สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงทอดพระเนตรศูนย์ประกอบและทดสอบดาวเทียมแห่งชาติ

เมื่อวันจันทร์ที่ 11 มีนาคม 2567 เวลา 09.33 น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้ากรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งถึงอุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ทรงทอดพระเนตรการดำเนินงานของศูนย์ประกอบและทดสอบดาวเทียมแห่งชาติและความพร้อมของดาวเทียมธีออสสองเอ ก่อนนำส่งขึ้นสู่อวกาศในช่วงกลางปี 2567 ณ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยมีนางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม นายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พลตำรวจเอก สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ประธานกรรมการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี และหัวหน้าส่วนราชการจังหวัดชลบุรี เฝ้ารับเสด็จ

ศูนย์ประกอบและทดสอบดาวเทียมแห่งชาติ สร้างขึ้นภายใต้โครงการระบบดาวเทียมสำรวจเพื่อการพัฒนาหรือธีออสสอง เป็นศูนย์ที่มีมาตรฐานระดับสากลและมีความทันสมัย เพื่อรองรับการพัฒนาชิ้นส่วนอุปกรณ์สำหรับการสร้าง การประกอบ และการทดสอบดาวเทียมที่มีน้ำหนักตั้งแต่ 10 กิโลกรัมถึง 500 กิโลกรัม และสามารถรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมดาวเทียมของโลกในอนาคตด้วย ภายในศูนย์ยังมีห้องวิจัยและพัฒนาระบบดาวเทียม ห้องสะอาดควบคุมอนุภาค และอุปกรณ์เครื่องมือสำหรับการพัฒนาต้นแบบดาวเทียม ซึ่งประกอบด้วยเครื่องมือทดสอบสภาวะต่างๆ ของชิ้นส่วนดาวเทียม ได้แก่ การทดสอบการสั่นสะเทือน การทดสอบอุณหภูมิในสภาวะปกติ การทดสอบอุณหภูมิในสภาวะสุญญากาศ และ การทดสอบคุณสมบัติของมวล เป็นต้น ปัจจุบัน ศูนย์แห่งนี้ให้บริการทดสอบในอุตสาหกรรมอากาศยานและอวกาศ รวมถึงอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องแก่หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา ตลอดจนภาคธุรกิจจากต่างประเทศ

จากนั้น เสด็จพระราชดำเนินเข้าภายในห้องสะอาดควบคุมอนุภาค หรือคลีนรูม ทรงฟังการบรรยายสรุปความคืบหน้าการทดสอบระบบดาวเทียมธีออสสองเอ ซึ่งเป็นดาวเทียมสำรวจโลกที่มีมาตรฐานระดับอินดัสเตรียลเกรดดวงแรกของประเทศไทยที่วิศวกรชาวไทยกว่า 20 คนร่วมออกแบบและพัฒนา โดยมีการนำชิ้นส่วนวัสดุที่ผลิตขึ้นจากผู้ประกอบการในประเทศไทยติดตั้งและประกอบบนตัวดาวเทียมธีออสสองเอ ถือเป็นการส่งเสริมและยกระดับขีดความสามารถของผู้ประกอบการในประเทศไทยให้ทัดเทียมนานาชาติ ดาวเทียมธีออสสองเอจะโคจรในระดับความสูง 520 กิโลเมตรจากพื้นโลก ตัวดาวเทียมมีน้ำหนัก 101.5 กิโลกรัม ความละเอียดภาพ 1.07 เมตร สามารถบันทึกภาพแบบวิดีโอสำหรับการติดตามพื้นที่และการศึกษาข้อมูลเชิงลึกได้ มีอายุการใช้งานขั้นต่ำ 3 ปี เพื่อปฏิบัติงานตามภารกิจสำคัญของประเทศ ได้แก่ ด้านการจัดทำแผนที่ ด้านการจัดการเกษตร ด้านการจัดการภัยพิบัติ ด้านการจัดการน้ำ ด้านการการจัดการชุมชนเมือง และด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งนี้ จุดเด่นของดาวเทียมธีออสสองเอคือมีระบบเรดาร์ สำหรับการติดตามเรือและเครื่องบินด้วย สำหรับดาวเทียมธีออสสองเอมีกำหนดขึ้นสู่อวกาศในช่วงกลางปี 2567 ด้วยจรวดนำส่งพีเอสเอลวี จากศูนย์อวกาศสาธิต ธาวัน เมืองศรีหริโคตา ประเทศอินเดีย

จากนั้น เสด็จทอดพระเนตรการดำเนินงานของกาแลคซี่ ซีมูเลชั่น เซ็นเตอร์ และทรงฟังการบรรยายเกี่ยวกับการออกแบบและระบบวิศวกรรมดาวเทียม การพัฒนาซอฟแวร์คอบคุมการปฏิบัติการดาวเทียม และการให้บริการทดสอบชิ้นส่วนอากาศยาน ซึ่งเป็นการให้บริการนวัตกรรมที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อยกระดับเทคโนโลยีอากาศยานในประเทศไทย

จากนั้น เสด็จทอดพระเนตรการสาธิตระบบรถไร้คนขับจากเทคโนโลยีดาวเทียมระบุตำแหน่ง หรือ จีเอ็นเอสเอส ที่ช่วยลดการพึ่งพามนุษย์ในการใช้งาน มีความแม่นยำสูง ประหยัดพลังงานเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ แนวโน้มความต้องการยานยนต์ไร้คนขับจากเทคโนโลยีดาวเทียมระบุตำแหน่ง หรือ จีเอ็นเอสเอส น่าจะมีการผลิตเข้าสู่ตลาดโลกเร็วกว่าที่มีการคาดการณ์ไว้

จากนั้น เสด็จทอดพระเนตรการดำเนินงานของศูนย์วิจัยเทคโนโลยีอวกาศ ทรงฟังบรรยายสรุปการพัฒนาระบบด้านสเปซเซฟตี้แอนด์ซีเคียวริตี้ ซึ่งประกอบด้วย ระบบเฝ้าระวังและติดตามวัตถุอวกาศ ระบบการจัดการจราจรอวกาศ ระบบพยากรณ์สภาพอวกาศ ที่ออกแบบและพัฒนาโดยทีมนักวิจัยของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ รวมถึงการดำเนินโครงการลิควิดคริสตัลที่วิจัยและพัฒนาภายใต้ความร่วมมือระหว่างสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือนาซา

นอกจากนี้ ยังทรงทอดพระเนตรการดำเนินงานของศูนย์ปฏิบัติการควบคุมและรับสัญญาณดาวเทียมไทยโชต ดาวเทียมธีออสสอง ตลอดจนดาวเทียมดวงอื่นๆที่ประเทศไทยรับสัญญาณเอง และการดำเนินงานของศูนย์ปฏิบัติการความเป็นเลิศและนวัตกรรมการบินและอวกาศ ที่มุ่งเน้นการวิจัย การพัฒนาวัสดุและโครงสร้างของอากาศยานและอวกาศยาน ตั้งแต่การออกแบบ การผลิต และการทดสอบ ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อยกระดับ เทคโนโลยีอากาศยานในประเทศไทย และนิทรรศการกิจการอวกาศรวมถึงแผนการพัฒนาดาวเทียมของประเทศไทย ภายในโถงรับรอง

โอกาสนี้ ทรงฉายพระฉายาลักษณ์ร่วมกับคณะผู้บริหารและผู้เข้าเฝ้ารับเสด็จ ก่อนประทับรถยนต์พระที่นั่งเสด็จพระราชดำเนินออกจากสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) ไปทรงปฏิบัติพระราชกรณีกิจอื่นๆต่อไป

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

มูลนิธิหัวใจบริสุทธิ์ จับมือ หน่วยงานกระทรวงแรงงาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ภาคเอกชน และกลุ่มไทยสมายล์ พร้อมทั้งรายการสถานีประชาชน สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ร่วมกิจกรรมถวายความจงรักภักดี

วันที่ 2 เมษายน 2567 นางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ ประธานมูลนิธิหัวใจบริสุทธิ์ พร้อมด้วยหน่วยงานสังกัดกระทรวงแรงงาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ภาคเอกชน รวมถึงทีมงานมวลชนสัมพันธ์ (CSR) กลุ่มไทยสมายล์ และรายการสถานีประชาชน

กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงเปิดงานตรุษจีนเยาวราช พสกนิกรเฝ้าฯ รับเสด็จเนืองแน่น

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เป็นการส่วนพระองค์ไปทรงเปิดงานเทศกาลตรุษจีนเยาวราช ปี 2567 ซึ่งปีนี้กรุงเทพมหานคร และสำนักงานเขตสัมพันธวงศ์

'เรมี่ ไอริณ' ศิลปินไอดอล LAST IDOL THAILAND รับรางวัลอันทรงเกียรติ

สุดปลาบปลื้ม ศิลปินไอดอล “เรมี่-ไอริณ รณเกียรติ” เมมเบอร์ LAST IDOL THAILAND จากค่าย Rabbit Moon Corporation Limited บริษัทในเครือ T&B Media Global ได้รับคัดเลือกจากสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เข้ารับพระราชทานโล่เกียรติคุณ ลูกที่มีความกตัญญูกตเวทีอย่างสูงต่อแม่ จาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี