จากสุวรรณภูมิ.. สู่แคว้นคันธาระ (ปากีสถาน).... (ตอนที่ ๓)

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. การเดินทางไปทัศนศึกษาที่ Sirkap .. เมืองโบราณใน ๓ แห่งที่ถูกขุดค้นพบโดย Sir John Marshall นักโบราณคดีชาวอังกฤษที่ได้ทำการขุดค้นเมืองตักศิลา (Taxila) ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๕๖ – ๒๔๗๗ .. จึงนับว่ามีคุณค่าเป็นอย่างยิ่งต่อการเห็นภาพรวมของการส่งสืบต่อแหล่งอารยธรรม โดยเฉพาะทางพระพุทธศาสนาในพื้นที่นครตักศิลา ก่อนจะถูกทำลายอย่างย่อยยับในพุทธศตวรรษที่ ๑๑ (ราวคริสต์ศตวรรษที่ ๕)

ในเช้าวันอาทิตย์ที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๖๕ อาตมาจึงได้เดินสำรวจพื้นที่ซากเมืองโบราณ Sirkap พร้อมเจ้าหน้าที่ของกองโบราณคดีตักศิลา เพื่อทัศนะผังเมืองที่ยังปรากฏอยู่ทางโบราณคดี ที่แสดงให้เห็นความเป็นเมืองหลวงโบราณหมายเลข ๒ ใน หุบเขาตักศิลา แห่งนครตักศิลา ที่สร้างต่อเติมขึ้นโดยทหารชาวแบคเตรียกรีกของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช เมื่อ ๑๙๐ ปีก่อนคริสตกาล จนเมืองดังกล่าวได้รับฉายาว่า Acropolis of Taxila ด้วยผังเมืองที่ลอกเลียนแบบกันมาจากเมืองกรีก.. ที่มีลักษณะเป็นผังเมืองสี่เหลี่ยม มีถนนผ่ากลางจากเหนือสู่ใต้ โดยมีบ้านเรือน ร้านค้า ชุมชน.. สถานที่ทางศาสนา.. และพื้นที่สวนสาธารณะ วางเรียงรายอยู่สองฟากฝั่งอย่างมีระเบียบ กำแพงก่อด้วยหินสูงใหญ่

เมื่อเดินผ่านย่านชุมชนตรงไปทางเหนือ จะเข้าสู่เขตพระราชวังของกษัตริย์ผู้ปกครองที่มีที่ตั้งอยู่บนเนินขนาดย่อม ลักษณะปราสาทราชวังวางอยู่บนเนินสวยงาม สามารถมองสอดส่องลงมายังตัวเมือง Sirkap ได้อย่างทั่วถึง... นามว่า พระเจ้ากุนาละ .. อุปราชแห่งแคว้นมคธ.. ซึ่งเป็นพระราชโอรสของพระเจ้าอโศกมหาราช เคยประทับอยู่ที่นครตักศิลา.. ณ เมือง Sirkap แห่งนี้.. นักโบราณคดีจึงพากันเรียกเนินพระราชวังโบราณดังกล่าวว่า.. Royal Palace of King Kunala..

หากจะเชื่อมโยงรัชสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชกับพระนครตักศิลา แคว้นคันธาระ.. ๑ ใน ๑๖ มหาชนบทในชมพูทวีป ก็คงต้องย้อนกลับไปประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒–๓ ในสมัยโมริยวงศ์ ปกครองมคธชนบท ตลอดถึงแว่นแคว้นน้อยใหญ่ในชมพูทวีป.. โดยทรงครองราชย์ในช่วงประมาณปี พ.ศ.๒๖๘–๓๑๑ ทรงเป็นกษัตริย์องค์ที่ ๓ แห่ง ราชวงศ์โมริยะ หรือ ราชวงศ์เมารยะ แห่งกรุงปาฏลีบุตร แคว้นมคธ..

สมัยการปกครองของพระเจ้าอโศกมหาราช ได้ทรงขยายดินแดนแห่งราชอาณาจักรของพระองค์ออกไป จนมีอาณาเขตที่กว้างขวางที่สุดในประวัติศาสตร์อินเดียโบราณ หากเปรียบเทียบพื้นที่การปกครองในปัจจุบัน ได้แก่ การนำเอาพื้นที่ สาธารณรัฐอินเดีย สาธารณรัฐอิสลามปากีสถาน สาธารณรัฐอิสลามอัฟกานิสถานบางส่วน และสาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ มารวมกัน...

ทรงเป็นองค์เอกอัครศาสนูปถัมภกที่สำคัญที่สุดแห่งพระพุทธศาสนา แสดงองค์เป็นอุบาสกที่มีความศรัทธามั่นคงในพระรัตนตรัย ความพยายามทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาของพระองค์ ส่งผลให้พระพุทธศาสนาเจริญก้าวหน้าทั้งในแคว้นมคธ.. แคว้นน้อยใหญ่ในมัชฌิมประเทศ ที่ทรงปกครองดูแลอยู่.. ตลอดจนถึงการแผ่ไปแว่นแคว้น.. นานาประเทศ นอกมัชฌิมประเทศอย่างแพร่หลาย.. จนทำให้ได้รับการยกย่องว่าทรงเป็นผู้นำจิตวิญญาณของชาวโลกแท้จริง....

ดังหลังจากสนับสนุนส่งเสริมกิจการของสงฆ์ในพระพุทธศาสนาที่ได้มีการกระทำสังคายนาครั้งที่ ๓ ขึ้น (พ.ศ.๒๓๔/หนังสือมหาวงศ์/หนังสือทิวยาวทาน ระบุ พ.ศ.๒๙๐) ได้ทรงอาราธนาคณะสงฆ์.. ได้จัดส่งพระสมณทูตออกเผยแผ่พระพุทธศาสนาไปยังภูมิภาคอื่น ทั้งในชมพูทวีปและนอกชมพูทวีป.. ตามความเห็นและข้อแนะนำของพระโมคคัลลีบุตรติสสเถรเจ้า ที่ทำหน้าที่ประธานสงฆ์ในการกระทำสังคายนาที่นับเป็นครั้งที่ ๓ ในพระพุทธศาสนา กระทำอยู่ ๙ เดือนจนแล้วเสร็จ โดยมีพระสงฆ์ที่ล้วนเป็นพระอรหันต์จำนวน ๑๐,๐๐๐ รูป ร่วมกระทำสังคายนา ณ วัดอโศการาม นครปาฏลีบุตร แคว้นมคธ.. ที่มีพระเจ้าอโศกมหาราชเป็น องค์อุปถัมภก

จึงเป็นเหตุให้คณะสงฆ์ โดยมีพระโมคคัลลีบุตรติสสเถรเจ้า ซึ่งเป็นประธานในการกระทำการสังคายนาในครั้งที่ ๓ นั้น ได้มีสังฆมติ.. ให้มีการส่งสมณทูตไป ๙ คณะ หรือ ๙ สาย เพื่อแยกย้ายกันไปเผยแผ่พระธรรมวินัยที่ถูกต้องตรงตามพระพุทธพจน์ที่ทรงแสดงไว้ดีแล้ว เช่น...

คณะที่ ๑ พระมัชฌันติกเถระ เป็นหัวหน้าไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของสาธารณรัฐอินเดีย (แคว้นมคธ) ได้แก่ แคว้นคันธาระและกัศมีร์

คณะที่ ๒ พระมหาเทวเถระ เป็นหัวหน้าไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาทางภาคใต้ของสาธารณรัฐอินเดีย (แคว้นมคธ) ได้แก่ รัฐมหิสกมณฑลและรัฐไมเซอร์... เป็นต้น

ในรัชสมัยของพระองค์ จึงได้เห็นความรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนาที่แผ่ไปทั่วทั้งในชมพูทวีปและแว่นแคว้นนอกชมพูทวีป ทรงให้ความสำคัญในการรวบรวมพระบรมสารีริกธาตุขึ้นอีกครั้ง จากที่ถูกอัญเชิญกระจายไปตามเมืองต่างๆ ทั้ง ๘ เมืองในเบื้องต้น.. เช่น เมืองราชคฤห์ เมืองพาราณสี เมืองกบิลพัสดุ์ เมืองกุสินารา เป็นต้น.. ด้วยการสั่งก่อสร้างพระสถูปขึ้นใหม่ทั่วทั้งชมพูทวีป เพื่อยกย่องบูชาพระบรมสารีริกธาตุของพระผู้มีพระภาคเจ้า โดยมีการแจกจ่ายไปยังหัวเมืองต่างๆ ให้ทำการก่อสร้างพระสถูปบรรจุไว้บูชา... ดังที่ได้เห็นพระสถูปทรงสาญจี.. แพร่ไปทั่วจนถึงสุวรรณภูมิ (นครปฐม) ด้วยความเชื่อและความเลื่อมใสว่า “การได้สร้างพระสถูปหรือพระมหาเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุถวายพระพุทธเจ้านั้นเป็นยอดแห่งมหากุศล.. รวมถึงเสาหินที่ปักไว้แสดงเครื่องหมายของพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ในพระพุทธศาสนาแต่ละแห่งนั้น.. อาทิ ลุมพินี สถานที่ประสูติ, พุทธคยา สถานที่ตรัสรู้ เป็นต้น และยังมีเมืองต่างๆ ที่แสดงถึงความรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนาในยุคสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ซึ่งมีพระมหาเจดีย์และเสาศิลา.. ปรากฏอยู่ให้สืบค้นหาจนถึงปัจจุบัน ได้แก่ เมืองโกสัมพี, เมืองสาญจี, เมืองเกศรีย์, เมืองเวสาลีในสาธารณรัฐอินเดีย.. และ เมืองตักศิลา แห่งแคว้นคันธาระ ในสาธารณรัฐอิสลามปากีสถานปัจจุบัน... ด้วยการปรากฏของพระมหาเจดีย์ “ธรรมราชิกสถูป” ณ เมืองตักศิลา เพื่อยืนยันว่าสถานที่ดังกล่าวนี้เป็นสถานที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้าและพระพุทธศาสนา...

จึงปรากฏหลักฐานว่า ในปี พ.ศ ๒๙๐ พระเจ้าอโศกมหาราชได้ทรงอุปถัมภ์การทำสังคายนาพระธรรมวินัยครั้งที่ ๓ โดยมีพระโมคคัลลีบุตรติสสเถระเป็นประธานสงฆ์ในการกระทำสังคายนาจนแล้วเสร็จ.. ต่อมา พระเจ้าอโศกมหาราชได้ทรงอาราธนาพระสมณทูตเดินทางไปเผยแผ่พระธรรมวินัยถึง ๙ สาย โดย ๑ ใน ๙ สายนั้น เข้าสู่แคว้นคันธาระ.. ณ นครตักศิลา แห่งนี้... และเชื่อมโยงในทางการปกครองเกี่ยวกับพระเจ้าอโศกมหาราช ตามหลักฐานใน หนังสือมหาวงศ์และหนังสือทิวยาวทาน ว่า “ในปี พ.ศ.๓๐๘ ได้ทรงส่งเจ้าชายกุนาละไปเป็นอุปราชที่เมืองตักศิลา แคว้นคันธาระ..”. ก่อนที่จะเสด็จสวรรคตในปี พ.ศ.๓๑๑.. (เป็นปีที่ ๓๘ แห่งรัชสมัยของพระองค์.. หากนับการครองราชย์ตั้งแต่พระชนมายุ ๒๑ พรรษา ก็เป็นปีที่ ๔๒ แห่งรัชสมัยของพระองค์)

ดังนั้น.. เมื่อมาเชื่อมโยงกับการเดินทางไปทัศนศึกษาที่เมืองโบราณ Sirkap ในหุบเขาตักศิลา.. ว่า.. ด้านบนเนินเป็นเขตพระราชฐานของพระเจ้ากุนาละ... โดยมีบันทึกไว้เป็นทางการของฝ่ายโบราณคดีที่ขุดค้นเมืองตักศิลาสมัย พ.ศ.๒๔๕๖–๒๔๗๗ (ค.ศ.๑๙๑๓–๑๙๓๔) โดย Sir John Marshall นักโบราณคดีชาวอังกฤษ.. ทำให้พบแหล่งที่อยู่อาศัยหรือเมืองโบราณดังกล่าว คือ Sirkap ที่เป็น ๑ ใน ๓ แห่ง โดยระบุว่า เมืองนี้มีการอยู่อาศัยอย่างต่อเนื่องกว่า ๓๐๐ ปี ภายใต้การครอบครองของกรีก ซิเถียน ปาเถียน และกุษาณะ.. ดังหลักฐานศิลปกรรมที่ปรากฏจากการขุดค้นพบที่ระบุว่า เมือง Sirkap น่าจะ มีอายุอยู่ในราวศตวรรษที่ ๒ ก่อนคริสตกาล....

จากความเชื่อมโยง.. ตามที่กล่าว โดยการอ้างอิงเหตุการณ์สำคัญเกี่ยวกับพระเจ้าอโศกมหาราช.. จึงเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ว่า “ธรรมราชิกาสถูปหรือมหาสถูปแห่งตักศิลา”... ในแคว้นคันธาระ.. ได้สร้างขึ้นในสมัยที่มีการเผยแผ่พระพุทธศาสนามาสู่แคว้นคันธาระ.. ภายหลังการกระทำการสังคายนา เมื่อ พ.ศ.๒๙๐ (พ.ศ.๒๓๔) เพื่อประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ.. โดยมีรูปทรงพระสถูปร่วมสมัยกับพระสถูปสาญจี.. ซึ่งต่อมาพื้นที่ดังกล่าวได้พัฒนาขึ้นเป็นพระอารามขนาดใหญ่ เพื่อเป็นที่อยู่อาศัยของพระภิกษุจำนวนมาก.. ในแว่นแคว้นคันธาระ ซึ่งพุทธศาสนารุ่งเรืองมากที่สุดในราวพุทธศตวรรษที่ ๖–๗.. เป็นต้นมา.. ก่อนจะสูญสิ้นสลายไปในพุทธศตวรรษที่ ๑๗.. ซึ่งตรงกับสมัยพระเจ้ากนิษกมหาราช แห่งราชวงศ์กุษาณะ จึงเป็นไปได้ที่ “ธรรมราชิกสถูป” ถูกสร้างขึ้นใน ๒ วาระ ได้แก่

๑) ถูกสร้างขึ้นครั้งแรกสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช โดยการอ้างอิงสถูปเดิมทรงสาญจี.. ในศตวรรษที่ ๓ ก่อนคริสตศักราช...

๒) สมัยพระเจ้ากนิษกมหาราช ได้สร้างธรรมราชิกสถูปขึ้นบนซากสถูปเดิมสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชที่มีอายุเก่าแก่กว่า...

ต่อมา.. ได้ถูกทำลายโดยชาวฮั่นขาวในคริสต์ศตวรรษที่ ๕ และถูกทอดทิ้งไป

Sir John Marshall .. ได้เริ่มขุดค้นบริเวณดังกล่าวเมื่อ พ.ศ.๒๔๕๖.. พบว่า ตัวสถูปถูกปล้นสะดม มีสภาพย่ำแย่มาก.. และพบว่ามีการสร้างคูขนาดใหญ่ เพื่อนำของมีค่าในสถูปออกมา.. มีการค้นพบโครงกระดูกในพื้นที่เปิดทางใต้ของสถูปและสิ่งของเครื่องใช้ของพระสงฆ์ที่สันนิษฐานว่า น่าจะถูกฆ่าตายในช่วงการรุกรานของชาวฮั่นขาว.... (น่าสังเวชยิ่ง!)

ก่อนหน้านั้น ราว พ.ศ.๙๔๓ หลวงจีนฟาเหียนยังได้เดินทางมานมัสการพระมหาสถูปแห่งตักศิลา (ธรรมราชิกสถูป) ดังกล่าว บันทึกไว้ว่า เมืองตักศิลายังสมบูรณ์ดีอยู่.. รวมถึงพระสถูปเจดีย์.. วัดวาอารามทั้งหลาย

ต่อมา ราว พ.ศ.๑๐๕๐ ชนชาติฮั่นยกมาตีและทำลายพุทธสถานทั้งหลาย.. ทำให้เมืองตักศิลาพินาศไป

ดังหลักฐานที่หลวงจีนฟาเหียนจั๋ง (พระถังซัมจั๋ง) ได้บันทึกไว้เมื่อ พ.ศ.๑๑๘๖ สมัยมาสืบพระพุทธศาสนาในอินเดีย ได้กล่าวว่า...

...เมืองตักศิลามีสภาพเสื่อมโทรม เป็นเพียงเมืองเล็กๆ เมืองหนึ่งที่ขึ้นกับ แคว้นกัศมีระ

โบสถ์ วิหาร สถานศึกษา และปูชนียสถาน ถูกทำลายหมด... (จากนั้นก็ไม่ปรากฏเรื่องเมืองตักศิลาอีก)…..

             

เจริญพร

[email protected]

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ไพบูลย์ เลขาธิการพรรค พปชร. 'ลุงป้อม' ยังไปต่อ - 'อุ๊งอิ๊ง' ไม่ครบปี!

"พรรคพลังประชารัฐ" ที่แม้ในวันนี้จะกลายเป็นพรรคฝ่ายค้านไปแล้ว แต่ก็ยังเป็นพรรคการเมืองที่อยู่ในความสนใจของหลายฝ่าย

รางวัลแมกไซไซ 2567 ขบวนการแพทย์ชนบท กับการพัฒนาระบบสุขภาพไทย

หนึ่งในองค์กรพัฒนาเอกชนหรือเอ็นจีโอ ที่มีบทบาทและชื่อเสียงในสังคมไทยมายาวนาน ที่นับจากก่อตัวมาจนถึงปัจจุบัน ก็มีเส้นทางการทำงานมาถึงห้าทศวรรษแล้ว นั่นก็คือ”ชมรมแพทย์ชนบท”

ประชาธิปัตย์ ต้องปฏิรูปครั้งใหญ่ กับกระแสข่าว เลือดสีฟ้าตั้งพรรคใหม่

หลายฝ่ายจับตา การอยู่ร่วมรัฐบาลของ"พรรคประชาธิปัตย์"ที่ตอนนี้เป็นพรรคร่วมรัฐบาล แต่แกนนำพรรค-ส.ส.พรรคปชป. บางส่วนและแฟนคลับพรรคสีฟ้า จำนวนมาก

เดิมพันสำคัญ 'รวมไทยสร้างชาติ' หลังอยู่ร่วม พท.-หนุน 'อุ๊งอิ๊ง'

คณะรัฐมนตรี "แพทองธาร ชินวัตร" เตรียมจะแถลงนโยบายรัฐบาลต่อที่ประชุมร่วมรัฐสภาในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้ ซึ่งพอเสร็จสิ้นการแถลงนโยบายก็ถือว่า เป็น ครม.-รัฐบาลอย่างเป็นทางการ ที่จะเข้าไปบริหารราชการแผ่นดินต่อไป

..ความกล้าหาญทางจริยธรรม.. ที่ควรศึกษา!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา ในท่ามกลางวิกฤตการณ์ทางธรรมชาติ ด้วยน้ำมือของคนเราที่ขาดจิตวิญญาณทางธรรม.. ด้วยอำนาจกิเลสอันก่อเกิดวิปลาสธรรม