รัฐมนตรีต่างประเทศจีนเยือนทำเนียบขาว หารือความมั่นคง

รัฐมนตรีต่างประเทศจีนเดินทางเยือนทำเนียบขาว เพื่อหารือกับหัวหน้าฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติของโจ ไบเดน และอาจรวมถึงตัวประธานาธิบดีสหรัฐฯ เอง ท่ามกลางการเตรียมการสำหรับกำหนดเยือนของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง

แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ (ขวา) จับมือกับหวัง อี้ รัฐมนตรีต่างประเทศจีน ก่อนการประชุมที่กระทรวงการต่างประเทศในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม (Photo by SAUL LOEB / AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันศุกร์ที่ 27 ตุลาคม 2566 กล่าวว่า หวัง อี้ รัฐมนตรีต่างประเทศของจีน เดินทางเยือนสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นทางการ โดยมีแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐฯ ให้การต้อนรับ

หวัง อี้ ได้ร่วมหารือกับบลิงเคนในวอชิงตัน และกล่าวว่าเขาต้องการ "รักษาความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับจีนให้มั่นคง" และ "ลดความเข้าใจผิดของทั้งสองฝ่าย" หลังจากตึงเครียดมานานหลายปี

แม้ยอมรับว่า อาจจะยังมีความแตกต่างเกิดขึ้นบ้าง แต่หวัง อี้กล่าวว่า จีนจะตอบโต้อย่างใจเย็น เพราะเล็งเห็นว่าสิ่งที่ถูกและสิ่งที่ผิดไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าใครแข็งแกร่งกว่าหรือเสียงดังกว่ากัน

หลังจากนี้ หวัง อี้ มีกำหนดหารือกับเจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของประธานาธิบดีโจ ไบเดน 

ก่อนหน้านี้ทั้งคู่เคยพบกันที่เวียนนาในเดือนพฤษภาคมและมอลตาในเดือนกันยายน หลังสองชาติเห็นพ้องรักษาช่องทางการติดต่อสื่อสารระหว่างกัน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามอย่างต่อเนื่องระหว่างสองมหาอำนาจในการจัดการความสัมพันธ์อย่างมีความรับผิดชอบ เพื่อลดกระแสขัดแย้งในช่วงหลังทั้งประเด็นการเมืองโลกและการค้าระหว่างประเทศ

เจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวไม่ยืนยันกระแสข่าวที่ว่า หวัง อี้อาจได้พบกับประธานาธิบดีโจ ไบเดน แต่คาดว่าจะมีความเป็นได้สูง เนื่องจากประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีนเองก็เคยให้รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ได้เข้าพบในกรุงปักกิ่งเมื่อเดือนมิถุนายน

ก่อนหน้านี้ไม่นาน ไบเดนได้เชิญสี จิ้นผิงให้มาเยือนซานฟรานซิสโกในเดือนหน้า เพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปก) และคาดว่าการมาของหวัง อี้ จะเป็นการเตรียมการปูทางให้การเยือนดังกล่าวเกิดขึ้นโดยไม่มีปัญหา

ทั้งนี้ ประธานาธิบดีจีนและสหรัฐฯ ไม่มีการติดต่อใดๆ เลย นับตั้งแต่การประชุมที่บาหลีเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว

ความสัมพันธ์ตึงเครียดมานานหลายปีระหว่างสองประเทศเศรษฐกิจชั้นนำของโลกเริ่มคุกรุ่นมากขึ้นในช่วงหลัง โดยทั้งสองมหาอำนาจต่างพยายามแย่งชิงอิทธิพลในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและที่อื่นๆ และรัฐบาลปักกิ่งหันไปเน้นส่งเสริมความร่วมมือกับรัสเซียซึ่งเป็นไม้เบื่อไม้เมาของรัฐบาลวอชิงตัน

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นเรื้อรังเกี่ยวกับไต้หวันที่สหรัฐอเมริกาให้การยอมรับในทางปฎิบัติ จนจีนไม่พอใจและตอบโต้ด้วยการซ้อมรบครั้งใหญ่เพื่อตอบสนองต่อการกระทำของฝ่ายนิติบัญญัติสหรัฐฯในช่วงปีที่ผ่านมา

ล่าสุด สหรัฐอเมริกาและจีนมีจุดยืนต่างกันเรื่องความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ซึ่งรัฐบาลวอชิงตันเป็นพันธมิตรที่สำคัญที่สุดของอิสราเอล.

เพิ่มเพื่อน