คว่ำร่างก้าวไกล แก้รธน.ทั้งฉบับ ผวาแตะสถาบัน

พรรคอันดับ 1 แพ้โหวต สภาตีตกญัตติทำประชามติแก้ รธน.ของพรรคก้าวไกล หลัง "ไอติม" มัดปากเพื่อไทย อ้างสมัยเป็นฝ่ายค้านเคยมีมติเอกฉันท์ด้วยกัน ไม่มีเหตุให้เปลี่ยนจุดยืน เจอสวน รัฐบาลตั้งคณะกรรมการแล้วให้รอก่อน โต้เดือดกลัวก้าวไกลลักไก่แก้หมวดพระมหากษัตริย์

 เมื่อเวลา 10.45 น. วันที่ 25 ตุลาคม  2566 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาฯ คนที่หนึ่ง เป็นประธานการประชุม  มีวาระพิจารณาญัตติเรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาเห็นชอบและแจ้งให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการให้มีการออกเสียงประชามติ เพื่อสอบถามความเห็นของประชาชนต่อการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยมีนายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) เป็นผู้เสนอ

นายพริษฐ์กล่าวเสนอญัตติว่า ส.ส.ร.จะต้องมาจากการเลือกตั้ง 100% ส่วนข้อกังวลที่ห่วงว่าจะไม่มีผู้เชี่ยวชาญเข้ามายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้น ส.ส.ร.สามารถเปิดให้มีผู้เชี่ยวชาญเข้ามาแนะนำ ให้คำปรึกษาได้ ขณะที่ข้อกังวลว่าการยกร่างรัฐธรรมนูญจะเป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐและการปกครองนั้น   ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 255 ของรัฐธรรมนูญห้ามไว้ว่า การกระทำนั้นไม่สามารถทำได้อย่างแน่นอน

เขากล่าวว่า คำถามที่เรานำเสนอเพื่อใช้สำหรับถามในการทำประชามติ เป็นคำถามที่ทุกพรรคการเมืองเมื่อสภาชุดที่แล้วนำเสนอไว้ก่อนแล้ว ไม่ใช่คำถามใหม่ เพราะเคยเสนอโดยนายณัฐวุฒิ บัวประทุม จากพรรคก้าวไกล และนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ จากพรรคเพื่อไทยมาแล้วเมื่อปี 65 และยิ่งกว่านั้น ญัตติคราวที่แล้ว เดือน พ.ย.65 ได้รับมติเอกฉันท์ท่วมท้นจากทุกพรรคการเมืองหลัก

"ดังนั้น สส.ทุกคนที่เคยให้ความเห็นชอบ ผมเชื่อว่าเวลาผ่านไปยังไม่ถึงหนึ่งปี คงไม่มีเหตุผลที่จะทำให้ สส.เปลี่ยนจุดยืน แต่หากจะเปลี่ยนจุดยืน ผมหวังว่า สส.เหล่านั้นจะรับผิดชอบอภิปรายต่อสภาว่าทำไมจุดยืนถึงเปลี่ยนแปลงไป” นายพริษฐ์กล่าว  
ต่อมาที่ประชุมเปิดโอกาสให้ สส.อภิปรายแสดงความเห็น โดย สส.ฝ่ายรัฐบาลอภิปรายเห็นด้วยให้ทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญ แต่ต้องมีความรอบคอบในการทำประชามติ ควรรอความชัดเจนจากคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติ ที่มีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ เป็นประธาน อีกทั้งการยกร่างใหม่โดยไม่กำหนดกรอบใดๆ อาจเกิดการตีเช็คเปล่า แก้ไขหมวดที่เกี่ยวกับสถาบันได้

นายนพดล ปัทมะ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า มั่นใจคณะกรรมการศึกษาแนวทางประชามติที่รัฐบาลตั้งขึ้นมา จะไม่ซื้อเวลาแก้รัฐธรรมนูญ คงใช้เวลาเกินปีใหม่ไปไม่มาก  คณะกรรมการชุดนี้เปิดให้ทุกภาคส่วนมาศึกษาแนวทางทำประชามติ จะทำให้การแก้รัฐธรรมนูญมีโอกาสประสบความสำเร็จมากที่สุด มั่นใจรัฐบาลนี้จะร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมากที่สุด จะทำรัฐธรรมนูญได้ดีกว่าปี 2540

ด้าน สส.ก้าวไกลอภิปรายไปแนวทางเดียวกัน สนับสนุนให้มีการแก้รัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดยให้มี ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน อาทิ นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า อย่าไปสร้างจินตนาการสูงว่าเราจะไปแก้หมวด 1 และ 2 ที่น่าตกใจคือ การไม่เห็นด้วยกับการเลือก  ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน ไม่น่าเชื่อมาจากความคิดเห็นของคนเป็น ส.ส.

ไม่มีเหตุผลที่พรรคเพื่อไทยจะไม่สนับสนุนญัตตินี้ ทำให้กระบวนการทำประชามติล่าช้าไป ดูอย่างไรประชาชนก็ไม่สับสนกระบวนการทำประชามติ ถ้าประชาชนจะสับสนคือ ทำไมพอได้เป็นรัฐบาลจึงเปลี่ยนจุดยืน พูดกันตามตรงอย่างน้อยขอให้พรรคก้าวไกลได้เดินหน้าเรื่องนี้ และให้ฝ่ายรัฐบาลงดออกเสียง อย่าคว่ำในชั้นสภาเลย อย่างน้อยถ้าไม่ผ่านก็ให้ถูกคว่ำในวุฒิสภา เพื่อรักษาเกียรติที่หาเสียงมา

กระทั่งเวลา 15.30 น. หลังจาก สส.อภิปรายจนครบถ้วนแล้ว ที่ประชุมลงมติไม่เห็นด้วยกับญัตติดังกล่าวของพรรคก้าวไกล ด้วยคะแนน 262 ต่อ 162 งดออกเสียง 6 เสียง

ต่อมาพรรคร่วมรัฐบาล นำโดยนายอดิศร เพียงเกษ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล  (วิปรัฐบาล), นายชูศักดิ์ ศิรินิล สส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะรักษาการหัวหน้าพรรคพท. เปิดแถลงข่าว

นายอดิศรชี้แจงว่า ญัตตินี้วิปรัฐบาลประชุมกันถึง 2 ครั้ง ครั้งแรก มองว่าจะนำญัตติอื่นมาพิจารณาแทน ไม่ให้โอกาสฝ่ายค้านได้อภิปรายในสภาหมือนเช่นวันนี้ อย่างไรก็ตาม เมื่อวิปรัฐบาลได้ประชุมกันอีกครั้งในช่วงเช้าวันนี้ หลังการประชุมกันยาวนานถึง 4 ชั่วโมง ได้เห็นว่าเรื่องนี้มีความสำคัญ อาจจะสร้างความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญ จนถึงการมองว่าพรรคร่วมรัฐบาลไม่ใส่ใจต่อการทำประชามติและแก้ไขรัฐธรรมนูญ วิปรัฐบาลจึงมีมติให้นำญัตติดังกล่าวเข้าไปสู่การพิจารณา

นายอดิศรกล่าวว่า สำหรับญัตติของพรรค ก.ก.นั้น ยังเห็นทางที่จะประสานกันได้ เพราะคณะกรรมการศึกษาการจัดทำประชามติได้ยื่นมือไปหาพรรค ก.ก.แล้ว ซึ่งทางพรรค ก.ก.ก็รับปากว่าจะไปแสดงความคิดเห็นต่อคณะอนุกรรมการฯ จึงกล่าวได้ว่าความคิดเห็นก็ไปถึงคณะรัฐมนตรีอยู่แล้ว

ด้านนายชูศักดิ์กล่าวว่า วิปรัฐบาลยังเห็นด้วยกับการทำประชามติ แต่มองว่าการทำประชามติหากดำเนินการโดยรัฐบาลก็จะมีโอกาสสำเร็จ เพราะที่ผ่านมาหากรัฐบาลและวุฒิสภาไม่เห็นด้วย  การทำประชามติก็จะไม่สำเร็จ ทั้งนี้ มีความเห็นขัดแย้งกันมากที่สุด คือการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับมีความหมายอย่างไร โดยพรรคร่วมรัฐบาลมีความเห็นไปในทำนองเดียวกันว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะไม่แก้หมวด 1 และหมวด 2 ดังนั้นส่งให้รัฐบาลไปก็เปล่าประโยชน์ เพราะยังเป็นความเห็นที่ขัดแย้งไม่ลงรอยกันมานานแล้ว จึงเห็นว่าควรให้รัฐบาลทำหน้าที่ไป และหวังว่าจะได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เป็นประชาธิปไตยมากกว่าเดิม

ขณะที่ นายภราดร ปริศนานันทกุล  สส.อ่างทอง และโฆษกพรรคภูมิใจไทย (ภท.) แถลงว่า สิ่งที่ไม่เห็นด้วยมีอยู่ 3 ประเด็นหลักคือ 1.ขณะนี้รัฐบาลมีคณะกรรมการพิจารณาอย่างรอบคอบแล้ว และมาจากทุกพรรคการเมือง นอกจากฝ่ายการเมือง ยังมีฝ่ายวิชาการเข้าร่วมด้วย ซึ่งมีความน่าเชื่อถือมากพอสมควรที่จะดำเนินการให้แล้วเสร็จได้ 2.ในส่วนของเนื้อหาสาระของคำถามที่จะส่งให้รัฐบาล พรรคก้าวไกลเสนอจะให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ซึ่งขัดต่อเจตนารมณ์ของพรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรคที่ประกาศเอาไว้ตอนหาเสียงเลือกตั้ง ว่า พวกเราจะไม่แก้ไขรัฐธรรมนูญในหมวดที่หนึ่งและหมวดที่สอง 3.การตั้ง ส.ส.ร. พรรคร่วมรัฐบาลยังไม่เห็นด้วยว่าจะต้องมาจากการเลือกตั้ง 100% เพราะเราเห็นว่ารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายมหาชนที่จะเกิดขึ้นจากพี่น้องประชาชนในหลากหลายสาขาอาชีพ

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายนิกร จำนง  กรรมการและโฆษกคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 เปิดเผยว่า วันเดียวกันนี้ มีการประชุมคณะอนุกรรมการ 2 ชุดคือ คณะอนุกรรมการศึกษาแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญฯ และคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับแนวทางในการทำประชามติฯ ที่มีตนเป็นประธาน โดยในส่วนที่ประชุมคณะอนุกรรมการศึกษาแนวทางในการทำประชามติฯ ยังหาข้อยุติไม่ได้ว่าจะต้องทำประชามติกี่ครั้ง เนื่องจากมีความเห็นเป็น 2 ทาง ฝ่ายหนึ่งเห็นว่าให้ทำ 2 ครั้ง อีกฝ่ายเห็นว่าให้ทำ 3 ครั้ง ไม่เช่นนั้นจะอันตราย เพราะศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยไว้อย่างนั้น ดังนั้น จึงต้องมีการประชุมคณะอนุกรรมการศึกษาแนวทางในการทำประชามติฯ ในครั้งหน้า โดยจะรอฟังความเห็นจากคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับแนวทางในการทำประชามติฯ ก่อน ที่จะต้องไปรับฟังความเห็นจากสมาชิกรัฐสภา โดยเฉพาะคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมืองจากทั้ง 2 สภา.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กฤษฎาฉีกหน้าพิชัย ไม่ให้เกียรติร่วมงานไม่ได้ ‘ทักษิณ’โผล่โคราช25พ.ค.

“เศรษฐา” ทัวร์ ประเดิมดูงานโครงการพระราชดำริ ชี้รัฐบาลให้ความสำคัญ ก่อนลุยตรวจสนามบินหัวหิน สั่งเร่งขยายให้จบก่อนไตรมาส 4 แพลมมีไอเดียเปลี่ยนชื่อเป็น