เมียนมาเตรียมส่งผู้แทนเข้าร่วมการประชุมระดับภูมิภาคเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปี

เมียนมาจะส่งผู้แทนเข้าร่วมการประชุมระดับภูมิภาคเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปีในสัปดาห์นี้ ขณะที่คณะรัฐประหารกำลังดิ้นรนเพื่อยุติสงครามกลางเมือง

สะเหลิมไซ กมมะสิด รัฐมนตรีต่างประเทศลาว (กลาง) กล่าวสุนทรพจน์ระหว่างการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ครั้งที่ 57 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติในนครเวียงจันทน์ เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม (Photo by Nhac NGUYEN / AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันอังคารที่ 8 ตุลาคม 2567 กล่าวว่า รัฐบาลทหารเมียนมาจะส่งผู้แทนเข้าร่วมการประชุมระดับภูมิภาคเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปีในสัปดาห์นี้ ท่ามกลางความขัดแย้งในประเทศที่กำลังดำเนินต่อไป แม้ว่าคณะรัฐประหารพยายามหาทางออกร่วมกับกลุ่มต่อต้านก่อนหน้านี้

ความขัดแย้งดังกล่าวจะเป็นหัวข้อสำคัญในวาระการประชุม เนื่องจากบรรดาผู้นำจากสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) จะประชุมกันที่ประเทศลาวตั้งแต่วันพุธนี้ โดยที่ผ่านมาความพยายามกว่า 3 ปีในการหาทางออกทางการทูตต่อวิกฤตการณ์ดังกล่าวไม่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นเลย

สมาชิกอาเซียนสั่งห้ามผู้นำคณะรัฐประหารของเมียนมาเข้าร่วมการประชุมสุดยอดใดๆ หลังเกิดการรัฐประหารในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ขณะที่เมียนมาเองก็ปฏิเสธที่จะส่ง "ผู้แทนที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง" มาเข้าร่วมแทนเช่นกัน

แต่ล่าสุดรัฐบาลทหารได้ตัดสินใจจะส่งเจ้าหน้าที่อาวุโสของกระทรวงต่างประเทศในฐานะตัวแทนเข้าร่วมการประชุม 3 วันในเวียงจันทน์ โดยออง จอ โม ปลัดกระทรวงต่างประเทศเมียนมาจะเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศในวันอังคาร ก่อนการประชุมสุดยอดหลัก

ย้อนไปในช่วงไม่กี่สัปดาห์หลังจากยึดอำนาจ กองทัพได้ตกลงตามแผน "ฉันทามติ 5 ประการ" ของอาเซียน ซึ่งมุ่งฟื้นฟูสันติภาพ แต่รัฐบาลทหารกลับเพิกเฉยและดำเนินการปราบปรามรุนแรงต่อผู้เห็นต่างและฝ่ายต่อต้านการปกครอง

ความเคลื่อนไหวในครั้งนี้จึงอาจเป็นการส่งสัญญาณว่า กองทัพและรัฐบาลทหารเมียนมากำลังยอมรับฉันทามติ 5 ประการ

มิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐบาลทหารเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียนฉุกเฉินเกี่ยวกับวิกฤตเมียนมาในเดือนเมษายน 2564 แต่ที่ประชุมสมาชิกปฏิเสธที่จะเชิญเขาเข้าร่วมการประชุมตามปกติตั้งแต่นั้นมา

ความเคลื่อนไหวครั้งนี้เกิดขึ้นสองสัปดาห์หลังจากที่กองทัพได้ออกคำเชิญที่ไม่เคยมีมาก่อนไปยังฝ่ายต่อต้าน เพื่อเจรจาหาทางออกในการยุติความขัดแย้งที่ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตหลายพันรายและบังคับให้ผู้คนหลายล้านคนต้องอพยพออกจากถิ่นที่อยู่

ที่ผ่านมา คณะรัฐประหารต้องเผชิญกับความพ่ายแพ้ในสนามรบต่อกลุ่มติดอาวุธชนกลุ่มน้อย และกองกำลังป้องกันประชาชนที่สนับสนุนประชาธิปไตย

ขณะที่ไม่นานมานี้ อินโดนีเซียเพิ่งจัดการเจรจาเกี่ยวกับความขัดแย้งในเมียนมา โดยมีอาเซียน, สหภาพยุโรป และสหประชาชาติ รวมถึงกลุ่มต่อต้านคณะรัฐประหารจำนวนมากเข้าร่วม

อาเซียนซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์มานานว่าเป็นเวทีเจรจาที่ไร้ประสิทธิภาพและเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินการขั้นเด็ดขาด และความพยายามยึดโยงเพียงแค่ฉันทามติ 5 ประการมีความคืบหน้าเพียงเล็กน้อยในการแก้ไขวิกฤตเมียนมา

ประเด็นดังกล่าวเป็นหัวข้อหลักในการประชุมระดับสูงทุกครั้งนับตั้งแต่เกิดการรัฐประหาร แต่กลุ่มประเทศอาเซียนมีความเห็นแตกแยกกัน โดยอินโดนีเซีย, มาเลเซีย และฟิลิปปินส์เป็นผู้นำในการเรียกร้องให้ดำเนินการที่เข้มงวดยิ่งขึ้นกับคณะทหารเหล่านี้

ขณะที่เพื่อนบ้านของเมียนมาอย่างไทยซึ่งมักจะต้อนรับผู้ลี้ภัยหลายพันคนจากความขัดแย้งและได้จัดการเจรจาทวิภาคีกับคณะทหาร เรียกร้องให้อาเซียนตอบสนองด้วยความประนีประนอมแต่มีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าเดิม

ทะเลจีนใต้จะเป็นประเด็นสำคัญอีกประเด็นหนึ่งสำหรับบรรดาผู้นำอาเซียน หลังจากการเผชิญหน้าอย่างรุนแรงระหว่างเรือจีนและฟิลิปปินส์ในน่านน้ำที่เป็นข้อพิพาทมานานหลายเดือน

นอกจากอาเซียนแล้ว จีน, สหรัฐฯ, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, ออสเตรเลีย และแคนาดาจะเข้าร่วมการเจรจาระดับภูมิภาคในครั้งนี้ด้วย.

เพิ่มเพื่อน