เศรษฐา-พท. ตอบให้ชัด จะนิรโทษกรรมฯ เมื่อใด? พรรค "รทสช.” กำลังยกร่างฯ

คนเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นเสื้อแดง เสื้อเหลือง กปปส. เขาไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง เขาต้องการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล ต้องการปราบปรามการทุจริต ก็เพื่อพี่น้องประชาชน แม้ว่าผมจะมีส่วนได้ส่วนเสีย แต่ผมกล้าที่จะพูดว่าพวกผมไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง ถ้าจะนิรโทษกรรมโดยรัฐบาลนี้หรือโดยส.ส.เสียงข้างมากในสภาฯ โดยสว.เสียงข้างมาก ผมขอบคุณ ผมก็กล้าพูดครับ ของจริง...พรรครวมไทยสร้างชาติ ก็กำลังยกร่างฯ  ..ถ้ารอรัฐบาลไม่ไหว ก็เป็นสิทธิของส.ส.ยี่สิบคน ลงนามร่วมกันเสนอร่างฯ ต่อประธานสภาฯ ก็สามารถทำได้

หลังเปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎร ตั้งแต่ 12 ธ.ค. เป็นต้นไป  หนึ่งในร่างกฎหมาย ที่รอการพิจารณาของสภาฯ ซึ่งถูกจับตามอง ก็คือ"ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่บุคคลซึ่งได้กระทำความผิด อันเนื่องมาจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง พ.ศ. ...." หรือ"ร่างพรบ.นิรโทษกรรมฯ"ที่ส.ส.พรรคก้าวไกล เสนอต่อสภาฯ นั่นเอง เห็นได้จากช่วงนี้ที่มีหลายฝ่ายออกมาแสดงความคิดเห็นกันอย่างหลากหลาย ทั้งเห็นด้วยและคัดค้าน

"ถาวร เสนเนียม อดีตส.ส.สงขลา หลายสมัย -อดีตรมช.คมนาคม-อดีตรมช.มหาดไทยและอดีตแกนนำกปปส.ที่ปัจจุบันเป็นสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติ หนึ่งในพรรคร่วมรัฐบาล" กล่าวให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ"อิสรภาพทางความคิด-ไทยโพสต์"ถึงเรื่องการนิรโทษกรรมฯ เพื่อก้าวข้ามความขัดแย้งว่านอกเหนือจากพรรคร่วมฝ่ายค้านในเวลานี้ จะพบว่าพรรคร่วมรัฐบาลเวลานี้ ก็เสนอนโยบายจะก้าวข้ามความขัดแย้ง สร้างความสมานฉันท์ ที่ก็คือนิรโทษกรรม และตอนรัฐบาลแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา หนึ่งในนโยบายของรัฐบาลก็คือการสร้างความสมานฉันท์ หรือนิรโทษกรรมนั่นเองแต่ไม่ได้พูดตรงๆ ซึ่งการสร้างความสมานฉันท์ ลดความขัดแย้งทางการเมือง ขจัดความคิดที่แตกต่างทางการเมือง เพื่อนำไปสู่ การจับมือร่วมกันในการพัฒนาประเทศ การแก้ปัญหาของประเทศ เป็นความประสงค์ของทุกพรรคและของรัฐบาล

“ประเด็นที่ต้องสอบถามกลับไปยังนายกฯเศรษฐาและพรรคร่วมรัฐบาล ท่านได้แถลงนโยบายไว้แล้วว่าจะสร้างความสมานฉันท์ ท่านจะทำตามนโยบายนี้หรือไม่ และถ้าจะทำ จะทำในปีแรกหรือปีสุดท้าย ตอบมาดังๆ นายกฯเศรษฐา ตอบมาดังๆ พรรคร่วมรัฐบาล ตอบมาอย่างสง่าผ่าเผย จะออกมาก็ได้ หรือจะไม่ออกก็อยู่ที่ความคิด อำนาจ สิทธิของพวกเขาทั้งหลาย”

...การทำ ก็อยู่ที่ความจริงใจและความตั้งใจจริงจัง ที่จะขจัดความขัดแย้ง สร้างความสมานฉันท์ เพราะการนิรโทษกรรมในประเทศไทยเกิดมาแล้ว23 ครั้ง เป็นการนิรโทษกรรม 19 ครั้งสำหรับรัฐประหารโดยทหาร พอทำรัฐประหารเสร็จก็นิรโทษกรรมให้กับตัวเอง รวมถึงคสช.และคมช.(ปี 2549)

นอกจากนั้นอีก 4 ครั้งเป็นการนิรโทษกรรมใหักับความขัดแย้งทางการเมือง เช่น ให้กับกลุ่มคนที่เคยเข้าป่า นิยมการปกครองแบบคอมมิวนิสต์ฯ ฯ

เพราะฉะนั้น 23 ครั้ง ผลที่เกิดขึ้น ก็คือเกิดความสมานฉันท์ แต่เมื่อมีความขัดแย้งเกิดขึ้นมาอีก ประชาชนไม่พอใจ ก็ออกไปประท้วง ออกไปเดินขบวนขับไล่ อันเกิดจากรอกระบวนการยุติธรรมไม่ไหว หรือจะขอใช้เสียงข้างมากในสภาฯ ให้ช่วยแก้ไขปัญหา ก็ไม่แก้ไขให้ ประชาชนก็ใช้สิทธิความเป็นพลเมือง

"แต่ที่สำคัญ คนเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นเสื้อแดง เสื้อเหลือง กปปส. เขาไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง เขาต้องการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล ต้องการปราบปรามการทุจริต ก็เพื่อพี่น้องประชาชน แม้ว่าผมจะมีส่วนได้ส่วนเสีย แต่ผมกล้าที่จะพูดว่าพวกผมไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง ถ้าจะนิรโทษกรรมโดยรัฐบาลนี้หรือโดยส.ส.เสียงข้างมากในสภาฯ โดยสว.เสียงข้างมาก ผมขอบคุณ ผมก็กล้าพูดครับ ของจริง"

...การที่จะออกกฎหมายนิรโทษกรรมฯ ถ้าจะทำ ผมมีข้อยกเว้นไว้สามเรื่อง เรื่องแรกสำคัญมาก คือต้องมีข้อยกเว้นสำหรับผู้กระทำความผิดมาตรา 112 ผมไม่เอาด้วย สอง ก็คือการทุจริต สาม คือกลุ่มคนที่ทำผิดกฎหมายอาญารุนแรงต่อชีวิตและร่างกาย เผาบ้านเผาเมือง ก็ไม่ได้

เมื่อถามว่าหากให้เดาใจพรรคเพื่อไทยคิดว่าจะทำเรื่องนิรโทษกรรมช่วงปีไหน "ถาวร-อดีตแกนนำกปปส."กล่าวว่า เดาใจไม่ถูก แต่ถ้าดูจากตอนแถลงนโยบาย ก็บอกว่าจะรีบทำ แต่คนนะ พูดอย่าง ทำอย่างมีเยอะ คิดอย่าง แต่พูดอย่างแล้วทำอีกอย่างก็มี ผมไม่เชื่อว่าปัจจัยภายนอกที่ทำให้เขาคิดเปลี่ยนใจ แต่ถ้าเขาคิดจะทำปีสุดท้าย นั่นคือเขาตั้งใจหลอกไว้ตั้งแต่ต้น หลายเรื่องที่ตั้งใจหลอก โดยอ้างว่าไม่พร้อมหรือเพราะปัจจัยภายนอกบ้าง โดยหากมีความจริงใจ ก็ต้องทำเลย

....หากคุณจะบอกว่า การนิรโทษกรรมจะนำไปสู่ความขัดแย้งครั้งต่อไป ผมก็ไม่กล้ารับประกัน เพราะ 23 ครั้ง 19 ครั้งของการออกมาทำปฏิวัติรัฐประหาร ทหารอ้างว่าเพื่อป้องกันปราบปรามการทุจริต หรือเพราะมีการจาบจ้วงสถาบัน มีการครอบงำองค์กรอิสระ แต่สุดท้าย ก็ยังคงทำ ยังคงทุจริต ปี 2549 พลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน ออกมาทำรัฐประหาร อ้างสาเหตุว่ามีการทุจริต หรือปี 2534 (คณะรสช.) ก็อ้างเรื่องการทุจริต มีบุฟเฟต์คาบิเนต ปี 2557 ก็เรื่องของการทุจริต เพราะฉะนั้น การทำทุจริต ส่งผลให้เกิดการรัฐประหาร แต่ถ้าจะไม่ให้เกิด ก็อย่าทำทุจริต

-แต่ตอนนี้เห็นคนในพรรคเพื่อไทย เช่นนายภูมิธรรม รองนายกฯ  เขาเกรงว่าหากจะมีการออกกฎหมายนิรโทษกรรม มันอาจจะนำไปสู่ความขัดแย้งใหม่?

แต่ตอนนี้ก็ขัดแย้ง ที่กำลังจะส่อทุจริต เรื่องหลายนโยบาย ก็จะเกิดความขัดแย้ง ความขัดแย้ง ไม่ได้เกิดจากความคิดต่าง ที่หวังดีต่อบ้านเมือง แต่ความขัดแย้งเกิดจากพวกคุณทั้งหลายที่อยู่ในสภาฯ อยู่ในทำเนียบทุจริต  คุณภูมิธรรม คุณลืมแล้วหรือ สิ่งที่คุณพูดว่า ความขัดแย้งจะไม่เกิดหรือจะเกิดก็แล้วแต่ อย่าให้มีเหตุ แต่สาเหตุของการเกิดความขัดแย้ง คือการทุจริต ผมกล้าพูดคำนี้ กับการปฏิบัติหน้าที่ซึ่งผิดกฎหมาย

-หากครม.ไม่กล้าเป็นผู้เสนอร่างพรบ.นิรโทษกรรมฯ เข้าสภาฯ แล้วพรรคร่วมรัฐบาล อย่างรวมไทยสร้างชาติ พลังประชารัฐ ประชาชาติ ร่วมกันเสนอร่างนี้เป็นไปได้หรือไม่หรือพรรคเพื่อไทย แต่ไม่ได้เสนอเข้าสภาฯในนามรัฐบาล?

ขณะนี้ พรรคก้าวไกล พรรคฝ่ายค้านเสนอร่างฯเข้าสภาฯแล้ว เป็นพรรคแรก รวมไทยสร้างชาติ ก็กำลังยกร่าง ก็เป็นการหวังดีและสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล กำลังร่างฯ คือถ้ารอรัฐบาลไม่ไหว ก็เป็นสิทธิของส.ส.ยี่สิบคน ลงนามร่วมกันเสนอร่างฯ ต่อประธานสภาฯ ก็สามารถทำได้ ซึ่งผมคิดว่า พรรคอื่นก็คิดเหมือนกัน ทุกพรรค อย่าให้เป็นรถไฟตกขบวน

เป็นการสร้างความสมานฉันท์เหมือนนโยบายรัฐบาล ก้าวข้ามความขัดแย้งและหันหน้ามาจับมือกัน ว่าความคิดแต่ละเรื่องเช่น การปราบทุจริต การกระจายอำนาจ การลดความเหลื่อมล้ำ การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม การเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร เราจะลดความขัดแย้ง ความคิดแตกต่างตรงนี้กันอย่างไร ในเมื่อคุณกำลังคิดจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ ผมคิดว่า การสร้างความสมานฉันท์ก็สอดคล้องกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ สอดคล้องกัน คนพวกนี้ ติดคุกสัก 20-30 คน รวมถึงผมด้วย ผมก็คิดว่าสร้างภาระให้กับบ้านเมือง เพราะเราไม่ได้ทุจริต เราไม่ได้ทำผิดกฎหมายเพื่อตัวเอง แต่ทำผิดกฎหมายในยุคนั้นเพราะฝ่ายรัฐบาลในยุคนั้นไม่พึงพอใจ เพราะเราไปร้อง เราไปขัดขวาง ไม่ให้การออกกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับสุดซอย ออกมาประกาศใช้ได้ โดยเราเรียกร้องเสมอว่าต้องปฏิรูปประเทศไทยก่อนการเลือกตั้ง และเห็นว่า หากจะก้าวข้ามความขัดแย้ง ต้องไม่ทำเพื่อคนๆ เดียว ไม่ควรทำอย่างยิ่ง และการที่มีคนได้สิทธิโดยพิเศษ โดยฝ่ายข้าราชการที่ได้รับคำสั่งของนักการเมือง ไปดำเนินการให้คนบางคนได้รับสิทธิพิเศษ ผมว่าเป็นความผิดพลาดที่สร้างความขัดแย้งให้เกิดขึ้น

นอกจากนี้”ถาวร-อดีตส.ส.หลายสมัย”ยังกล่าวถึงการเมืองไทยในปีหน้า โดยเน้นย้ำเรื่องความสำคัญในการแก้ไขปัญหาสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า เหตุการณ์ที่มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นบ่อยและเป็นปัญหาของรัฐไทย ก็คือ เหตุการณ์ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะตั้งแต่ปี 2547 ที่เกิดเหตุการณ์ปล้นปืนที่ค่ายปิเหล็งนราธิวาส จนถึงวันนี้ ตีว่ายี่สิบปี ใช้เงินไปแล้วประมาณว่าห้าแสนล้านบาท เจ้าหน้าที่รัฐ ตายไปแล้ว สี่พันเก้าร้อยกว่าคน และมีประชาชน เสียชีวิตและหายสาบสูญอีกเยอะ มีเหตุการณ์เกิดขึ้นในพื้นที่หมื่นกว่าครั้ง มีการเจรจาเพื่อสันติภาพในทางลับตั้งแต่ปี 2536 แต่ไม่เปิดเผย จนกระทั่งปี 2556 ก็ตั้งพลโทภราดร พูดคุยกับ  ฮัสซัน ตอยิบ ที่เป็นตัวแทนบีอาร์เอ็น โดยมีมาเลเซียให้ความสะดวก ก็พูดคุยกันมา ก็มาจบเอาตอนที่เกิดรัฐประหารปี 2557 มาเป็นรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ก็ตั้งคณะเจรจาพูดคุยสันติสุข ฯ ก็มีพลเอกอักรษา เกิดผล พลเอกอุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ พลเอก วัลลภ รักเสนาะ ก็ยังไปไม่ถึงไหน ที่ฝ่ายนั้นก็มีตัวแทนของบีอาร์เอ็นมาเจรจาเช่นกัน    สุดท้าย

มาถึงรัฐบาลปัจจุบัน ล่าสุดก็ตั้ง คณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้  โดยมีรักษาการเลขาธิการสมช. (ฉัตรชัย บางชวด รองเลขาธิการสมช.) เป็นประธาน

แต่ที่สำคัญที่เป็นปัญหาและทำให้ยังไม่จบ ผมมั่นใจว่า รัฐไทยความคิดยังไม่เป็นเอกภาพว่าจะเอายังไงแน่ ต้องเอาให้ชัด เช่น เขาแบ่งแยกดินแดน ก็ต้องปฏิเสธออกมาให้ขาดว่าไม่เอา หรือจะอ่อนกว่านั้น ก็อาจตั้งหน่วยองค์กรอิสระขึ้นมาบริหารหรือจะเอาแค่กระจายอำนาจ ก็เอาให้ชัดแล้วมอบนโยบายไปยังคณะผู้เจรจา ส่วนเรื่อง"คู่เจรจา"จะเป็น ฮัสซัน ตอยิบ'หรือใครก็แล้วแต่ ต้องดูว่าเป็นตัวแทนที่แท้จริงของบีอาร์เอ็นจริงหรือไม่ แล้วกลุ่มอื่นๆ เช่น กลุ่มพูโล ว่ายังไง มีความเป็นเอกภาพ มีการพูดคุยกันหรือไม่

"การเจรจาสันติภาพหรือสันติสุข คือกระบวนการจับเข่าพูดคุยหารือ สิ่งแรก ทั้งสองฝ่ายต้องค้นหาความจริงกันให้ได้ว่าเป็นเอกภาพทางความคิดกันหรือไม่ และจะเอากันขนาดไหนกันอย่างไร ส่วนกอ.รมน.ยังคงต้องมี เพราะยังมีภารกิจอื่นอีกเยอะ แต่กระบวนการแก้ปัญหาภาคใต้ ต้องนำพลเรือนไปร่วมแก้ปัญหาให้มากขึ้น"

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เลขาฯเพื่อไทย ชี้นายกอบจ.ทยอยลาออก เป็นยุทธศาสตร์ของแต่ละคน

นายสรวงศ์ เทียนทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดหลายคน ทยอยยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่ง ซึ่งนายกอบจ. ที่ลงสมัครในนามพรรคเพื่อไทยจะมีใครลาออกหรือไม่นั้น

รัฐบาลเตรียมส่งสภาฯ ถกงบฯ 68 ต้น มิ.ย. สมัยวิสามัญ

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 รัฐบาลมีความพร้อมใช่หรือไม่ ว่า

นายกฯรับไม่ทราบขั้นตอน 'กฤษฎีกา' ให้ศาลรธน.ชี้ขาดคุนสมบัติ 'พิชิต' ยันทุกอย่างเป็นไปตามกม.

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เดินทางเข้าพรรคเพื่อไทยเพื่อร่วมกิจกรรม "10 เดือนที่ไม่ต้องรอ ทำต่อให้เต็ม 10" ซึ่งจะมีการเปิดตัวว่าที่ผู้สมัครนายก อบจ. ในนามพรรคเพื่อไทย

'เศรษฐา' จ่อจัดรายการ 'นายกฯพบประชาชน' อยากสื่อสารกับปชช.สม่ำเสมอ

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการเตรียมจัดรายการนายกฯพบประชาชน ว่า ตนไม่แน่ใจว่าจะใช้ชื่อรายการว่าอะไร

นายกฯซวยแล้ว! ภาคปชช.อ้างคำวินิจฉัยกฤษฎีกาคุณสมบัติ 'ทนายถุงขนม' ยื่นป.ป.ช.เอาผิด

สืบเนื่องจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ขอให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาให้ความเห็นในปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของรัฐมนตรี เฉพาะตามมาตรา 160(6) ประกอบกับมาตรา 98 (7) และมาตรา 160 (7) ของรัฐธรรมนูญ