จีดีพีโตได้3.3% รบ.งัดภาษีจูงใจ ปลุกจัดอีเวนต์

รัฐบาลลุยแพ็กเกจ ดึง "คอนเสิร์ต-ภาพยนตร์-อีเวนต์" ในไทย จูงใจทั้งภาษี ปลดล็อกระเบียบ เอื้อวีซ่า หวังกระตุ้นท่องเที่ยว กกร.ห่วงปัจจัยเสี่ยงกระทบเศรษฐกิจ จับตาภาคส่งออกยังฟื้นตัวช้า ท่องเที่ยวไม่กลับมา 100%   แต่ยังมั่นใจจีดีพีไทยโตระดับ 2.8-3.3%

เมื่อวันที่ 6 มีนาคม นพ.พรหมินทร์  เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี  กล่าวถึงมาตรการดึงดูดภาพยนตร์และการจัดคอนเสิร์ตในการสนับสนุนธุรกิจและอีเวนต์ต่างๆ ว่า ขณะนี้รัฐบาลอยู่ระหว่างการร่างกฎระเบียบ ในรูปแบบของมาตรการจูงใจทางภาษี สำหรับการจัดงานต่างๆ ในประเทศไทย แต่สามารถแข่งขันกับประเทศต่างๆ ได้ โดยมาตรการนี้ ครอบคลุมตั้งแต่การถ่ายทำภาพยนตร์ในไทย งานคอนเสิร์ต รวมถึงงานอีเวนต์ต่างๆ เช่น การแข่ง e-sport การจัดงานแสดงสินค้า

ทั้งนี้ การให้เงินสนับสนุนจะมีหลักเกณฑ์ในการคำนวณถึงความคุ้มค่าและผลดีที่ประเทศจะได้รับที่เป็นรูปธรรม โดยระหว่างนี้ รัฐบาลได้ดำเนินการในส่วนของงานที่สามารถทำได้ เช่น การปลดล็อกกฎระเบียบและข้อบังคับต่างๆ เช่น อนุญาตการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสนามกีฬาของรัฐ กรณีที่มีการจัดงานกิจกรรมในสนามกีฬาของรัฐ การขอวีซ่าแบบกลุ่ม สำหรับพนักงาน ช่องทางพิเศษในสนามบิน (fast-track immigration)  สำหรับผู้เข้าร่วมซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจไมซ์  (MICE) ปลดล็อกภาษีการนำอุปกรณ์/สินค้าเข้า-ออกประเทศเพื่อการจัดแสดง MICE

นพ.พรหมินทร์กล่าวว่า กรณีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ออกมาพูดถึงรัฐบาลสิงคโปร์เกี่ยวกับการเจรจาข้อตกลงกับเทย์เลอร์ สวิฟต์ ที่จัดแสดงคอนเสิร์ตในสถานที่แห่งเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น ยืนยันได้ว่านายเศรษฐาพูดชื่นชมรัฐบาลสิงคโปร์และมองว่าควรศึกษาเป็นตัวอย่างในเชิงนโยบายและมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว แต่รัฐบาลไทยนั้นยืนยันอยู่แล้วว่าจะเดินหน้าให้มีแผนและมาตรการในการดึงดูดการจัดคอนเสิร์ตในรูปแบบการสนับสนุนธุรกิจและอีเวนต์ที่จะจัดขึ้นในประเทศไทย เพื่อให้มีการแข่งขันได้กับประเทศต่างๆ โดยจะมีผลดีต่อประเทศในระยะยาวต่อไป และยังเป็นการกระตุุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศอีกด้วย ซึ่งขณะนี้มีไม่น้อยกว่า 3 รายใหญ่ระดับโลกที่ติดต่อรัฐบาลเพื่อจัดคอนเสิร์ต ถ่ายภาพยนต์ รวมถึงใช้ประเทศไทยเป็นฉากหลังของเกม

วันเดียวกัน นายเกรียงไกร เธียรนุกุล  ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ซึ่งประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, ส.อ.ท. และสมาคมธนาคารไทย แถลงภายหลังการประชุมว่า เศรษฐกิจโลกปี 2567 มีแนวโน้มเติบโตได้ แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงอยู่มาก กิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศหลักเดือน ก.พ. มีแนวโน้มเติบโตจากภาคบริการเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม เครื่องชี้เศรษฐกิจสหรัฐด้านแรงงานเริ่มมีแนวโน้มแผ่วลง ส่วนจีนนั้นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจยังมีจำกัด สำหรับปัญหาวิกฤตในทะเลแดงส่งผลให้ค่าระวางเรือยังอยู่ในระดับสูง ปัจจัยเหล่านี้ถือเป็นแรงกดดันต่อการฟื้นตัวของภาคการส่งออกสินค้าไทย

"เศรษฐกิจไทยยังอ่อนแอจากหลายปัจจัย โดยการส่งออกยังฟื้นตัวได้ช้า การท่องเที่ยวยังไม่กลับเข้าสู่ระดับเดิม และกำลังซื้อภายในประเทศถูกกดดันจากปัญหาหนี้ครัวเรือน แม้ภาคการส่งออกมีแนวโน้มกลับมาขยายตัวได้ แต่คาดว่าทั้งปีมูลค่าการส่งออกจะเติบโตได้ในระดับต่ำ อีกทั้งความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกประเทศยังมีสูง ขณะที่อุตสาหกรรมที่พึ่งพาการส่งออกมีอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ในระดับต่ำ สำหรับการท่องเที่ยวยังฟื้นตัวได้ แต่จำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนยังต่ำกว่าระดับก่อนโควิดถึง 50%  เนื่องจากชาวจีนหันไปท่องเที่ยวในประเทศเป็นหลัก นอกจากนี้ ปัญหาหนี้และกำลังซื้อภายในประเทศที่มีแนวโน้มอ่อนแอจะเป็นปัจจัยกดดันการบริโภคของครัวเรือนต่อไป" นายเกรียงไกรกล่าว

ทั้งนี้ การเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐมีแนวโน้มปรับดีขึ้นในไตรมาสที่ 2 จากปฏิทินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ปรับเร็วขึ้น เพื่อให้สามารถเบิกจ่ายได้ตั้งแต่ต้นไตรมาสที่ 2 ซึ่งจะเป็นตัวช่วยในการประคองเศรษฐกิจให้ขับเคลื่อนได้อย่างต่อเนื่อง และจะหนุนการลงทุนทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในระยะข้างหน้า ดังนั้นคาดว่าเศรษฐกิจไทยยังขยายตัวได้ในกรอบ 2.8-3.3% ตามที่ประเมินไว้เดิม ขณะที่การส่งออกจะอยู่ในกรอบ 2.0-3.0% และอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 0.7- 1.2%.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กฤษฎาฉีกหน้าพิชัย ไม่ให้เกียรติร่วมงานไม่ได้ ‘ทักษิณ’โผล่โคราช25พ.ค.

“เศรษฐา” ทัวร์ ประเดิมดูงานโครงการพระราชดำริ ชี้รัฐบาลให้ความสำคัญ ก่อนลุยตรวจสนามบินหัวหิน สั่งเร่งขยายให้จบก่อนไตรมาส 4 แพลมมีไอเดียเปลี่ยนชื่อเป็น