เศรษฐกิจไทย วิกฤติ หรือ ไม่วิกฤติ

วิกฤติหมายถึงอะไร ประเทศไทยอยู่ในภาวะวิกฤตหรือไม่ ขณะนี้มีความสับสนอย่างมากในสังคมไทยในการใช้คำว่า วิกฤติ

เราพูดกันถึงวิกฤติคุณภาพการศึกษา วิกฤติหนี้ครัวเรือน วิกฤติความสามารถในการแข่งขัน วิกฤติการพัฒนาผลิตภาพและการเข้าถึงเทคโนโลยีสมัยใหม่ วิกฤติศรัทธาในระบบศาล วิกฤติศรัทธาในข้าราชการและนักการเมือง หรือศรัทธาในกระบวนการยุติธรรมและความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย  วิกฤติความเหลื่อมล้ำและการเลือกปฏิบัติในสังคมที่ทวีความรุนแรงขึ้น วิกฤติความขัดแย้งในด้านความคิด วิกฤตสังคมชราภาพ รวมทั้งวิกฤติทุจริต ธุรกิจสีเทา นักการเมืองสีเทา สร้างความมั่งคั่งให้ตนเองมิใช่ด้วยความสามารถแต่เพราะเครือข่ายทุจริตที่เกื้อหนุนกัน เหล่านี้ล้วนเป็นปัญหา เป็นวิกฤติ ที่ต้องขบคิดและแก้ไข

อย่างไรก็ดี เมื่อรัฐบาลแถลงนโยบาย ว่าประเทศไทยวิกฤติ จำเป็นต้องกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการโอนเงินเพื่อการบริโภคของครัวเรือน ก็ต้องเป็นที่เข้าใจว่า รัฐบาลหมายถึงวิกฤติเศรษฐกิจ มิใช่วิกฤติในความหมายอื่นที่กล่าวมา ซึ่งเป็นปัญหาเฉพาะเรื่อง เป็นปัญหารายสาขา หรือปัญหาโครงสร้าง ไม่สามารถเหมารวมว่าเป็นวิกฤติระดับประเทศที่เรียกว่าเศรษฐกิจมหภาค เมื่อรัฐบาลประกาศนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ก็ย่อมต้องหมายถึงวิกฤติในระดับเศรษฐกิจมหภาคอย่างเดียวเท่านั้น

ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องตอบโจทย์ว่า เศรษฐกิจไทยวิกฤติหรือไม่ วิกฤติในแง่ใด การกระตุ้นเศรษฐกิจจำเป็นหรือไม่ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการกระตุ้นการบริโภคมีประสิทธิภาพและแก้ปัญหาตรงเป้าหรือไม่

วิกฤติเศรษฐกิจ คืออะไร

วิกฤติเศรษฐกิจ อาจมีสาเหตุและลักษณะต่างๆ และแม้ว่าจะมีความแตกต่างอยู่บ้างในเชิงวิชาการเรื่องแนวคิดและตัวชี้วัดในทางปฏิบัติ แต่นักวิชาการตลอดจนสถาบันที่เชี่ยวชาญทางเศรษฐกิจทั้งในประเทศและในระดับสากล ก็เห็นพ้องต้องกันว่าวิกฤติเศรษฐกิจ จะต้องมีลักษณะบางอย่างที่บ่งชี้อย่างชัดเจน ซึ่งอาจแบ่งได้เป็นประเภทต่างๆ ซึ่งอาจเกี่ยวเนื่องกัน ดังนี้

(ก) วิกฤติสถาบันการเงินอันเนื่องมาจากการขาดสภาพคล่อง เกิดขึ้นเมื่อสถาบันการเงินไม่สามารถจ่ายหนี้เจ้าหนี้ได้ เช่น ผู้ฝากเงินขอถอนเงินไม่ได้ตามสัญญาที่กำหนด หรือ ธนาคารไม่สามารถรองรับความเสียหายที่เกิดขึ้น เช่น จากการด้อยค่าของสินทรัพย์ หรือการขาดทุนจากการลงทุนของสถาบันการเงินเอง ระบบธนาคารระหว่างประเทศมีความเข้มงวดในการดูแลเรื่องนี้อย่างเข้มข้นขึ้นเป็นลำดับ จากบทเรียนภาวะวิกฤติในประเทศต่างๆ ที่เกิดขึ้นในอดีต โดยธนาคารเพื่อการชำระบัญชีระหว่างประเทศ (Bank of International Settlements: BIS) ซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองบาเซิล ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ มีธนาคารกลางของประเทศต่างๆ ถือหุ้นอยู่ รวมทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย ร่วมกันกำหนดกฎเกณฑ์ ดูแลระบบเงินตราระหว่างประเทศให้มีความมั่นคงและมีเสถียรภาพ กำหนดให้สินทรัพย์สภาพคล่องหมายถึง สินทรัพย์ที่มีคุณภาพดี สภาพคล่องสูง ความเสี่ยงและความผันผวนต่ำ ไม่ติดภาระผูกพันและแม้ในสถานการณ์ด้านสภาพคล่องที่มีความรุนแรง ก็สามารถเปลี่ยนเป็นเงินสดได้อย่างรวดเร็วโดยมูลค่าของทรัพย์สินเหล่านั้นไม่เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ ปัจจุบัน กำหนดอัตราส่วนของปริมาณสินทรัพย์สภาพคล่องทั้งสิ้นหารด้วยประมาณการกระแสเงินสดไหลออกสุทธิภายใน 30 วัน ให้เท่ากับ 100% โดยเกณฑ์ที่ส่อว่าวิกฤติคือต่ำกว่า 100% ซึ่ง ณ ปลายปี 2566 อัตราส่วนนี้มีค่าสูงประมาณ 196% สำหรับระบบธนาคารในประเทศไทย

(ข) วิกฤติสถาบันการเงิน จากภาวะเสี่ยงต่อการล้มละลาย เกิดขึ้นเมื่อสถาบันการเงินไม่มีความมั่นคง ผู้ฝากเงินไม่มีความมั่นใจว่าธนาคารจะสามารถจ่ายคืนเงินฝาก และชำระคืนเงินกู้แก่เจ้าหนี้ได้เต็มจำนวน ธนาคารมีกองทุนไม่เพียงพอที่จะรองรับความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นจากสภาวะผันผวนต่างๆ และสร้างความเจริญเติบโตขยายธุรกิจต่อไปในอนาคต ปัจจุบัน BIS กำหนดเกณฑ์เงินกองทุนที่ธนาคารต้องดำรงไว้ ในอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงเท่ากับ 11% (ประกอบด้วยเงินกองทุนชั้นที่ 1 เท่ากับ 8.5% และกันชนอีก 2.5%) นอกจากนี้ธนาคารที่มีความสำคัญสูงต่อระบบสถาบันการเงิน ให้ดำรงเงินกองทุนที่ 12% ทั้งนี้ระบบธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทยก็ปฏิบัติตามเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด

(ค) วิกฤติสูญเสียเงินสำรองระหว่างประเทศอย่างเฉียบพลันและรุนแรง ซึ่งอาจจะเกิดจากการไหลออกของเงินทุนระหว่างประเทศอย่างรุนแรงหรือการหยุดไหลเข้าของเงินทุนจากต่างประเทศแบบเฉียบพลัน เงินสำรองฯ ทั้งหมดนั้นประกอบไปด้วย ทองคำ เงินตราและสินทรัพย์สกุลต่างประเทศ สิทธิพิเศษถอนเงิน (Special Drawing Rights: SDRs) และสินทรัพย์ส่งสมทบกองทุนการเงินระหว่างประเทศ เมื่อตรวจสอบข้อมูล ณ วันที่ 19 มกราคม 2567 พบว่าประเทศไทยมีเงินสำรองระหว่างประเทศ สุทธิ 251,387.70 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ สูงเป็นอันดับที่ 11 ของโลก คิดเป็นเงินบาทแยกเป็น ทองคำ ประมาณ 566,339.50 ล้านบาท สิทธิพิเศษถอนเงิน 194,756.08 ล้านบาท และสินทรัพย์ส่งสมทบกองทุนการเงินระหว่างประเทศและเงินให้กู้แก่กองทุนฯ 41,542 ล้านบาท

(ง) วิกฤตค่าเงินอ่อนค่าเทียบกับเงินสกุลต่างประเทศอย่างเฉียบพลันและรุนแรง ไม่มีคนไทย อายุเกิน 40 ปี ที่จะลืมวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศในปี 2540 เมื่อค่าเงินบาทลดค่าลงอย่างเฉียบพลัน รุนแรงและรวดเร็ว จาก 25 บาทต่อ 1 ดอลล่าร์สหรัฐ ลงไปจนเกือบ 60 บาท ต่อ 1 ดอลล่าร์สหรัฐ สร้างความปั่นป่วนสูญเสียในระบบเศรษฐกิจและความเดือดร้อนให้ประชาชนคนไทยโดยถ้วนหน้า วิกฤติเงินอ่อนค่าที่สำคัญก็มีตัวอย่างมากมาย เช่น เงินรูเบิลของรัสเซีย อ่อนค่าลงในปี 2014 เงินฟรังค์สวิสที่ถอนตัวจากการผูกค่าไว้กับเงินยูโรในปี 2015 เงินลีร่าตุรเกีย ซึ่งลดค่าไป 15% ในหนึ่งเดือน ในปี 2021 เงินเวเนซุเอลาทีลดค่าไปถึง 95% ในปี 2018 และก่อให้เกิดเงินเฟ้อถึงหนึ่งล้านเปอร์เซ็นต์ เงินเปโซอาร์เจนตินาที่สูญเสียมูลค่าไป 20% เมื่อเทียบกับสกุลเงินดอลลาร์ภายในหนึ่งสัปดาห์ ทำให้ค่าเงินเปโซลดลงแตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ประมาณ  500 เปโซต่อดอลล่าร์สหรัฐ   สำหรับประเทศไทยในปีที่ผ่านมา เงินบาทได้อ่อนค่าลง ประมาณ 1.3% และอ่อนค่าน้อยกว่าเงินสกุลอื่นในภูมิภาคหลายสกุลเช่น เงินวอนเกาหลี เงินดอลล่าร์ไต้หวัน และเงินริงกิตมาเลเซีย

(จ) วิกฤติหนี้และสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) เกิดขึ้นเมื่อธุรกิจไม่สามารถชำระเงินต้นและดอกเบี้ยได้ตามกำหนดเป็นวงกว้าง ประเด็นนี้ ดูข้อมูลง่ายๆก็คือ ในระบบธนาคารพาณิชย์ไตรมาส 3 ของปีที่ผ่านมา NPL อยู่ในระดับ 2.7% ในขณะที่ก่อนโควิด ซึ่งระบบเศรษฐกิจอยู่ในภาวะการขยายตัวอย่างดี ตัวเลข NPL ในช่วงเดียวกันอยู่ที่ 2.9%
(ฉ) วิกฤติการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่หดตัวอย่างเฉียบพลันและรุนแรง เป็นสิ่งที่ประเทศไทยมีประสบการณ์มาแล้ว ทั้งในช่วงวิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540 และช่วงสถานการณ์โควิด ที่เพิ่งผ่านมา แต่ในปัจจุบัน สำนักวิเคราะห์วิจัยทั้งในประเทศและต่างประเทศ เห็นตรงกันว่า เศรษฐกิจไทยแม้ว่าจะชะลอตัวลง เนื่องจากภาวะซบเซาในตลาดส่งออก และรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลง แต่เศรษฐกิจไทยก็ยังขยายตัวประมาณ 2.8% ในปีที่ผ่านมา ไม่มีการหดตัวแต่อย่างใด
(ช) วิกฤติการคลังภาครัฐ เกิดขึ้นเมื่อรายรับของภาครัฐไม่พอรายจ่ายอย่างเรื้อรังและรุนแรงและรัฐบาลมีความยากลำบากในการชำระหนี้ ปัจจุบันตัวเลขหนี้สาธารณะต่อจีดีพี อยู่ที่ระดับ 62.1% ซึ่งเป็นระดับที่ต้องระมัดระวัง ต้องบริหารการใช้จ่ายงบประมาณอย่างรอบคอบและคุ้มค่า แต่ก็ยังไม่ถึงเพดานหนี้ที่กำหนดไว้คือ 70%

(ซ) วิกฤติเงินเฟ้อรุนแรง เกิดขึ้นเมื่อระดับราคาสินค้าและบริการพุ่งสูงขึ้น ข้าวยากหมากแพง โดยทั่วไป มักถือว่าอัตราเงินเฟ้อสูงกว่า 40% ต่อเดือน นับว่าเป็นภาวะวิกฤติ สำหรับประเทศไทยคาดว่าเงินเฟ้อทั้งปี 2566 อยู่ที่ระดับต่ำกว่า 2%
เมื่อพิจารณาเกณฑ์ต่างๆและตัวชี้วัดทุกตัว ซึ่งเป็นเกณฑ์สากลของหน่วยงานระหว่างประเทศที่มีความเชี่ยวชาญทางเศรษฐกิจก็จะเห็นว่าประเทศไทยมิได้อยู่ในภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจ

จริงอยู่ประชาชนที่เปราะบางกลุ่ม อาจจะประสบภาวะวิกฤตในปัจจุบัน ในกรณีนี้ นโยบายหรือมาตรการที่ถูกต้องควรเป็นเป็นการเยียวยา ช่วยเหลือสงเคราะห์ เฉพาะกลุ่มเท่านั้น

วิกฤติ หรือ ไม่วิกฤติ นั้น สำคัญไฉน

ประเทศไทยมีกฎหมายหลายฉบับที่มุ่งส่งเสริมให้หน่วยงานของรัฐใช้จ่ายงบประมาณด้วยความรอบคอบ ระมัดระวัง และคุ้มค่า การจัดทำงบประมาณในแต่ละปีมีกระบวนการและขั้นตอนที่มุ่งเน้นการใช้งบประมาณให้เกิดประโยชน์สูงสุด โครงการใหญ่ๆ มีการวิเคราะห์ผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม และสุขภาพอนามัยของประชาชน

การรักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจเพื่อการเจริญเติบโตที่ยั่งยืนจำเป็นต้องอาศัยวินัยในการใช้จ่ายงบประมาณ ดังนั้น มาตรา 53 ของ พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลัง จึงเปิดโอกาสให้รัฐบาลตั้งงบประมาณเพิ่มเติมจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีได้ เฉพาะกรณีที่มีวิกฤต มีเหตุฉุกเฉิน มีความจำเป็นเร่งด่วน เพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติของประเทศเท่านั้น

แก้ปัญหาตรงเป้าหรือไม่

นอกจากประเด็นกฎหมายแล้ว ยังต้องถามว่านโยบายให้เงินเพื่อการบริโภคนั้น เป็นวิธีการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพหรือไม่ มีความเป็นธรรมหรือไม่ แก้ปัญหาได้ตรงเป้าหรือไม่ หรือว่า เป็นการใช้มาตรการผิดฝาผิดตัว และสร้างปัญหาให้ประเทศในอนาคต

การใช้งบประมาณเพื่อการบริโภคระยะสั้น ทำให้รัฐเสียโอกาสที่จะลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน พัฒนาเทคโนโลยีและทรัพยากรมนุษย์ เพื่อความเจริญที่ยั่งยืน และงานศึกษาจำนวนมากทั้งในและต่างประเทศก็ชี้ให้เห็นว่า การใช้จ่ายเพื่อการลงทุนของรัฐ มีประสิทธิภาพในการกระตุ้นเศรษฐกิจมากกว่าการแจกเงินเพื่อการบริโภคของครัวเรือน
เรื่องความเป็นธรรม ก็มีปัญหาเช่นกัน เพราะการแจกแบบเหวี่ยงแห ทำให้มีผู้รับจำนวนมาก เป็นผู้ที่ไม่สมควรได้รับ หากรัฐบาลมุ่งช่วยเหลือ เยียวยากลุ่มเสี่ยง กลุ่มประชาชนเปราะบางที่เดือดร้อนสาหัสจากภาวะเศรษฐกิจที่ผ่านมา ให้ความช่วยเหลือแบบเฉพาะเจาะจงและตรงเป้า ความเป็นธรรมจึงจะเกิด

นโยบายนี้ยังสร้างปัญหาให้ประเทศ จากภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้น การก่อหนี้ที่จะต้องชดใช้ในอนาคต และการขาดวินัยทางการคลังยังอาจนำไปสู่การลดระดับเครดิตของประเทศโดยรวม กระทบต่อผู้กู้ ธุรกิจเอกชนและประชาชนอย่างถ้วนหน้า

คอลัมน์ เวทีพิจารณ์นโยบายสาธารณะ
ดร. สิริลักษณา คอมันตร์
กลุ่มนโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ปฎิรูปการศึกษา: กุญแจสำคัญในการเพิ่มศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

ไม่ทราบจะเรียกว่าเป็นวิกฤตได้ไหม เมื่อผลการประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล หรือ PISA ประจำปี 2565 ของนักเรียนไทยออกมาต่ำที่สุดในรอบ 20 ปี ในทุกทักษะ ทั้งด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการอ่าน

สังคมไทยภายใต้กระบวน การยุติธรรมหลาย มาตรฐาน 

ต้องยอมรับว่าหลายๆ ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศเราในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานั้นทำให้ระบบสังคมโดยเฉพาะระบบย่อยหลายระบบ เช่น เศรษฐกิจ ครอบครัว สาธารณสุข ความเชื่อและศาสนามีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การเจริญเติบโตด้านวัตถุ โครงสร้างพื้นฐาน เทคโนโลยี รถยนต์ไฟฟ้า หรือการนำปัญญาประดิษฐมาประยุกต์ใช้งานและธุรกิจต่างๆ

เตือนแล้วนะ!  กรรมการศึกษาดิจิทัลวอลเล็ต ป.ป.ช. ชี้รัฐบาลเดินหน้าเสี่ยงทุจริต ซ้ำรอยจำนำข้าว

กรรมการศึกษาดิจิทัลวอลเล็ตป.ป.ช. เตือนรัฐบาลถ้ายังเดินหน้าเสี่ยงทุจริตหากไม่เลิกอาจโดนชี้มูลดำเนินคดีชี้อาจซ้ำรอยจำนำข้าว! ย้ำไทยไม่เข้าขั้นวิกฤตเศรษฐกิจแบบเฉียบพลัน-รุนแรงถึงขั้นต้องออกกฎหมายกู้เงินห้าแสนล้านบาท

โฉนดเพื่อเกษตรกรรมกับปัญหาการลักลอบเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน          

สืบเนื่องจากนโยบายปัจจุบันของรัฐบาล ที่ได้ผลักดันให้มีการออกโฉนดเพื่อเกษตรกรรมให้กับที่ดินเกษตรกรรม ส.ป.ก. โดยคาดหวังว่า นโยบายนี้จะช่วยเพิ่มความมั่งคั่งทางทรัพย์สินให้กับเกษตรกรที่ยากจนได้ และในขณะเดียวกัน ก็จะสามารถอนุรักษ์รูปแบบการใช้ประโยชน์ที่ดินเกษตรกรรมเอาไว้ด้วยนั้น

นโยบายพักชำระหนี้เกษตรกรรอบใหม่ : ทำอย่างไรไม่ให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย

นโยบายพักชำระหนี้เกษตรกรลูกค้าธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) รอบใหม่นี้นับเป็นครั้งที่ 14 ในรอบ 9 ปีที่ผ่านมา คำถามคือการพักชำระหนี้ครั้งนี้จะช่วยลดยอดหนี้คงค้างของเกษตรกรลงสู่ระดับที่เกษตรกรสามารถผ่อนชำระได้ตามปรกติโดยไม่เดือดร้อนได้หรือไม่

‘สังคมสูงวัย’ คนไทยเข้าใจอย่างไร ?

“ไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยตั้งแต่ปี พ.ศ.2548 จากสถานการณ์โครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนไปส่งผลเกิดผลกระทบทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม และปัญหาจะมีความท้าทายมากยิ่งขึ้นในอนาคต ดังนั้น สังคมไทยควรตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลงและทำความเข้าใจความเป็นสังคมสูงวัย รวมทั้งทุกภาคส่วนควรเตรียมการรองรับปัญหาโครงสร้างประชากรใหม่ร่วมกัน”