รัฐบาลฝรั่งเศสประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินรับมือเหตุประท้วงรุนแรงต่อเนื่อง

นายกรัฐมนตรีฝรั่งเศสกำลังพิจารณา "ทุกทางเลือก" เพื่อฟื้นฟูความสงบเรียบร้อย รวมถึงการประกาศภาวะฉุกเฉิน หลังจากคืนที่สามของการจลาจลจากกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจสังหารเยาวชน

หน้าต่างของโรงละคร The Coliseum of Roubaix ที่แตกเสียหายจากการทำลายของกลุ่มผู้ประท้วง ในเมืองรูแบร์ ทางตอนเหนือของฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน (Photo by DENIS CHARLET / AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันศุกร์ที่ 30 มิถุนายน 2566 กล่าวว่า รัฐบาลฝรั่งเศสเตรียมประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน หลังเหตุประท้วงรุนแรงต่อเนื่องเป็นวันที่ 3 จากกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจยิงปืนใส่วัยรุ่นชายจนเสียชีวิต

นายกรัฐมนตรีหญิงเอลิซาเบธ บอร์น ของฝรั่งเศส ซึ่งอยู่ระหว่างลงพื้นที่สำรวจความเสียหายที่สถานีตำรวจในเอฟรี-กูร์กูรองเนส ทางตอนใต้ของกรุงปารีส จะเข้าร่วมการประชุมด้านความมั่นคงในภาวะวิกฤติซึ่งมีประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง เป็นประธานในเวลา 13.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น (18.00 น. ตามเวลาประเทศไทย)และคาดว่าจะหารือเรื่องการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน

สถานการณ์ฉุกเฉินจะเพิ่มอำนาจให้เจ้าหน้าที่ในการประกาศเคอร์ฟิวเฉพาะพื้นที่, ห้ามการเดินขบวน และให้อิสระแก่ตำรวจมากขึ้นในการยับยั้งผู้ต้องสงสัยว่าเป็นผู้ก่อการจลาจล รวมถึงอำนาจการตรวจค้นบ้านโดยไม่ต้องขอหมายศาล

มาครงงดการเดินทางไปบรัสเซลส์เพื่อร่วมประชุมสุดยอดผู้นำสหภาพยุโรปในวันศุกร์ เพื่อรับมือเหตุการณ์ที่ไม่อาจคาดเดาและอาจจบลงที่การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน แม้ว่าหลายฝ่ายจะไม่เห็นด้วยก็ตาม

ระหว่างการจลาจลทั่วประเทศในปี 2548 รัฐบาลฝ่ายขวาในขณะนั้นได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหลังเกิดการปะทะรุนแรงต่อเนื่องราว 2 สัปดาห์ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่มีการใช้มาตรการนี้ในแผ่นดินใหญ่ของฝรั่งเศสตั้งแต่ 70 กว่าปีก่อน

เจ้าหน้าที่ทางการฝรั่งเศสกล่าวว่า "รัฐบาลกำลังพิจารณาประกาศเคอร์ฟิวในขั้นแรก จากนั้นจึงประกาศภาวะฉุกเฉินเต็มรูปแบบ และระดมสรรพกำลังทางกฎหมาย เพื่อความสงบเรียบร้อยทั้งหมดในประเทศ"

กองกำลังความมั่นคงราว 40,000 นายถูกส่งไปประจำการในเย็นวันพฤหัสบดี และมีผู้ถูกจับกุม 875 คนในชั่วข้ามคืน ตามข้อมูลที่เผยแพร่โดยกระทรวงมหาดไทย

บทบัญญัติต่อต้านการก่อการร้ายหลายมาตราในกฎหมายฉุกเฉิน ซึ่งรวมถึงการให้อำนาจรัฐบาลในการปิดศาสนสถานและควบคุมตัวผู้คนโดยไม่ต้องผ่านการพิจารณาคดี รวมอยู่ในกฎหมายใหม่ที่ประกาศใช้ในปี 2560 ภายใต้การนำของมาครง ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางจากกลุ่มสิทธิเสรีภาพ

คลามาร์ต ชานเมืองทางตะวันตกเฉียงใต้ของกรุงปารีส กลายเป็นพื้นที่แรกที่ประกาศเคอร์ฟิวทุกคืนตั้งแต่วันพฤหัสบดี ขณะที่บริการรถโดยสารสาธารณะและรถรางในกรุงปารีสจะหยุดให้บริการในเวลา 21.00 น. ซึ่งเป็นมาตรการที่จะบังคับใช้ตลอดทุกคืนอย่างไม่มีกำหนด.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

มาครง และเนทันยาฮู ปะทะกันหลังเจ้าหน้าที่รักษาสันติภาพถูกโจมตีในเลบานอน

กองทัพอิสราเอลโจมตีฐานที่ตั้งของกองกำลัง ‘หมวกสีฟ้า’ ในเลบานอนหลายครั้ง ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครงของฝรั่ง