"เศรษฐา" ภูมิใจนำเสนอการพัฒนาที่ยั่งยืน-อารยเกษตรในเวที UNGA เผยต่างชาติสนใจการออกหุ้นกู้สีเขียว หวังขยายการเติบโตทางเศรษฐกิจ ดึงอาเซียนเสริมศักยภาพดึงดูดนักลงทุนในเศรษฐกิจสีเขียว มุ่งสู่ภูมิภาคการผลิตที่ยั่งยืน ปลื้ม "โจ ไบเดน" ร่วมยินดีรับตำแหน่งนายกฯ เดินหน้าสานสัมพันธ์ไทย-สหรัฐ พัฒนาการค้าร่วมกัน
ที่สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 20 ก.ย. เวลา 10.59 น. (เวลาท้องถิ่นสหรัฐ) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมระดับผู้นำว่าด้วยการดำเนินการสภาพภูมิอากาศ (Climate Ambition Summit) ในโอกาสเข้าร่วมการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 78 (UNGA 78) ตอนหนึ่งระบุว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกถือเป็นปัญหาเร่งด่วนและร้ายแรงในปัจจุบัน ซึ่งช่วงเวลาที่ผ่านมาได้มีโอกาสพบปะกับเกษตรกรของประเทศไทย และรับทราบโดยตรงถึงผลกระทบร้ายแรงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งมีผลต่อการดำรงชีวิตของเกษตรกร จึงเป็นสิ่งที่เราต้องลงมือแก้ไขปัญหาทันที
นายเศรษฐากล่าวว่า ไทยได้ให้คำมั่นสัญญาที่สำคัญและมุ่งมั่นในการบรรลุเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศ เพื่อให้บรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี ค.ศ.2050 โดยเราได้เพิ่มเป้าหมายการสนับสนุนการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนดขึ้น (NDC) จาก 20% เป็น 40% ภายในปี ค.ศ.2030 ซึ่งมีการดำเนินการที่มีผลเป็นรูปธรรม สะท้อนได้จากยุทธศาสตร์การพัฒนาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำในระยะยาว โดยประเทศไทยได้ทำงานอย่างหนัก เพื่อจะบรรลุภารกิจที่สำคัญยิ่งนี้
"รัฐบาลใช้เป้าหมายเหล่านี้ในการร่างแผนพลังงานแห่งชาติขึ้นใหม่ โดยมุ่งเน้นไปที่ประสิทธิภาพการใช้พลังงาน การเปลี่ยนแปลงในภาคการขนส่ง การเพิ่มการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ และการเตรียมการที่จะยุติการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน ได้ดำเนินโครงการนำร่องโดยใช้แนวความคิดจากเกษตรกรรมยั่งยืน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ประสบความสำเร็จพร้อมต่อยอดโครงการ ซึ่งไม่เพียงแต่ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนเท่านั้น แต่ยังช่วยลดความเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และช่วยเพิ่มความเป็นอยู่ที่ดีให้แก่เกษตรกรทั่วประเทศอีกด้วย" นายเศรษฐากล่าว
นายกฯ กล่าวว่า ประเทศไทยยังได้ส่งเสริมกลไกการเงินสีเขียว (Green Finance) อย่างแข็งขันผ่านการออกพันธบัตรเพื่อความยั่งยืน ซึ่งปัจจุบันสามารถระดมเงินได้ในจำนวน 12.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ผ่านกลไกนี้ ไทยจะออกพันธบัตรเชื่อมโยงกับความยั่งยืน กระตุ้นการเติบโตของพันธบัตรสีเขียว เพื่อให้มั่นใจว่าองค์กรต่างๆ จะได้รับแรงจูงใจในการบรรลุเป้าหมาย SDG ด้วย
จากนั้น นายฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์ นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม เข้าพบเพื่อหารือทวิภาคีกับนายเศรษฐา ซึ่งนายเศรษฐากล่าวว่า ไทยมองเวียดนามเป็นเพื่อนบ้านและหุ้นส่วนที่สำคัญ รวมทั้งเพื่อเฉลิมฉลองครบรอบ 10 ปีของความสัมพันธ์เป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ระหว่างกัน โดยรัฐบาลจะเสริมสร้างความร่วมมือกับเวียดนามในทุกด้าน เคารพซึ่งกันและกัน เพื่อผลประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองประเทศ
ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายได้หารือถึงประเด็นต่างๆ ที่สำคัญ ได้แก่ ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างกันมากขึ้น โดยการส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่างกัน โดยเห็นพ้องที่จะเพิ่มเที่ยวบินระหว่างกันมากขึ้น เพื่อเชื่อมเมืองรองของไทย (เช่น อุดรธานี) กับเวียดนาม นอกเหนือจากกรุงเทพฯ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการค้าและความสัมพันธ์ระดับประชาชนระหว่างกันต่อไป รวมทั้งจะแลกเปลี่ยนการเยือนระดับสูงระหว่างกันเพิ่มขึ้น
ดึงนักลงทุนร่วม ศก.สีเขียว
นอกจากนี้ นายกฯ ยินดีกับการลงทุนของเวียดนามในไทยที่มีมากขึ้น ซึ่งไทยยินดีที่จะขยายการค้าการลงทุน ระหว่างกัน เเละพร้อมผลักดันการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกันเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจในภูมิภาค ขณะที่การค้าทวิภาคีระหว่างไทยกับเวียดนาม ซึ่งทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรอำนวยความสะดวกทางการค้าให้มากยิ่งขึ้น
ต่อมาเวลา 11.49 น. นายเศรษฐาได้กล่าวถ้อยแถลงในการระดมทุนเพื่อการพัฒนา (FfD) ในการประชุม High-Level Dialogue on Financing for Development ซึ่งเป็นกลไกระดับสูงในเวทีสหประชาชาติเพื่อขับเคลื่อนวาระดังกล่าว จัดขึ้นทุก 4 ปี ในห้วง High-Level Week ของการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ (UNGA) โดยการประชุมครั้งนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 ภายใต้หัวข้อ “Financing the SDGs for a world where no one is left behind” มีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกันกำหนดทิศทางความร่วมมือระหว่างประเทศในด้านการระดมทุนเพื่อการพัฒนาในทุกมิติ เพื่อสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)
นายกฯ เชื่อมั่นว่าประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาจะสามารถบรรลุเป้าหมาย SDGs ได้นั้น จำเป็นต้องได้รับเงินสนับสนุนเพื่อการพัฒนา พร้อมเสนอให้ปฏิรูปสถาปัตยกรรมทางการเงินระหว่างประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อขับเคลื่อนเงินทุนเพื่อการพัฒนาอย่างครอบคลุม ซึ่งมุ่งเน้นไปที่ 3 ประเด็นสำคัญ 1.ประเทศกำลังพัฒนาควรมีบทบาทสำคัญในสถาบันการเงินระหว่างประเทศ 2.การปฏิรูปสถาปัตยกรรมทางการเงินควรส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศ 3.การปกป้องสภาพภูมิอากาศ การพัฒนา และการลดความยากจน ต้องดำเนินการไปด้วยกัน
"การปฏิรูปควรตอบสนองต่อความต้องการในการลงทุนที่เพิ่มขึ้นในโครงการที่ยั่งยืน เป็นมิตรกับสภาพภูมิอากาศ และสอดคล้องกับความร่วมมือระหว่างประเทศด้านการเงินที่ยั่งยืน โดยไทยได้ออกตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน และส่งเสริมความร่วมมือตราสารที่เกี่ยวข้องกับ ESG ในตลาดทุนอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2563 เพื่อนำมาพัฒนาโครงการเพื่อความยั่งยืนในหลายโครงการ และในปีหน้าจะมีการออกตราสารหนี้ส่งเสริมความยั่งยืน เพื่อกระตุ้นตลาดตราสารหนี้สีเขียว รวมถึงจะมีการพัฒนากรอบ 'Thailand Taxonomy' เพื่อส่งเสริมกิจกรรมการลงทุนและการจัดหาเงินทุนที่ยั่งยืนสอดคล้องกับมาตรฐานสากล" นายกฯ ระบุ
เวลา 13.15 น. นายเศรษฐากล่าวเปิดกิจกรรมของอาเซียนด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนว่า การพัฒนาที่ยั่งยืนไม่ได้เป็นเพียงแค่เป้าหมายสำคัญของรัฐบาลไทยเท่านั้น แต่ยังเป็นประเด็นที่สำคัญในระดับภูมิภาคที่จะช่วยส่งเสริมการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อมและขับเคลื่อนสังคมโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยไทยยืนยันที่จะรักษาบทบาทสำคัญในฐานะประเทศผู้ประสานงานอาเซียนด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่ออนาคตของภูมิภาคที่ยั่งยืน และสามารถตอบสนองได้อย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น
โดยนายกฯ นำเสนอแนวทางด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับบริบทของวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน ค.ศ.2045 คือ 1.ทุกฝ่ายควรมุ่งมั่นเสริมสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจควบคู่กับการพัฒนาที่ยั่งยืน 2.อาเซียนควรสร้างรากฐานที่แข็งแกร่งเพื่ออุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงส่งเสริมแนวคิดการเงินสีเขียว เพื่อเพิ่มศักยภาพในการปรับตัวของอาเซียน และยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนในภูมิภาค 3.อาเซียนในฐานะภูมิภาคที่มีพลวัตของการเจริญเติบโตสูง จึงมีศักยภาพที่จะสามารถเป็นแหล่งด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่สำคัญต่อโลกผ่านการดึงดูดการลงทุนในเศรษฐกิจสีเขียว
"ความสำเร็จของการเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นได้นั้น ต้องอาศัยความร่วมมือทั้งระดับรัฐบาล ภาคประชาสังคม นักวิชาการ และภาคธุรกิจ พร้อมเชิญชวนให้ทุกฝ่ายร่วมมือกับไทยและอาเซียน เพื่อมุ่งเป้าไปสู่การเปลี่ยนวิสัยทัศน์ของการพัฒนาที่ยั่งยืนไปสู่แนวทางปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นมรดกสำคัญที่ทุกคนจะสามารถทิ้งไว้ให้คนรุ่นหลังได้มีอนาคตที่ดีมากยิ่งขึ้น" นายกฯ ระบุ
ปลื้ม 'ไบเดน' ยินดีนายกฯ
นายเศรษฐาให้สัมภาษณ์ถึงการพบปะกับนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ในระหว่างงานเลี้ยงรับรองผู้นำที่เข้าร่วมประชุมสมัชชาสหประชาชาติ UNGA ครั้งที่ 78 ว่า บรรยากาศเป็นไปด้วยดี แต่ระยะเวลาพบกันสั้นไป
"ได้มีการย้ำถึงความสัมพันธ์ระหว่างไทยและสหรัฐ ที่มีความสัมพันธ์ทางการค้ามายาวนานกว่า 160 ปี ซึ่งนายไบเดนได้แสดงความยินดีกับผม ในฐานะได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และผมได้ยืนยันว่าจะเป็นคู่ค้า Trading partner ที่ดีต่อกัน และคาดว่าจะมีการหารือทวิภาคีร่วมกันของทั้ง 2 ฝ่ายในการประชุม APEC ที่ซานฟรานซิสโก ในช่วงเดือน พ.ย.นี้ จึงจะขอประชุมทวิภาคีร่วมกัน" นายเศรษฐากล่าว
นายกฯ กล่าวว่า มีโอกาสพบปะผู้นำต่างประเทศหลายท่าน เช่น นายกฯเอสโตเนีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีความก้าวหน้ามากเรื่อง E-Government โดยไทยติดต่อเพื่อเรียนรู้และขอให้ทางเอสโตเนียถ่ายทอดเทคโนโลยี เพิ่มประสิทธิภาพ ลดขั้นตอนทางราชการและลดการทุจริตคอร์รัปชัน รวมถึงได้พบกับ Prince Albert รองนายกฯ อังกฤษ ได้หารือว่าหากมีโอกาสจะขออนุญาตไปเยือนสหราชอาณาจักร ซึ่งรองนายกฯ อังกฤษจะไปนำเรียนนายกฯ อังกฤษ หวังว่าจะมีความคืบหน้าต่อไป
ถามถึงการเข้าร่วมประชุม UNGA ครั้งนี้ นายเศรษฐากล่าวว่า สึกภาคภูมิใจที่ได้นำเสนอแนวคิดของประเทศไทย ไม่ใช่เฉพาะในฐานะนายกฯ แต่ในฐานะคนไทย และไม่ใช่แค่รัฐบาลนี้ แต่รวมถึงรัฐบาลที่ผ่านๆ มา ที่ร่วมมือกัน ซึ่งหลายประเทศให้ความชื่นชมที่ไทยให้ความสำคัญกับเรื่องสภาพแวดล้อม ไม่ใช่แค่เรื่องเศรษฐกิจและการเมืองอย่างเดียว
นายเศรษฐากล่าวว่า สำหรับถ้อยแถลงในเวทีว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้มีการนำเสนออารยเกษตร ที่มีปรัชญาต่อเนื่องมาจากเศรษฐกิจพอเพียง ได้นำเสนอให้ชาวโลกทราบ ความสำคัญที่เรื่อง climate change มีการพูดถึงเป้าหมายในแต่ละปี เพื่อให้พัฒนาเร็วขึ้น ด้าน carbon ambition ไทยพยายามทำให้ดีขึ้น ซึ่งประเทศเราหากดูจากตัวเลขที่ UN ให้มา มีการพัฒนาดีกว่าหลายประเทศ ซึ่งผู้นำหลายประเทศชื่นชมมาด้วย
ถามถึงการออกหุ้นกู้ Sustaianability linked bond นายกฯ ชี้แจงว่า ไทยถือเป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าด้านนี้ และมีการออกหุ้นกู้ 12,500 ล้านเหรียญสหรัฐอยู่แล้ว แต่เป็นหุ้นกู้ที่มีขีดจำกัดเรื่องการใช้เงิน จึงต้องขยายขอบเขต ซึ่งสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะจะเขียนคำจำกัดความขึ้นมาว่า การจะระดมทุน 2 พันล้านเหรียญสหรัฐ จะมีขอบเขตอย่างไร และจะทำ Green Economy อย่างไรบ้าง ซึ่งได้รับการตอบรับ โดยเฉพาะจาก BlackRock ที่ให้ความสนใจอย่างมาก เชื่อว่าคนไทยก็คำนึงถึงเรื่องนี้อยู่แล้ว ดังนั้นข้อดีของการแย่งกันซื้อ ทำให้ราคาถูก เป็นสิ่งที่เราอยากให้เกิดขึ้น
นายกฯ กล่าวถึงสถานการณ์เงินบาทอ่อนใประเทศไทยว่า ได้ทราบสถานการณ์แล้ว แต่เรื่องนี้อยู่ในความดูแลของทางธนาคารแห่งประเทศไทย รัฐบาลไม่ได้ไปก้าวก่าย ตนเข้าใจว่าเป็นเรื่องของส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย ผลตอบแทนระยะสั้น ซึ่งทำให้เงินทุนไหลออกเพื่อเก็งกำไร ในแง่ประเทศอื่นที่มีส่วนต่างของดอกเบี้ยสูงกว่า
"รัฐบาลไม่ได้ไปก้าวก่าย แต่ไม่อยากให้บอกว่าเงินบาทอ่อนจะไม่ดีเสมอไป เพราะมาช่วยเรื่องการส่งออก ทำให้ตัวเลขดีขึ้น หรือการท่องเที่ยว มีเงิน 1 เหรียญฯ ได้ 36 บาท ทำให้คนอยากมาท่องเที่ยวยิ่งขึ้น" นายกฯ กล่าว
ต่อมาเวลา 17.00 น. นายยุน ซ็อกยอล ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐเกาหลี ได้พบหารือทวิภาคีกับนายเศรษฐา โดยทั้งสองฝ่ายได้หารือถึงประเด็นต่างๆ ที่สำคัญ ได้แก่ ด้านการเมือง ทั้งไทยและสาธารณรัฐเกาหลีต่างต้องการพัฒนาความสัมพันธ์ทวิภาคีในฐานะหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น โดยนายกรัฐมนตรีผลักดันให้ทั้งสองฝ่ายมีการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับสูงระหว่างกันอย่างสม่ำเสมอ และได้เชิญประธานาธิบดีสาธารณรัฐเกาหลีและภริยาเดินทางเยือนไทย รวมทั้งได้เชิญชวนให้นักลงทุนเกาหลีเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น
เวลา 19.30 น. นายเศรษฐากล่าวปาฐกถาในงานเลี้ยงอาหารค่ำ โดยสภาธุรกิจสหรัฐ-อาเซียน (USABC) และหอการค้าสหรัฐ (USCC) ร่วมเป็นเจ้าภาพ จัดขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่นายกฯ ตอนหนึ่งว่า การเข้าร่วมงานของแขกทุกคนในวันนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความสนใจ และความสำคัญที่ภาคเอกชนสหรัฐมีต่อประเทศไทย หวังว่างานในวันนี้จะเป็นพื้นฐานในการสร้างเครือข่ายและความร่วมมือใหม่ๆ ที่เชื่อมโยงประเทศและเศรษฐกิจของเราเข้าด้วยกัน ไทยและสหรัฐถือเป็นหุ้นส่วนธรรมชาติและมีผลประโยชน์ร่วมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านเศรษฐกิจ ที่ในปีนี้ฉลองครบรอบ 190 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-สหรัฐ
ในตอนท้ายนายกฯ ระบุว่า ถึงเวลาแล้วที่ภาคเอกชนจะเข้ามาดำเนินธุรกิจในประเทศไทยให้มากขึ้น และย้ำถึงความมุ่งมั่นในการทำให้สังคมไทยดีขึ้น รวมถึงชุมชนธุรกิจในประเทศไทยด้วย โดยประเทศไทยเปิดกว้าง และพร้อมที่จะเป็นหุ้นส่วนที่เชื่อถือได้สำหรับห่วงโซ่อุปทานที่ปลอดภัย หลากหลาย และยืดหยุ่นของสหรัฐ และเชื่อมั่นถึงความไว้วางใจ และการสนับสนุนจากภาคเอกชนสหรัฐ ในฐานะตัวแทนสำคัญของการเปลี่ยนแปลง เพื่อใช้ประโยชน์จากจุดแข็งร่วมกัน และขับเคลื่อนอนาคตไปสู่ศตวรรษที่ 2 ของการเป็นพันธมิตรและหุ้นส่วนเชิงกลยุทธ์ที่ใกล้ชิดและครอบคลุมมากยิ่งขึ้น.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เทวดาสคบ.ยิ่งสอบยิ่งเจอ ‘คลัง’ร่วมฟันแชร์ลูกโซ่
"ภูมิธรรม" สั่งฝ่ายกฎหมายเช็กบิล "โฆษก พปชร." ฐานป้ายสีปูดอักษรย่อคนเพื่อไทยเอี่ยวดิไอคอน บี้ส่งรายชื่อจริงมา
ฟุ้งปี68ศก.โต3% จ่อชงมาตรการ! กระตุ้นช่วงปีใหม่
“คลัง” ยืนเป้าหมายจีดีพีปี 2567 ยังโต 2.7% โอดน้ำท่วมทำเศรษฐกิจเป๋
กกต.รวม4คำร้อง ทักษิณครอบงำพท.
กกต.รวม 4 คำร้อง “ทักษิณ” ครอบงำพรรคเพื่อไทยเป็นสำนวนเดียว
พิธาโวยถ่วงเวลาแก้รธน.-112
หลอนวันฮัลโลวีน! "พิธา" อ้างกระบวนการ "แก้ รธน.-นิรโทษกรรม"
MOU44จุดตายรบ. จี้เคลียร์ก่อนปชช.ลุกฮือ ครม.เสี่ยงหยุดทำหน้าที่
"พิธา" จี้รัฐบาลแจงให้ชัดเจรจาพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชารวมเกาะกูดหรือไม่
1พ.ย.นายกฯอิ๊งค์ลงร้อยเอ็ดตามติดนโยบายปราบยาเสพติด
โฆษกรัฐบาล เผย นายกฯเร่งแก้ปัญหายาเสพติด เตรียมบินร้อยเอ็ด 1 พ.ย. ตรวจการป้องกันและปราบปรามตามนโยบายรัฐบาล