เรื่องน่าเศร้า! ที่เกิดขึ้นในการเลือกตั้งครั้งนี้

21 เม.ย. 2566 – รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า ก่อนที่จะถึงเวลาต้องห้ามตามกฎหมายที่จะสำรวจความคิดเห็นของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง โพลของสำนักต่างๆ ต่างก็ทยอยทำกันออกมาเป็นระยะ นอกจากจะมีนิด้าโพล และซูเปอร์โพล ซึ่งดูเหมือนจะเป็น 2 สำนักที่ทำโพลออกมาอย่างสม่ำเสมอ ขณะนี้ยังมี เนชั่นโพล และล่าสุดที่เห็นคือ มติชน-เดลินิวส์โพล

นิด้าโพล ซูเปอร์โพล และเนชั่นโพล เท่าที่ดู น่าจะเป็นการสำรวจโดยใช้วิธีสุ่มตัวอย่างตามระเบียบวิธีวิจัย แต่นิด้าโพลใช้กลุ่มตัวอย่างเพียง 2,000 ตัวอย่าง ซูเปอร์โพลใช้ประมาณ 6,000 ตัวอย่าง ส่วนเนชั่นใช้กลุ่มตัวอย่างมากถึงเกือบ 40,000 ตัวอย่าง และเป็นการสุ่มแยกรายภาคที่เรียกว่า stratified random sampling ส่วนกรณีมติชน-เดลินิวส์ แม้ว่าจะมีคนโหวตเป็นจำนวนมาก แต่เป็นการให้โหวตออนไลน์ จึงไม่น่าจะเรียกว่าโพลได้ ทำให้ความน่าเชื่อถือต่ำกว่าโพลอื่นๆ เพราะผู้ที่โหวตเป็นผู้ที่เป็นผู้ติดตามข่าวของมติชนและเดลินิวส์เท่านั้น

ผลการสำรวจของทุกสำนักที่ออกมาตรงกันคือ พรรคเพื่อไทยมีคะแนนนิยมเป็นอันดับที่ 1 นิด้าโพลให้พรรคก้าวไกลเป็นอันดับที่ 2 และพรรครวมไทยสร้างชาติเป็นอันดับ 3 ซูเปอร์โพลให้พรรคภูมิใจไทยเป็นอันดับ 2 และพรรคพลังประชารัฐอันดับ 3 ส่วนพรรครวมไทยสร้างชาติอยู่อันดับ 5 และพรรคก้าวไกลอยู่อันดับ 6 ที่แตกต่างกันมากระหว่างนิด้าโพลและซูเปอร์โพลคือ พรรคภูมิใจไทยและพรรคพลังประชารัฐ ในขณะที่ผลของซูเปอร์โพลให้พรรคภูมิใจไทยเป็นอันดับ 2 และพรรคพลังประชารัฐอันดับ 3 นิด้าโพลกลับให้พรรคภูมิใจไทยเป็นอันดับ 5 และพรรคพลังประชารัฐเป็นอันดับ 8 ที่น่าตกใจคือ ผลของนิด้าโพลบอกว่ามีคนเลือกพรรคภูมิใจไทยเพียง 3.75% นอกจากจะขัดกับความรู้สึกของคนทั่วไปที่คาดว่าอย่างน้อยพรรคภูมิใจไทยต้องได้คะแนนเสียงไม่น้อยไปกว่าการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว นายอนุทิน ชาญวีรกูล ก็คงต้องมีข้อกังขากับผลการสำรวจของนิด้าโพลเป็นแน่

ผลสำรวจของทุกสำนักยกเว้นซูเปอร์โพล ยังถามกลุ่มตัวอย่างว่า ต้องการสนับสนุนให้ใครเป็นนายกรัฐมนตรี ผลก็คือในภาพรวมทั้งประเทศให้อุ๊งอิ๊งเป็นอันดับ 1 นายพิธา อันดับ 2 และพลเอกประยุทธ์ อันดับ 3 แต่คะแนนที่ 3 ห่างจากที่ 1 และที่ 2 ค่อนข้างมาก

หากผลการสำรวจที่ได้จากกลุ่มตัวอย่างสะท้อนความเป็นจริงของประชาชนทั้งประเทศ ก็เป็นเรื่องน่าเศร้าใจมากที่คนไทยเรายังคงนิยมพรรคที่เรียกตัวเองว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตย แต่แท้ที่จริงต้องทำตามคำสั่งของเจ้าของพรรคเพียงคนเดียว แม้จะมีกรรมการบริหารพรรคแต่ก็ต้องลงมติตามคำสั่งของเจ้าของพรรคอยู่ดี ส่งลูกสาวมาเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีข้ามหัวหัวหน้าพรรค และนักการเมืองคุณภาพในพรรค ที่นายเศรษฐา ทวีสิน ชี้ให้ผู้สื่อข่าวดูบนเวทีว่ามีเต็มไปหมด แต่ไม่มีใครมีโอกาสได้เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี นอกจากลูกสาวเจ้าของพรรค แคนดิเดตอีกคนก็มาจากภาคธุรกิจนอกพรรค และอีกคนก็คือคนเดิมคือนายชัยเกษม นิติศิริ ซึ่งมาเป็นเพียงตัวประกอบ บรรดาผู้หลักผู้ใหญ่ในพรรคซึ่งหลายคนก็ดูเหมือนจะมีอุดมการณ์ แต่ก็ไม่มีใครกล้าหือแม้แต่คนเดียว

เรื่องทำนองนี้ นายจตุพร พรหมพันธุ์ เล่าว่า เมื่อครั้งมีการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคไทยรักษาชาติซึ่งเป็นพรรคลูกของพรรคเพื่อไทย ในการเลือกตั้งปี 2562 ซึ่งทำให้พรรคไทยรักษาชาติต้องถูกยุบไป ครั้งนั้นไม่มีแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทยได้รู้ล่วงหน้าเลยแม้แต่คนเดียว และเมื่อมีการโหวคเลือกนายกรัฐมนตรีในสภา พรรคเพื่อไทยก็ไม่ได้โหวตให้แคนดิเดตของพรรคตัวเอง แต่กลับไปโหวตให้นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่แทน มีเพียงคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ที่ลาออกไปตั้งพรรคไทยสร้างไทย แต่คนอื่นๆ ยังยอมทนอยู่ได้ไม่ว่ากระไร

แม้ผลโพลทุกสำนักจะชี้ว่าพรรคเพื่อไทยจะมีคะแนนนิยมเป็นอันดับ 1 แต่ผลคะแนนที่ได้ยังห่างไกลจากเป้าหมายของพรรคเพื่อไทยคือได้ ส.ส.จำนวน 310 ที่นั่ง อีกทั้งผลโพลของพรรคภูมิใจไทยและพรรคพลังประชารัฐดูต่ำเกินจริง เมื่อเลือกตั้งจริงๆ ทั้ง 2 พรรคควรได้จำนวน ส.ส. มากกว่าผลโพล ดังนั้นจึงสรุปได้ว่าโอกาสที่เพื่อไทยจะได้ชัยชนะแบบแลนด์สไลด์ มีน้อยมากกระทั่งเป็นไปไม่ได้เลย ดังนั้นไม่ว่าจะมีใครต้องการสนับสนุนให้อุ๊งอิ๊งเป็นนายกรัฐมนตรีมากเพียงใด แต่ถ้าผลการเลือกตั้งออกมาตามโพล พรรคเพื่อไทยก็ยากที่จะจัดตั้งรัฐบาลได้ แต่ทั้งหมดต้องรอดูผลการเลือกตั้งว่าจะออกมาอย่างไร จะแตกต่างจากผลโพลมากน้อยแค่ไหน

ปรากฏการณ์ข้างต้นนี้ตอกย้ำให้เห็นว่า ระบบเลือกตั้งทั้งในอดีตและที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ไม่น่าจะเหมาะกับประเทศไทย เราได้เรียนรู้ประชาธิปไตยกันมานานเกือบ 91 ปีแล้ว ในการเลือกตั้งแต่ละครั้ง เรายังคงตั้งคำถามว่า เราจะได้จะอะไรถ้าเลือกพรรคนั้นพรรคนี้ เราไม่ตั้งคำถามต่อว่า หากเราได้อะไรแล้วจะทำให้ประเทศชาติเสียหายหรือไม่ เพราะเราไม่เคยสนใจ ขอให้เราได้เป็นพอ

กรณีแจกเงินดิจิทัลหนึ่งหมื่นให้กับผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไปทุกคน เป็นตัวอย่างที่ชัดเจน เพราะต้องใช้เงินถึง 5.6 แสนล้านบาท ซึ่งจะมาจากไหนก็ไม่ได้บอกชัดเจน มิใยที่อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย 2 ท่านออกมาคัดค้านท้วงติงว่าจะมีผลกระทบต่อเสถียรภาพการเงินการคลังของประเทศ ผู้ว่าฯ ท่านปัจจุบันก็ให้สัมภาษณ์ว่า ความสำคัญขณะนี้คือการพยายามทำให้การเงินการคลังของประเทศอยู่ในสภาพปกติ ไม่มีความจำเป็นใดๆ ในขณะนี้ที่จะต้องไปอัดฉีดเงินลงไปในระบบเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่พรรคเพื่อไทยก็ไม่ฟัง ยังดึงดันเดินหน้าต่อไป (ซึ่งก็คาดไว้แล้ว) และเมื่อผลโพลทุกสำนักออกมา ก็ยังปรากฏว่าพรรคเพื่อไทยก็ยังได้คะแนนนิยมเป็นอันดับ 1 เช่นเดิม ทั้งยังมากกว่าเดิม

นี่คือเรื่องน่าเศร้า และแน่นอนว่า พรรคเพื่อไทยยังจะคงเดินหน้าต่อไปจนกว่าคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) หรือธนาคารแห่งประเทศไทยออกมาชี้ว่า การกระทำดังกล่าวขัดต่อกฎหมาย แต่จะขัดต่อกฎหมายหรือไม่ก็ตาม นี่คือการกระทำที่ไม่ต่างกับที่ได้ทำในอดีต ตั้งแต่พรรคไทยรักไทย จนถึงพรรคเพื่อไทย นั่นคือ การใช้ประชานิยมเพื่อให้ได้คะแนนเสียง โดยเอาเรื่องผลกระทบต่อระบบการเงินการคลังของประเทศเป็นเรื่องรอง นี่น่าเศร้ายิ่งกว่าก็คือ เมื่อพรรคเพื่อไทยทำแล้วได้ผล พรรคการเมืองอื่นๆ ก็เอาบ้าง โดยเฉพาะการเลือกตั้งครั้งนี้ เกือบทุกพรรค ยกเว้นบางพรรค ล้วนแล้วหาเสียงไปในทำนองนี้ทั้งสิ้น และมีแนวโน้มว่าจะมากขึ้นเรื่อยๆ ในการเลือกตั้งครั้งต่อๆ ไป

หากเป็นเช่นนี้ ประเทศเราจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เกลี้ยง! 'แพทองธาร' โอนหุ้นสนามกอล์ฟอัลไพน์ 224.1 ล้าน ให้ 'คุณหญิงอ้อ' แล้ว

นางสาวแพทองธาร ชินวัตร หรือ ‘อุ๊งอิ๊ง’ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีแห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2567

ทนายร้อง บช.ก. สอบ 'เรืองไกร' แจ้งเท็จ ปมยื่นกกต. สอยนายกฯอิ๊งค์ถือหุ้น

ที่ศูนย์รับแจ้งความกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง นายเดชา บัวปลี ทนายความ นำข้อกฎหมายและภาพข่าววันที่ 28 ส.ค.วันที่ 4 ก.ย.67 เข้าร้องเรียนเพื่อให้ตรวจสอบการร้องเรียนของนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ

พท. ลุยเต็มสูบ! กล่อมหัวหน้าพรรคร่วม ล็อบบี้ สว. แก้ รธน. โละจริยธรรมสุดซอย

'ภูมิธรรม' เตรียมนัดพรรคร่วมรัฐบาลสัปดาห์หน้า หารือแก้รัฐธรรมนูญรายมาตรา พร้อมล็อบบี้ สว. ปัดแก้เพื่อประโยชน์ตัวเอง ไม่หวั่นร่วงในชั้นทำประชาติ เชื่อ ปชช. ไม่อยากเห็นเครื่องประหารทางการเมือง

'วันนอร์' แบ่งงาน 2 รองประธานสภาฯ 'พิเชษฐ์-ภราดร'

'วันนอร์' แบ่งงานให้ 2 รองประธานสภาฯ แล้ว 'พิเชษฐ์' คุมกระทู้-ญัตติ -​อาคารสถานที่ -สส.​ลาประชุม ส่วน 'ภราดร' กลั่นกรองร่างกฎหมาย-งานพีอาร์-ทีวีรัฐสภา

ผู้ว่าฯธปท.จบจากที่ไหน 'นักวิชาการ' แนะดูคลิปแล้วจะตัดสินได้เองว่าสมควรเชื่อใคร

รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า s