ทำไมมาลีถึงอยากได้รัสเซียเป็นพันธมิตรระดับโลก

AFP

รัฐบาลทหารของมาลีเลื่อนการเลือกตั้งเสรีออกไปอีกครั้ง นักสังเกตการณ์กลัวว่ากลุ่มผู้ต่อต้านภายใต้ประธานาธิบดี อัสซิมี โกอิตา ต้องการจะยึดอำนาจ

แม่น้ำไนเจอร์ไหลเอื่อยผ่านเมืองหลวงบามาโกของมาลี ชีวิตในมหานครแห่งนี้เปลี่ยนแปลงไปเพียงเล็กน้อย นับตั้งแต่รัฐบาลทหารภายใต้การปกครองของอัสซิมิ โกอิตาเข้ามามีอำนาจ มาลีคงไม่ต่างจากที่อื่นในโลกใบนี้ซึ่งมีปัญหาหลักคือ ค่าครองชีพสูงขึ้น และไฟฟ้าดับในแต่ละวัน

เมื่อสองปีที่แล้ว อัสซิมิ โกอิตา ประธานาธิบดีชั่วคราววัย 40 ปีของมาลี ยึดอำนาจโดยการทำรัฐประหาร อดีตเจ้าหน้าที่หน่วยรบพิเศษผู้นี้ไม่ค่อยเป็นที่คุ้นตาของประชาชน อาจเป็นไปได้ว่าเขาขี้อาย และไม่ได้พูดจาไพเราะเป็นพิเศษ เขาไม่ค่อยเดินทางออกนอกประเทศ เหตุผลหลักเพราะกลัวว่าจะถูกไล่ให้พ้นตำแหน่งเมื่อเขาไม่อยู่

แต่เมื่อสองเดือนที่แล้วเขาเดินทางเข้าร่วมการประชุมสุดยอด ‘รัสเซีย-แอฟริกา’ ที่เมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก โกอิตาแต่งกายในชุดพื้นเมือง จับมือกับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน นับตั้งแต่เขาก้าวขึ้นสู่อำนาจ การตัดสินใจทางการเมืองก็เริ่มเปลี่ยนไป ยามนี้มาลีต้องการคบหายักษ์ใหญ่อย่างรัสเซียเป็นพันธมิตรเท่านั้น นั่นเพราะรัสเซียอยู่เคียงข้างมาลีมาสามเดือนแล้ว ในขณะที่ชาติอื่นๆ เคยอยู่ในมาลีถึง 60 ปี

‘เยเรโวโล’ เป็นขบวนการเคลื่อนไหวที่ใหญ่ที่สุดของมาลี และเป็นพลเรือนที่สนับสนุนรัฐบาลทหาร สมาชิกส่วนใหญ่มองว่าตนเองมีความสัมพันธ์อันดีกับรัสเซียมายาวนาน นับตั้งแต่ยุคทศวรรษ 1960 ที่มาลีมีใจเอนเอียงไปหากลุ่มประเทศอีสต์บล็อก ชาติอื่นๆ ที่เข้าไปมีบทบาทในมาลีหนีไม่พ้นกองทัพตะวันตกของสหประชาชาติ โดยเฉพาะฝรั่งเศสที่เคยเป็นเจ้าอาณานิคมในมาลี แม้ว่าพวกเขาจะออกจากประเทศไปนานแล้วก็ตาม แต่ชาวมาลีส่วนใหญ่ยังจงเกลียดจงชังฝรั่งเศส และมักโยนความผิดให้ฝรั่งเศสที่ทำให้ทุกอย่างในประเทศของพวกเขาแย่ลง

แตกต่างจากรัสเซียที่ไม่เคยเป็นผู้ปกครองอาณานิคมในทวีปแอฟริกามาก่อน ชาวมาลีจึงรู้สึกได้ถึงความเท่าเทียมกันมากกว่า “ปูตินมีความสนใจ ปูตินไม่ได้สนับสนุนมาลีเพราะเป็นมาลี หรือเพราะสงสารมาลี” บัสซารู ซิลลา-นักเคลื่อนไหวของเยเรโวโลกล่าว “ไม่เลย ปูตินมีความสนใจอยู่แล้ว เราโตพอที่จะเข้าใจเรื่องนั้น แต่มาลีก็มีความสนใจร่วมกับปูตินเหมือนกัน เราต้องการอาวุธของรัสเซีย เราต้องการเทคโนโลยีใหม่ๆ ของพวกเขา เราซื้อมันจากพวกเขา แค่นั้นเอง เป็นเรื่องของภูมิรัฐศาสตร์โลก”

ความมั่นใจในตนเองของมาลีอยู่ในระดับสูง ความต้องการความช่วยเหลือก็เช่นกัน ประเทศในอนุภาคทะเลทรายซาฮาราแอฟริกาส่วนใหญ่โดดเดี่ยว พันธมิตรที่มีก็แค่ไนเจอร์ กินี และบูร์กินาฟาโซเท่านั้น ซึ่งล้วนแต่มีปัญหาด้านเศรษฐกิจเช่นเดียวกัน

รัสเซียไม่มีข้อเสนอด้านเศรษฐกิจ มีก็แต่ด้านการทหาร กองกำลังวากเนอร์เคยสร้างผลงานน่าประทับใจให้กับผู้นำเผด็จการหลายคนในทวีปแอฟริกา รวมทั้งมาลีด้วย ‘ฟามา’ กองทัพมาลีต้องการการสนับสนุนในการสู้รบกับกลุ่มอิสลามอัลกออิดะห์และอัลชาบับ ทางตอนเหนือและตะวันออกของประเทศ

กองกำลังของสหประชาชาติไม่ได้รับอนุญาตให้ปฏิบัติการ อีกทั้งไม่ใช่ภารกิจในข้อกำหนด และเมื่อพวกเขาไม่ได้รับอนุญาตให้ทำ ผู้ก่อการร้ายจึงถือโอกาสโจมตีแบบหนักข้อมากขึ้น นักสังเกตการณ์มีความกังวลว่ามาลีอาจต้องเจอกับปัญหาหนักยิ่งกว่านั้นอีก ยิ่งมาลีหันไปพึ่งพารัสเซียแต่เพียงฝ่ายเดียว ประเทศก็จะยิ่งโดดเดี่ยวมากขึ้น รวมถึงทำให้ความร่วมมือด้านการพัฒนาและการลงทุนยากขึ้นด้วย

ดูเหมือนว่ารัฐบาลชั่วคราวของอัสซิมิ โกอิตาต้องการที่จะอยู่ในอำนาจอย่างถาวรโดยไม่มีการเลือกตั้ง ซึ่งนั่นจะทำให้สถานการณ์ในอนุภาคทะเลทรายซาฮาราแอฟริกายากลำบากมากขึ้น.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'เอิ้ก ชาลิสา' เล่าวีรกรรมเฉียดโดนปล้นที่รัสเซีย

เมื่อพิธีกรสาวสุดแซ่บ "แก้มบุ๋ม ปรียาดา" ต้องมาร่วมปรุงเมนูสุดโปรด "ไก่โค๊ะ" ของยูทูปเบอร์ตัวแม่สายฮา ที่นาทีนี้คงไม่มีใครไม่รู้จักเธอคนนี้ "เอิ้ก ชาลิสา" หรือ "เอิ้ก หิ้วหวี" เจ้าของเพลงดังที่กำลังเป็นไวรัลไปทั่วทั้งประเทศ

‘นันทิวัฒน์’ สะกิดรัฐบาล เตรียมรับมือภาวะสงคราม หลังกลิ่นไอสู้รบยูเครนรุนแรง

กลิ่นไอการสู้รบในยูเครนเพิ่มความรุนแรง เมื่อมีข่าวลือว่าชาติพันธมิตรนาโตบางชาติ ได้ส่งทหารเข้าไปร่วมรบในยูเครน ปฏิกิริยาจากฝ่ายรัสเซียประกาศชัดเจน