การแบ่งเขตเลือกตั้งสำคัญไฉน

           ประเทศที่ยึดถือการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยย่อมให้ความสำคัญแก่การมีตัวแทนของประชาชน    ในการทำหน้าที่พิจารณาออกระเบียบกฎหมายและควบคุมรัฐบาล การได้มาซึ่งตัวแทนของประชาชนดังกล่าวอาจมีกรรมวิธีที่แตกต่างกันออกไป แต่องค์ประกอบสำคัญเรื่องหนึ่งในการจัดการเลือกตั้ง คือ การกำหนดเขตเลือกตั้ง      (ไม่ว่าจะเป็นระบบผู้แทนแบบคนเดียวหรือหลายคนในหนึ่งเขต) ฝ่ายผู้มีอำนาจจัดการเลือกตั้งในบางประเทศหรือในบางยุคสมัยอาจหาทางเอารัดเอาเปรียบและก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการเลือกตั้งขึ้นได้ โดยเฉพาะในการเลือกตั้งระบบที่เรียกว่า SMP (Single-member plurality voting) คือ ผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ได้รับคะแนนเสียงเลือกตั้งมากที่สุดเป็นผู้ชนะเพียงคนเดียว (winner takes all)  การเอาเปรียบในการแบ่งเขตเลือกตั้งนี้ เรียกเป็นภาษาวิชาการ    ทางรัฐศาสตร์ว่า Gerrymandering ซึ่งมาจากชื่อของนาย Elbridge Gerry อดีตผู้ว่าการรัฐแมสซาชูเซตส์   ชของสหรัฐอเมริกาในช่วงต้นศตวรรษที่ 19 ผู้ใช้การแบ่งเขตเลือกตั้งเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองของตนเองเป็นคนแรกๆ โดยเส้นการแบ่งเขตของเขาคดเคี้ยวไปตามพื้นที่ฐานเสียงของเขาประหนึ่งรูปร่างของสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ   ที่เรียกว่า salamander

            การเลือกตั้งทั่วไปในประเทศไทยที่เคยเกิดขึ้นนับครั้งไม่ถ้วนนับตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตยแบบมีตัวแทนประชาชนในรัฐสภานั้น มีคนจำนวนไม่น้อยระแวงสงสัยว่าน่ามีการแบ่งเขตเลือกตั้ง ที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่เหมาะสมเพื่อเอื้อประโยชน์ให้บางคนบางกลุ่มเกิดขึ้นในพื้นที่หลายจังหวัดมาโดยตลอด แม้แต่   การเลือกตั้งทั่วไปเมื่อต้นปี 2562 ก็มีผู้กล่าวหาว่าคณะผู้ดำเนินการเลือกตั้งถูกผู้มีอำนาจเข้าแทรกแซงกระบวนการ   แบ่งเขตเลือกตั้งดังกล่าวด้วย         

           สำหรับการเลือกตั้งทั่วไปที่กำลังจะมาถึงก่อนกลางปี 2566 นี้ รัฐธรรมนูญ 2560 (แก้ไขเพิ่มเติม 2564) และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง 2561 (แก้ไขเพิ่มเติม 2565 ) ได้กำหนดให้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งจำนวน 400 คน นำตัวเลขนี้ไปหารจำนวนราษฎรทั้งประเทศตามหลักฐานการทะเบียนราษฎร  (ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565) เพื่อไปคำนวณว่าแต่ละจังหวัดจะมีจำนวนผู้แทนฯเท่าใด โดยอย่างน้อยที่สุดในจังหวัดหนึ่งต้องมีผู้แทนฯอย่างน้อย 1 คน (1 เขตเลือกตั้ง) ถ้าคำนวณได้จำนวนผู้แทนฯแต่ละจังหวัดได้แล้ว แต่ยังไม่ครบจำนวน 400 คน จังหวัดใดมีเศษมากกว่าก็จะได้ผู้แทนฯเพิ่มเรียงกันไปจนกว่าจะครบสี่ร้อยคน ขณะนี้ได้คำนวณจำนวน ส.ส.หรือเขตการเลือกตั้งแต่ละจังหวัดออกมาแล้ว (ตัวเลขที่ใช้หาร คือ 165,226 คน)  มากที่สุดมี 33 เขตเลือกตั้ง ได้แก่ กรุงเทพมหานคร  น้อยที่สุดมี 1 เขตเลือกตั้ง ได้แก่ ตราด สมุทรสงคราม สิงห์บุรี และ ระนอง

           จังหวัดใดมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้เกินหนึ่งคน รัฐธรรมนูญกำหนดให้แบ่งเขตจังหวัดออกเป็นเขตเลือกตั้งเท่าจำนวนสมาชิกที่พึงมี โดยต้องแบ่งพื้นที่ของเขตเลือกตั้งแต่ละเขตให้ติดต่อกันและต้องจัดให้มีจำนวนราษฎรในแต่ละเขตใกล้เคียงกัน ในเรื่องนี้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้มอบหมายให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้ง

ประจำจังหวัดต่าง ๆ และกรุงเทพมหานคร (ที่มีเขตเลือกตั้งเกิน 1 เขต) ยกร่างเขตเลือกตั้งขึ้นอย่างน้อย 3 แบบ แล้วติดประกาศให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้แสดงความคิดเห็นภายในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 หลังจากนั้นสำนักงานคณะกรรมการ  การเลือกตั้งจะรวบรวมความคิดเห็นจากจังหวัดต่างๆ นำเสนอคณะกรรมการการเลือกตั้งพิจารณา ซึ่งมีการกำหนดว่าจะพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 เพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป

            เมื่อการตัดสินใจสุดท้ายในการกำหนดเขตเลือกตั้งเป็นอำนาจของคณะกรรมการเลือกตั้งตามกฎหมายแรงกดดันและความระแวงสงสัยจึงพุ่งมาที่คณะกรรมการการเลือกตั้งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะการเป็นผู้สมัคร รับเลือกตั้งที่ผิดฝาผิดตัวผิดพื้นที่ อาจจะทำให้ “ตัวเก็ง” ที่พรรคการเมืองอุตส่าห์ไปซื้อ ไปแย่งชิงมากลายเป็น “ตัวเกร็ง” กลายเป็นพ่ายแพ้อย่างพลิกล็อคได้ ดังนั้น พรรคการเมืองและประชาชนทั่วไปคงต้องหวังพึ่งความสุจริตเที่ยงธรรมของคณะกรรมการการเลือกตั้งแต่ละคนเป็นสำคัญ รวมทั้งติดตามผลการดำเนินงานของ กกต. อย่างใกล้ชิดด้วย

           นอกจากศึกการแบ่งเขตเลือกตั้งและการจัดการเลือกตั้งทั่วไปให้เป็นไปอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรมแล้ว  การถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าการนำตัวเลข “ราษฎร” ทั้งที่มีสัญชาติไทยและไม่มีสัญชาติไทย มาคำนวณจำนวนผู้แทนราษฎรของแต่ละจังหวัด น่าจะไม่ถูกต้องตรงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ก็คงจะเป็นปัญหาหนักใจ กกต.เพิ่มขึ้นอีกไม่น้อยเลยทีเดียว ปัญหาเรื่องนี้มีเดิมพันสูงทั้งเรื่องงบประมาณและเกียรติภูมิของประเทศ จึงขอเอาใจช่วยให้ผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถนำพาบ้านเมืองเราฝ่าปัญหาเหล่านี้ไปได้ด้วยดี…

คอลัมน์ เวทีพิจารณ์นโยบายสาธารณะ

นาย พงศ์โพยม วาศภูติ
กลุ่มนโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ศาลปกครองสูงสุด ยกฟ้อง กกต. ประกาศแบ่งเขตเลือกตั้ง ชี้ เป็นไปตาม รธน.

ศาลปกครองสูงสุด ยกฟ้อง กกต. ประกาศแบ่งเขตเลือกตั้ง กทม.-สุโขทัย-สกลนคร ชี้ชอบด้วยกฎหมาย เป็นไปตาม รธน. ไม่มากไม่น้อย กว่าร้อยละ 10 'อรรถวิชช์' ระบุ บรรทัดฐานใหม่ หลังจากนี้กกต.สามารถแบ่งเขตได้ตามใจชอบ

'อรรถวิชช์' ท้วง 'กกต.กทม.' แบ่งเขตเลือกตั้งผิด พ.ร.ป.เลือกตั้ง

'อรรถวิชช์' ท้วง กกต.กทม.แบ่งเขตเลือกตั้งแบบที่ 1,2 ผิด พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. รวมตำบลเป็นเขตเลือกตั้งไม่ได้ พบเกือบทุกเขตเลือกตั้ง มีการระเบิดเขตแยกแขวงมารวมเขตใหม่

วุ่นแล้ว!​ ศาลรธน. มติเอกฉันท์ ชี้ขาดคำว่า 'ราษฎร' ไม่หมายความรวมถึงผู้ไม่ได้สัญชาติไทย

ศาลรับธรรมนูญ มีมติเอกฉันท์ ชี้ขาดคำว่า 'ราษฎร' ไม่หมายความรวมถึงผู้ไม่ได้สัญชาติไทย ปม กกต.นำคนไม่มีสัญชาติไทยคำนวณแบ่งเขตเลือกตั้ง