เกาหลีใต้-สหรัฐฯ ปรับปรุงข้อตกลงป้องปรามเพื่อตอบโต้เกาหลีเหนือ

ผู้นำกลาโหมของสหรัฐฯ และเกาหลีใต้ได้ปรับปรุงข้อตกลงทางทหารที่สำคัญต่อกรณีเกาหลีเหนือเป็นครั้งแรกในรอบทศวรรษ ขณะที่พวกเขายกย่องความเป็นพันธมิตรที่ "แข็งแกร่งกว่าที่เคย"

ลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ (ซ้าย) จับมือกับชิน วอนซิก รัฐมนตรีกลาโหมเกาหลีใต้ ก่อนการประชุมความมั่นคงประจำปีที่กระทรวงกลาโหมในกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน (Photo by Handout / South Korean Defence Ministry / AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันจันทร์ที่ 13 พฤศจิกายน 2566 กล่าวว่า ลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ เดินทางเยือนกรุงโซลเพื่อเข้าร่วมการประชุมด้านความมั่นคงประจำปีกับชิน วอนซิก รัฐมนตรีกลาโหมเกาหลีใต้ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อเพิ่มข้อตกลงด้านพันธมิตรทหารในการรับมือภัยคุกคามที่เพิ่มขึ้นจากขีปนาวุธและนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ

ในการประชุมที่ปรึกษาด้านความมั่นคง ทั้งสองฝ่ายได้แก้ไขยุทธศาสตร์การป้องปรามที่ปรับให้เหมาะสม (Tailored Deterrence Strategy - TDS) ซึ่งเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับยุทธศาสตร์การป้องปรามร่วมกันเพื่อตอบโต้อาวุธนิวเคลียร์และอาวุธอื่นๆ ของเกาหลีเหนือ

การแก้ไขดังกล่าวหมายความว่า ข้อตกลงจะทำให้พันธมิตรสามารถขัดขวางและตอบสนองต่อความก้าวหน้าทางนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ ตลอดจนขีดความสามารถด้านการพัฒนาอาวุธอื่นๆที่ไม่ใช่นิวเคลียร์ พร้อมผลกระทบเชิงกลยุทธ์ ตามการระบุของแถลงการณ์ร่วม

สำนักข่าวยอนฮัปของเกาหลีใต้ระบุว่า พันธมิตรทั้งสองนำยุทธศาสตร์ดังกล่าวมาใช้ครั้งแรกเมื่อปี 2556 และกำลังดำเนินการปรับปรุงเอกสารให้สะท้อนถึงภัยคุกคามทางนิวเคลียร์และขีปนาวุธที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็วของรัฐบาลเปียงยาง

ในปีนี้ รัฐบาลโซลและวอชิงตันได้จัดการฝึกซ้อมทางทหารร่วมกับเครื่องบินล่องหนขั้นสูงและทรัพย์สินทางยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ เช่นเดียวกับการส่งเรือดำน้ำติดอาวุธนิวเคลียร์มาเทียบท่าเรือของเกาหลีใต้เป็นครั้งแรกในรอบหลายทศวรรษ และประจำการเครื่องบินทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ B-52 ที่สนามบินชองจู ห่างจากกรุงโซลไปทางใต้ประมาณ 100 กิโลเมตร เป็นครั้งแรกในศตวรรษนี้

"ผมภูมิใจที่จะกล่าวว่าพันธมิตรของเราแข็งแกร่งกว่าที่เคย" ลอยด์ ออสตินกล่าวในการแถลงข่าวร่วมกับชิน วอนซิก ซึ่งรัฐมนตรีกลาโหมเกาหลีใต้กล่าวเสริมว่า "แม้จะมีความขัดแย้งมากมายทั่วโลก แต่เรายังคงรักษาความเป็นพันธมิตรที่ทรงพลังที่สุดในประวัติศาสตร์"

"หากเกาหลีเหนือกระตุ้นให้เกิดสงคราม สิ่งที่จะถูกกำจัดคือระบอบการปกครองของคิม จองอึน และสิ่งที่จะเกิดขึ้นได้สำเร็จคือการรวมชาติตามระบอบประชาธิปไตยเสรีนิยมที่นำโดยสาธารณรัฐเกาหลี" ชิน วอนซิกกล่าว

ตามคำแถลงร่วม เจ้าหน้าที่ระดับสูงเห็นพ้องที่จะทำงานอย่างใกล้ชิดเพื่อขยายขนาดและประเภทของการฝึกซ้อมภาคสนาม ให้สอดคล้องกับการฝึกอบรมแบบผสมผสานในปีหน้า.

เพิ่มเพื่อน