เกาหลีใต้ยกย่องความสำเร็จในการปล่อยจรวดที่ผลิตขึ้นเอง

เกาหลีใต้ชื่นชมความสำเร็จในการปล่อยจรวดที่ผลิตขึ้นเอง และส่งดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจร นับเป็นก้าวสำคัญของโครงการอวกาศที่กำลังขยายตัวของประเทศ

จรวดอวกาศ 'นูรี' ที่เกาหลีใต้ผลิตขึ้นเอง ถูกปล่อยขึ้นสู่วงโคจรอวกาศจากศูนย์อวกาศนาโร ในหมู่บ้านชายฝั่งทางตอนใต้ของเขตโกฮึง จังหวัดชอลลานัมโด ประเทศเกาหลีใต้ เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม (Photo by Handout / Korea Aerospace Research Institute (KARI) / AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 25 พฤษภาคม 2566 กล่าวว่า เกาหลีใต้ประสบความสำเร็จในการส่งจรวดที่ผลิตขึ้นเองสู่วงโคจรได้พร้อมดาวเทียมเมื่อช่วงค่ำที่ผ่านมา

จรวด 3 ระยะ ยาวกว่า 47 เมตรและหนัก 200 ตัน ทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้าเมื่อเวลา 18.24 น. ตามเวลาท้องถิ่น (16.24 น. ตามเวลาประเทศไทย) จากศูนย์อวกาศนาโรในพื้นที่ชายฝั่งทางตอนใต้ของเกาหลีใต้

การปล่อยจรวด 'นูรี' ประสบความสำเร็จในครั้งที่ 3 หลังความพยายามล้มเหลวก่อนหน้านี้ในปี 2564 เพราะเครื่องยนต์ขั้นที่สามของจรวดไหม้เร็วเกินไป

"เราขอรายงานต่อสาธารณชนว่าการเปิดตัวนูรีในครั้งที่สามซึ่งได้รับการพัฒนาให้รักษาความสามารถในการขนส่งอวกาศในประเทศได้เสร็จสิ้นลงแล้ว" ลี จองโฮ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกล่าว

"ดาวเทียมที่ถูกส่งขึ้นไปในวงโคจรอวกาศจะทำการสื่อสารกับสถานีคิงเซจงของเกาหลีใต้ในแอนตาร์กติกา" เขากล่าว พร้อมเสริมว่า การปล่อยดาวเทียมยืนยันถึงศักยภาพของเกาหลีใต้ในการให้บริการส่งดาวเทียมสำหรับปฏิบัติการต่างๆ และการสำรวจอวกาศ

"เกาหลีใต้จะดำเนินการเปิดตัวจรวดนูรีอีก 3 รุ่นภายในปี 2570" ลีกล่าวเสริม

ประธานาธิบดียุน ซ็อก-ยอล ของเกาหลีใต้ ชื่นชมความสำเร็จในการปล่อยนูรี โดยกล่าวว่าจะทำให้ประเทศมีความได้เปรียบในการแข่งขันด้านอวกาศระดับโลก

"ความสำเร็จของการปล่อยจรวดนูรีครั้งที่ 3 เป็นความสำเร็จอันยอดเยี่ยมที่ประกาศว่าเกาหลีใต้ได้เข้าร่วมกลุ่มมหาอำนาจอวกาศ จี7 เรียบร้อยแล้ว" ยุนกล่าวในถ้อยแถลง

เดิมกำหนดการปล่อยจรวดนูรีคือวันพุธที่ผ่านมา แต่ต้องเลื่อนออกไปเนื่องจากพบข้อผิดพลาดในการสื่อสารของคอมพิวเตอร์ซึ่งได้รับการแก้ไขเสร็จสิ้นภายในวันพฤหัสบดี และสามารถปล่อยขึ้นสู่อวกาศได้สำเร็จท่ามกลางสายตาของผู้ชมมากกว่า 200,000 คนที่เฝ้าดูผ่านการสตรีมสดบนยูทูป

เกาหลีใต้ได้วางแผนพัฒนาโครงการอวกาศ ซึ่งรวมถึงการลงจอดยานอวกาศบนดวงจันทร์ให้ได้ภายในปี 2575 และลงบนดาวอังคารให้ได้ภายในปี 2588

ในเอเชีย จีน, ญี่ปุ่น และอินเดียล้วนมีโครงการอวกาศขั้นสูง ไม่เว้นแม้แต่เกาหลีเหนือซึ่งมีความสามารถในการส่งดาวเทียมของตนเอง

โครงการอวกาศของเกาหลีใต้มีประวัติล้มเหลวมาหลายครั้ง โดยการเปิดตัว 2 ครั้งแรกในปี 2552 และ 2553 ซึ่งใช้เทคโนโลยีของรัสเซียเป็นหลักในขณะนั้น จบลงด้วยความล้มเหลว ก่อนจะมาประสบความสำเร็จในปี 2556 ภายใต้เทคโนโลยีที่ยังต้องพึ่งพารัสเซีย

จนในที่สุดเกาหลีใต้ตัดสินใจสร้างจรวดด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีของตัวเอง และประสบความสำร็จกับจรวด 'นูรี' แบบ 3 ระยะ ซึ่งได้รับการพัฒนามาเป็นเวลา 10 ปี ด้วยงบประมาณ 2 ล้านล้านวอน (ประมาณ 52,000 ล้านบาท).

เพิ่มเพื่อน