พท.ขู่ซักฟอกงบ67 ห้ามแตะนายใหญ่!

เพื่อไทยจัดทัพรับศึกอภิปรายงบประมาณ ขู่ฟ่อก้าวไกลเปิดโหมดลากนักโทษเทวดารุมขย้ำ เจอประท้วงยับแน่ ปากสั่นไม่ตั้งทีมองครักษ์พร่ำเพรื่อ “ศิริกัญญา” ชี้โพรงใหญ่ทุ่มเงินมหาศาลโปะสารพัดกองทุน สร้างภาระคนไทยแบกหนี้กันบาน

เมื่อวันอาทิตย์ นายศรัณย์ ทิมสุวรรณ สส.เลย พรรคเพื่อไทย ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ให้สัมภาษณ์ถึงความพร้อมในการอภิปรายร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจําปี 2567 กำชับ  สส.อยู่เข้าร่วมเป็นองค์ประชุมอย่างไรว่า  กำชับให้เป็นหน้าที่ปกติ เพราะทุกคนให้ความสำคัญกับการอภิปรายงบฯ อยู่แล้ว มั่นใจว่าทุกคนจะทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่พรรคก้าวไกลจัดขุนพลเตรียมอภิปรายไว้ 33 คน ทางวิปรัฐบาลต้องมีแผนรับมือเพิ่มเติมหรือไม่ นายศรัณย์กล่าวว่า ตามหลักต้องอภิปรายภาพรวมของงบประมาณอยู่แล้ว ไม่ว่าฝ่ายไหนก็ต้องชี้ให้เห็นถึงความเหมาะสมของการจัดทํางบฯ ดังนั้นประเด็นคงไม่ต่างกัน เพราะทุกคนต้องการให้การใช้งบฯ มีประสิทธิภาพมากที่สุด

"ทั้งนี้ อาจมีประเด็นอื่นเตรียมไว้บ้าง เช่นหากมีกรณีการอภิปรายที่มีข้อมูลไม่เกี่ยวข้องกับหลักการที่เราอภิปรายกัน ถ้ามีเรื่องอื่นเข้ามามากเกินไปจนนอกเรื่อง ก็จะมีคนคอยช่วยดู เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด" นายศรัณย์ระบุ

ด้านนายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม สส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะรองประธานวิปรัฐบาล เปิดเผยถึงการมาชี้แจงของรัฐมนตรีในการอภิปรายงบฯ ว่า รัฐมนตรีจะสงวนตอบเป็นภาพรวม ยกเว้นถ้าเป็นประเด็นสำคัญจริงๆ ก็จะตอบเจาะรายบุคคล ดูแล้วไม่น่าหนักใจอะไร มั่นใจรัฐบาลชี้แจงได้ทุกเรื่อง เวทีงบประมาณรายจ่ายเป็นแค่งานรูทีน ตามขั้นตอนปกติ

นายครูมานิตย์ระบุว่า แต่สิ่งที่น่าห่วงหลังจากนี้คือการควบคุมการใช้จ่ายงบประมาณที่อนุมัติไปให้มีประสิทธิภาพ  ไม่มีทุจริต เราไม่รู้ว่าเมื่อรัฐบาลได้งบประมาณไปแล้ว แต่ละหน่วยงานจะไปบริหารจัดการอย่างไร ต้องระวังให้ดี ถ้าบริหารแล้วเกิดข้อผิดพลาด สร้างความเสียหายให้ประเทศ จะเปิดช่องให้ถูกนำไปขยายผลในเวทีอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลได้ ดูแล้วเป็นเรื่องน่าห่วงกว่า  รัฐบาลจะอยู่สั้นหรือยาว อยู่ที่ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน จะต้องไม่ให้มีเกิดขึ้น

"เชื่อว่าหลังจากงบประมาณปี 67  ผ่านความเห็นชอบแล้ว นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง  จะกวดขันเข้มงวดการทำงานของรัฐมนตรีมากขึ้น เพราะทุกกระทรวงมีงบประมาณใช้ขับเคลื่อนสร้างผลงานแล้ว ใครทำงานไม่ไหวก็ต้องปรับออก มั่นใจด้วยประสิทธิภาพของนายกรัฐมนตรี จะพาประเทศไปรอดแน่" นายครูมานิตย์ ระบุ

ขู่ฟ่อห้ามแตะนายใหญ่

ด้านนายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า รัฐบาลมีความพร้อมชี้แจงร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ติวเข้มสส.มาเป็นอย่างดี เตรียมข้อมูลจากทุกกระทรวงมารองรับการอภิปรายไว้แล้ว ขณะนี้มี สส.เพื่อไทยลงชื่อขออภิปรายแล้ว 50 คน ในวันที่ 2 ม.ค. เวลา 13.00 น. ที่รัฐสภา จะประชุมวิปรัฐบาล ครั้งสุดท้ายเพื่อซักซ้อมความเข้าใจการอภิปรายงบปี 67  

"มั่นใจจะผ่านไปด้วยดีอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ต้องตั้งทีมองครักษ์มาประท้วงพร่ำเพรื่อ สส.รุ่นใหม่เข้าใจข้อบังคับดี ยึดข้อบังคับเป็นหลัก ถ้าไม่อภิปรายเลยเถิดนอกเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับงบประมาณ ก็จะประท้วงให้น้อยที่สุด จะไม่ประท้วงเรื่องไร้สาระแน่ ขอให้ฝ่ายค้านอย่าเอาเรื่องนอกเหนืองบประมาณมาพูดหรือพูดกระทบเสียดสีคนอื่นที่อยู่นอกสภา เพราะประชาชนเบื่อมิติการเมืองเดิมๆ ที่ใช้ความก้าวร้าว แต่รัฐบาลจะใช้ความอดทนจนถึงที่สุด" นายวิสุทธิ์ ระบุ

นายวิสุทธิ์ระบุว่า กรณีที่ฝ่ายค้านอาจนำเรื่องการได้สิทธิพิเศษของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พักรักษาอาการป่วยอยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจโดยไม่ต้องถูกคุมขังในเรือนจำแม้แต่วันเดียว มาอภิปรายเชื่อมโยงกับการอภิปรายงบประมาณนั้น กรณีนายทักษิณไม่เกี่ยวกับเรื่องงบประมาณ ไม่ควรนำมาอภิปราย เชื่อว่าพรรคก้าวไกลคงไม่กล้าเอามาเล่นเท่าไร แต่ถ้าหยิบมาเล่นจริง รัฐบาลต้องประท้วง เพราะไม่เกี่ยวกับงบประมาณ และจะชี้แจงเท่าที่จำเป็นว่าสิทธิทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม

นายวิสุทธิ์ระบุว่า ส่วนเงื่อนไขพักโทษก็เป็นไปตามระเบียบกรมราชทัณฑ์ปี 2563 ออกมาสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นมือกฎหมายรัฐบาลในขณะนั้น เพื่อแก้ปัญหานักโทษล้นคุกตามมาตรฐานสากลทั่วโลก ทุกคนได้ประโยชน์ ไม่ได้ทำเพื่อนายทักษิณ อย่าลากมาเป็นประเด็นการเมือง

วันเดียวกัน นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวว่า สัปดาห์ที่ผ่านมาเราได้มีการพูดคุยกับพรรคร่วมฝ่ายค้าน ในการแบ่งเวลาอภิปรายเรียบร้อย หรืออย่างในช่วงการเปิดอภิปราย จะนำโดยนายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน และตามด้วยตัวแทนของแต่ละพรรค อย่างพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และพรรคไทยสร้างไทย (ทสท.)

                    นายปกรณ์วุฒิระบุว่า เวลาพรรคก้าวไกลอภิปราย เราไม่ได้เจาะเพียงกระทรวงใดกระทรวงหนึ่งเป็นพิเศษ แต่เราจะเจาะเป็นรายประเด็น ซึ่งแต่ละประเด็นก็จะคาบเกี่ยวหลายกระทรวง อย่างประเด็นเรื่องการศึกษา ก็ไม่ได้คาบเกี่ยวแค่กระทรวงศึกษาธิการ แต่คาบเกี่ยวไปยังกระทรวงการอุดมศึกษา  วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และงบประมาณที่อาจแฝงอยู่ในกระทรวงอื่นร่วมด้วย

นายปกรณ์วุฒิกล่าวต่อว่า ขอเชิญชวนว่าร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ นั้น เป็นกฎหมายที่สำคัญมากที่มาทุกปี และเป็นกฎหมายที่ใช้เงินภาษีของประชาชนทุกคนในการกำหนดชีวิต และประเทศของเรา ว่าจะสามารถทำให้ดีขึ้นอย่างไรบ้าง ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ เป็นหมุดหมายสำคัญที่จะชี้ชัดว่าพรรคร่วมรัฐบาลแต่ละพรรคจะนำพาประเทศให้ดีขึ้นตามที่เคยหาเสียงไว้หรือไม่ ซึ่งอาจจะไม่สำคัญแค่หนึ่งหรือสองกระทรวง แต่อยู่ที่ภาพรวมของกระทรวงทั้งหมด ที่ทั้งพรรคก้าวไกล และพรรคร่วมฝ่ายค้านอื่นๆ จะอภิปรายตลอดทั้ง 3 วันนี้

กระหน่ำงบฯ ให้กองทุน

ขณะที่ น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีการจัดสรรงบประมาณภายใต้รัฐบาลของนายเศรษฐา ทวีสิน ว่าน่าผิดหวังมาก เพราะเรารอเวลานี้มา 9 ปี เพื่อให้มีผู้นำที่มาจากการเลือกตั้ง และคาดหวังว่าการจัดสรรงบประมาณจะต้องเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือการจัดงบประมาณแทบไม่แตกต่างจากรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ว่าจะเรื่องการจัดงบในแผนยุทธศาสตร์ มีบางแผนงานที่เพิ่มขึ้น แต่สุดท้ายก็ซ้ำซ้อนกับแผนบูรณาการ  เช่น ยุทธศาสตร์เรื่องถนนและโลจิสติกส์ ก็ซ้ำซ้อนกับแผนบูรณาการถนนและโลจิสติกส์  ยุทธศาสตร์บริหารจัดการน้ำ ก็ซ้ำกับแผนบูรณาการบริหารจัดการน้ำ

น.ส.ศิริกัญญาระบุว่า หากดูระดับโครงการ เราก็ตกใจมากว่ามีโครงการใหม่เพียงกว่า 200 โครงการ ซึ่งน้อยมาก และเม็ดเงินมีเพียง 13,000 ล้านบาท ดังนั้นจึงคาดหวังได้ค่อนข้างยากมากว่าจะเกิดสิ่งใหม่ๆ หรือการขับเคลื่อนนโยบายที่มาจากการหาเสียง ในช่วงปีงบประมาณนี้ โครงการที่ออกมาใหม่และชัดเจนที่สุดคือเรื่องของกองทุนต่างๆ กองทุนจะได้งบประมาณเพิ่มขึ้นมากที่สุด ที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อนๆ คือกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน  โดยงบเพิ่มขึ้นมาประมาณ 15,000 ล้านบาท ซึ่งกองทุนนี้เคยได้งบประมาณครั้งสุดท้ายในปี 2561 เป็นเงิน 10,000 ล้านบาท เรื่อยมาจนถึงปี 2567 มีการใช้งบประมาณเบิกจ่ายไปเพียง 18 ล้านบาทเท่านั้น

“จู่ๆ รัฐบาลก็บอกว่าอยากเพิ่มงบฯให้ตรงนี้ เพื่อใช้ในการดึงดูดนักลงทุน  รวมไปถึงให้เป็นแหล่งเงินทุนสำหรับสตาร์ทอัป เราก็กังวลใจเหลือเกินว่า หากไม่มีการเปลี่ยนรูปแบบการทำงาน ปรับปรุงในเรื่องการขอสนับสนุนจากกองทุนนี้ งบประมาณ 1 หมื่นล้านบาท เวลาผ่านไป 6 ปี ใช้แค่ 18 ล้านบาทรัฐบาลให้เพิ่มอีก 15,000 ล้านบาท ก็คงต้องรออีกหลายปีกว่าจะใช้หมด” น.ส.ศิริกัญญากล่าว

น.ส.ศิริกัญญากล่าวต่อว่า กองทุนถัดมาคือกองทุนเอสเอ็มอี ที่ได้งบประมาณเพิ่มไปถึง 5 พันล้านบาท ซึ่งตอนแรกเราก็ยินดี เพราะเอสเอ็มอีเป็นภาคส่วนเศรษฐกิจที่สำคัญ และต้องเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจในช่วงนี้ แต่เมื่อดูรายละเอียดเราก็ผิดหวัง เพราะเป็นการให้ matching funds หมายความว่าเป็นการสนับสนุนเงินทุนให้รายละไม่เกิน 10 ล้านบาท ไม่เกิน 600 ราย

น.ส.ศิริกัญญากล่าวว่า ในความเป็นจริงเรามีวิธีการใช้เงินที่น่าจะเกิดประโยชน์มากกว่านี้ เช่น การนำไปสนับสนุนให้บริษัทบริหารสินทรัพย์ขนาดย่อม ในการรับประกันสินเชื่อให้กับเอสเอ็มอี ด้วยวงเงิน 5 พันล้านบาท จะสามารถสนับสนุนเอสเอ็มอีได้อีกหลายพันราย ไม่ใช่แค่ 600 รายอย่างแน่นอน   และงบที่นำมาสนับสนุนตรงนี้ ก็ซ้ำซ้อนกับกองทุนเพิ่มขีดฯ, สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล, สำนักนวัตกรรมแห่งชาติ ก็มีโครงการสนับสนุนสตาร์ทอัปเช่นนี้

"กลายเป็นงบประมาณที่ซ้ำซ้อน ทั้งๆ ที่เอสเอ็มอีควรได้รับการสนับสนุนส่งเสริมมากกว่านี้ หรือนำไปเป็นเงินอุดหนุนสำหรับการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตในด้านต่างๆ มากขึ้น เป็น 2 กองทุนที่มีงบเพิ่มมาถึง 2 หมื่นล้านบาท แต่ยังคงจัดงบได้อย่างน่าผิดหวัง ซึ่งงบ 2 หมื่นล้านบาทนี้ก็นำเงินมาจากการลดการชำระหนี้ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.)" น.ส.ศิริกัญญาระบุ 

น.ส.ศิริกัญญากล่าวทิ้งท้ายว่า รัฐบาลบริหารมา 3 เดือน ใช้เงินจาก ธ.ก.ส.ไปเยอะมาก ผ่านนโยบายกึ่งการคลัง แต่พอจะใช้หนี้ กลับใช้หนี้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย ปัจจุบันวงเงินของการกู้ตามมาตรา 28 ก็เต็มแล้ว อยู่ที่ 31.99 เปอร์เซ็นต์ ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 ที่ใช้ไปก่อน แต่รัฐบาลก็ยังตั้งงบใช้หนี้คืนเพียงแค่ 6 หมื่นล้านบาท หากปีหน้ามีเหตุจำเป็นต้องใช้เงินจาก ธ.ก.ส.ในด้านนโยบายเกี่ยวกับการเกษตร ก็จะเป็นไปได้ยาก

ด้านนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ สส. บัญชีรายชื่อ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้อภิปรายคนแรกของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งจะเป็นการอภิปรายในวันที่ 3 มกรา. โดยคงจะเป็นการพูดในภาพรวมและไม่ลงลึกในรายละเอียด เพราะมีเวลาจำกัด แต่ก็จะพูดตามเนื้อผ้า สะท้อนให้เห็นว่า พ.ร.บ.งบฯ ของรัฐบาลชุดนี้เป็นอย่างไร เพื่อให้ประชาชนเจ้าของเงินได้เห็นภาพ

“ส่วนที่ฝ่ายรัฐบาลออกมาดักคอห้ามซักฟอกรัฐบาล เพราะไม่ใช่การอภิปรายไม่ไว้วางใจนั้น นายจุรินทร์กล่าวว่า ทุกคนรู้ดีอยู่แล้วว่าเป็นเรื่องของการอภิปรายร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี ไม่ใช่การอภิปรายไม่ไว้วางใจ เพราะฉะนั้นถ้าไม่ได้ทำอะไรผิดก็อย่าไปกลัว” นายจุรินทร์ ระบุ. 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กฤษฎาฉีกหน้าพิชัย ไม่ให้เกียรติร่วมงานไม่ได้ ‘ทักษิณ’โผล่โคราช25พ.ค.

“เศรษฐา” ทัวร์ ประเดิมดูงานโครงการพระราชดำริ ชี้รัฐบาลให้ความสำคัญ ก่อนลุยตรวจสนามบินหัวหิน สั่งเร่งขยายให้จบก่อนไตรมาส 4 แพลมมีไอเดียเปลี่ยนชื่อเป็น