รับมือกับภูมิอากาศปัจจุบันให้ได้ดีก่อนจะไปวุ่นวายกับภูมิอากาศในอนาคต

ในปัจจุบันคำว่าโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ เป็นคำที่ถูกกล่าวถึงอย่างแพร่หลาย ทั้งในบริบทการการเมือง เศรษฐกิจและสังคมอย่างแพร่หลาย แต่การใช้คำทั้งสองนี้มักจะสื่อถึงความหมายที่หลากหลาย ขึ้นกับสิ่งที่ผู้ใช้อยากจะโน้มน้าวให้ผู้ที่รับสื่อรับรู้ไปในทางใด

ภาวะโลกร้อนที่เพิ่มสูงขึ้นกว่าระดับที่ควรจะเป็นตามธรรมชาติในปัจจุบัน อันสืบเนื่องจากการสะสมของก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศโลกเนื่องจากกิจกรรมของมนุษย์นั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงและมีหลักฐานเชิงประจักษ์ทางวิทยาศาสตร์รองรับอย่างชัดเจน รวมถึงความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่มีในปัจจุบันก็สามารถยืนยันได้ในระดับหนึ่งว่าภูมิอากาศในภาพรวมระดับโลกและระดับภูมิภาคของโลกนั้นมีการเปลี่ยนแปลงจากในอดีตและมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนแปลงมากขึ้นในอนาคต อย่างไรก็ตามปริมาณและพลวัตของความร้อนในชั้นบรรยากาศนั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ควบคุมการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศโลก แต่ยังมีปัจจัยในมหาสมุทรและพื้นทวีปต่างๆ อีกมากมายที่นักวิทยาศาสตร์ยังเข้าใจไม่หมด จึงทำให้ผลการคาดการณ์ภูมิอากาศในอนาคตมีความซับซ้อนและความไม่แน่นอนสูง การใช้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์และเงื่อนไขข้ออนุมานที่ต่างกันจึงทำให้ผลการคาดการณ์ยังมีความหลากหลายที่ค่อนข้างมาก

ลำพังแต่ภูมิอากาศในภาพใหญ่ภาพรวมในอนาคตเราก็ยังไม่สามารถมั่นใจในความแม่นยำได้ นับประสาอะไรกับผลของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในภาพรวมที่จะส่งผลต่อลักษณะอากาศของแต่ละพื้นที่ ซึ่งเป็นภาวะแวดล้อมที่ภาคส่วนทางสังคมและเศรษฐกิจในพื้นที่นั้นๆ จะต้องเผชิญในอีก 20-30 ปีข้างหน้าที่จะยิ่งมีความไม่แน่นอนเป็นอย่างมาก ด้วยเหตุจากปัจจัยทางภูมิศาสตร์ กายภาพและนิเวศวิทยาของพื้นที่และของภูมิภาคที่ไม่ได้หยุดนิ่งแต่ก็มีการเปลี่ยนแปลงไปพร้อมๆ กับภูมิอากาศของพื้นที่นั้นด้วย ดังนั้นหลักคิดของการรับมือกับสถานการณ์ที่ไม่พึงประสงค์จากสภาพอากาศโดยใช้รูปแบบและขนาดของผลกระทบในอนาคตเป็นตัวตั้งเพื่อการออกแบบวิธีการและเครื่องมือในการรับมือในอนาคตจึงมีความเสี่ยงสูงมากที่จะผิดพลาด และความผิดพลาดบางอย่างโดยเฉพาะมาตรการที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างถาวรในเชิงกายภาพ เศรษฐกิจและโครงสร้างทางสังคมของพื้นที่ก็อาจจะนำไปสู่การทำให้พื้นที่นั้นอาจได้รับผลที่รุนแรงมากขึ้นจากภูมิอากาศและภาวะกดดันอื่นๆ ในอนาคต โดยเฉพาะกลุ่มทางสังคมและเศรษฐกิจที่อ่อนแอหรือด้อยโอกาสอยู่แล้วในปัจจุบัน การมองปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในอนาคตแบบเชิงเส้น โดยเอาภูมิอากาศในอนาคตเป็นตัวขับเคลื่อน (Driver) ภาวะกดดัน (Pressure) ที่จะมีต่อสถานะของระบบทางสังคมและเศรษฐกิจของพื้นที่ (States) เกิดเป็นผลกระทบต่างๆ (Impacts) ที่ต้องมีการตอบสนองรับมือ (Responses) หรือที่รู้จักกันในชื่อย่อๆ ว่า DPSIR จึงอยู่บนฐานความคิดที่ว่าเราสามารถหยั่งรู้ภูมิอากาศในอนาคตได้อย่างค่อนข้างแม่นยำ แต่ในความเป็นจริงคงไม่มีนักภูมิอากาศคนใดกล้ายืนยันว่าสามารถคาดการณ์ภูมิอากาศในอนาคต 30-50 ปีข้างหน้าในระดับพื้นที่ได้อย่างถูกต้อง

การมองภูมิอากาศว่าเป็นหนึ่งในปัจจัยของการพัฒนาในปัจจุบัน โดยไม่มองว่าเป็นตัวปัญหาที่แปลกแยกออกมาจากปัญหาอื่นๆ ที่มีอยู่แล้วมากมายในพื้นที่ จะทำให้เป็นความเชื่อมโยงกับความจริงและจะได้รับการยอมรับจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมากกขึ้น เพราะนโยบายหรือยุทธศาสตร์ใดๆ ที่เกิดขึ้นจะยึดโยงกับปัญหาปัจจุบันที่ทุกฝ่ายรับรู้ โดยเน้นการรับมือและสร้างความเข้มแข็งในการรับมือกับทุกปัญหาและแรงกดดันในปัจจุบันซึ่งรวมถึงภูมิอากาศในอดีตมาถึงปัจจุบันด้วย ในขณะเดียวกันก็จะทำให้ทุกฝ่ายเห็นร่วมกันว่าจะต้องพัฒนาหรือปรับมาตรการต่างๆ อย่างไร รวมถึงการชดเชยหรือเยียวยาผู้ที่เสียโอกาสหรือภาคส่วนที่ต้องเสียสละเพื่อให้พื้นที่โดยรวมสามารถเดินไปในอนาคตได้อย่างยั่งยืน และทำให้หน่วยงานที่มีภาระกิจต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ได้รับทราบถึงความเชื่อมโยงกับงานของอื่นๆ จึงจะทำให้ข้อเสนอเพื่อการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงต่างๆ จะได้รับการยอมรับมากขึ้น รวมถึงการมีกลไกในการติดตามปรับปรุงมาตรการต่างๆ อย่างรอบคอบและรอบด้านเพื่อให้เข้ากับเงื่อนไขต่างๆ รวมถึงภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป ก็จะทำให้ภาคส่วนต่างๆ ได้รับประโยชน์ในทันที
อย่างไรก็ดี เนื่องจากภูมิอากาศเป็นภาพรวมของลักษณะอากาศในห้วงเวลาที่ยาวนานระดับทศวรรษ และมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนแปลงไปในอนาคต การรับมือต่อภูมิอากาศของแต่ละพื้นที่จึงต้องมียุทธศาสตร์การสร้างเสริมความเข้มแข็งมั่นคงต่อภูมิอากาศ (Climate Resilience) ทั้งในปัจจุบันและคำนึงถึงสถานการณ์ในอนาคตระยะยาวเท่าที่ความรู้ที่มีอยู่ในปัจจุบันจะสามารถสนับสนุนได้ เพื่อให้นโยบายหรือยุทธศาสตร์ใดๆ ที่จะกำหนดขึ้นในปัจจุบันมีความยั่งยืนมากขึ้น โดยไม่นำพาสังคมไปสู่ปัญหาใหม่ หรือไม่เป็นการลงทุนที่สูญเปล่าในอนาคต โดยเป็นนโยบายหรือยุทธศาสตร์ที่ยืดหยุ่นและให้ความสำคัญกับปฏิสัมพันธ์ทุกภาคที่เกี่ยวข้องในระดับพื้นที่ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นของภาคส่วนเหล่านั้นอย่างต่อเนื่อง และคำนึงถึงบทบาทของหน่วยงานทั้งรัฐ เอกชน และประชาสังคมที่มีภาระกิจในการดูแลรับผิดชอบต่อภาคส่วนย่อยต่างๆ ในพื้นที่นั้นซึ่งจะเป็นผู้ปฏิบัติงานในระดับพื้นที่

การกำหนดยุทธศาสตร์เพื่อสร้างเสริมความเข้มแข็งมั่นคงต่อภูมิอากาศจะต้องอิงกับบริบทและสถานการณ์ของแต่ละพื้นที่ โดยไม่ปฏิเสธแต่กลับยิ่งต้องการความรู้และหลักฐานเชิงประจักษ์ทั้งที่เป็นด้านของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในทางกายภาพ ทรัพยากรที่เป็นแหล่งสร้างรายได้และความเข้มแข็งของพื้นที่และสังคม การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวิถีการดำรงชีวิต เพื่อปรับปรุงการคาดการณ์อนาคตให้มีความน่าเชื่อถือและสอดคล้องกับความเป็นจริงให้มากขึ้น ซึ่งการพัฒนาองค์ความรู้ความเข้าใจเหล่านี้ต้องการการศึกษารวบรวมข้อมูลจริงในพื้นที่ทั้งโดยการวิจัยที่เป็นระบบและการสังเกตติดตามโดยภาคส่วนและชุมชนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่เพียงแต่เพียงการหยิบยืมแบบจำลองทั้งทางภูมิอากาศและทางเศรษฐกิจสังคมจากที่อื่นๆ หรือการขยายรายละเอียดของแบบจำลองระดับโลกหรือภูมิภาค (Downscale) ลงสู่ระดับพื้นที่ โดยขาดการนำเข้าหรือเชื่อมโยง (Assimilate) ข้อมูลความรู้ระดับพื้นที่อย่างเหมาะสมหรือเพียงพอ รวมถึงการให้ความเชื่อถือหรือเชื่อมั่นในผลการคาดการณ์จากแบบจำลองที่ขาดความหลากหลายหรือขาดการตั้งคำถามถึงความสมเหตุสมผลของแบบจำลองแต่ละแบบอย่างเหมาะสมจะเป็นเรื่องที่อันตราย และอาจจะนำไปสู่ความเสี่ยงต่อปัญหาใหม่ที่รุนแรงและต้องใช้ทรัพยากรที่มากขึ้นโดยไม่จำเปนในการดูแลหรือแก้ไขปัญหาเหล่านั้นในอนาคต

อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา
โครงการความร่วมมือระหว่างสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมันกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อพัฒนาข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อสร้างเสริมความเข้มแข็งมั่นคงต่อภูมิอากาศในระยะยาวสำหรับพื้นที่ชายฝั่งและพื้นที่เกษตรในประเทศไทย โดยศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เข้าจุดพีค! 'ดร.ธรณ์' หวั่นร้อนจัดแบบนี้อีก7-8 วัน ความตายครั้งใหญ่จะมาเยือนทะเลไทย

ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศน์ทางทะเล และรองคณบดี คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก ว่า

ไม่รักโลกตอนนี้ก็ไม่มีเวลาเหลือให้รัก! ‘ดร.ธรณ์’  เตือนอากาศร้อน 43 องศา ทะเลเกิน 32 องศา

ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศน์ทางทะเล และรองคณบดี คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

‘ดร.ธรณ์’ น้ำตาซึม โลกร้อน ไข่เต่ามะเฟือง 120 ฟอง ไม่มีลูกเกิดแม้แต่ตัวเดียว

ไม่ว่าเราทุ่มเทขนาดไหน มีบางครั้งที่โลกไม่เป็นอย่างที่เราคาดหวัง ไข่เต่ามะเฟืองของแม่ 14 กุมภา 120+ ฟอง ไม่ได้รับการผสมทั้งหมด ไม่มีลูกเต่าเกิดแม้แต่ตัวเดียว

'ดร.เสรี ศุภราทิตย์' เผยผลศึกษาชี้โลกร้อนสุดในปี 66 อะไรจะเกิดขึ้นตามมาในปี 67

รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ รองประธานกรรมการมูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กว่า #โลกร้อนสุด 2023 อะไรจะเกิดขึ้นตามมาในปี 2024 นอกเหนือการควบคุม

ทส. เปิดบ้าน กรม DCCE เสริมพลัง “กลุ่มเปราะบาง” รับมือผลกระทบโลกร้อน

วันนี้ (วันที่ 31 ตุลาคม 2566) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดบ้านกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (สส.) ต้อนรับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

'ภูมิธรรม' ถกรับมือภัยแล้งส่อลากยาว 3 ปี ชงตั้งศูนย์สั่งการ ชะลอโครงการขนาดใหญ่

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการเพื่อรองรับสถานการณ์เอลนีโญ และลานีญา ของประเทศไทย ครั้งที่ 1/2566 โดยมีนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะรองประธานกรรมการฯ