เมียนมาจำคุก 'อองซาน ซูจี' เพิ่มอีก 4 ปี คดีวิทยุสื่อสาร

ศาลเมียนมามีคำพิพากษาเมื่อวันจันทร์ว่า นางอองซาน ซูจี มีความผิดอาญาอีก 3 ข้อหา ที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าและครอบครองวิทยุสื่อสารอย่างผิดกฎหมายและฝ่าฝืนกฎควบคุมโควิด-19 และตัดสินลงโทษจำคุกนางเพิ่มอีก 4 ปี

แฟ้มภาพ นางอองซาน ซูจี เมื่อวันที่ 2 เม.ย. 2555 (AFP)

เอเอฟพีและรอยเตอร์รายงานอ้างแหล่งข่าวที่รับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับการพิจารณาคดีนี้เมื่อวันจันทร์ที่ 10 มกราคม 2565 ว่าศาลพิเศษของรัฐบาลทหารเมียนมาในกรุงเนปยีดอมีคำพิพากษาคดีของนางอองซาน ซูจี ในวันเดียวกัน โดยตัดสินว่า อดีตผู้นำรัฐบาลพลเรือนวัย 76 ปีผู้นี้มีความผิด 2 ข้อหา ตามกฎหมายส่งออกและนำเข้า และตัดสินจำคุกนาง 2 ปีฐานนำเข้าและครอบครองวิทยุสื่อสารโดยไม่ได้รับอนุญาต กับอีก 1 ปีฐานครอบครองอุปกรณ์รบกวนสัญญาณ ทั้งสองข้อหารับโทษจำคุกพร้อมกัน

นางซูจีถูกควบคุมตัวมาตั้งแต่ทหารก่อรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 เอกสารของตำรวจเผยว่า การตรวจค้นบ้านของนางที่กรุงเนปยีดอ พบวิทยุสื่อสารที่นำเข้าอย่างผิดกฎหมาย 6 เครื่อง

ในคำพิพากษาเมื่อวันจันทร์ นางซูจียังมีความผิดตามกฎหมายจัดการภัยพิบัติ จากการฝ่าฝืนกฎระเบียบควบคุมไวรัสโคโรนา และถูกตัดสินจำคุก 2 ปี รวมโทษจำคุกทั้งหมดเป็น 4 ปี

คำพิพากษาล่าสุดเพิ่มเติมจากคำพิพากษาเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม ที่นางถูกตัดสินจำคุก 4 ปีในความผิดฐานยุยงปลุกปั่นและฝ่าฝืนกฎควบคุมไวรัสโควิด-19 ระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งปี 2563 แต่ต่อมาพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย อภัยโทษให้นางเหลือโทษจำคุก 2 ปี โดยให้รับโทษด้วยการกักบริเวณที่บ้านในกรุงเนปยีดอ

การพิจารณาคดีของนางซูจีไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนเข้ารับฟัง และทนายความของนางถูกห้ามให้ข่าวหรือเปิดเผยต่อสาธารณะ แต่เอเอฟพีกล่าวว่า พลตรีซอ มิน ตุน โฆษกรัฐบาลทหารยืนยันว่า ศาลมีคำพิพากษาและตัดสินลงโทษจำคุกนางซูจีเมื่อวันจันทร์ และนางจะยังคงถูกกักบริเวณที่บ้านต่อไประหว่างรอการพิจารณาคดีที่เหลือ

นางซูจียังเผชิญข้อกล่าวหาอื่นๆ อีกกว่า 10 คดี รวมถึงข้อหาเกี่ยวกับการคอร์รัปชันหลายข้อหา ซึ่งแต่ละข้อหามีโทษจำคุก 15 ปี และข้อหาละเมิดกฎหมายความลับทางราชการ โทษจำคุกสูงสุดรวมทั้งหมดมากกว่า 100 ปี นางซูจีปฏิเสธทุกข้อหา

เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่ผ่านมา นางซูจีพร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลชุดที่แล้วอีก 15 คน รวมถึงประธานาธิบดีวิน มยิน ถูกตั้งข้อหาเพิ่มเติมเกี่ยวกับการทุจริตเลือกตั้งในการเลือกตั้งทั่วไปปี 2563 ซึ่งพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) ของนางซูจี ชนะอย่างถล่มทลาย แต่กองทัพกล่าวหาว่ามีการทุจริตและใช้เป็นข้ออ้างในการก่อรัฐประหาร

คำพิพากษาจำคุกนางซูจีเมื่อเดือนธันวาคมเรียกเสียงประณามจากนานาชาติ ภายในเมียนมา ประชาชนแสดงออกถึงความโกรธด้วยกลยุทธ์แบบเก่าคือการตีหม้อตีกระทะ

ก่อนหน้าคำตัดสินเมื่อวันจันทร์ แมนนี หม่อง นักวิจัยของฮิวแมนไรต์วอตช์ กล่าวว่า คำพิพากษาโทษนางซูจีเพิ่มเติมจะยิ่งทำให้ความไม่พอใจทั่วเมียนมาทวีขึ้น คำตัดสินลงโทษนางซูจีในครั้งที่แล้วเคยก่อปฏิกิริยาในโซเชียลมีเดียจากเมียนมาคึกคักที่สุดวันหนึ่ง

"ทหารคำนวณว่าคดีนี้เป็นกลยุทธ์สร้างหวาดกลัว แต่มันมีแต่จะทำให้ประชาชนโกรธแค้นมากขึ้น" เธอกล่าวกับเอเอฟพี.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'สมช.' แจงไทยมี 3 จุดยืนในสถานการณ์เมียนมา

'สมช.' เข้าแจง 'กมธ.มั่นคงฯ' เพื่อรายงานการรับมือผลกระทบจากสถานการณ์สู้รบในเมียนมา ย้ำ 3 จุดยืน รักษาอธิปไตยไทย-ไม่ยินยอมให้ใช้ดินแดน-ดูแลผู้หนีภัยตามหลักมนุษยธรรมสากล

'ทบ.' เปิดแผนรับมือ สถานการณ์สู้รบชายแดนไทย-เมียนมา

รายงานข่าวจากศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบก เปิดเผยแนวทางการปฏิบัติในการรองรับสถานการณ์ความไม่สงบด้านเมียนมา กรณีการปะทะระหว่างทหารเมียนมากับกองกำลังชนกลุ่มน้อย

เตือนแรงงาน 3 สัญชาติ MOU ครบ 4 ปี ต้องเดินทางกลับปท. ภายใน 30 เม.ย. นี้

‘คารม’ เตือนแรงงาน MOU ครบ 4 ปี ต้องเดินทางกลับประเทศต้นทางภายใน 30 เม.ย นี้ แนะนายจ้าง/ผู้ประกอบการยื่นคำร้อง นจ. 2 ล่วงหน้า หากประสงค์จะนำแรงงานกลับเข้ามาทำงานอีกครั้ง

‘เศรษฐา’ ลงพื้นที่ชายแดนแม่สอด 23 เม.ย. เกาะติดสถานการณ์สู้รบในเมียนมา

‘สุทิน’ เผยสถานการณ์สู้รบเมียนมาเข้มข้นขึ้น คนหนีภัยมาไทย ยอมรับกระทบเราแต่ไม่มีอะไรน่าวิตก ขอสบายใจกองทัพปกป้องอธิไตย-ดูแลประชาชนเต็มที่

'เศรษฐา' เตรียมบินไปแม่สอด 23 เม.ย. หลังปะทะเดือดใกล้ชายแดนเมียนมา

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ทวิตข้อความผ่าน x ว่า “จากสถานการณ์การปะทะกันบริเวณสะพานมิตรภาพ 2 ฝั่งเมียนมา

นายกฯเศรษฐา กังวลสถานการณ์สู้รบในเมียนมา

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ใช้เวลาช่วงวันหยุดติดตามงาน รวมถึงสถานการณ์สู้รบบริเวณชายแดนไทย-เมียนมา พร้อมทวิตข้อความผ่าน x ว่า “ผมติดตาม