รัฐบาลทหารเมียนมาสั่งยุบพรรคซูจี

คณะกรรมการการเลือกตั้งของรัฐบาลทหารเมียนมาประกาศให้พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยของอองซาน ซูจี สิ้นสุดความเป็นพรรคการเมือง เนื่องจากไม่สามารถลงทะเบียนใหม่ภายใต้กฎหมายเลือกตั้งที่กองทัพบัญญัติขึ้นเองอย่างเข้มงวด

บริเวณหน้าสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งแห่งสหภาพในกรุงเนปยีดอ ประเทศเมียนมา เมื่อวันที่ 28 มีนาคม (Photo by AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันพุธที่ 29 มีนาคม 2566 กล่าวว่า คณะกรรมการการเลือกตั้งของรัฐบาลทหารเมียนมาประกาศให้พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือพรรคเอ็นแอลดี สิ้นสุดความเป็นพรรคการเมือง เนื่องจากผิดเงื่อนไขภายใต้กฎหมายเลือกตั้งที่รัฐบาลทหารบัญญัติขึ้นใหม่ตั้งแต่ปลายเดือนมกราคม

กฎหมายใหม่ที่บังคับใช้สำหรับพรรคการเมือง มีเนื้อหากำหนดให้บรรดาพรรคทั้งในปัจจุบันและที่จะตั้งใหม่ ต้องลงทะเบียนกับคณะกรรมการการเลือกตั้งที่ได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลทหาร ภายใน 60 วัน

เนื้อหาโดยรวมสรุปว่า พรรคการเมืองต้องระดมสมาชิกพรรคอย่างน้อย 100,000 คนให้ได้ ภายใน 90 วันนับจากวันที่ได้รับอนุญาต และจะต้องเปิดสำนักงานในเมืองอย่างน้อยครึ่งหนึ่งของประเทศภายใน 180 วัน หากไม่สามารถดำเนินการได้ตามกฏหมายใหม่จะสูญเสียสถานะความเป็นพรรคการเมือง ไม่ว่าที่มีอยู่ก่อนหรือหลังกฏหมายฉบับนี้ประกาศใช้

การเลือกตั้งครั้งก่อนในเดือนพฤศจิกายน 2563 พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยของอองซานซูจี ได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้น พร้อมจัดตั้งรัฐบาลพลเรือนได้เป็นครั้งแรกในรอบหลายปี แต่กองทัพกลับก่อรัฐประหารด้วยข้ออ้างว่ามีการฉ้อโกงการเลือกตั้ง

จาก 90 พรรคที่มีอยู่ในเมียนมา ปัจจุบันมีเพียง 50 พรรคเท่านั้นที่สมัครลงทะเบียนใหม่ภายใต้กฎหมายใหม่ ส่วนพรรคที่เหลือและไม่ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขกฏหมายจะถูกยุบอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันพุธ

อองซาน ซูจีร่วมก่อตั้งพรรคเอ็นเแอลดีในปี 2531 และได้รับชัยชนะอย่างถล่มทลายในการเลือกตั้งปี 2533 ซึ่งต่อมารัฐบาลทหารในขณะนั้นตัดสินให้เป็นโมฆะ

หลังจากนั้นพรรคเอ็นแอลดีได้แสดงออกเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยในเมียนมาที่ปกครองโดยทหารมาตลอด ก่อนได้รับชัยชนะอย่างถล่มทลายเหนือพรรคที่มีทหารหนุนหลังในการเลือกตั้งปี 2558 และ 2563 แต่รัฐบาลพลเรือนกลับจบลงด้วยการรัฐประหารอีกครั้ง และอองซาน ซูจีถูกควบคุมตัวจนถึงปัจจุบัน

ทั้งนี้ ภาวะฉุกเฉินของรัฐบาลทหารมีกำหนดสิ้นสุดในเดือนมกราคม หลังจากนั้นรัฐธรรมนูญระบุว่าผู้มีอำนาจต้องกำหนดแผนจัดการเลือกตั้งใหม่ แต่เมื่อเดือนที่แล้ว กองทัพได้ประกาศขยายเวลาสถานการณ์ฉุกเฉินออกไปอีก 6 เดือน เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ และอำนาจอธิปไตยของรัฐจะถูกถ่ายโอนไปยังผู้บัญชาการทหารสูงสุดอีกครั้ง จากความเคลื่อนไหวดังกล่าว มีความเป็นไปได้ว่าจะส่งผลกระทบต่อแผนการเลือกตั้งที่กองทัพและรัฐบาลทหารเตรียมดำเนินการให้เกิดขี้นในเดือนสิงหาคม โดยการเลือกตั้งดังกล่าวน่าจะเลื่อนออกไปอีกจนถึงปลายปีเป็นอย่างน้อย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'อองซาน ซูจี' ย้ายจากเรือนจำมากักบริเวณในบ้าน เหตุเสี่ยงเป็นโรคลมแดด

เมียนมาตกอยู่ภายใต้การควบคุมของทหารมาตั้งแต่ปี 2021 และอองซาน ซูจี-อดีตหัวหน้ารัฐบาล เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสั

“เมืองเมียวดี”ถูกโจมตี ผลกระทบต่อชายแดนไทย?

สถานการณ์ในเมืองเมียวดี รัฐกะเหรี่ยง ตรงข้ามกับ อ.แม่สอด จ.ตาก ขณะนี้หลังกองกำลังผสม นำโดยกองทัพปลดปล่อยชาติกะเหรี่ยง (Karen National Liberation Army-KNLA) ยึดฐานทหารพม่าได้ 3 ฐาน และในฐานบัญชาการมีการมอบตัวซึ่งกองกำลังผสมสามารถควบคุมเมืองเมียวดีได้ 90%