จับตาเปิดค่ายกาวิละถก บ้านพักศาลออกทางไหน


เพิ่มเพื่อน    

 เครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพกว่า 1  พันคน ปั่นจักรยานบุกหน้าศาลอุทธรณ์ภาค 5 ชูป้ายคัดค้านสร้างบ้านพักตุลาการ ยื่น 6 ข้อเรียกร้องขอคืนพื้นที่ทำลายระบบนิเวศ "แม่ทัพภาค 3" เปิดเวทีในค่ายทหารรับฟังข้อมูล "ศาล-กลุ่มค้าน" 9 เม.ย. ก่อนเสนอเลขาฯ  คสช.ตัดสินใจ

    เมื่อวันอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 08.00 น. เครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ กว่า 1,000 คน ร่วมกันขี่จักรยานติดริบบิ้นและธงสีเขียว จากหน้าศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ เฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา จ.เชียงใหม่ ไปรวมตัวกันที่หน้าศาลอุทธรณ์ ภาค 5 ชูป้ายคัดค้านโครงการสร้างบ้านพักตุลาการ  เรียกร้องให้ยุติและรื้อถอนอาคารบ้านพักของข้าราชการตุลาการ บนเนื้อที่ 147 ไร่ ในพื้นที่ ต.ดอนแก้ว อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ซึ่งสร้างติดแนวเขตป่าอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย ตามโครงการย้ายศาลอุทธรณ์ภาค 5 จากกรุงเทพฯ โดยทางศาลได้ขอใช้ที่ดินราชพัสดุซึ่งอยู่ในความดูแลของมณฑลทหารบกที่ 33 เนื้อที่ 147 ไร่ 3 งาน 41 ตารางวา และได้รับอนุญาตตั้งแต่ปี 2549 เพื่อก่อสร้างอาคารที่ทำการศาลพร้อมบ้านพัก 47 หลัง และอาคารชุด 13 หลัง งบประมาณทั้งสิ้นมากกว่า 900 ล้านบาท กระทั่งได้รับงบประมาณเมื่อปี 2556 และเริ่มดำเนินการเมื่อปี 2557 โดยมีกำหนดแล้วเสร็จภายในเดือน พ.ค.นี้
    จากนั้นทั้งหมดได้ขี่จักรยานมุ่งหน้าต่อไปยังชายป่าภายในห้วยตึงเฒ่า เพื่อประกอบพิธีบวงสรวงเทวดาอารักษ์ที่ปกปักรักษาป่าไม้ และช่วยกันใช้ผ้าจีวรผูกรอบต้นไม้บริเวณชายป่ารอบๆ พื้นที่ก่อสร้างบ้านพักตุลาการ เพื่อเป็นการบวชป่าและสืบชะตาป่าดอยสุเทพ ตามความเชื่อทางภาคเหนือ
    พระสุทัศน์ สุทัศโน เจ้าอาวาสวัดสันธาตุ ต.สันมหาพล อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ ได้เดินถือป้ายมีข้อความว่า  "หลวงพ่อขอบิณฑบาตคืนป่าให้ส่วนรวมเถิด ปล.หลวงพ่อแก่แล้ว เดินขึ้นไปบิณฑบาตไม่ไหว ลงมาเต๊อะโยม"
    ต่อมาพระสุทัศน์ได้เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ในการทำพิธีบวชป่าตามความเชื่อทางศาสนาและความเชื่อของชาวล้านนา ที่ว่าหากนำผ้าไปผูกมัดกับต้นไม้ในป่าต้นไหน ถือว่าต้นไม้นั้นได้ผ่านพิธีการบวชป่า และห้ามตัดโดยเด็ดขาด และคนตัดก็จะมีสิ่งไม่ดีเกิดขึ้น
    ขณะที่กลุ่มเครือข่ายขอคืนผืนป่าดอยสุเทพ ได้อ่านจดหมายเปิดผนึก 6 ข้อเรียกร้องในการขอพื้นที่ที่มีการสร้างบ้านของข้าราชการศาลยุติธรรมคืน ถึงประธานศาลฎีกา คณะกรรมการศาลยุติธรรม และรัฐบาล ช่วยพิจารณาถึงความถูกต้องชอบธรรม และความเหมาะสม โดยมีเนื้อหาเน้นไปที่การมุ่งหาทางออกอย่างสันติ และนำเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาในการคัดค้านอย่างสันติ และเป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎหมาย รวม 6 ข้อ 
    1.ภาคประชาชนจะขอคืนพื้นที่โครงการบ้านพักและแฟลตราชการเพียงบางส่วนที่มีผลกระทบต่อระบบนิเวศอย่างชัดเจนเท่านั้น 2.จัดเตรียมข้อมูลนำเสนอผ่านโปรแกรมเพาเวอร์พอยต์และแผ่นป้ายเพื่อนำเสนอต่อตัวแทนสำนักงานเลขาธิการศาลยุติธรรมที่มาร่วมประชุมหารือได้รับทราบว่าตัวโครงการมีความเสี่ยงต่อปัญหาอัคคีภัย อุทกภัย โคลนถล่มตามฤดูกาล 3.ภาคประชาชนต้องการรับทราบความกังวลในแง่กฎหมาย และการใช้งบประมาณของรัฐที่ดำเนินไปแล้ว รวมทั้งอยากให้ศาลยุติธรรมจัดเตรียมรังวัดคืนพื้นที่บางส่วนให้กลับมาเป็นที่ราชพัสดุ    4.ภาคประชาชนอยากให้ตัวแทนฝ่ายทหาร เสนอแนวทางฟื้นฟูป่าและระบบนิเวศร่วมกันระหว่างราษฎร์-รัฐ ซึ่งจะเป็นโอกาสอันดีที่จะเป็นช่องทางปลุกสำนึกและพลังความร่วมมือของพลังประชารัฐทุกภาคส่วน 5.เปิดเผยแนวทางการฟื้นฟูพื้นที่ตามหลักวิชาการ และ 6.ภาคประชาชนตระหนักดีว่าศาลยุติธรรมได้ดำเนินโครงการนี้มาเป็นลำดับ แต่ขอให้ศาลยุติธรรมได้โปรดเข้าใจว่าปัญหานี้ไม่สามารถมองจากแง่มุมทางกฎหมายหรือสิ่งแวดล้อมเพียงมิติเดียว หรือสองมิติเท่านั้น เนื่องจากการที่หน่วยงานในอดีตเลือกใช้พื้นที่ไม่เหมาะสม จะส่งผลต่อความรู้สึกความศรัทธา ความกังวล และความไม่เชื่อมั่นต่อสถาบันของรัฐ ทั้งจะเป็นชนวนก่อให้เกิดความรู้สึกไม่เป็นมิตรกับชาวพื้นถิ่นสะสมยาวนานต่อไป
    กลุ่มเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพยังได้โพสต์เฟซบุ๊กระบุ เตรียมจัดพิธีบวชป่าแบบล้านนา
การคัดค้านการก่อสร้างบ้านพักตุลาการศาลอุทธรณ์ภาค 5 ยังเป็นประเด็นที่น่าติดตาม ซึ่งก่อนที่จะถึงกำหนดนัดหมายหารือร่วมกันระหว่างเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ เจ้าหน้าที่สำนักงานศาลยุติธรรม และทหาร ในวันจันทร์ที่ 9 เม.ย.นี้ ทางเครือข่ายเตรียมจัดกิจกรรมบวชป่า ตามแบบฉบับของชาวล้านนา ซึ่งถือเป็นกิจกรรมใหญ่ที่เตรียมการมานาน พื้นที่บริเวณรอบจุดก่อสร้างบ้านพักตุลาการศาลอุทธรณ์ภาค 5 ต.ดอนแก้ว อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ เป็นจุดที่เครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพจะจัดกิจกรรมบวชป่า 
    นางพิมพ์สุชา สมมิตรวศุตม์ เลขาธิการเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ ระบุว่า การจัดกิจกรรมนี้ต้องการให้หน่วยงานรัฐเห็นความตั้งใจในการอนุรักษ์พื้นที่ป่า โดยเฉพาะบริเวณดอยสุเทพ พิธีการที่จัดขึ้นจะเป็นแบบล้านนาดั้งเดิม ไม่บ่อยหนักที่คนภายนอกจะมีโอกาสได้เห็น ขณะที่การเคลื่อนไหวรณรงค์คัดค้านการก่อสร้าง ตอนนี้ไม่เฉพาะแต่คนในจังหวัดเชียงใหม่เท่านั้น เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา เครือข่ายสลัมสี่ภาค ซึ่งเดินทางมาประชุมประจำปีที่ จ.เชียงใหม่ ร่วมกิจกรรมผูกริบบิ้นสีเขียวออกกำลังกาย ตามการเชิญชวนของเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ 
    ด้าน พล.ท.วิจักขฐ์ ศิริบรรสพ แม่ทัพภาคที่ 3 กล่าวว่า ในวันที่ 9 เม.ย. เวลา 09.30 น. ที่ค่ายกาวิละ จ.เชียงใหม่ ได้นัดตัวแทนของศาลอุทธรณ์ภาค 5 และกลุ่มคัดค้านการก่อสร้างบ้านพักเชิงดอยสุเทพ มาเพื่อรับฟังข้อมูลทั้ง 2 ฝ่าย ในลักษณะเปิดกว้าง โดยกองทัพภาคที่ 3 ทำหน้าที่เป็นคนกลาง เพื่อรับทราบทั้งท่าทีและข้อมูลจากปากทั้ง 2 ฝ่ายโดยตรง เพราะที่ผ่านมาฟังจากทางสื่อโทรทัศน์และโซเชียลมีเดียเป็นหลัก
    "ทหารจะไม่ตั้งธงคำถาม ให้สองฝ่ายได้พูดกันอย่างเต็มที่ เพราะทั้งสองฝ่ายก็ไม่ได้เป็นผู้สร้างปัญหา แต่เมื่อขณะนี้เกิดปัญหาขึ้น ก็ต้องร่วมกันแก้ไขปัญหากันต่อไป โดยดูว่าแต่ละองค์กรต้องการอะไรและมีท่าทีอย่างไร "พล.ท.วิจักขฐ์กล่าว
    แม่ทัพภาคที่ 3 กล่าวว่า จะรวบรวมข้อมูลทั้งหมดส่งให้ พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก ผบ.ทบ. ในฐานะเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ซึ่งยังไม่สามารถบอกได้ว่าแนวโน้มจะออกมาเป็นอย่างไร ต้องรอฟังก่อน ส่วนการแก้ไขปัญหาเป็นเรื่องที่ผู้บังคับบัญชาตัดสินใจ กองทัพภาคที่ 3 ทำตามนโยบายในการฟังเสียงของทั้ง 2 ฝ่ายเท่านั้น. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"