กรมสมเด็จพระเทพฯ พระราชทานสัญลักษณ์'สิริศิลปิน'แด่กรมพระศรีสวางควัฒนฯ

กรมสมเด็จพระเทพฯ พระราชทานสัญลักษณ์’สิริศิลปิน’ แด่สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒนฯ และทรงเปิดงานไทยแลนด์เบียนนาเล่ โคราช 2021 ทอดพระเนตรผลงานศิลปินไทย-ต่างชาติ 25 ประเทศ

10 ธ.ค.2564 – สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปยังหอศิลป์พิมานทิพย์  ตำบลโป่งตาลอง อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา  ในการพระราชทานสัญลักษณ์ “สิริศิลปิน”แด่ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี และทรงเปิดงานการแสดงศิลปกรรมร่วมสมัยนานาชาติ ไทยแลนด์ เบียนนาเล่ โคราช 2021 (Thailand Biennale, Korat 2021)         ในการนี้ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เฝ้าทูลละอองพระบาทรับเสด็จ         จากนั้นสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไป  ทอดพระเนตรนิทรรศการ “สิริศิลปิน” และนิทรรศการ “ธรรมชาติเป็นใหญ่ในโลก ศิลปะมีอิสรภาพในตัวเอง” Nature reigns supreme in the world. Art has freedom in inself.           นิทรรศการผลงานศิลปกรรม  “สิริศิลปิน” เป็นภาพวาดฝีพระหัตถ์ใน สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ซึ่งนิทรรศการศิลปกรรมนี้ เป็นภาพวาดฝีพระหัตถ์ที่ทรงสร้างสรรค์ผลงานศิลปะนิพนธ์ ศิลปะร่วมสมัย  คือ ชุดผีเสื้อ และชุดเสือ  โดยเฉพาะ “เสือ” มีการนำเสนอเรื่องราวในอิริยาบถต่าง ๆ สื่อความหมายถึง  พ่อ ผู้ทรงปกครองเหนือราชอาณาจักร อันหมายถึง  พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ราชาผู้ปกครองแผ่นดินด้วยพระเมตตา และทรงมีความห่วงใยทุกข์สุขของอาณาประชาราษฎร์ตลอดเวลา  นอกจากนี้ มีผลงานชิ้นสำคัญของสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ที่ทรงคัดเลือกมาจัดแสดงเพิ่มเติมจำนวน 3 ผลงาน ได้แก่ ภาพเสือร้องไห้ ภาพจิตรกรรมสีน้ำบนกระดาษ / ผลงานสีน้ำมันบนผ้าใบ ไม่มีชื่อ ซึ่งเป็นภาพผีเสื้อกระพือปีกอวดลวดลายและสีสันสวยงาม ที่บางชิ้นมีการดัดแปลงเป็นรูปแบบสื่ออื่นๆ ทั้งประติมากรรม ศิลปะจัดวาง หรืองานออกแบบเครื่องประดับ และผลงานประติมากรรมผีเสื้อ  

จากนั้น สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปในการพระราชทานสัญลักษณ์ “สิริศิลปิน”แด่สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี     ในการนี้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี กล่าวถวายสดุดีพระเกียรติคุณองค์ “สิริศิลปิน” สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี  ทรงเป็นเจ้าฟ้าพระองค์แรกในประวัติศาสตร์ของพระราชวงศ์ไทยที่ทรงสำเร็จการศึกษาหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาทัศนศิลป์ คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ด้วยพระองค์เอง ซึ่งทรงมีพระวิริยะอุตสาหะเรียนรู้ ฝึกฝนและลงมือปฏิบัติด้วยพระองค์เองอย่างต่อเนื่อง  ซึ่งนอกจากจะทรงเป็นที่รู้จักและทรงได้รับการยกย่องจากประชาคมโลกในฐานะนักวิทยาศาสตร์สตรีที่มีบทบาทสำคัญต่อวงการวิทยาศาสตร์ การแพทย์ และการสาธารณสุขของประเทศไทยและนานาชาติแล้ว ยังทรงมีพระปรีชาสามารถสนพระทัยในงานศิลปะเป็นอย่างยิ่ง  ด้วยทรงได้รับพรสวรรค์ด้านศิลปะและการดนตรีจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ตั้งแต่ครั้งทรงพระเยาว์  ด้วยพระปรีชาสามารถ ทรงได้รับการทูลเกล้าถวายพระสมัญญา “สิริศิลปิน” จากรัฐบาลโดยกระทรวงวัฒนธรรม  

ในโอกาสนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  พระราชทานสัญลักษณ์ “สิริศิลปิน” และพระราชทานดอกไม้แสดงความยินดีแด่  สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี    จากนั้นสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  ทอดพระเนตรนิทรรศการ การแสดงกู่เจิงของ  สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี  นอกเหนือจากที่ทรงมีพระปรีชาสามารถในการทรงงานด้านวิทยาศาสตร์แล้ว ยังมีพระอัจฉริยภาพด้านการทรงเครื่องดนตรีได้อย่างไพเราะ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระอัจฉริยภาพการทรงดนตรี ด้วยเครื่องดนตรีกู่เจิง หรือ พิณจีน ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีโบราณของจีนที่มีอายุกว่า 2,000 ปี ทรงเล่นได้อย่างไพเราะและพลิ้วไหว อ่อนช้อย งดงาม

นอกจากนี้ ทรงตระหนักว่า ศิลปวัฒนธรรมและการดนตรีนั้นสามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ จึงมีพระดำริ ให้จัดการแสดงดนตรีและวัฒนธรรมสองแผ่นดิน หรือ  Two Land One Heart Concert ขึ้น เป็นครั้งแรกในประเทศไทย เมื่อปีพุทธศักราช 2544     เป็นมิติใหม่ของการกระชับสัมพันธไมตรีแน่นแฟ้นและยั่งยืนระหว่างประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อนำรายได้สมทบทุนมูลนิธิจุฬาภรณ์ ใช้ในการส่งเสริมการศึกษา พัฒนาวิทยาศาสตร์ และการแพทย์ สร้างคุณประโยชน์ต่อประเทศชาติต่อไป นับแต่นั้นเป็นต้นมา ทรงจัดการแสดงดนตรีและวัฒนธรรมสองแผ่นดินเรื่อยมา ซึ่งการแสดงครั้งล่าสุดนี้มีขึ้นในปีพุทธศักราช 2556 เป็นครั้งที่ 6 ณ  สาธารณรัฐประชาชนจีน  ซึ่งรัฐบาลจีนได้ให้การสนับสนุน ยกย่อง ชื่นชม และยินดีถวายความร่วมมือจัดส่งคณะดนตรีและนาฎศิลป์จำนวนมากมาร่วมแสดง ตลอดจนรับเป็นเจ้าภาพจัดงานสลับกับประเทศไทย 

จากนั้นเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรนิทรรศการ “ธรรมชาติเป็นใหญ่ในโลก ศิลปะมีอิสรภาพในตัวเอง” “Nature reigns supreme in the world. Art has freedom in itself.” ศิลปินทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ จัดแสดงบริเวณชั้น 2 และ 3 โดย อ. ปัญญา วิจินธนสาร ศิลปินแห่งชาติ เป็นภัณฑารักษ์ ประกอบด้วยผลงานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จำนวน 1 ผลงาน ได้แก่ จิตรกรรมกึ่งนามธรรม ไม่ปรากฎชื่อ เป็นผลงานฝีพระหัตถ์ที่สะท้อนให้เห็นความสนพระราชหฤทัยในงานดนตรี    

ต่อจากนั้น สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นประธานเปิดงาน Thailand Biennale, Korat 2021  และทอดพระเนตรนิทรรศการภาพรวมของโครงการการแสดงศิลปกรรมร่วมสมัยนานาชาติ  Thailand Biennale, Korat 2021    ในการนี้  ทรงลงพระนามาภิไธย และทรงลงพระนามในภาพงานศิลปกรรมร่วมสมัยนานาชาติฯ  

สำหรับงานแสดงศิลปกรรมร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale, Korat 2021 เป็นโครงการที่กระทรวงวัฒนธรรม โดยสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ร่วมกับจังหวัดนครราชสีมา กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 18 ธันวาคม 2564 – 31 มีนาคม 2565 ณ จังหวัดนครราชสีมา ภายใต้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19  อย่างเคร่งครัดภายใต้แนวคิด “เซิ้ง…สิน ถิ่นย่าโม”โดยมุ่งเน้นที่ผลงานอันเกิดจากแรงบันดาลใจและความคิดสร้างสรรค์ผสานแนวคิดจากภูมิปัญญาท้องถิ่น ขนบประเพณีและวิถีวัฒนธรมของชุมชน ในรูปแบบของศิลปะจัดวางเฉพาะที่ นำไปสู่การฟื้นฟู ส่งเสริม และสร้างรายได้สู่ท้องถิ่นและทุกภาคส่วน  

ในปีนี้มีศิลปินชาวไทยและชาวต่างประเทศเข้าร่วมโครงการ จำนวน 53 คน จาก 25 ประเทศ   นอกจากนี้ มีการแสดง ริ้วขบวนพาเหรด 7 ริ้วขบวนนำโดยวงดุริยางค์จากโรงเรียนสุรนารีวิทยา อาทิ เอกองค์อัครศิลปิน “พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร”  ริ้วขบวน สิริศิลปิน “พระอัจฉริยภาพเป็นที่ประจักษ์ศิลปินของแผ่นดิน”  ริ้วขบาน “ปรากฏการณ์ ถิ่นศิลปีเบียนนาเล่ มหานครแห่งอีสาน”เป็นต้น  สำหรับพื้นที่การจัดแสดงผลงาน แบ่งออกเป็น 3 อำเภอ ได้แก่ เขตอำเภอเมือง บริเวณลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี  (ย่าโม) สวนสาธารณะบุ่งตาหลัวสวนสัตว์นครราชสีมา โดยมาร่วมเป็นหนึ่งในความภาคภูมิใจ  โดยเยี่ยมชมงานแสดงศิลปกรรมนานาชาติได้ทุกวันจนถึง 31 มีนาคม 2565 ข้อมูลเพิ่มเติม Facebook Fanpage Thailand Biennale Korat 2021

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กรมสมเด็จพระเทพพระราชทานพระราชวโรกาสให้ รมว.ต่างประเทศเวียดนาม เฝ้าฯ

11 เม.ย.2567 - สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จออก ณ วังสระปทุม พระราชทานพระราชวโรกาสให้ นายบุ่ย แทงห์ เซิน (Mr. Bui Thanh Son) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม เฝ้า ฯ

รวมพลังศิลปินวาดภาพ'กรมสมเด็จพระเทพฯ'

ศิลปินทั่วฟ้าเมืองไทยรวมพลังสร้างสรรค์ผลงานศิลปะถวายสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เพื่อเทิดพระเกียรติองค์’วิศิษฎศิลปิน’  ด้วยความน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณในสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา

เชิญชวนประชาชนลงนามถวายพระพรกรมสมเด็จพระเทพฯ

28 มี.ค.2567 - สำนักพระราชวัง ขอเชิญชวนประชาชนร่วมลงนามถวายพระพร สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร มหาวชิราลงกรณวรราชภักดี สิริกิจการิณีพีรยพัฒน รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพ

กรมสมเด็จพระเทพฯ พระราชทานพระราชวโรกาสให้ แอดการ์ เดอริก เฝ้าฯ

15 มี.ค.2567 - สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จลง ณ วังสระปทุม พระราชทานพระราชวโรกาสให้นายแอดการ์ เดอริก (Mr. Edgra Doerig) ผู้อำนวยการสำนักงานภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก องค์การระหว่างประเทศของกลุ่มประเทศที่ใช้ภาษาฝรั่งเศส