ไล่บี้รบ.อุ้ม‘ทักษิณ’ 120วันผู้นำฝ่ายค้านเพิ่งตื่น/‘อุ๊งอิ๊ง’นํ้าท่วมปาก

“อุ๊งอิ๊ง” น้ำท่วมปาก บอกไม่รู้ชี้แจงอย่างไรปมพ่อทักษิณนอน รพ.ตำรวจใกล้ครบ 120 วัน ส่วน “ทวี” โยนเผือกร้อนให้อธิบดีราชทัณฑ์แถลง  “สภาสูง” ชี้เป็นการทำลายนิติธรรมนิติรัฐ เข้าข่ายผิดรัฐธรรนูญมาตรา 3 และ 26 “พี่ศรี” ร้องศาลปกครองแล้ว หวังพิสูจน์ความจริง “ชาญชัย-ทนายนกเขา”  ร้องศาลฎีกาฯ ให้บังคับคดี แต่ศาลยกคำร้องบอกเป็นหน้าที่กรมคุกจัดการ “ฝ่ายค้าน” ขยับจี้ตอบ 2 คำถามใหญ่ “ปชป.” เย้ยผลงานรัฐบาลเป็นที่ประจักษ์คุกมีไว้ขังคนจน!

เมื่อวันอังคารที่ 19 ธันวาคม 2566  ยังคงมีความต่อเนื่องในกรณี น.ช.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลตำรวจใกล้ครบกำหนด 120 วัน โดยยังไม่เคยถูกคุมขังในเรือนจำเลย แม้ได้รับพระราชทานอภัยโทษลดโทษแล้วก็ตาม โดย น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) บุตรสาวปฏิเสธให้สัมภาษณ์เรื่องนี้ โดยกล่าวเพียงสั้นๆ ว่า “ไม่รู้จะชี้แจงอย่างไรดี นักข่าวช่วยคิดหน่อย แต่อิ๊งค์ก็ได้ให้กำลังใจตัวเองและครอบครัว แต่ไม่รู้จะทำยังไง”

ส่วน พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ก็ปฏิเสธให้สัมภาษณ์เรื่องดังกล่าวเช่นกัน โดยระบุว่า “เดี๋ยวเรื่องนี้ ทางอธิบดีกรมราชทัณฑ์น่าจะเป็นผู้แถลงข่าว”

ขณะเดียวกัน ในการประชุมวุฒิสภา  นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ สว. หารือต่อที่ประชุมโดยตั้งคำถามไปถึง พ.ต.อ.ทวี รวมถึงอธิบดีกรมราชทัณฑ์, ปลัดกระทรวงยุติธรรม, แพทย์ใหญ่ รพ.ตำรวจ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติต่อการออกระเบียบของกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการคุมขังนอกเรือนจำ ว่าเป็นการออกระเบียบเพื่อช่วยเหลือคนคน เดียวหรือไม่ เนื่องจากระเบียบดังกล่าวไม่เคยมีมาก่อน และส่อเอื้อนักโทษที่ได้รับฉายาว่า นักโทษเทวดา พักที่ชั้น 14 ของ รพ.ตำรวจหรือไม่ เนื่องจากขณะนี้จะครบกำหนดการพักรักษาตัวนอกเรือนจำ 120 วัน ในวันที่ 22 ธ.ค.นี้ ถือว่าเป็นอภิสิทธิ์ชนที่แม้จะได้รับการลดโทษ แต่ไม่ถูกติดคุก อีกทั้งที่ผ่านมาไม่เคยมีคำชี้แจงว่าป่วยหนักอย่างไรถึงได้นอนนอกเรือนจำ ซึ่งถือเป็นความเสื่อมของกระบวนการยุติธรรม และขัดต่อหลักนิติธรรมที่ต้องปฏิบัติต่อประชาชนอย่างเสมอภาค

 “สังคมสงสัยว่าได้ติดคุกจริงบ้างหรือไม่ เนื่องจากได้รับการลดโทษเหลือ 1 ปี และเข้าเกณฑ์ผู้สูงวัย มีโรคประจำตัว แต่อาการป่วยหนักจนต้องรักษาตัวนอกเรือนจำ ไม่ระบุรายละเอียดที่ชัดเจน ส่วนที่เปิดเผยโรคที่ผ่านมา ถือเป็นโรคทั่วไปที่เป็นโรคประจำตัวของคนสูงวัยและประชาชนทั่วไป แม้จะถามแพทย์ใหญ่ สตช. กรมราชทัณฑ์ ไม่เปิดเผย อ้างเป็นสิทธิผู้ป่วย ดังนั้นอธิบดีกรมราชทัณฑ์และแพทย์ใหญ่ รพ.ตำรวจต้องรับผิดชอบ ฐานทำลายกระบวนการยุติธรรม ละเมิดหลักนิติธรรม กรณีให้สิทธินักโทษเหนือกว่านักโทษคนอื่นและไม่ได้ติดคุกจริง เป็นการละเมิดหลักนิติรัฐนิติธรรมที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 และมาตรา 26 ด้วย” นพ.เจตน์กล่าว

ด้านนายศรีสุวรรณ จรรยา ผู้นำองค์กรรักชาติ รักแผ่นดิน เดินทางมายื่นคำฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อฟ้องอธิบดีกรมราชทัณฑ์, ผบ.เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ, ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชทัณฑ์ และแพทย์ใหญ่ รพ.ตำรวจ ฐานใช้อำนาจโดยมิชอบ และละเลยต่อหน้าที่กรณีร่วมกันเอื้อประโยชน์ให้ น.ช.ทักษิณได้สิทธิพิเศษไปนอนในห้องหรู รพ.ตำรวจ โดยเพิกเฉยต่อการบังคับใช้กฎกระทรวงและระเบียบต่างๆ ของกรมราชทัณฑ์ รวมทั้งการออกระเบียบให้ผู้ต้องขังออกไปคุมขังที่บ้านได้ ถือเป็นการใช้อำนาจเกินไปกว่าที่กฎหมายกำหนด

หวังศาลชี้ขาด น.ช.ทักษิณ

นายศรีสุวรรณกล่าวว่า หลังจากนายทักษิณเดินทางกลับมารับโทษจำคุกในประเทศ ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 4 ต่างใช้อำนาจต่างกรรมต่างวาระช่วยเหลือโดยใช้ดุลยพินิจโดยมิชอบ หรือกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือโดยไม่สุจริต หรือเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม ร่วมกันอนุญาตให้ น.ช.ทักษิณไปนอนรักษาตัวนอกเรือนจำใน รพ.ตำรวจอย่างผิดกฎหมายมานานจนจะครบ 120 วันแล้ว ซึ่ง พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ 2560 มาตรา 55 กำหนดไว้ชัดเจนว่า กรณีที่กรมราชทัณฑ์จะอนุญาตให้ผู้ต้องขังที่ป่วยไปรักษาตัวนอกเรือนจำได้นั้น ต้องมีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพจิตหรือเป็นโรคติดต่อเท่านั้น แต่ น.ช.ทักษิณตามคำแถลงของกรมราชทัณฑ์และแพทย์ต่างๆ  มิได้เข้าเงื่อนไขดังกล่าวแต่อย่างใด การอนุญาตให้ไปรักษาตัวยัง รพ.ตำรวจ จึงเป็นข้อพิรุธที่สังคมจับได้ ซึ่งต้องไปพิสูจน์กันในชั้นศาลเท่านั้น จึงจะเป็นที่ยุติ

 “ยังมีการออกระเบียบอนุญาตให้ผู้ต้องขังไปคุมขังนอกเรือนจำได้อีก โดยประกาศใช้เมื่อ 7 ธ.ค.2566 ยิ่งตอกย้ำความพยายามในการเอื้อให้ น.ช.ทักษิณไม่ต้องนอนคุกสักวันเดียว โดยอ้างเหตุนักโทษล้นคุก ทั้งๆ ที่นักโทษส่วนใหญ่ 99% เป็นนักโทษที่เกี่ยวกับยาเสพติด ไม่ได้อานิสงส์จากระเบียบดังกล่าวอยู่แล้ว แต่คนที่โกงชาติ โกงแผ่นดิน กลับเข้าเงื่อนไขที่จะให้ไปคุมขังที่บ้านได้ อันเป็นการทำให้คำพิพากษาของศาลไม่มีความหมายต่อการลงโทษนักโทษให้หลาบจำได้เลย”

นายศรีสุวรรณกล่าวต่อว่า องค์กรรักชาติ รักแผ่นดิน จึงจำต้องนำความมายื่นฟ้องต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้ศาลไต่สวนและมีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งให้นักโทษออกไปนอนพักรักษาตัวนอกเรือนจำ อันเป็นคำสั่งหรือดุลยพินิจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย รวมทั้งขอให้เพิกถอนระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง 2566 ด้วย โดยการยื่นฟ้องวันนี้ได้ขอให้ศาลไต่สวนฉุกเฉิน เพื่อขอให้มีคำสั่งทุเลาการบังคับการใช้ระเบียบดังกล่าวจนกว่าคดีจะถึงที่สุดด้วย

ศาลฎีกายกคำร้อง

ส่วนที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีต สส.นครนายก พรรคประชาธิตย์ และนายนิติธร ล้ำเหลือ ทนายความ ได้ร่วมยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาฯ เพื่อขอให้ไต่สวนในคดีที่ศาลฎีกาฯ ได้ตัดสินถึงที่สุดแล้ว  โดยคดีดังกล่าวประกอบด้วย 1.คดีหมายเลขดำที่ อม.3/2551 คดีหมายเลขแดงที่ อม.4/2551 ซึ่งเป็นคดีให้ธนาคารเอ็กซิมแบงก์ปล่อยกู้เงินแก่เมียนมา 4,000 ล้านบาท ซึ่งศาลพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย 3 ปี ไม่รอลงอาญา 2.คดีหมายเลขดำที่ อม.1/2551 คดีหมายเลขแดงที่ อม.10/2552 หรือคดีทุจริตโครงการหวยบนดิน ศาลมีคำพิพากษาให้ติดคุก 2 ปีโดยไม่รอลงอาญา และ 3.คดีหมายเลขดำที่ อม.9/2551 คดีหมายเลขแดงที่ อม.5/2551 หรือคดีให้นอมินีถือหุ้นชินคอร์ป และเข้าไปมีส่วนได้เสียในกิจการโทรคมนาคม ซึ่งศาลสั่งพิพากษาว่าให้ลงโทษจำคุก 5 ปี นับโทษจำคุกของจำเลยต่อจากโทษจำคุกในก่อนหน้านี้ โดยศาลได้ออกหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดแต่ละคดีแล้วโดยจำเลยหลบหนีไปต่างประเทศเวลา 16 ปี แต่เมื่อวันที่ 31 ส.ค.2566 ครอบครัวจำเลยได้ยื่นหนังสือขอพระราชทานอภัยโทษและได้รับการอภัยโทษ ให้ลดโทษจำคุกจากโทษจำ 8 ปี ให้เหลือจำคุก 1 ปี แต่เมื่อจำเลยเดินทางเข้าประเทศไทยในวันที่ 22 ส.ค.2566 กลับไม่ได้รับโทษจำคุกจริง โดยมีการอ้างเหตุว่าป่วย ต้องเข้ารับการรักษาตัวใน รพ.ตำรวจ ชั้น 14  โดยกรมราชทัณฑ์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำเป็นการขัดต่อกฎกระทรวงยุติธรรมและระเบียบปี พ.ศ.2563 อีกด้วย

                    ต่อมานายชาญชัยให้สัมภาษณ์ภายหลังว่า ศาลฎีกาฯ ได้ออกคำสั่งยกคำร้อง โดยระบุว่า ศาลฎีกาฯ ออกหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดไปแล้ว การบังคับโทษและการอนุญาตให้ส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำเป็นอำนาจหน้าที่ของกรมราชทัณฑ์ ปัญหาว่าเจ้าหน้าที่ของกรมราชทัณฑ์ปฏิบัติหน้าที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลฎีกาฯ จึงไม่จำต้องไต่สวน ให้ยกคำร้อง 

“หลังจากนี้พวกผมต้องมาดูในข้อกฎหมายว่า การบังคับคดีนี้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลในเรื่องนี้จะอยู่ในขอบเขตอำนาจของศาลใดต่อไป โดยเฉพาะปมปัญหาว่า เจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์ปฏิบัติหน้าที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่นั้น จะอยู่ในอำนาจวินิจฉัยของศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ทั้งนี้ เพื่อรักษาไว้ซึ่งนิติรัฐและนิติธรรมของกระบวนการยุติธรรม” นายชาญชัยระบุ

                    ขณะเดียวกัน นายชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคก้าวไกล  ให้สัมภาษณ์ถึงระเบียบกรมราชทัณฑ์เรื่องการคุมขังนักโทษนอกเรือนจำที่สังคมมองว่าอาจจะเอื้อประโยชน์ให้กับนายทักษิณ ว่าต้องยอมรับว่าเรื่องดังกล่าวเป็นประเด็นที่สังคมจับตาว่าเรามีปัญหาเรื่องกระบวนการยุติธรรมแบบ 2 มาตรฐานมาโดยตลอด ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองด้วย เราจึงคาดหวังว่าเป็นสิ่งที่จะไม่เกิดขึ้นอีก แต่เราปฏิเสธไม่ได้ว่าตอนนี้มีการตั้งคำถามเยอะ โดยเฉพาะกรณีนายทักษิณ ซึ่งยังไม่ต้องพูดถึงระเบียบราชทัณฑ์ในการควบคุมตัวนอกเรือนจำ

                    “คุณทักษิณอยู่ที่ รพ.ตำรวจจะครบ 120 แล้ว มันก็เกิดคำถามว่าทำไมคุณทักษิณถึงได้รับการปฏิบัติที่ดูเหมือนมีอภิสิทธิ์เหนือกว่าผู้ต้องขังคนอื่น เราเห็นด้วยว่าหากผู้ต้องขังมีปัญหาเรื่องสุขภาพ จำเป็นต้องได้รับการรักษาพยาบาล ซึ่งหาก รพ.ราชทัณฑ์มีศักยภาพไม่เพียงพอ เราเห็นด้วยว่าผู้ถูกคุมขังควรได้รับสิทธิ์ออกไปรักษาข้างนอกได้ แต่ที่ผ่านมามีผู้ต้องขังน้อยมากที่ได้รับสิทธิ์นี้ ผู้ต้องขังหลายคนมีปัญหาสุขภาพรุนแรง แต่ก็ไม่ได้รับสิทธิ์นี้” นายชัยธวัชกล่าว

ก้าวไกลจี้ตอบ 2 คำถาม

                    นายชัยธวัชกล่าวว่า คนที่ได้รับสิทธิ์นี้ส่วนใหญ่เป็นผู้มีอิทธิพลทางการเมือง มีฐานะ แต่คนธรรมดาไม่เคยได้รับสิทธิ์นี้เลย จึงเกิดคำถามว่าทำไมนายทักษิณได้รับสิทธิ์นี้เพียงคนเดียว รักษามา 120 วันแล้ว ทำไมถึงได้รับสิทธิ์นี้อยู่ เรื่องนี้รัฐบาลไม่ควรปล่อยไว้ ควรตอบสังคมให้ชัดเจน และเรื่องนี้ทำให้เกิดการตั้งคำถามกับระเบียบราชทัณฑ์ที่ออกมาใหม่ เพราะปรากฏการณ์นี้ทำให้คนจำนวนหนึ่งสงสัยว่า ระเบียบที่ออกมาใหม่จะเอื้อให้นายทักษิณแบบ 2 มาตรฐานอีกหรือไม่

                    นายชัยธวัชกล่าวต่อว่า รัฐบาลควรตอบคำถามให้ชัดทั้ง 2 กรณี เพื่อให้สังคมสบายใจ ว่าเรื่องนี้ทุกคนจะได้รับสิทธิ์ในกระบวนการยุติธรรม เสมอภาคเท่าเทียมกัน ไม่มีใครได้ได้รับอภิสิทธิ์ เหนือคนอื่น นอกจากนี้ระเบียบก็ยังมีปัญหา เช่น ไม่มีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนว่าใครจะได้รับสิทธิ์พิจารณาคุมตัวนอกเรือนจำบ้าง แต่ใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ล้วนๆ ถึงมีปัญหา ทั้งเรื่องนายทักษิณและระเบียบที่หละหลวม

                    เมื่อถามว่า เรื่องการเปิดเผยข้อมูลโรค รวมถึงการรักษาหรือไม่ นายชัยธวัช กล่าวว่า ข้อมูลสุขภาพ เป็นข้อมูลส่วนบุคคล แต่กรมราชทัณฑ์ต้องตอบคำถามให้ได้ว่ามีเหตุผลที่ฟังได้อย่างไร ว่าทำไมนายทักษิณถึงมีสิทธิ์อยู่โรงพยาบาลเกือบจะ 120 วัน ไม่เหมือนกับนักโทษคนอื่นที่อาจจะมีปัญหาเรื่องสุขภาพรุนแรง ซึ่งหากรัฐบาลยังเงียบ  ฝ่ายค้านต้องตรวจสอบแน่นอน คิดว่าฝ่ายบริหารควรตอบสังคมให้ได้ในเรื่องนี้ อย่าเงียบและคิดว่าเป็นเรื่องเล็ก

                    นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า ผลงานรัฐบาลที่โดดเด่นเป็นที่ประจักษ์และสำเร็จมากที่สุดคือ ทำลายกระบวนการยุติธรรมของประเทศไม่มีชิ้นดี เพียงเพื่อตอบสนองความต้องการของครอบครัวชินวัตร กรณีนายทักษิณยังไม่ติดคุกเหมือนประชาชนนักโทษรายอื่น เป็นการใช้ทฤษฎีเลือกปฏิบัติ 2 มาตรฐานชัดเจน การอ้างว่ามีความจำเป็นต้องรักษาตัว รพ.ตำรวจ ชั้น 14 มีคำถามมากมาย หนึ่งป่วยเป็นโรคอะไร สองพักรักษาตัวอยู่ที่ชั้น 14 จริงหรือไม่ สามกรมราชทัณฑ์ใช้ระเบียบใดนายทักษิณถึงได้สิทธิ์นานขนาดนั้น หลากหลายคำถามที่ประชาชนเกิดความสงสัย แต่ไม่เคยได้รับคำตอบ

                    “ยังไม่นับรวมที่ระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ.2566 ที่คนในรัฐบาลนี้ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจน นายกฯ ไม่ทราบเรื่องทักษิณ รองนายกฯ ก็ไม่ทราบ รมว.ยุติธรรมก็ไม่ทราบ กรมราชทัณฑ์ก็ตอบไม่ได้ กระบวนการต่อจากนี้คงต้องถามนายกฯ รองนายกฯ รมว.ยุติธรรม กรมราชทัณฑ์ เป็นลายลักษณ์อักษร และเชื่อว่าเรื่องนี้ต้องมีคนที่รับผิดชอบอีกหลายคน” นายราเมศกล่าว และว่า กระบวนการยุติธรรมไทยโดนรัฐบาลชุดนี้ทำลายไม่มีชิ้นดี และคนรวย นักการเมืองที่มีอำนาจ จะใช้โมเดลทักษิณชั้น 14 เพื่อมีสิทธิพิเศษ ประชาชนทั้งประเทศต้องจำไว้ว่าคุกมีไว้ขังคนจนสำเร็จยอดเยี่ยม ภายใต้รัฐบาลชุดนี้

                    วันเดียวกัน นายภูมิธรรม เวชยชัย  รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงกรณีพรรครวมไทยสร้างชาติเตรียมเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สร้างเสริมสังคมสันติสุข หรือกฎหมายนิรโทษกรรม ว่า ยังไม่เห็นรายละเอียด ซึ่งแต่ละพรรคการเมืองมีสิทธิ์เสนอกฎหมายอะไรก็ได้ โดยหากเสนอในสภา ก็ต้องพูดคุยกันในคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) และต้องพิจารณาเนื้อหาว่าจะเสนอร่างประกบกันได้หรือไม่ และหากคุยกันเรียบร้อย ก็ต้องมาพูดคุยกับรัฐบาลว่ามีอะไรขัดข้องหรือไม่

                    เมื่อถามว่าการเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม สุดท้ายจะใช้ร่างของพรรคเพื่อไทย (พท.) หรือร่างของพรรคร่วมรัฐบาล นายภูมิธรรมกล่าวว่า ยังตอบไม่ได้ว่าเนื้อหาเหมือนกันหรือไม่ ต้องเอาของจริงมาดู

พปชร.ไม่ชงกฎหมายประกบ

                    ถามย้ำว่า ร่างของพรรค รทสช.ไม่เอาเรื่องคดีทุจริต คดีมาตรา 112 และคดีอาญา พรรค พท.จะเอาด้วยหรือไม่ นายภูมิธรรมกล่าวว่า แต่ละพรรคก็มีสิทธิ์เสนอทั้งนั้น แต่ พท.เน้นว่ามีอะไรที่จะสร้างปัญหาหรือไม่ หากมีข้อยุติเราก็คุยกัน แต่บางพรรคก็บอกชัดเจนว่าหากมีเรื่องมาตรา 112 ก็ไม่เอา หรือบางพรรคก็มีเรื่องอื่นๆ เข้ามา ถึงที่สุดแล้วหากเป็นร่างของรัฐบาลต้องพูดคุยกัน ส่วนพรรคการเมืองอื่นๆ จะเสนอร่างประกบตามระเบียบก็ทำได้ แต่ต้องคำนึงว่าจะมีปัญหาอะไรหรือไม่ ทั้งหมดขึ้นอยู่กับการพูดคุยกับพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งในส่วนของพรรค พท.ก็มีการคุยกันเรื่อง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมกันอยู่เรื่อยๆ

                    นายอรรถกร ศิริลัทธยากร สส.ฉะเชิงเทรา และโฆษกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวถึงกรณีหลายพรรคการเมืองเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม  ว่าหลายพรรคการเมืองจะหาทางออกเป็นบันไดขั้นแรกด้วยการเปิดพื้นที่พูดคุยผ่านการเสนอญัตติและการตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ ซึ่งพรรคยินดีที่จะส่งตัวแทนไปร่วมในทุกมิติ และคิดว่าพรรคการเมืองหลักส่วนใหญ่จะส่งตัวแทนเข้าไปร่วมใน กมธ.วิสามัญชุดนี้ ส่วนสาเหตุที่พรรคไม่ได้เสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเหมือนพรรคอื่นๆ นั้น  เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องที่มีคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยอย่างสุดโต่ง ซึ่งอาจสร้างความขัดแย้งในใจของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้จากการเสนอร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ได้

นายปิติพงศ์ เต็มเจริญ หัวหน้าพรรคเป็นธรรม (ปธ.) กล่าวว่า พรรคเห็นด้วยในการนิรโทษกรรมการกระทำความผิดที่เกี่ยวข้องกับทางการเมือง แต่ไม่นิรโทษกรรมให้ผู้ที่กระทำความผิดทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งพรรคฝ่ายค้านต่างคนต่างมีแบบของตัวเอง ต่างคนต่างก็ต่างเสนอกันไป แต่คิดว่าไม่มีใครไม่เห็นด้วยการให้นิรโทษกรรม เพราะทุกคนทุกพรรคได้รับผลกระทบหมด มีแต่พรรค ปธ.ไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียเรื่องนี้เลย แต่พรรคเข้าใจบริบทที่ต้องการสลายความขัดแย้งทางการเมืองเพื่อเดินหน้าแก้ปัญหาประเทศมากกว่ามาฟื้นฝอยหาตะเข็บในเรื่องความขัดแย้ง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

จ่อผุด13อรหันต์นิรโทษ

กรมคุกร่อนแถลงการณ์ ยันทัณฑสถานราชทัณฑ์ช่วยชีวิต ‘บุ้ง ทะลุวัง‘ ตามมาตรฐานวิชาชีพอย่างเต็มกำลัง