ความก้าวหน้าของวงการข้อมูลเปิดสาธารณะ

data center /AFP

ข้อมูลเปิดสาธารณะ (Open Data) คือ ข้อมูลที่พัฒนาขึ้นมาจากงานตามภารกิจหลักของหน่วยงาน (โดยมากมักเป็นองค์กรของรัฐ) แต่นำมาเผยแพร่ให้กับสาธารณะได้นำไปใช้งานต่อได้โดยไม่มีเงื่อนไขข้อจำกัด ทั้งนี้ ไม่เป็นข้อมูลส่วนบุคคล หรือ มีการนำเอาข้อมูลที่ชี้บ่งจำเพาะบุคคลออกไปเพื่อรักษาความเป็นส่วนตัว เช่น ข้อมูลระดับน้ำในเขื่อนและแม่น้ำ ข้อมูลระดับ PM 2.5 ข้อมูลปริมาณการจราจรบนท้องถนน ข้อมูลการนำเข้าส่งออกของสินค้าแยกตามประเภท ข้อการจดทะเบียนรถประเภทต่าง ๆ  ข้อมูลการจัดก็บภาษี และรายจ่ายของภาครัฐ

การเปิดข้อมูลให้สาธารณะนำไปใช้ประโยชน์โดยไม่มีเงื่อนไขนอกจากเป็นการแสดงความโปร่งใสแล้วยังเป็นการนำใช้จ่ายเงินภาษีของประชาชนให้ได้ประโยชน์อย่างเต็มที่อีกด้วย  คือ อนุญาตให้ภาคเอกชนและประชาชนนำไปใช้ต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจสร้างประโยชน์ย้อนกลับไปยังเจ้าของเงินภาษี

ปัจจุบัน สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล เป็นหน่วยงานกลางที่ทำหน้าที่ดูแลพัฒนาศูนย์กลางข้อมูลเปิดภาครัฐ ซึ่งมีหน้าเว็บอยู่ที่ data.go.th ให้บริการสืบค้นและดาวน์โหลดชุดข้อมูลเปิดที่หน่วยงานต่าง ๆ ของภาครัฐนำมาเก็บรวบรวมไว้ ณ ศูนย์กลางข้อมูลเปิดภาครัฐ 

ปัจจุบันเว็บ data.go.th ได้รับการพัฒนามาจนถึงเวอร์ชั่นที่ 3 แล้ว และมีความสามารถวัดค่าสถิติต่าง ๆ ได้ เช่น จำนวนการเข้าชมข้อมูลแต่ละเรื่อง จำนวนครั้งการดาวน์โหลด การเชื่อมต่อไปยังแหล่งข้อมูลต้นทางโดยตรงโดยหน่วยงานเจ้าของข้อมูลไม่จำเป็นต้องนำข้อมูลมาฝากไว้ยังเว็บ data.go.th เป็นครั้ง ๆ อีกต่อไป 

สำหรับความคืบหน้าการดำเนินงาน (25 มิย. 2565) สามารถสรุปได้เบื้องต้นดังนี้ 

  1. จำนวนชุดข้อมูลเปิด (สะสม) ที่ขึ้นทะเบียนแล้ว 6,852 ชุดข้อมูล เพิ่มขึ้น 191% เทียบกับปี 2564 
    1. ปี 2563: จำนวน    910 ชุด
    2. ปี 2564: จำนวน  3,256 ชุด
  2. จำนวนหน่วยงาน (สะสม) ทั้งหมด 353 หน่วยงาน เพิ่มขึ้น 111% เทียบกับปี 2564
    1. ปี 2563: จำนวนหน่วยงาน (สะสม) 158 หน่วยงาน
    2. ปี 2564: จำนวนหน่วยงาน (สะสม) 318 หน่วยงาน
  3. ข้อมูลยอดนิยมที่มีการเข้าชมสูงสุด 5 อันดับ ได้แก่ 
    1. รายงาน COVID-19 ประจำวัน
    2. แบบฟอร์มคำขอดำเนินการทางทะเบียนรถยนต์
    3. จำนวนประชากรในประเทศไทย แยกตามพื้นที่
    4. ข้อมูลรายชื่อห้องปฏิบัติการเครือข่ายตรวจ SARS-CoV-2
    5. ศูนย์รวมข้อมูล สังคม-วัฒนธรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

นอกจากนี้ เมื่อเดือนมิถุนายน ที่ผ่านมา ผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพมหานคร (ชัชชาติ  สิทธิพันธุ์) ได้เข้าหารือกับสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัลเพื่อส่งเสริมข้อมูลเปิดสาธารณธในความดูแลของกรุงเทพมหานคร เพิ่มเติมในส่วนของการใช้จ่ายงบประมาณ โดยหลังจากหารือเพียง 3 วัน กรุงเทพมหานครได้ทำการเปิดข้อมูลการใช้จ่ายงบประมาณขึ้นสู่เว็บไซต์ data.bangkok.go.th เป็นที่เรียบร้อย และเว็บดังกล่าวยังได้รวบรวมชุดข้อมูลเปิดอื่น ๆ ไว้กว่า 400 ชุดข้อมูล ซึ่งนับเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญของการเปิดเผยข้อมูลสาธารณะ     

ในแง่ของการส่งเสริมการให้บุคลากรภาครัฐนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในการวางแผนและพัฒนาปรับปรุงการทำงานของภาครัฐ ทางสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ได้มอบหมายให้สถาบันนวัตกรรมและธรรมาภิบาลข้อมูล (Data Innovation and Governance Institute : DIGI) ดำเนินการจัดกิจกรรมการแช่งขัน DIGI Data Camp ซึ่งมีเงื่อนไขการเข้าร่วมคือเป็นบุคคลกรภาครัฐ และต้องนำข้อมูลของภาครัฐหรือของหน่วยงานตนเองมาทำใช้ทำการวิเคราะห์ทำรายงานด้วยซอฟต์แวร์จัดการข้อมูล  โดยมีจำนวนทีมที่สมัครรอบแรกถึง 229 ทีม (รวม 782 คน) จาก 20 กระทรวง และผ่านการคัดเลือกขั้นต้นจำนวน 197 ทีม มีการเสนอหัวข้อเข้าร่วมแข่งขันครอบคลุมด้านต่าง ๆ 6 ด้าน คือ การเกษตร (14 ทีม) การศึกษา (16 ทีม) สวัสดิการประชาชน (26 ทีม) สุขภาพ (27 ทีม) การมีส่วนร่วมและความโปร่งใส (35 ทีม) และด้านเศรษฐกิจ (79 ทีม)

ในระยะเวลา 2 เดือนแรก จะเป็นการฝึกอบรมพัฒนาทักษะการเตรียมข้อมูล การวิเคราะห์และเล่าเรื่องด้วยข้อมูล  มีการคัดเลือก 8 ทีมสุดท้าย เพื่อเข้าสู่รอบพี่เลี้ยงอย่างเข้มข้น และนำเสนอต่อคณะกรรมการเพื่อตัดสินรางวัลรวมมูลค่า กว่า 1 แสนบาท 

สำหรับการบริหารจัดการศูนย์กลางข้อมูลเปิดในยุคถัดไปจะเป็นแนวทางแบบ decentralized คือ จะเป็นการเปลี่ยนจากการมีศูนย์กลางข้อมูลเปิดทำน้าที่เก็บรวบรวมข้อมูลเพียงแหล่งเดียว เป็น ระบบบริการค้นหาชุดข้อมูลเปิดจากอินเทอร์เน็ต (open data search engine) ซึ่งไม่จำเป็นต้องให้หน่วยงานเจ้าของข้อมูลมาทำการลงทะเบียนหรืออัพโหลดข้อมูลมาจัดเก็บที่ศูนย์กลางข้อมูลเปิดอีกต่อไป โดยระบบบริการค้นหาชุดข้อมูล จะมีช่องทางสำหรับใช้สืบค้นและประเมินคุณภาพโครงสร้างข้อมูล (ตามหลัก Machine readable) ให้ด้วยอัตโนมัติ ก่อนที่ผู้ใช้จะตัดสินใจเลือกดาวน์โหลดนำไปใช้ 

ดร. มนต์ศักดิ์ โซ่เจริญธรรม

กลุ่มนโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นโยบายสาธารณะเรื่องบาทดิจิทัล

จากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทยอยู่ในระหว่างดำเนินการพัฒนา "บาทดิจิทัล" ซึ่งอาศัยเทคโนโลยี Blockchain คล้ายกับเหล่าสกุลเงิน Crypto Currency (เช่น Bitcoin) เพียงแต่จะถูกดำเนินการและควบคุมโดยธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นหลัก