ปชป.บ้างหรือไม่ นายชัยชนะ กล่าวว่า ยัง ตนคิดว่า พท.พูดตามข่าวว่าเขาไม่ได้ติดต่อใคร และพรรค 2 ลุง เขาไม่ได้บอกว่าเขาติดต่อเลย มีแต่พรรคที่แถลงไปก่อนหน้าที่ พท.ยืนยันว่ามีการพูดคุยกัน ยืนยันว่าตั้งแต่มีข่าวว่า ปชป.มีชื่อเป็นพรรคร่วม ก็ไม่มีการพูดคุยกัน เป็นแต่เพียงข่าวทั้งนั้น โดยพรรคพร้อมทำงานทั้งสองฝ่ายอยู่แล้ว เพราะทำหน้าที่ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลมาแล้ว

ส่วนนายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก โดยใช้คำว่า “รัฐบาลมิจฉาชีพ” สรุปว่า อันการเมืองยุคนี้ เสมือนหนึ่งเรื่องหลอกลวงของ “แก๊งคอลเซนเตอร์” ไม่ผิดเพี้ยน  แสร้งตีหน้าเศร้าเล่าต่อสาธารณชนว่า แสนเป็นห่วงบ้านเมืองวิกฤต เศรษฐกิจย่ำแย่ ปากท้องของพี่น้องต้องไปดูแล ต้องมีรัฐบาลอย่างเร่งด่วน ไม่งั้นประเทศจะเสียหาย แต่ธาตุแท้กล้าเอา “อุดมการณ์” เร่ขาย เพื่อแลกกับการกลับบ้านของคนเพียงคนเดียว ด้วยขบวนการนโยบาย “เทคนิคหลอกประชาชน”

โดยวันอังคารที่ 15 สิงหาคม จะเปิดเผยพฤติกรรมของบุคคลที่กำลังขึ้นสู่ตำแหน่งผู้นำประเทศ ว่าไม่ได้เป็นอย่างที่เห็น เพราะฉ้อฉลปล้นเงินผู้ถือหุ้นอย่างชัดเจน ถือเป็นเกียรติยศยิ่งใหญ่ครั้งหนึ่งในชีวิตของผม ที่ได้แฉเพื่อชาติ  “กระชากหน้ากากคนโกง เปิดโปงคนชั่ว ไม่เกรงกลัวอิทธิพล”.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'เศรษฐา' ฉุนใช้ชายแดนเป็นฐานหลอกคนไทย สั่งตัดน้ำ ตัดไฟ ตัดสัญญาณมือถือ

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ หรือ ครม.สัญจร ว่า