ผู้นำยูเครนเยือนตุรเคีย พร้อมได้รับสัญญาณการสนับสนุนที่สำคัญต่อการเข้าเป็นสมาชิกนาโต ขณะที่สหรัฐฯเตรียมส่งอาวุธต้องห้ามอย่างระเบิดลูกปรายให้รัฐบาลเคียฟใช้สร้างความเสียหายต่อกองกำลังรัสเซียในสนามรบ
ประธานาธิบดีเรเจป ทายยิป แอร์โดอัน ของตุรเคีย (ขวา) ให้การต้อนรับประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี ของยูเครน ที่มาเยือน ณ วาฮิดดิน แมนชั่น ในกรุงอิสตันบูล เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม (Photo by HANDOUT / Press Office of the Presidency of Turkey / AFP)
เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันเสาร์ที่ 8 กรกฏาคม 2566 กล่าวว่า ประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี ของยูเครน เดินทางเยือนตุรเคียและได้เข้าพบปะกับประธานาธิบดีเรเจป ทายยิป แอร์โดอัน
สองผู้นำหารือเกี่ยวกับการเข้าเป็นสมาชิกนาโตของยูเครน ซึ่งผู้นำตุรเคียที่พยายามวางตัวเป็นคนกลางประสานระหว่างคู่ขัดแย้งในสงครามมาตลอด ได้ให้การรับรองต่อเซเลนสกีว่าจะสนับสนุนและผลักดันให้ยูเครนเป็นสมาชิกนาโตให้ได้ แม้สหรัฐฯจะยังลังเลที่จะเห็นชอบอยู่ก็ตาม ขณะที่ท่าทีผลักดันยูเครนของแอร์โดอันอาจถูกจับตาอย่างใกล้ชิดจากรัฐบาลมอสโกและเสี่ยงต่อการทำให้ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซียไม่พอใจ
"ไม่ต้องสงสัยเลยว่ายูเครนสมควรเป็นสมาชิกของนาโต" แอร์โดอันกล่าวในการปรากฏตัวต่อสื่อมวลชนร่วมกับเซเลนสกีในอิสตันบูล
"ผมดีใจที่ได้ยินว่าท่านประธานาธิบดีกล่าวเช่นนั้น" เซเลนสกีกล่าวขอบคุณคำพูดของผู้นำตุรเคีย ทั้งนี้เซเลนสกีต้องการผลักดันการเป็นสมาชิกนาโตให้เร็วที่สุด โดยให้เหตุผลว่ายูเครนได้กลายเป็นแนวป้องกันสุดท้ายของยุโรปต่อการรุกรานของรัสเซีย
อย่างไรก็ตาม ทำเนียบขาวกล่าวว่าการเป็นสมาชิกนาโตของยูเครนจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ แต่ไม่ใช่ในการประชุมสุดยอดสัปดาห์หน้าที่ลิทัวเนีย
แอร์โดอันกล่าวว่า หลังหารือกับผู้นำยูเครนแล้ว เขาหวังจะสามารถสรุปการเจรจาร่วมกับปูตินเป็นการส่วนตัวได้ เมื่อผู้นำรัสเซียเดินทางมาเยือนในเดือนสิงหาคม
ผู้นำตุรเคียกล่าวว่า เขาและปูตินจะหารือเกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนนักโทษ ซึ่งแอร์โดอันเคยช่วยจัดการมาแล้วก่อนหน้านี้ นอกจากนี้ เขายังเสริมว่าจะผลักดันให้ปูตินขยายข้อตกลงส่งออกธัญพืชที่ตุรเคียและสหประชาชาติเป็นคนกลางในการประสานเมื่อปีที่แล้วซึ่งทำให้ยูเครนสามารถส่งธัญพืชไปยังตลาดโลกได้ โดยข้อตกลงดังกล่าวจะสิ้นสุดในวันที่ 17 กรกฎาคม เว้นแต่รัสเซียจะยินยอมให้ขยายระยะเวลาออกไปอีก
อีกด้านหนึ่ง พันธมิตรใหญ่อย่างสหรัฐฯโดยประธานาธิบดีโจ ไบเดน เปิดเผยล่าสุดว่าเขาจะส่งคลัสเตอร์บอมบ์ หรือระเบิดลูกปราย ให้กับยูเครนเพื่อใช้ในแผนโต้กลับรัสเซีย แม้อาวุธดังกล่าวจะถูกต่อต้านจากทั่วโลกก็ตาม โดยระเบิดลูกปรายมีประวัติเป็นอาวุธที่สร้างการบาดเจ็บล้มตายให้เเก่พลเรือน และสหประชาชาติเคยเรียกร้องให้ทั้งยูเครนเเละรัสเซียหลีกเลี่ยงการใช้อาวุธประเภทนี้
โจ ไบเดน ยอมรับว่าการจัดหาอาวุธต้องห้ามให้ยูเครนเป็นการตัดสินใจที่ยากลำบาก แต่ก็ต้องทำเนื่องจากคลังกระสุนของรัฐบาลเคียฟเริ่มร่อยหรอ ในขณะที่สงครามดำเนินเข้าสู่วันที่ 500 แล้ว.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
นายกรัฐมนตรีเยอรมนีทำเซอร์ไพรส์ ไปเยือนยูเครนแบบฉุกละหุก
นี่เป็นการเยือนครั้งที่สองของนายกรัฐมนตรีโอลาฟ ชอลซ์ นับตั้งแต่รัสเซียเริ่มสงครามในยูเครน และเป็นการเดินทางเยือนที่ทำให้เกิดคำถาม