'วิษณุ' ชี้ยังต้องใช้ พ.ร.ก.ติดหนวดต่อแต่ระยะสั้นๆ

'วิษณุ' รอ 'สมช.'เคาะต่ออายุใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คาดแค่เวลาสั้นๆ ให้สอดรับโควิดเป็นโรคประจำถิ่น แง้มเตรียมปรับปรุงกฎหมายโรคติดต่ออีกรอบ

19 พ.ค.2565 - นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงการเตรียมขยายระยะเวลาการบังคับใช้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 อีก หลังจากการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วราชอาณาจักร คราวที่ 17 จะสิ้นสุดในวันที่ 31 พ.ค.นี้ ว่า สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) จะพิจารณา ซึ่งเท่าที่ทราบเบื้องต้นเขายังไม่ได้เริ่มพูดคุยกันถึงเรื่องดังกล่าว แต่ขณะนี้อยู่ในช่วงการเตรียมลดระดับให้โรคโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น ก็คงทำให้ความจำเป็นต้องลดลงด้วย โดยอาจต่อเวลาการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯไปอีกสักระยะหนึ่งซึ่งคงเป็นเวลาสั้นๆ แล้วค่อยหายไปในที่สุดก็ได้

เมื่อถามว่าแสดงว่าน่าจะต่อเวลาการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไปอีกประมาณ 1 เดือน ใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า อะไรทำนองนั้น แต่ทั้งหมดขึ้นอยู่กับการพิจารณาของ สมช.

ถามอีกว่าในการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.ชุดใหญ่) ในวันที่ 20 พ.ค.นี้ จะพิจารณาเรื่องดังกล่าวด้วยหรือไม่ นายวิษณุตอบว่า ไม่แน่ใจ

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่ยังไม่มีการประกาศบังคับใช้ พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โรคติดต่อ พ.ศ.2558 แม้คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบแล้วเมื่อวันที่ 21 ก.ย.2564 นายวิษณุ กล่าวว่า ตอนนี้ยังไม่รู้ว่าจะประกาศใช้เป็น พ.ร.ก.หรือนำไปจัดเป็นร่าง พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม เพราะจากสถานการณ์ขณะนี้ทำให้เห็นว่ามีความจำเป็นน้อยลงจากที่คิดไว้ตอนแรกๆ และอาจต้องนำ พ.ร.ก.ดังกล่าวมาปรับแก้ไขบางส่วนอีกครั้ง เนื่องจาก ตอนที่จัดทำร่าง พ.ร.ก.นั้นยังไม่เกิดการระบาดของเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน และคำว่า “โรคประจำถิ่น” ยังไม่มีอยู่ในกฎหมายฉบับใดเลย แต่ตอนนี้เรากำลังจะประกาศให้โรคโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น จึงทำให้ยังไม่รู้ว่าแปลว่าอะไร และสามารถใช้มาตรการใดได้บ้าง จึงอาจทำให้ต้องบรรจุมาตรการบางอย่างลงไปใน พ.ร.ก.ดังกล่าวก่อนจะนำไปประกาศใช้

เมื่อถามว่าเมื่อไหร่จึงจะมีความชัดเจนว่าต้องแก้ไข พ.ร.ก.โรคติดต่อฯหรือไม่ อย่างไร นายวิษณุ กล่าวว่า ต้องรอฟังจากฝ่ายแพทย์และกระทรวงสาธารณสุขก่อน

ถามอีกว่าถ้า พ.ร.ก.นี้ได้รับการแก้ไขอีกครั้งแล้ว จะต้องเสนอขอความเห็นชอบจากที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่อีกหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ต้องส่งที่ประชุม ศบค. สามารถเสนอต่อที่ประชุม ครม.ได้เลย

“พ.ร.ก.โรคติดต่อฯ ที่ได้ผ่าน ครม.ไปแล้วนั้น มีมาตรการระดับสูง เพราะตอนนั้นคาดหวังว่าจะนำมาใช้แทน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่ขณะนี้สถานการณ์โรคโควิด-19 ทั่วโลกได้ลดระดับลง เพราะฉะนั้น พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ที่เรามีอยู่แล้ว อาจใช้ต่อไปได้ หรือนำมาปรับแก้ด้วยการจัดทำเป็นร่าง พ.ร.บ.ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งสิ่งเหล่านี้เรากำลังคิดกันอยู่”นายวิษณุระบุ

 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ครม. รับทราบการเปิด ขยายเวลา และปิดจุดผ่านแดนระหว่างประเทศ

นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีรับทราบการดำเนินการเกี่ยวกับการเปิด การขยายเวลา และการปิดจุดผ่านแดนระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ตามที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เสนอ

'ภูมิธรรม' ยันยังไม่เลิก 'ไร่ละพัน' แจง 'ปุ๋ยคนละครึ่ง' หวังช่วยชาวนาอีกทาง

'ภูมิธรรม' แจงไม่ได้ยกเลิกไร่ละพัน พร้อมดึงกลับมาใช้ถ้าราคาข้าวตก ย้ำคนละส่วนกับปุ๋ยคนละครึ่ง ชี้ สส. รุมค้าน เหตุไม่เข้าใจถ่องแท้ไปฟังเกษตรกรมา

พาณิชย์การันตี! เตรียมร้านค้ารองรับ 'ดิจิทัลวอลเล็ต' ไว้พร้อมแล้ว

'ภูมิธรรม' เผยพาณิชย์เตรียมร้านค้ารองรับ 'ดิจิทัลวอลเลต' พร้อมแล้ว ประชุมวันนี้ทบทวนรายละเอียดทั้งหมด ก่อนนายกฯ แถลง 24 ก.ค.

กมธ.งบฯ68 จ่อถก 'กลาโหม' สัปดาห์หน้า ตั้ง 9 อนุฯ หวังเพิ่มประสิทธิภาพ

นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะโฆษคณะกรรมาธิการ(กมธ.)วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568 แถลงผลการพิจารณาของกมธ.ฯประจำสัปดาห์