นายกรัฐมนตรีอินเดียเยือนมอสโกอย่างเป็นทางการ เตรียมจัดการเจรจาความมั่นคงกับประธานาธิบดีรัสเซีย ท่ามกลางเสียงประณามทั่วโลกกรณีล่าสุดที่รัสเซียโจมตีโรงพยาบาลเด็กในยูเครน
ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย (ขวา) เดินเล่นระหว่างการประชุมอย่างไม่เป็นทางการกับนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ของอินเดีย ที่บ้านพักในโนโว-โอการีโว นอกกรุงมอสโก เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม (Photo by Sergei BOBYLYOV / POOL / AFP)
เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันอังคารที่ 9 กรกฎาคม 2567 กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ของอินเดียเดินทางเยือนกรุงมอสโกอย่างเป็นทางการ และได้เข้าพบปะหารือกับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย
การเดินทางของผู้นำอินเดียครั้งนี้เป็นการเยือนมอสโกครั้งแรกนับตั้งแต่รัสเซียรุกรานยูเครนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2565 โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อรักษาความสัมพันธ์อันยาวนานของรัฐบาลทั้งสองชาติ และสานต่อความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงในฐานะตัวแทนชาติตะวันตก
โมดีที่เพิ่งกลับมาสู่อำนาจเมื่อเดือนที่แล้วในฐานะผู้นำของประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก เหยียบผืนดินรัสเซียไม่นานหลังรัสเซียเปิดฉากโจมตีครั้งใหญ่ตามเมืองต่างๆ ทั่วยูเครนเมื่อวันจันทร์ ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตเกือบ 40 รายและสร้างความเสียหายอย่างหนักให้กับโรงพยาบาลเด็กในกรุงเคียฟ เรียกเสียงประณามจากชาติยุโรปและอเมริกาเหนือ
แม้รัสเซียจะเป็นผู้จัดหาน้ำมันและอาวุธรายใหญ่ให้แก่อินเดียมาตลอด แต่การที่รัฐบาลมอสโกถูกคว่ำบาตรจากชาติตะวันตกและหันเหความสัมพันธ์ไปแน่นแฟ้นกับรัฐบาลปักกิ่งมากขึ้น ได้ส่งผลกระทบต่อความร่วมมือกับนิวเดลี
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มหาอำนาจตะวันตกได้พยายามหยั่งรากความสัมพันธ์กับอินเดียอย่างมั่นคงมากขึ้น เพื่อเป็นการป้องกันอิทธิพลจีนที่เพิ่มมากขึ้นทั่วเอเชียแปซิฟิก ขณะเดียวกันก็กดดันทางอ้อมให้รัฐบาลนิวเดลีออกห่างจากรัสเซีย
เมื่อต้นสัปดาห์ สหรัฐฯ เรียกร้องให้ผู้นำอินเดียชี้แจงอย่างชัดเจนในการเจรจาของเขากับปูตินว่า "การแก้ปัญหาความขัดแย้งในยูเครนจะต้องเป็นไปตามแนวทางของการเคารพกฎบัตรสหประชาชาติในส่วนที่เกี่ยวกับบูรณภาพแห่งดินแดนของยูเครน"
โมดีเยือนรัสเซียครั้งล่าสุดในปี 2562 และต้อนรับปูตินในเมืองหลวงของอินเดียในอีกสองปีต่อมา ก่อนที่รัสเซียจะเริ่มโจมตียูเครนไม่กี่สัปดาห์หลังจากนั้น
อินเดียวางเฉยจากการประณามรัสเซียอย่างจริงจังนับตั้งแต่นั้นมา และงดเว้นการลงมติใดๆขององค์การสหประชาชาติที่มุ่งเป้าไปยังรัฐบาลมอสโก
อย่างไรก็ตาม การต่อสู้ระหว่างรัสเซียกับยูเครนก็สร้างความเสียหายให้กับอินเดียเช่นกัน
รัฐบาลนิวเดลีระบุเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาว่า กำลังกดดันให้รัฐบาลมอสโกส่งพลเมืองของตนกลับ หลังจากเข้าร่วมงานสนับสนุนกับกองทัพรัสเซียและมีรายงานว่าหลายคนเสียชีวิตเพราะถูกบังคับให้สู้รบในยูเครน
ขณะที่การหันเหความสัมพันธ์ไปจับมือกับจีนแน่นขึ้น ก็ทำให้เกิดความสั่นคลอนระหว่างรัสเซียและอินเดียเช่นเดียวกัน
โดยจีนและอินเดียกำลังแข่งขันกันอย่างดุเดือดในการช่วงชิงอิทธิพลทางยุทธศาสตร์ทั่วเอเชียใต้
อินเดียถึงขั้นเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มควอด (Quad) ซึ่งเป็นพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ ร่วมกับสหรัฐอเมริกา, ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น โดยกลุ่มนี้วางยุทธศาสตร์ในการต่อต้านการขยายอิทธิพลที่เพิ่มมากขึ้นของจีนในทวีปเอเชีย
ทั้งนี้ อินเดียและรัสเซียมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันมาตั้งแต่ยุคสงครามเย็น ซึ่งทำให้รัฐบาลมอสโกกลายเป็นผู้จัดหาอาวุธหลักของประเทศมหาอำนาจเอเชียใต้
แต่การรบกับยูเครนทำให้รัสเซียส่งออกอาวุธน้อยลง จนผลักดันให้อินเดียมองหาแหล่งอาวุธรายใหม่และเร่งสร้างอุตสาหกรรมการป้องกันประเทศของตนเอง
ในเวลาเดียวกัน อินเดียก็เป็นผู้ซื้อน้ำมันดิบรายใหญ่ของรัสเซีย และเป็นตลาดส่งออกที่มีความสำคัญมากหลังจากที่ผู้ซื้อเดิมในยุโรปคว่ำบาตรการนำเข้า
รูปแบบความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจใหม่จึงเกิดขึ้น โดยที่อินเดียประหยัดเงินได้หลายพันล้านดอลลาร์จากการซื้อน้ำมันราคาพิเศษ ขณะเดียวกันรัสเซียก็ได้เงินมาเติมคลังสงครามของตนเอง
ข้อมูลการติดตามสินค้าโภคภัณฑ์ที่รวบรวมโดยศูนย์วิจัยพลังงานและอากาศบริสุทธิ์รายงานว่า การนำเข้าน้ำมันดิบรัสเซียแบบเดือนต่อเดือนของอินเดียเพิ่มขึ้นร้อยละ 8 ในเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2566 แต่เรื่องดังกล่าวก็ส่งผลให้การขาดดุลการค้าของอินเดียต่อรัสเซียเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 57,000 ล้านดอลลาร์ในปีงบประมาณที่ผ่านมา
ภายหลังสิ้นสุดภารกิจในรัสเซีย โมดีจะเดินทางต่อไปยังกรุงเวียนนาของออสเตรีย ซึ่งจะถือเป็นการเยือนครั้งแรกของผู้นำจากอินเดียในรอบ 41 ปี.