สหรัฐ-เม็กซิโกจับมือแก้ปัญหาเฟนทานิลและวิกฤตผู้อพยพ

ผู้นำสหรัฐฯและผู้นำเม็กซิโกให้คำมั่นว่าจะทำงานร่วมกันเพื่อรับมือกับวิกฤติเฟนทานิลและการย้ายถิ่นฐานของผู้อพยพบริเวณชายแดน ในการประชุมนอกรอบหลังสิ้นสุดการประชุมเอเปกที่ซานฟรานซิสโก

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของ สหรัฐฯ (ขวา) และประธานาธิบดีอันเดรส มานูเอล โลเปซ โอบราดอร์ ของเม็กซิโก นั่งอย่างสบายๆระหว่างการประชุมทวิภาคีในวันสุดท้ายของสัปดาห์ผู้นำความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปก) ที่เมืองซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน (Photo by Brendan SMIALOWSKI / AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันเสาร์ที่ 18 พฤศจิกายน 2566 กล่าวว่า ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ และประธานาธิบดีอันเดรส มานูเอล โลเปซ โอบราดอร์ ของเม็กซิโก ได้หารือร่วมกันหลังเสร็จสิ้นการประชุมสุดยอดเอเชีย-แปซิฟิก หรือเอเปก และต่างให้คำมั่นว่าจะทำงานร่วมกันเพื่อรับมือกับวิกฤติเฟนทานิลและการย้ายถิ่นฐานของผู้อพยพบริเวณชายแดนซึ่งเป็นปัญหาเรื้อรังมานาน

ผู้นำสหรัฐฯกล่าวในการหารือว่า ปัญหาการอพยพย้ายถิ่นฐานตามแนวชายแดนสหรัฐฯ-เม็กซิโกนั้นไม่สามารถแก้ไขได้โดยง่าย และประเด็นดังกล่าวอาจเป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับพรรคเดโมแครตและตัวเขาเองในความพยายามก้าวสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่ 2 ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ปี 2567 ที่ฝ่ายตรงข้ามอย่างพรรครีพับลิกันซึ่งนำโดย โดนัลด์ ทรัมป์ นักประชานิยมหัวรุนแรง มีแนวทางชัดเจนในนโยบายชายแดนที่เข้มงวด

ขณะที่ผู้นำเม็กซิโกให้คำมั่นว่าจะจัดการกับการค้ามนุษย์และการผลิตฝิ่นสังเคราะห์ หรือเฟนทานิล ซึ่งเป็นสาเหตุให้มีผู้เสียชีวิตหลายหมื่นคนในสหรัฐฯ ด้วยตระหนักดีถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นกับเยาวชนอเมริกัน อีกทั้งยังเชื่อมั่นในตัวโจ ไบเดนว่าเป็นคนดีมีความสามารถ

ทั้งนี้ รัฐบาลวอชิงตันกล่าวหาว่าสารเคมีตั้งต้นของเฟนทานิลนั้นผลิตโดยกลุ่มค้ายาชาวเม็กซิโก แต่ฝ่ายบริหารของโลเปซ โอบราดอร์เคยกล่าวไว้ก่อนหน้านี้ว่าส่วนผสมดังกล่าวมาจากเอเชีย

การประชุมเอเปกครั้งล่าสุดปิดฉากลงเมื่อวันศุกร์ด้วยแถลงการณ์ร่วมในคำมั่นสัญญาที่จะส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนและปรับปรุงการค้า แต่ไม่มีข้อตกลงในประเด็นสำคัญสองประเด็นที่ปั่นป่วนการเมืองโลก ได้แก่ สงครามของอิสราเอลในฉนวนกาซา และการรุกรานยูเครนของรัสเซีย

แถลงการณ์ของกลุ่มประเทศที่มาประชุม รวมถึงรัสเซีย เป็นเพียงแค่การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับวิกฤตที่กำลังดำเนินอยู่ในฉนวนกาซา และบรรดาชาติสมาชิกส่วนใหญ่ล้วนประณามการโจมตีในยูเครนของรัสเซียมาก่อนหน้านี้อยู่แล้ว นอกจากนี้ยังมีรายงานว่าผู้นำบางคนเชื่อว่าเอเปกเป็นเวทีที่ควรสงวนไว้สำหรับหารือเกี่ยวกับประเด็นทางเศรษฐกิจ ไม่ใช่ภูมิศาสตร์การเมือง โดยเจ้าภาพครั้งต่อไปได้แก่ประเทศเปรู.

เพิ่มเพื่อน