เทศบาลนครภูเก็ต จับมือ ปตท. พัฒนานวัตกรรมพลังงานสะอาด ยกระดับเมืองภูเก็ตสู่ต้นแบบเมืองอัจฉริยะ Smart Energy – Smart City

เทศบาลนครภูเก็ต ร่วมกับ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เดินหน้าพัฒนาโครงการนวัตกรรมพลังงาน (Smart Energy) และการบริหารจัดการสาธารณูปโภค เช่น การบริหารจัดการแหล่งน้ำ การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ การพัฒนาระบบกักเก็บพลังงาน ตลอดจนการนำยานยนต์ไฟฟ้ามาใช้ส่งเสริมการท่องเที่ยว เพื่อพัฒนาพื้นที่รับผิดชอบของเทศบาลนครภูเก็ตให้เป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City) และเมืองต้นแบบด้านพลังงานสะอาด พร้อมก้าวสู่เมืองท่องเที่ยวนานาชาติ ควบคู่กับการเป็นเมืองที่น่าอยู่และน่าเรียนรู้ระดับโลก

วันนี้ (5 เมษายน 2565) - นายณรงค์  วุ่นซิ้ว  ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการศึกษาและพัฒนานวัตกรรมพลังงาน (Smart Energy) และการบริหารจัดการสาธารณูปโภคภายในพื้นที่รับผิดชอบของเทศบาลนครภูเก็ต ระหว่าง เทศบาลนครภูเก็ต โดย นายสาโรจน์  อังคณาพิลาส นายกเทศมนตรีนครภูเก็ต และ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) โดย ดร. บุรณิน รัตนสมบัติ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่นวัตกรรมและธุรกิจใหม่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) พร้อมด้วยผู้บริหารหน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมเป็นสักขีพยาน  ณ โรงแรม Courtyard by Marriott Phuket Town จ.ภูเก็ต

นายณรงค์  วุ่นซิ้ว  ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า เป็นเรื่องที่น่ายินดีสำหรับจังหวัดภูเก็ตที่หน่วยงานชั้นนำด้านพลังงาน  ที่มีศักยภาพสูงของประเทศไทยอย่าง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้มีความร่วมมือกับเทศบาลนครภูเก็ต ในการศึกษาและพัฒนานวัตกรรมพลังงาน  โดยมุ่งหวังที่จะช่วยให้ภูเก็ต เป็นเมืองต้นแบบด้านพลังงานสะอาด  ซึ่งความร่วมมือในการจัดทำโครงการด้านพลังงานที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชนและสังคมโดยรวม  นอกจากจะทำให้ประชาชนมีรายได้แล้ว ยังมีคุณภาพชีวิตที่ดีอีกด้วย ซึ่งเชื่อว่าด้วยศักยภาพของ บุคลากรและภายใต้การบริหารงานอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลของผู้บริหารทั้งสองหน่วยงาน  โครงการดังกล่าวจะต้องประสบความสำเร็จและบรรลุวัตถุประสงค์ที่วางไว้

นายสาโรจน์  อังคณาพิลาส นายกเทศมนตรีนครภูเก็ต กล่าวว่า เทศบาลนครภูเก็ต มีความยินดีที่ได้ร่วมมือกับ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในการพัฒนาการให้บริการสาธารณะแก่ประชาชนด้วยพลังงานสะอาด  ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวในเขตเทศบาลนครภูเก็ตโดยยานยนต์ไฟฟ้า  หรือการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานจากแสงอาทิตย์  จึงมีความมั่นใจและพร้อมที่จะให้การสนับสนุนร่วมมือกับ ปตท. ในการดำเนินโครงการต่าง ๆ การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในวันนี้ เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของเทศบาลนครภูเก็ตและ ปตท. ที่จะร่วมกันศึกษาและพัฒนานวัตกรรมด้านพลังงาน  โดยมุ่งหวังให้การพัฒนาเศรษฐกิจและการบริหารจัดการด้านสาธารณูปโภคเกิดความสมดุลและยั่งยืน รวมทั้งประชาชนในเขตเทศบาลนครภูเก็ตมีคุณภาพชีวิตที่ดี

ดร. บุรณิน  รัตนสมบัติ  รองกรรมการผู้จัดการใหญ่นวัตกรรมและธุรกิจใหม่  บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า นอกจากความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจเพื่อรักษาเสถียรภาพทางด้านพลังงานให้กับประเทศไทยแล้ว ปตท. ยังคงเดินหน้าในการแสวงหานวัตกรรมเพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานแห่งอนาคต นับเป็นโอกาสอันดีที่ กลุ่ม ปตท. จะได้นำเอาองค์ความรู้ด้านพลังงาน มาร่วมสนับสนุนจังหวัดภูเก็ตที่มีชื่อเสียงในด้านการท่องเที่ยวระดับโลก ในการศึกษาและพัฒนาโครงการนวัตกรรมทางด้านพลังงาน ครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ อาทิ การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Cell) ระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage) อีกทั้ง กลุ่ม ปตท. ยังสามารถเสริมสร้างระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้า ผ่านการสนับสนุนให้มีการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้า (EV) การติดตั้งสถานีอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้า (EV Charging Station) ครอบคลุมในพื้นที่ ส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดในภาคครัวเรือน ธุรกิจ การคมนาคมและการท่องเที่ยว เพื่อพัฒนาเทศบาลนครภูเก็ตให้ก้าวสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ต้นแบบด้านพลังงานสะอาด ตอบรับเทรนด์สังคมคาร์บอนต่ำ และสามารถเป็นแหล่งเรียนรู้แก่ชุมชนอื่น ๆ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของทุกคนในสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อมให้เติบโตร่วมกันอย่างยั่งยืนได้ต่อไป

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ปตท. และก๊อดจิ แท๊กทีมเอเลี่ยนขอชวนทุกคนขึ้นยาน UFO พลังงานไฟฟ้าไปพร้อมๆ ร่วมภารกิจลดคาร์บอนสุดมันส์!

เพราะไม่มีที่ไหนน่าอยู่เท่า ‘โลก’ ของเราอีกแล้ว ‘NÉZO’ (เนโซ่) เอเลี่ยนจากจักรวาลอันไกลโพ้น จึงเดินทางมายังดาวโลก พร้อมผนึกกำลังร่วมกับ GODJI ทูตพลังงานจาก ปตท. สานต่อภารกิจปกป้อง ‘โลก’ ให้น่าอยู่

GC และกลุ่ม ปตท. ร่วมเป็นเจ้าภาพงาน APIC 2025 ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมปิโตรเคมีสู่อนาคตที่ยั่งยืนด้วยนวัตกรรมและความร่วมมือ

บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC เข้าร่วมงานประชุม Asia Petrochemical Industry Conference (APIC) 2025 ภายใต้ธีม “Ensuring a Transformed World Prosperity – Action for Planet with Innovation and Collaboration”

ร่วมปลดล็อกศักยภาพของเศรษฐกิจหมุนเวียนกับ PRISM Circular Hackathon 2025 เวทีประลองไอเดียสร้างสรรค์ เพื่อเปลี่ยนของเสียหรือวัสดุใช้แล้วสู่ “ธุรกิจใหม่” อย่างยั่งยืนไปด้วยกัน

พบกับโจทย์สุดท้าทายทั้ง 3 ด้าน 1. Waste-to-Value: แปลงของเสียหรือวัสดุเหลือใช้ให้เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีมูลค่า ด้วยนวัตกรรมและการสร้างมูลค่าเพิ่ม