นายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่นประกาศยุบสภาอย่างเป็นทางการ ก่อนการเลือกตั้งทั่วไปที่กำหนดไว้ในวันที่ 27 ตุลาคม โดยหวังนำพรรคเสรีประชาธิปไตยกลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้งด้วยเสถียรภาพที่ปราศจากมลทิน
สมาชิกรัฐสภาเข้าร่วมการประชุมที่สภาผู้แทนราษฎรในกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม ก่อนนายกรัฐมนตรีชิเงรุ อิชิบะประกาศยุบสภาอย่างเป็นทางการ เพื่อมุ่งหน้าสู่การเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 27 ตุลาคม (Photo by Yuichi YAMAZAKI / AFP)
เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันพุธที่ 9 ตุลาคม 2567 กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีชิเงรุ อิชิบะ ของญี่ปุ่นประกาศยุบสภา เพื่อให้ทั้งฝ่ายการเมืองและภาคประชาชนมุ่งหน้าสู่การเลือกตั้งทั่วไปที่กำหนดไว้ในวันที่ 27 ตุลาคม
ในการประชุมรัฐสภา ประธานรัฐสภาได้อ่านจดหมายของนายกรัฐมนตรีที่ประทับตราของจักรพรรดิญี่ปุ่นว่าด้วยการยุบสภาอย่างเป็นทางการ หลังจากนั้นสมาชิกรัฐสภาได้ร้องขานตามธรรมเนียมในสภาว่า "บันไซ"
พรรคเสรีประชาธิปไตย (แอลดีพี) ของอิชิบะปกครองญี่ปุ่นอย่างต่อเนื่องมานานหลายทศวรรษ แม้จะมีการเปลี่ยนผู้นำบ่อยครั้ง แต่ก็การันตีชัยชนะจากการเลือกตั้งแทบทุกครั้ง
อย่างไรก็ตาม อิชิบะซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ต้องการเสริมสร้างภารกิจในการผลักดันนโยบายที่รวมถึงการเพิ่มการใช้จ่ายด้านกลาโหม และฟื้นฟูภูมิภาคยากจนที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากวิกฤตประชากรของญี่ปุ่น
"เราต้องการเผชิญกับการเลือกตั้งครั้งนี้อย่างยุติธรรมและจริงใจ เพื่อให้รัฐบาลชุดใหม่ได้รับความไว้วางใจจากประชาชน" อิชิบะกล่าวกับผู้สื่อข่าวเมื่อวันพุธ
รัฐบาล 3 ปีของฟูมิโอะ คิชิดะ อดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นมีคะแนนนิยมต่ำเป็นประวัติการณ์เนื่องมาจากเรื่องอื้อฉาวกองทุนนอกระบบและความไม่พอใจของผู้มีสิทธิเลือกตั้งต่อค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้น
การสำรวจความคิดเห็นเมื่อสัปดาห์ที่แล้วพบว่า คะแนนนิยมของคณะรัฐมนตรีในรัฐบาลอิชิบะอยู่ที่ 45-50% ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับ 20-30% ในเดือนสุดท้ายของรัฐบาลคิชิดะ
ผู้สนับสนุนพรรคฯต่างคาดหวังว่าชิเงรุ อิชิบะ ผู้ที่ยอมรับว่าเป็น "คนบ้าเทคโนโลยี" ด้านการป้องกันประเทศรายนี้จะช่วยเพิ่มความนิยมให้กับพรรคฯได้ รวมถึงการโน้มน้าวให้คนรุ่นใหม่ออกมาลงคะแนนเสียงด้วย
ยู อุจิยามะ ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยโตเกียวกล่าวว่า การยุบสภาถือเป็นการทดสอบความนิยมต่อพรรคของอิชิบะ ก่อนที่ช่วง "ฮันนีมูน" ทางการเมืองจะสิ้นสุดลง
"มันสมเหตุสมผลที่เขาต้องการประกาศให้มีการเลือกตั้งกะทันหันทันทีที่ 'หน้าตา' ของพรรคเปลี่ยนไป ในขณะที่โมเมนตัมยังคงอยู่" อุจิยามะกล่าวกับเอเอฟพี
เขากล่าวเสริมว่า อิชิบะอาจวางกับดักให้ฝ่ายค้านตั้งตัวไม่ทันและเสียกระบวนในการหาเสียงเลือกตั้ง ซึ่งจะยิ่งทำให้พรรคฯของเขาได้เปรียบ
แต่การตัดสินใจของนายกรัฐมนตรีที่ประกาศให้มีการเลือกตั้งกะทันหันก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าขัดแย้งกับคำมั่นสัญญาของเขาก่อนหน้านี้ที่จะให้ความสำคัญกับฝ่ายค้านซึ่งเป็นเสียงข้างน้อยในรัฐสภา
"ผู้มีสิทธิเลือกตั้งบางคนมองว่าเป็นสัญญาณอันน่าผิดหวังที่อิชิบะยอมจำนนต่อแรงกดดันภายในพรรคฯและเลือกยุบสภาเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง" อุจิยามะกล่าว
เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา อิชิบะประกาศว่าพรรคเสรีประชาธิปไตยจะไม่รับรองสมาชิกพรรคที่มีชื่อเสียงด้านลบและพัวพันกับเรื่องอื้อฉาวทางการเมือง ในการเลือกตั้งครั้งนี้
"การประกาศดังกล่าวสะท้อนถึงความปรารถนาของเขาที่จะแสดงให้สาธารณชนเห็นว่าเขาขึงขังกับปัญหาในอดีต และมีแนวโน้มที่จะได้รับความไว้วางใจจากสาธารณชนกลับมาบ้าง" อุจิยามะกล่าว
เพื่อต่อต้านอิทธิพลจีน อิชิบะสนับสนุนการจัดตั้งพันธมิตรทางทหารในภูมิภาคตามแนวทางของนาโต แม้ว่าเขาจะยอมรับเมื่อวันจันทร์ว่าสิ่งดังกล่าวอาจไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในชั่วข้ามคืน
นักวิเคราะห์จากมหาวิทยาลัยโตเกียวกล่าวกับเอเอฟพีว่า แนวคิดนี้ฟังดูเหมือน "ระเบิดจากอดีต" เมื่อหวนนึกถึง SEATO (องค์การสนธิสัญญาป้องกันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ - ซีโต) ซึ่งปัจจุบันยุบไปแล้ว
อิชิบะกล่าวว่าสภาพแวดล้อมด้านความมั่นคงในเอเชียนั้นเลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง และเตือนในการกล่าวแถลงนโยบายครั้งแรกเมื่อสัปดาห์ก่อนว่า "ยูเครนในวันนี้อาจกลายเป็นเอเชียตะวันออกในวันพรุ่งนี้"
ปัจจุบันญี่ปุ่นกำลังเผชิญกับวิกฤตประชากร เนื่องจากมีสังคมสูงอายุมากขึ้นและอัตราการเกิดยังคงต่ำอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอิชิบะกล่าวว่าสถานการณ์ดังกล่าวเป็นดั่ง "ภัยเงียบในสถานการณ์ฉุกเฉิน"
อิชิบะกล่าวว่ารัฐบาลของเขาจะส่งเสริมมาตรการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือการสร้างครอบครัว เช่น การกำหนดชั่วโมงการทำงานที่ยืดหยุ่น และยังให้คำมั่นว่าจะทำให้เศรษฐกิจของญี่ปุ่นฟื้นตัวจากภาวะเงินฝืด รวมทั้งเพิ่มรายได้ผ่านมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่, การสนับสนุนรัฐบาลท้องถิ่น และช่วยเหลือครัวเรือนที่มีรายได้น้อย.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'คารม' สวน 'หมอเชิดชัย' เป็นแค่ผู้เล่นฟุตบอล อย่าคิดแทนเจ้าของทีม
นายคารม พลพรกลาง “รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และในฐานะสมาชิกพรรคภูมิใจไทย กล่าวถึงกรณีที่นายแพทย์เชิดชัย ตันติศิริน
'อนุทิน' เมิน 'หมอเชิดชัย' เสนอยุบสภา
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ให้สัมภาษณ์กรณีน.พ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์
'ภูมิธรรม' ให้ท้าย 'หมอเชิดชัย' อ้าง พท.-ภท. ยังแน่นปึ้ก
'ภูมิธรรม' ชี้ 'หมอเชิดชัย' ขู่ภูมิใจไทย ไม่กระทบสัมพันธ์พรรคร่วม อ้างแค่ความเห็น สส. แต่อำนาจยุบสภาอยู่ที่นายกฯ
'ดร.ณัฏฐ์' นักกฎหมายมหาชน ฟันธงตัวแปรรัฐบาลชิงยุบสภา ยังไม่เกิด
ดร.ณัฐวุฒิ วงศ์เนียม หรือ “ดร.ณัฏฐ์” นักกฎหมายมหาชน กล่าวถึงกระแสข่าวฐบาลมีโอกาสชิงยุบสภา จะเกิดขึ้นก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย