นิรโทษกรรมปะทุ 'รทสช.' ค้านหัวชนฝาล้างผิด 112 'ลูกเสธ.แดง' เงียบกริบ  

แฟ้มภาพ

สภาฯ ส่อถกเดือด ผลศึกษา นิรโทษกรรมฯ รวมไทยสร้างชาติ ค้านหัวชนฝาล้างผิด 112 เตือนใช้เสียงข้างมาก รับรองรายงานกมธ.หากขัดต่อกฎหมาย ต้องมีคนรับผิดชอบ “ลูกเสธแดง”คนชง กลับเงียบไม่กล้าแสดงความเห็น  

22 ก.ย.2567 – นายธนกร วังบุญคงชนะ สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ กล่าวถึงการประชุมสภาฯ วันที่ 26 ก.ย. ที่จะพิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ซึ่ง กมธ.พิจารณาเสร็จแล้ว ว่า ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการนิรโทษกรรมความผิดในคดีความผิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112  ทราบว่าากมธ.หาข้อสรุปไม่ได้ และให้ กมธ.แต่ละคนบันทึกความเห็น โดยแบ่งความเห็นเป็น 3 ประเภท คือ  1.ไม่รวม มาตรา112 เพราะไม่ใช่แรงจูงใจทางการเมือง 2.รวม มาตรา 112  อย่างมีเงื่อนไข และ3.รวม มาตรา 112 โดยไม่มีเงื่อนไข โดยส่วนตัวยืนยันว่าไม่เห็นด้วยและคัดค้านถึงที่สุด

“ไม่สมควรรวมคดีความผิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ให้ได้รับการนิรโทษกรรม เพราะไม่ใช่แรงจูงใจทางการเมือง อีกทั้งรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 ระบุไว้ชัดเจนว่า พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของรัฐ เป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระนามพระมหากษัตริย์ในทางใด ๆ มิได้ และสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่เกี่ยวข้องการเมือง หากจะนิรโทษกรรมให้ก็เสี่ยงที่จะขัดต่อรัฐธรรมนูญ” นายธนกร กล่าว

นายธนกร กล่าวด้วยว่า นอกจากนั้นในคำวินิจฉัยยุบพรรคก้าวไกลของศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อ 7 ส.ค. 2567  ระบุถึงพฤติการณ์กระทำการล้มล้างการปกครอง  ในประเด็นการยื่นแก้ไขมาตรา 112  ดังนั้นเมื่อเทียบเคียงกับผู้ที่กระทำความผิดตามมาตรา 112  มีน้ำหนักรุนแรงกว่าพรรคก้าวไกลดังนั้นในการประชุมสภาเรื่องนี้ ตนเองจะขอใช้เอกสิทธิ์สส. ไม่รวมการนิรโทษกรรมให้กับคดีมาตรา 112

“ผมเห็นด้วยที่จะมีการนิรโทษกรรมคดีการเมืองที่ไม่มีความรุนแรงหรือถึงแก่ชีวิต แต่ไม่รวมคดีทุจริตคอรัปชั่น และการพิจารณาการนิรโทษกรรมควรต้องพิจารณารอบคอบ  เชื่อว่าสภาเองก็ต้องมีการพิจารณาอย่างรัดกุม ไม่ทำให้เกิดการขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญเสีย ทั้งนี้หากที่ประชุมสภาในวันที่ 26 ก.ย.มีการพิจารณาออกมาอย่างไร หากขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญควรจะต้องมีผู้รับผิดชอบ” นายธนกร กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในรายงานของคณะกรรมาธิการศึกษาการตราพรบ.นิรโทษกรรมฯ มีการเสนอความเห็น-ข้อเสนอและข้อสังเกตุของคณะกรรมาธิการฯเกือบทุกประเด็น

โดยคณะกรรมาธิการฯ เห็นว่า สำหรับขอบเขตการนิรโทษกรรมนั้น ให้หมายความถึง” บรรดาการกระทำใด ๆ หากเป็นความผิดตามบัญชีแนบท้ายร่างพระราชบัญญัติ ให้การกระทำนั้นไม่เป็นความผิดต่อไป และให้ผู้ที่ได้กระทำการนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิด และถ้าได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษแล้วก็ให้ถือว่าผู้นั้นไม่เคยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดนั้น ถ้าผู้นั้นรับโทษอยู่ก็ให้การลงโทษนั้นสิ้นสุดลง และให้ถือเสมือนว่าบุคคลนั้นไม่เคยกระทำความผิด”

พร้อมกับให้นิยามคำว่า “การกระทำที่เกิดจากแรงจูงใจทางการเมือง” ที่จะได้รับการนิรโทษกรรมไว้ว่า ให้หมายถึง“““การกระทำที่มีพื้นฐานมาจากความคิดที่เกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง หรือต้องการบรรลุเป้าหมายทางการเมืองอย่างใดอย่างหนึ่งในช่วงเวลาที่มีความขัดแย้งหรือเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง”

แต่ในประเด็นว่า จะให้มีการนิรโทษกรรมคดี 112 ด้วยหรือไม่ ปรากฏว่า กรรมาธิการฯ เห็นว่าเป็นเรื่องละเอียดอ่อน จึงไม่ให้มีการทำความเห็นในนามคณะกรรมาธิการฯ ไว้ในรายงาน แต่ใช้วิธีให้กรรมาธิการฯ แต่ละคน เสนอความเห็นไว้ และบันทึกถ้อยคำการแสดงความเห็นไว้ในรายงานโดยไม่มีการลงมติ

โดยในส่วนของคดีที่มีความอ่อนไหวคือคดีความผิดตามมาตรา 110 และมาตรา 112 มีการแสดงความเห็นออกเป็น 3 แนวทาง

แยกเป็นแนวทางที่ 1 ไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมคดีที่มีความอ่อนไหว 14 คน มีอาทิเช่น นายไพบูลย์ นิติตะวัน เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ นายนิกร จำนง จากพรรคชาติไทยพัฒนา นายนพดล ปัทมะ จากพรรคเพื่อไทย นายวุฒิสาร ตันไชย อดีตเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า

 -แนวทางที่ 2 เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมคดีที่มีความอ่อนไหวโดยมีเงื่อนไข 14 คน เช่น นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ จากพรรคเพื่อไทย นายรังสิมันต์ โรม จากพรรคประชาชน

-แนวทางที่ 3 เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมคดีที่มีความอ่อนไหว 4 คน เช่น นางสาวศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์หรือทนายแจม จากพรรคประชาชน หม่อมหลวงศุภกิตต์ จรูญโรจน์ เลขาธิการสถาบันนิติวัชร์ สำนักงานอัยการสูงสุด

และไม่ประสงค์แสดงความคิดเห็น 4 คน  โดยมีชื่อของ น.ส.ขัตติยา สวัสดิผล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทยรวมอยู่ด้วย ทั้งที่ น.ส.ขัตติยา เป็นผู้เสนอญัตติดังกล่าวให้สภาฯ ตั้งกรรมาธิการฯ อีกทั้ง น.ส.ขัตติยา เป็นบุตรสาวของพลตรีขัตติยะ สวัสดิผล หรือ เสธ.แดง ที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์การชุมนุมเสื้อแดงปี 2553  

ทั้งนี้  ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 110 ที่ กมธ.เห็นว่าเป็นคดีละเอียดอ่อน เช่นเดียวกับคดี 112 มีบทบัญญัติว่า “ผู้ใดกระทำการประทุษร้ายต่อพระองค์ หรือเสรีภาพของพระราชินีหรือรัชทายาท หรือต่อร่างกายหรือเสรีภาพของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่สิบหกปีถึงยี่สิบปี”

ส่วนประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 บัญญัติไว้ว่า “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปีถึง 15 ปี”.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ทักษิณ' รับเคยคุย 'สจ.โต้ง' ส่งเมียชิงนายก อบจ. หนุน ตร. ล้างบางบ้านใหญ่ปราจีน

'ทักษิณ' รับเคยคุย 'สจ.โต้ง' ส่งเมียลงชิง 'นายก อบจ.ปราจีนฯ' ในนามเพื่อไทย ซัดเลวร้ายมาก ฆ่ากันเหตุฮั้วไม่ลงตัว ชมเปาะ ตร.ฟิตกวาดล้างผู้มีอิทธิพลเกลี้ยงแน่

'ทักษิณ' ลั่นล้านเปอร์เซ็นต์ 'เกาะกูด' ของไทย ไม่บ้ายกให้กัมพูชา จ่อติวเข้ม สส. แจงปชช.

'ทักษิณ' ลั่นล้านเปอร์เซ็นต์ 'เกาะกูด' เป็นของไทย โต้เฟกนิวส์ใช้เอไอปล่อยข่าวมั่ว ชี้ใครจะบ้ายกให้ เตรียมติว สส. เพื่อไทย แจงประชาชนถึงที่มา MOU 44

ตั้งป้อมชน 'ระบอบทักษิณใหม่' ประเดิม 18 ธ.ค. บุก ป.ป.ช. หึ่งล็อบบี้หนักล้มคดีชั้น 14

วงหารือฝ่ายต้านรัฐบาล ตั้งป้อมชน 'ระบอบทักษิณใหม่' นำร่อง 18 ธ.ค. บุกตึก ป.ป.ช. หลังได้กลิ่นล็อบบี้หนัก 3 กรรมการฯ ล้มคดีชั้น 14

นโยบายที่“อิ๊งค์”ไม่กล้าพูด เรื่องสำคัญกว่าผลงาน90วัน

บรรดากองเชียร์รัฐบาลเพื่อไทยอาจจะชื่นชม หลัง “แพทองธาร ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี เล่นใหญ่ เปิดสตูดิโอ 4 ของสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (NBT) ยืนเดี่ยวไมโครโฟน