ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมา เรียกร้องการเจรจาสันติภาพกับกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์

ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมาเรียกร้องให้มีการเจรจาสันติภาพแบบตัวต่อตัวกับกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ในประเทศ ขณะที่กองทัพเริ่มเหนื่อยกับการไล่ล่าและสู้รบกับกองกำลังต่อต้านรัฐบาลทหารกลุ่มใหม่ที่ก่อตั้งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

แฟ้มภาพ พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐบาลเมียนมา (Getty Images)

เอเอฟพีรายงานจากกรุงเนปยีดอ เมื่อวันศุกร์ที่ 22 เมษายน 2565 กล่าวว่า พลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมาและผู้บัญชาการทหารสูงสุด กล่าวแถลงการณ์กับสื่อทางการของรัฐว่า เขาต้องการเชิญผู้นำของกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์มาพบปะกับเขาเป็นการส่วนตัว ในการเจรจาหาทางออกอย่างตรงไปตรงมาและเปิดเผย เพื่อสันติภาพของประชาชนและการพัฒนาประเทศ โดยขอให้ตัวแทนกลุ่มที่ต้องการเจรจา ลงทะเบียนกับเจ้าหน้าที่ทางการภายในวันที่ 9 พฤษภาคม แต่วันเวลาที่ชัดเจนในการเจรจายังไม่ได้รับการยืนยัน

เมียนมามีกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์อยู่ประมาณ 20 กลุ่ม ซึ่งส่วนใหญ่ตั้งฐานอยู่บริเวณเขตชายแดนอันห่างไกล ทั้งที่สู้รบกันเองและกับกองทัพ มาเป็นเวลาหลายทศวรรษ ในประเด็นการค้ายาเสพติด, ทรัพยากรธรรมชาติ และอิสรภาพในการปกครองตนเอง

กลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์บางกลุ่มประณามการทำรัฐประหารต่อรัฐบาลพลเรือนของนางอองซาน ซูจี และเสนอให้ที่พักพิงรวมทั้งฝึกอาวุธให้แก่กองกำลังพิทักษ์ประชาชน (พีดีเอฟ) ที่รวมตัวจัดตั้งกองกำลังกันขึ้นมาเรื่อยๆ เพื่อต่อต้านการรัฐประหาร และนักวิเคราะห์กล่าวว่า กองทัพเมียนมาประหลาดใจอย่างมากกับความสามารถในการสู้รบของกลุ่มติดอาวุธเหล่านั้น

การปะทะกันทุกวันระหว่างกองกำลังของรัฐบาลทหารและกองกำลังพิทักษ์ประชาชน, กองทัพเอกราชคะฉิ่น, กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง, กลุ่มต่อต้านการรัฐประหาร, กลุ่มผู้ภักดีต่อนางอองซาน ซูจี และอีกมากมายหลายกลุ่มที่นับวันจะมากขึ้นๆ แม้กองกำลังของรัฐบาลทหารจะสามารถขับไล่หรือทำลายล้างมาได้หลายต่อหลายครั้ง แต่ดูเหมือนจะหาบทสรุปของการสู้รบอย่างไม่มีวันสิ้นสุดนี้ไม่ได้ แม้เดือนที่แล้ว มิน อ่อง หล่าย กล่าวสุนทรพจน์ไว้ในพิธีสวนสนามของทหารในวันกองทัพที่ว่า กองทัพจะไม่ยอมแพ้และจะไม่เจรจาอีกต่อไป รวมถึงจะทำลายล้างจนกว่าจะสิ้นสุด ต่อทุกกลุ่มที่ต้องการล้มล้างการปกครอง ทว่าในความเป็นจริง กองกำลังของรัฐบาลทหารเริ่มเหนื่อยล้ากับการทุ่มเทสรรพกำลังในการสู้รบ และรัฐบาลจากการรัฐประหารเองก็ตระหนักดีในประเด็นดังกล่าว จนเป็นที่มาของกลยุทธ์เปลี่ยนสนามรบสู่โต๊ะเจรจาในครั้งนี้.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ชี้ปัญหาเมียนมาไม่ง่ายอย่างที่คิด ปม ’แบ่งสัดส่วนอำนาจ-การบริหารปท.’ เรื่องใหญ่

อดีตบิ๊กข่าวกรองชี้จุดยุ่งยากของการเมืองเมียนมา คือ แนวทางการแบ่งสัดส่วนอำนาจและการบริหารประเทศให้ชนกลุ่มน้อยอย่างไรจึงจะเหมาะสม ทำให้ความขัดแย้งยากที่จะหาจุดลงตัว

ชายแดนเมียนมาสู้รบเดือด ผู้อพยพข้ามฝั่งไทยเพิ่มอีก 233 คน

ผู้สื่อข่าวรายงานข่าวจากหน่วยเฉพาะกิจราชมนู ว่า ช่วงเที่ยงวันนี้ กกล.KNLA กองพล.น้อยที่ 7 (พล.น.7) ร่วมกับ กองกำลังพิทักษ์แห่งชาติกะเหรี่ยง (กกล.KNDO) กองพันที่ 5 (พัน.5) ของกลุ่ม สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง ( KNU)