สะสางปัญหา กากแคดเมียม เดิมพันการเมืองครั้งสำคัญ พิมพ์ภัทรา-รมว.อุตสาหกรรม

เรื่องนี้จำเป็นมากต้องเอาคนที่กระทำความผิดมาลงโทษให้ได้ เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นมันกระทบกับสุขภาพและชีวิตประชาชนที่ไม่สามารถนำมาแลกได้กับเรื่องพวกนี้...วันนี้ ผลกระทบไม่ใช่แค่รัฐมนตรี แต่มันกระทบถึงสภาพจิตใจและความรู้สึก รวมถึงสุขภาพของประชาชน ที่อยู่บริเวณรอบๆ บริเวณที่แคดเมียมผ่าน นี้คือความรู้สึกของคนทั้งประเทศ เพราะฉะนั้นเรื่องนี้ต่อให้ ไปเจอ ตอ แม้จะมีไซส์ไหน ก็จำเป็น เพราะเรื่องนี้คือภาพลักษณ์ขององค์กร คือกระทรวงอุตสาหกรรม ภาพลักษณ์ของรัฐมนตรีและที่สำคัญที่สุด คือการทำงานที่อยู่ภายใต้การเดิมพันที่ยิ่งใหญ่มาก

ปัญหาการพบกากแร่อันตรายแคดเมียม ที่มีการขนย้ายมาจากจังหวัดตาก ซึ่งปัจจุบันมีการยึดอายัดได้ประมาณ 12,500 ตัน หลังพบที่สมุทรสาคร ชลบุรี และกรุงเทพฯ ยังเป็นประเด็นที่สังคมยังคงให้ความสนใจต่อเนื่อง แม้เบื้องต้น ฝ่ายกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ออกมาเปิดเผยถึงแผนการขนย้ายกากแดคเมียมของ บมจ.เบาว์แอนด์บียอนด์กลับไปยังจังหวัดตาก ว่าจะดำเนินการได้ในช่วงวันที่ 7 พ.ค. ขณะเดียวกัน ก็มีข่าวว่าอาจจะขนย้ายได้เร็วกว่านั้นคืออาจประมาณปลายเดือนเมษายนก็ได้

อย่างไรก็ตาม สังคมก็ยังให้ความสนใจติดตามถึง”เบื้องหน้า-เบื้องหลัง”ของการที่มีการขุดกากแคดเมียมดังกล่าวขึ้นมาทำการซื้อขายว่ามีกระบวนการที่ถูกต้องหรือไม่ อีกทั้งมีการให้ผลประโยชน์ที่ไม่ถูกต้องหรือไม่ จึงเป็นหน้าที่ของ กระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับเรื่องดังกล่าวต้องสะสางปัญหาที่เกิดขึ้นให้เคลียร์ทุกประเด็น เพื่อให้สังคมคลายความคลางแคลงใจ

รายการ”ไทยโพสต์ อิสรภาพแห่งความคิด”โดย”สำราญ รอดเพชร”ได้สัมภาษณ์พิเศษ”พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม"ถึงกรณีการแก้ปัญหาแคดเมียม ต่อจากนี้ รวมถึงประเด็นเชิงการเมืองเรื่อง”การปรับครม.”ในส่วนของพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่”พิมพ์ภัทรา”สังกัดอยู่ในฐานะส.ส.นครศรีธรรมราช พรรครวมไทยสร้างชาติ โดยมีรายละเอียดการสัมภาษณ์ดังนี้   

“พิมพ์ภัทรา-รมว.อุตสาหกรรม”กล่าวถึงกรณีกากแคดเมียม ที่มีการขุดขึ้นมาทำการซื้อขายจนกลายเป็นเรื่องที่สร้างความตระหนกให้กับประชาชนโดยเฉพาะในพื้นที่ซึ่งพบกากแคดเมียมว่า การที่มีการขุดแคดเมียมขึ้นมา มันก็มีเหตุจูงใจ คือเดิมทีคนตีว่ามันคือของเสีย แต่วันดีคืนดี โลกมันเปลี่ยนไป เขาบอกว่ามันไม่ใช่ของเสียแล้ว กลายเป็นวัตถุดิบที่สามารถนำไปรีไซเคิล แล้วกลับมาเป็นเงินได้ คนที่คิดทำ อาจจะคิดแบบนั้น ก็เลยคิดไปเอากากขึ้นมา แล้วขาย ที่ทำให้ได้เงิน แต่ประเด็นปัญหาคือเอาออกมาได้หรือไม่ มันถูกต้องหรือไม่ มันเป็นไปตามกระบวนการหรือไม่ การอนุญาตเป็นไปตามหลักอะไร ก็ต้องไปตรวจสอบว่าการอนุญาตทำโดยถูกต้องหรือไม่ ซึ่งมันไม่จบง่ายๆ แน่นอน  ซึ่งพอไปถามบริษัท เขาก็บอกว่าเขาได้รับใบอนุญาตถูกต้อง

-ใบอนุญาตที่ให้มีการขุดแคดเมียมขึ้นมา เป็นระดับจังหวัดหรือระดับกรมที่ออกใบอนุมัติให้มีการขุดและขนย้ายฯ?

เบื้องต้นเป็นระดับจังหวัด ที่กำลังมีการตรวจสอบอยู่ โดยวันนี้กระทรวงมีการทำงานแบบควบคู่กันไปทั้งสามเรื่องคือ หนึ่ง การหาตัวกากแคดเมียมให้ได้ครบตามจำนวนที่แจ้งมา สอง การจัดการให้กากตะกอนแคดเมียมให้กลับเข้าไปอยู่ในพื้นที่ให้ได้ และ สาม การตั้งคณะกรรมการตรวจสอบหาข้อเท็จจริง โดยให้ตรวจสอบทั้งหมดเช่น ไปดูกระบวนการว่ากากแคดเมียมออกมาได้อย่างไร มีการขนส่งถูกต้องหรือไม่ และปลายทางการขนส่งไปที่จุดใด ผิดพลาดที่ขั้นตอนไหน ผิดพลาดที่ใคร เพราะเรื่องนี้จำเป็นมากต้องเอาคนที่กระทำความผิดมาลงโทษให้ได้ เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นมันกระทบกับสุขภาพและชีวิตประชาชนที่ไม่สามารถนำมาแลกได้กับเรื่องพวกนี้

-ตอนนี้มีการลงโทษเจ้าหน้าที่ไปบ้างแล้วหรือยัง?

หากถามว่าลงโทษหรือไม่ ก็ไม่ได้ลงโทษ เพราะต้องให้กรรมการมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อน แต่วันนี้ ใครที่เห็นว่ามีประเด็นอยู่ ที่สังคมมีความกังขา ก็ต้องเอาออกนอกพื้นที่ก่อน ซึ่งปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมได้ออกคำสั่งไปแล้ว เพราะนี้คือความรู้สึกของสังคม และที่สำคัญ เราก็ต้องเปิดโอกาสให้ คนที่เขาคิดว่าเขาเป็นจำเลยของสังคมให้เขาได้มีโอกาสในการอธิบายและชี้แจง

-ในส่วนของคดีที่ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) ดำเนินการอยู่ เป็นเรื่องความรับผิดชอบของใคร?

ทางบก.ปทส.เป็นฝ่ายช่วยตามค้นหากากแคดเมียม ซึ่งทางอุตสาหกรรมจังหวัด ก็มีการไปแจ้งความกับบก.ปทส.ทั้งเรื่องการอายัด -การยึดกากตะกอนแคดเมียม รวมถึงเรื่องการตรวจสอบ-ตรวจนับด้วย 

สำหรับกระบวนการที่มีการทำกันมาตลอดในช่วงหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา  ทางกระทรวงอุตสาหกรรม เราไม่ได้หยุดการทำงาน มีการทำงานอยู่ต่อเนื่อง มีการนัดประชุมทุกวัน เพื่อจัดเตรียมแผน เพราะต้องรับผิดชอบเรื่องการขนกากแคดเมียมกลับทั้งหมด

 โดยการขนกลับต้องเป็นไปตามกระบวนการที่ถูกต้องตามมาตรฐาน และที่สำคัญที่สุดคือต้องถูกต้องตามกระบวนการ EIA ด้วย ก็มีการเข้ามาพูดคุยทำแผนกันว่าจะต้องขนด้วยวิธีไหน ใช้รถอะไรในการขนส่ง ใช้รถกี่คัน เมื่อใดจะเริ่มขน ก็มีการทำแผนขึ้นมา โดยก็มีการปรับเช่น เพิ่มจำนวนรถในการขนส่งให้มากขึ้นเพื่อให้ใช้เวลาในการขนส่งลดน้อยลง  และกระบวนการวิธีการขน ซึ่งต้องมีการพูดคุยกันกับกระทรวงต่างๆ เช่น กระทรวงคมนาคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงสาธารณสุข เพื่อทำให้เป็นกระบวนการที่รัดกุม ถูกต้องและปลอดภัยกับประชาชน จนได้ข้อสรุปว่าจะเริ่มขนวันแรกวันที่ 7 พ.ค.

โดยก็วางไว้ว่าจะใช้เวลาในการขน 36 วัน แต่ว่าการขนต้องไปดูอีกว่า บ่อที่ขุดมานั้น ณ วันนี้พร้อมที่จะรับกากแคดเมียม กลับไปหรือไม่ ซึ่งทางกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ก็เข้าไปดูหน้างานจริง ไปดูที่บ่อ เพื่อไปตรวจสอบว่าบ่อมีความสมบูรณ์พอที่จะรองรับ เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐาน EIA ทุกอย่าง ทราบว่าอาจจะต้องมีการปรับปรุงบ่อด้วย เพื่อที่จะได้คลายความกังวลประชาชนที่อยู่ในบริเวณดังกล่าวด้วย และคลายความกังวลของทุกคนที่มีความวิตกกังวลอยู่ว่า ขนกลับไปแล้วจะปลอดภัยหรือไม่ จะมีการรั่วซึมหรือไม่ ต้องตอบโจทย์ให้ได้

-การที่มีการไปขุดกากแคดเมียมขึ้นมา หลายคนก็วิพากษ์วิจารณ์ว่า มันน่าจะเกี่ยวกับเรื่องการพัฒนาที่ดินมากกว่า เพราะที่ดินตรงนั้นที่จังหวัดตาก  2,500 ไร่ แต่แคดเมียมขายก็อาจได้สัก 100-200ล้านบาท อาจเป็นปลายเหตุ เรื่องนี้มองอย่างไร?

คือทุกอย่างมันมีเหตุหมด ขึ้นอยู่กับว่าเหตุอันนั้น ใครเป็นคนคิด กลุ่มไหนเป็นคนคิด เพราะถ้าไม่มีเหตุ เรื่องนี้จะไม่เกิดขึ้นเลย เพราะว่ามันอยู่ในที่ของมันดีๆ คนซื้ออาจมีเหตุว่าซื้อไปเพราะอะไร คนขายก็อาจมีเหตุว่า อยากขายเพราะอะไร ซึ่งเรามีคณะกรรมการตรวจสอบอยู่ ก็ขอให้คณะกรรมการได้ทำงานอย่างเต็มที่

- เรื่องการแก้ปัญหาแคดเมียม ได้เคยคุยกับนายกฯบ้างหรือไม่ ?

               ทางนายกรัฐมนตรีมีความกังวลเรื่องนี้ ก็มีการพูดคุยกันตลอด ตั้งแต่เริ่มทราบข่าวมา ก็ได้มีการขอการสนับสนุนจากนายกรัฐมนตรีหลายเรื่อง ทั้งเรื่องนโยบาย เรื่องของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและที่สำคัญที่สุด เรื่องของกระบวนการตรวจสอบหาข้อเท็จจริง

-หลายคน ก็ปรามาสกระทรวงอุตสาหกรรมไว้ล่วงหน้าว่างานนี้สุดท้ายอาจเจอตอ?

เจอตอ ก็ต้องหาคนทำผิดให้ได้ เพราะวันนี้คนที่ได้รับผลกระทบ ไม่ใช่แค่รัฐมนตรี คือทุกคนหนีไม่พ้น จะต้องมากล่าวหาว่าเรื่องนี้มันเป็นกระบวนการ รัฐมนตรีต้องมีส่วนเกี่ยวข้อง คือวันนี้บอกแล้วว่า ผลกระทบไม่ใช่แค่รัฐมนตรี แต่มันกระทบถึงสภาพจิตใจและความรู้สึก รวมถึงสุขภาพของประชาชน ที่อยู่บริเวณรอบๆ บริเวณที่แคดเมียมผ่าน นี้คือความรู้สึกของคนทั้งประเทศ

เพราะฉะนั้นเรื่องนี้ต่อให้ ตอ มันจะมีไซส์ไหน ก็จำเป็น เพราะเรื่องนี้คือภาพลักษณ์ขององค์กร คือกระทรวงอุตสาหกรรม ภาพลักษณ์ของรัฐมนตรี

และที่สำคัญที่สุด นี้คือการทำงานที่อยู่ภายใต้การเดิมพันที่ยิ่งใหญ่มาก ซึ่งตัวดิฉันเองมาทำงานเป็นรัฐมนตรีภายใต้พรรครวมไทยสร้างชาติ ซึ่งภาพจำของรัฐมนตรีที่มาจากพรรครวมไทยสร้างชาติคือ"ต้องสู้ทุกปัญหา-แก้ได้ทุกเรื่อง"

-งานนี้หนักที่สุดหรือไม่ เรื่องแคดเมียม?

ดิฉันคิดว่า มันมีที่สุด ในที่สุดในทุกวัน คือเจอที่สุดในเรื่องไหนมา ก็จะมีที่สุดในที่สุด มันก็มีมาเรื่อยๆ

-ที่มีข่าวว่า มีการประชุมกับผู้บริหารของกระทรวงอุตสาหกรรม ที่มีปลัดกระทรวง มีอธิบดี แล้วรัฐมนตรีพูดว่าห้ามเกียร์ว่าง อันนี้พูดจริงหรือไม่?

พูดจริง โดยได้บอกว่างานนี้เป็นงานใหญ่ เพราะมีผลกระทบกับคนทั้งประเทศ และนี้คือเรื่องของภาพลักษณ์ ของกระทรวงอุตสาหกรรมเพราะฉะนั้นนี้คือโอกาส ที่คนของกระทรวงอุตสาหกรรมต้องแสดงผลงานให้คนได้เห็นว่าหากแม้คนของกระทรวงอุตสาหกรรมทำผิด ก็ต้องรับโทษ หรือหากไม่ได้ทำผิด เราก็ต้องคลี่คลายประเด็นปัญหานี้ให้ได้ แก้ปัญหาให้ได้ เพราะฉะนั้นต้องทำงาน ไม่ใช่ปล่อยให้คนอื่นทำ หรือปล่อยให้ดิฉันทำคนเดียว

-แสดงว่าตอนนั้น ยังไม่ค่อยมีใครเข้ามารายงานปัญหาให้ทราบหรืออย่างไร มีช่องว่างหลายอย่าง?

เข้าใจว่าเรื่องนี้มีประเด็นอยู่หลายประเด็นเหมือนกัน ก็เข้าใจได้

-แสดงว่ายังไม่ตอบสนองเราเท่าไหร่ ณ นาทีนั้น?

คิดว่าทุกคนก็มีขอบเขตหน้าที่ของตัวเอง ตัวดิฉันเองก็มีหน้าที่ ซึ่งต้องมาบริหารเพราะฉะนั้นเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น เราก็ต้องแก้ปัญหาให้ได้ ที่สำคัญหากจะแก้ปัญหาให้ได้ ก็ต้องมีคนมาช่วยกันทำงาน ซึ่งเชื่อว่าคนอยากทำงานมีเยอะ คนพร้อมทำงานก็มีมาก แต่ว่าทำงานแล้ว บางคนก็ต้องเจ็บตัวบ้าง บางคนก็ต้องเหนื่อยบ้าง แต่สำหรับตัวดิฉันเองคิดว่านี้คือโอกาส เป็นโอกาสของกระทรวงอุตสาหกรรม

ณ วันนี้ ก็ยังไม่ได้รับการติดต่อใดๆ และทุกวันที่ทำงาน ก็เข้าใจดีว่าทุกวันทำงานของเรา มันก็คือการนับถอยหลังการเป็นรัฐมนตรีเช่นกัน เพราะฉะนั้นสิ่งที่ทำได้คือทำงานในทุกๆวันให้ดีที่สุด สร้างภาพจำของพรรครวมไทยสร้างชาติ สร้างภาพจำของคนที่มาจากภาคใต้เป็นคนทำงานและสร้างภาพจำว่า ถึงจะเป็นผู้หญิงก็สามารถทำงานได้ไม่แพ้ใคร อันนี้คือสิ่งที่ต้องทำในทุกๆวัน             

-ข่าวเรื่องปรับครม. คนบอกกันว่า ตำแหน่งรมว.อุตสาหกรรม ยังเหนียวแน่นอยู่ มีความหวั่นไหวบ้างหรือไม่?

คนที่จะปรับครม.คือท่านนายกรัฐมนตรีและในส่วนของพรรครวมไทยสร้างชาติ ก็คือหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค และคณะผู้บริหารพรรค ซึ่ง ณ วันนี้ ก็ยังไม่ได้รับการติดต่อใดๆ และทุกวันที่ทำงาน ก็เข้าใจดีว่าทุกวันทำงานของเรา มันก็คือการนับถอยหลังการเป็นรัฐมนตรีเช่นกัน

เพราะฉะนั้นสิ่งที่ทำได้คือทำงานในทุกๆวันให้ดีที่สุด สร้างภาพจำของพรรครวมไทยสร้างชาติ สร้างภาพจำของคนที่มาจากภาคใต้เป็นคนทำงานและสร้างภาพจำว่า ถึงจะเป็นผู้หญิงก็สามารถทำงานได้ไม่แพ้ใคร อันนี้คือสิ่งที่ต้องทำในทุกๆวัน              

-มีคนพูดกันแบบแซวกันไปว่า รวมไทยสร้างชาติ จะแลกกระทรวงอุตสาหกรรมกับกระทรวงแรงงาน จะเป็นไปได้หรือไม่?

แล้วแต่ผู้บริหารพรรคเลยค่ะ เราต้องพร้อมที่จะทำงานได้ การที่เราจะไปนั่งตรงไหน ต้องทำงานให้ได้ เพราะเขามอบหมายให้ไปแล้ว

-ต้องติดตามกันต่อไปว่าจะมีการปรับหรือไม่ ทำใจไว้บ้างแล้วหรือไม่?

ก็ต้องทำใจ เพราะเราโดนกำหนดไว้แล้ว ถ้าวันหนึ่งผู้หลักผู้ใหญ่ให้โอกาสทำงานแล้วเราก็รู้สึกว่าทุกวันที่มาทำงานก็ทำอย่างเต็มที่ ถ้ามันเกิดการเปลี่ยนแปลงก็ต้องยอมรับให้ได้

-เลือกตั้งรอบหน้าจะยังอยู่กับพรรครวมไทยสร้างชาติหรือไม่?

พรรคยังอยู่ เราก็ยังอยู่ ก็ยังอยู่ด้วยกัน ยังไม่ได้ไปไหน พรรคก็ยังอยู่ ยังไม่ไปไหนกัน คิดว่าพรรครวมไทยสร้างชาติ ไม่ได้สร้างแค่นักการเมือง ไม่ได้สร้างแค่รัฐมนตรี แต่ว่าพรรครวมไทยสร้างชาติ พยายามสร้างมิติการเมืองใหม่ๆ ในหลายอย่างเพื่อจะแก้ปัญหาให้ประชาชนจริงๆ ขอให้มั่นใจในพรรครวมไทยสร้างชาติเพราะเราสร้างนักการเมืองที่เข้ามาทำงานเพื่อประชาชนจริงๆ

7 เดือนบนเก้าอี้ รมว.อุตสาหกรรม สร้างการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ สนับสนุนผู้ประกอบการให้อยู่ได้

“พิมพ์ภัทรา-รมว.อุตสาหกรรม”ถือเป็นนักการเมืองหญิงคนดังที่มีคะแนนนิยมสูงมากคนหนึ่งในพื้นที่ภาคใต้ เพราะถึงตอนนี้ ก็เป็นส.ส.ระบบเขต จังหวัดนครศรีธรรมราชมาแล้ว 4 สมัย โดยการเลือกตั้งครั้งล่าสุด ได้ย้ายจากพรรคประชาธิปัตย์ที่เป็นส.ส.มา 3 สมัย มาอยู่กับพรรครวมไทยสร้างชาติ และได้เป็นรัฐมนตรีครั้งแรกในชีวิตกับตำแหน่งรมว.อุตสาหกรรม ที่จนถึงขณะนี้ทำงานมาร่วม7-8 เดือนแล้ว

โดย”พิมพ์ภัทรา”บอกว่าการที่ได้เข้ามาเป็นรมว.อุตสาหกรรม ถือเป็นความรู้สึกภาคภูมิใจ เพราะชีวิตการเมือง ทุกคนที่เข้ามาเป็นส.ส.ก็มีความใฝ่ฝันในการเป็นรัฐมนตรี ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีและเป็นเวทีที่ทำให้เราได้แสดงว่า เรามีความสามารถและมีศักยภาพขนาดไหน

ส่วนการทำงานในช่วงเจ็ดเดือนที่ผ่านมา ตั้งแต่ที่เข้ามารับหน้าที่ รมว.อุตสาหกรรมและเข้ากระทรวงวันแรก ที่มีการพบกับผู้บริหารของกระทรวงอุตสาหกรรม รวมถึงการมอบนโยบายการทำงาน

ความตั้งใจของเราก็คือ ภาพของคนข้างนอกที่มองกระทรวงอุตสาหกรรม มองว่ากระทรวงอุตสาหกรรมจะสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้ พอเราได้มาศึกษาโครงสร้างจริงๆ กระทรวงอุตสาหกรรมไม่ได้ดูแค่บริษัทใหญ่หรือกลุ่มทุน หรือนักลงทุนต่างชาติเท่านั้น แต่กระทรวงอุตสาหกรรมยังดูแลผู้ประกอบการ SME ด้วย ก็เป็นโอกาสอันดีที่เราเข้ามาแล้วได้ดูแลทั้งผู้ประกอบการขนาดเล็ก-ขนาดกลาง-ขนาดย่อม รวมถึงผู้ประกอบการในประเทศและผู้ประกอบการจากต่างประเทศ ที่เป็นนักลงทุนที่เข้ามาลงทุน คือดูทั้งระบบ ตลอดจนผู้ประกอบการที่เป็นกลุ่ม "สตาร์ทอัพ" กระทรวงอุตสาหกรรมก็ดูแล

หน่วยงานในสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม ที่มีอยู่ 6 กรม เราดูแลแตกต่างหลากหลายมาก ซึ่งใน6 กรม ก็สมบูรณ์ในตัวของมันเองในกระทรวงเอง อย่างเช่น กระทรวงมีคลังสมองของเราเองที่เรียกว่า สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ที่เป็นคลังสมอง เช่นคอยดูเทรนด์ว่าอุตสาหกรรมประเภทไหนที่มันไม่ได้แล้ว อุตสาหกรรมประเภทไหนที่กำลังจะตกเทรนด์ คอยทำข้อมูลว่าแต่ละปี การเจริญเติบโตทางภาคธุรกิจเป็นอย่างไร หรือดูเรื่องกติกาทางธุรกิจที่ออกมาใหม่ จะมีผลกระทบกับธุรกิจใดบ้าง รวมถึงหน่วยงานที่สำคัญอื่นๆ เช่น กรมโรงงานอุตสาหกรรม -สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) -กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ -สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย

ยกระดับ-พัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาล ตลาดใหญ่ที่คนเคยมองข้าม

“พิมพ์ภัทรา-รมว.อุตสาหกรรม”กล่าวต่อไปว่า วันแรกที่เข้ามามอบนโยบายที่กระทรวงอุตสาหกรรม  สิ่งหนึ่งที่อยากเห็นคือเรื่องของ การพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลให้เกิดขึ้นในประเทศให้ได้ เพราะวันนี้ พอเราพูดถึงเรื่องฮาลาล หลายคนมักมองว่าฮาลาลเป็นเรื่องเฉพาะเจาะจงเฉพาะประเทศกลุ่มมุสลิมเท่านั้น บางคนก็บอกว่า ถ้าประเทศมุสลิมต้องไปตะวันออกกลาง หรือว่าแค่รอบบ้านของเรา ที่จริงๆ ไม่ใช่เลย เพราะวันนี้ตลาดฮาลาล เป็นตลาดที่ใหญ่มาก และประเทศไทยพร้อมมาก เรามีแหล่งวัตถุดิบ เรามีแหล่งที่เป็นอุตสาหกรรม มีผู้ประกอบการที่มีความมั่นคงและพร้อมที่จะทำอุตสาหกรรมเหล่านี้

.... เพียงแต่ว่าคนที่ดูแลเรื่องของฮาลาล กระจัดกระจายอยู่ตามกรมในกระทรวงต่างๆ ก็เลยมีความตั้งใจว่าเรื่องของฮาลาล กระทรวงอุตสาหกรรมต้องเป็นเจ้าภาพหลัก ก็มีความตั้งใจตั้งแต่วันแรกที่อยากเห็น “กรมอุตสาหกรรมฮาลาล"เกิดขึ้นในกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งคาดว่าการจัดตั้ง อาจสามารถทำเสร็จได้ทันภายในสองปี ที่ก็ต้องมีการทำเรื่องของการออกกฎหมายมารองรับควบคู่กันไป ตอนนี้มี สถาบันอาหาร เป็นเจ้าภาพ กระบวนการกำลังจะใกล้ผ่านครม. กำลังจะได้งบประมาณมา ก็จะเปิดตัวภายในอีกไม่กี่เดือนนี้ ซึ่งเรื่องของ ฮาลาล ไม่ใช่มีแค่เรื่องของอาหาร แต่ยังมีผลิตภัณฑ์เกี่ยวข้องเยอะมาก เช่นเครื่องสำอาง เครื่องแต่งกาย รวมถึงการท่องเที่ยว เรื่องของ สปา - เฮลท์แคร์ ก็อยู่ในอุตสาหกรรมฮาลาล ถึงได้บอกว่าต้องเป็นอุตสาหกรรมฮาลาล

"ตรงนี้มันก็เป็นความภาคภูมิใจ เพราะเรื่องนี้ ก่อนหน้านี้ไม่ค่อยมีใครกล่าวถึง ทั้งที่ก็รู้ดีว่ามีตลาด แต่ไม่ค่อยมีใครพูดถึงเรื่องนี้แบบเป็นเรื่องเป็นราว"

“พิมพ์ภัทรา-รมว.อุตสาหกรรม”เล่าถึงการทำงานในช่วงที่ผ่านมา ไว้อีกว่า ก่อนหน้านี้ คนอาจจะบอกว่ากระทรวงอุตสาหกรรม ทำไมเงียบ ที่อาจเป็นผลจากปัญหาโควิด หรือเรื่องของบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบ แต่วันนี้ที่เราเข้ามา เราตั้งใจให้กระทรวงอุตสาหกรรม เป็นกระทรวงที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และต้องดูแลผู้ประกอบการในประเทศให้อยู่ให้ได้ด้วย

ตอนที่เราเข้ามา พบว่ามีความเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง เช่นเรื่องของเทรนด์ธุรกิจ เรื่องของกติกาใหม่ของโลกที่กำลังจะเข้ามาเช่นเรื่องกำแพงภาษี ซึ่งอันนี้เป็นความท้าทายของผู้ประกอบการที่อยู่ในประเทศ เพราะฉะนั้น เราต้องเข้าไปเสริมและไปสร้างความแข็งแรงให้ผู้ประกอบการ

เราก็มีนโยบายตั้งแต่วันแรกที่เข้ามาที่กระทรวงอุสาหกรรมว่า รมว.อุตสาหกรรม เข้ามาดูแลกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรมต้องเป็นกระทรวงที่ส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการให้สามารถดำเนินธุรกิจไปได้ด้วยความสะดวก และต้องให้พร้อมที่จะรับกับการเปลี่ยนแปลงของโลกให้ได้ด้วย

ผลักดันประเทศไทย ศูนย์กลางการผลิตรถอีวีในเอเชีย

นอกจากนี้ ก็จะมีการต่อยอดเรื่อง  อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าหรืออีวี ซึ่งก่อนหน้านี้ รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา  ซึ่งสมัยท่านสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี-อดีตรมว.พลังงาน   ได้ทำเรื่องมาตรการ EV 3.0 ไว้ เรามีการทำนโยบายอีวี เพื่อที่จะกระตุ้นให้ผู้บริโภคในประเทศ หันมาใช้รถยนต์อีวี

“รมว.อุตสาหกรรม”ย้ำว่า สิ่งที่เราอยากเห็น ณ ตอนนั้นคือเราอยากเห็นประเทศไทย เป็นศูนย์กลางของการผลิตรถอีวีในภูมิภาคเอเชีย เราเคยทำสำเร็จมาแล้วในการเป็นศูนย์กลางการผลิตรถเครื่องยนต์สันดาปภายใน (Internal Combustion Engine: ICE) ซึ่งจากมาตรการ EV 3.0 ก็พบว่าได้รับการตอบรับอย่างดี มีการไปติดต่อผู้ประกอบการจากต่างประเทศ ให้เข้ามาตั้งฐานการลงทุนในประเทศ มีการตั้งบริษัท ตั้งไลน์การผลิตที่เป็นการทำงานอย่างต่อเนื่องกันมาตั้งแต่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จนถึงรัฐบาลท่านนายกรัฐมนตรี เศรษฐา  ทวีสิน

-หากประเทศไทยกลายเป็น EV HUB  ถ้าทำได้สำเร็จจริงๆ จะเป็นอย่างไร ?

EV HUB ไม่ใช่เรื่องยากเลย เพราะวันนี้มันเดินไปแล้ว และมาแล้ว เพียงแต่ว่าถ้าจะทำให้เป็นฮับจริงๆ ก็ต้องทำให้ครบทุกอย่างจริงๆ ไม่ใช่แค่การผลิตรถ มันต้องทำตั้งแต่เรื่องของแบตเตอรี่ เรื่องของกระบวนการถ่ายทอดเทคโนโลยี รวมถึงเรื่องของการเอารถเข้าไปรีไซเคิลอีกรอบหนึ่ง รวมถึงการกำจัดกากแบตเตอรี่ด้วย ต้องทำระบบ

ซึ่งเรื่องการกำจัดกาก ก็ไม่ใช่แค่เรื่องของอีวีอย่างเดียวแล้วเพราะวันนี้เรามีโซลาร์เซลล์ที่กำลังจะหมดอายุ เรื่องของแบตเตอรี่รถยนต์ไฮบริดที่กำลังจะหมดอายุ เรื่องของการจัดการเหล่านี้ต้องทำทั้งระบบ

วันนี้หากเราจะเป็นฮับจริงๆ เราต้องทำทั้งระบบ ไม่ใช่แค่วันนี้มาเปลี่ยน ตามเทรนด์โลกที่อยากจะเปลี่ยนเป็นอีวี แต่จะทิ้ง ICE ก็ไม่ใช่ เราก็ต้องดูแลผู้ประกอบการที่ยืนเคียงข้างประเทศเรามาตลอดก็คือกลุ่มอุตสาหกรรมรถยนต์ICE

-สถานภาพอุตสาหกรรมรถอีวีของประเทศไทย ประเมินว่าตอนนี้เป็นอย่างไร?

คือจริงๆแล้ววันนี้ คนบริโภคอย่างน้อยๆ เลือกอีวี เพราะว่าภาครัฐให้การสนับสนุน ก็เป็นเรื่องของราคา ส่วนที่สองคือเทรนด์รักษ์โลก ก็เป็นเทรนด์ที่กำลังมา และที่สำคัญที่สุด คือเรื่องค่าใช้จ่ายของรถอีวี ก็แน่นอนว่ามันลดลงจริงๆ ก็ทำให้เทรด์การบริโภค ก็ไปในเรื่องของอีวี แต่สุดท้ายแล้ว การตั้งฮับ การจะเป็นศูนย์กลางของการผลิต เราหวังที่จะให้ส่งออกได้ อันนี้ก็ต้องไปมองเรื่องของเทรนด์โลกเช่นเดียวกัน คือไม่ใช่แค่มาตั้งโรงงาน

-ส่วนตัวแล้วมองว่า อีกสามปีข้างหน้า ห้าปีข้างหน้า การใช้รถยนต์ของเราจะเต็มไปด้วยรถอีวีหรือไม่อย่างไร?

คือจริงๆ แล้ว เรื่องอีวี ตัวรองรับต่างๆ ต้องพร้อมด้วย เช่นเรื่อง EV Charger ก็ต้องพร้อม วันนี้จึงต้องทำไปพร้อมๆ กัน จากมาตรการ EV 3.0 ที่ตอนนี้มาเป็น EV 3.5 (มาตรการสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้าระยะที่ 2 ) ต้องมีทิศทางไปในทางเดียวกัน

รัฐบาลตอนนี้กำลังทำ EV 3.5  ที่ก็จะต้องทำเรื่องของสถานีชาร์จไฟฟ้าให้พร้อมเพื่อรองรับการเติบโตของผู้บริโภคที่ซื้อรถอีวีไปใช้ด้วย เพื่อให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยที่ต้องทำ EV 3.5 เพราะมาตรการ EV 3.0 เดิมอาจไม่ครอบคลุมรถทุกประเภท โดย EV 3.5 เรามาดูเรื่องของรถขนส่งด้วย เช่นรถสิบล้อ รถใช้ที่ในเหมือง เพื่อให้ครอบคลุมรถทุกประเภท จึงต้องมาทำทำ EV 3.5 ต่อ

"พิพม์ภัทรา-รมว.อุตสาหกรรม"กล่าวอีกว่า สำหรับการขับเคลื่อนการทำงานในตำแหน่งรมว.อุตสาหกรรม อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญก็คือ กลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี

โดยวันนี้กติกาโลกพยายามที่จะให้มีการตั้งกำแพง ซึ่งคนไทยเอง เราอยู่ได้ด้วยการส่งออก วันนี้เราผลิตเพื่อการส่งออก สินค้าที่ส่งออก วันนี้การบริโภคก็เริ่มเปลี่ยนไป จึงต้องมาดูว่าจะทำอย่างไรให้ผู้ผลิตของเราอยู่ได้บนกติกาโลกใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไป ยกตัวอย่างง่ายๆ อย่างธุรกิจรถยนต์ก็เช่นเดียวกัน จากเดิมเราใช้รถ ICE หรือรถที่ใช้น้ำมัน วันนี้มาเป็นอีวี ดังนั้นซัพพลายเชน ของรถที่ใช้น้ำมันวันนี้ ก็ต้องปรับตัวเช่นเดียวกัน ทำยังไง ที่เราจะรักษาซัพพลายเชนให้ได้ เพราะซัพพลายเชนคือผู้ประกอบการไทย ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีของไทย ก็ต้องทำให้เขาอยู่ได้

วันนี้ เอสเอ็มอีจะอยู่ได้ด้วยสองหลักด้วยกันคือ "เงินทุนพร้อม-ความรู้พร้อม" อุตสาหกรรมเอสเอ็มอี ต้องไปได้ทั้งสองอย่าง ให้เขาได้มีความพร้อมเพื่อที่จะรองรับการเปลี่ยนแปลงให้ได้ อันนี้แค่ยกตัวอย่างอุตสาหกรรมรถที่เป็นซัพพลายเชนของรถICE อย่าง กติกาโลกใหม่ที่จะทำเรื่องของคาร์บอน วันนี้ผู้ประกอบการต้องเข้าใจ

และที่สำคัญที่สุด ต้องทำแผนรองรับการเปลี่ยนแปลงนี้ให้ได้ ซึ่งตอนนี้ ความรู้ความเข้าใจของผู้ประกอบการตอนนี้มองว่ายังน้อยมาก วันนี้แม้เราจะมีการรวบรวมหน่วยงานที่จะทำเรื่องของคาร์บอนเครดิต - คาร์บอนฟุตพริ้นท์ (ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากผลิตภัณฑ์แต่ละหน่วย ตลอดวัฎจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์) หากให้นึกถึง ก็จะนับได้ไม่กี่องค์กร ซึ่งจริงๆ เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่เราต้องตระหนักและรับรู้ โดยเรื่องเหล่านี้ก็ต้องทำกันหลายกระทรวง ต้องมีกฎหมายที่่จะต้องออกมาบังคับใช้กับผู้ประกอบการ ที่ก็ต้องทำอย่างไรให้เขารู้สึกว่ากฎหมายที่ออกมาบังคับใช้ ไม่ใช่เป็นกฎหมายที่จะออกมาเพื่อมารังแก แต่เป็นกฎหมายที่จะออกมาเพื่อช่วยเหลือและสนับสนุนให้เขาอยู่ได้

นอกจากนี้"พิมพ์ภัทรา"ยังกล่าวถึงเรื่องเงินทุนของธุรกิจเอสเอ็มอีว่า ในส่วนของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank ก็เป็นส่วนหนึ่งของเงินทุนที่ทำงานควบคู่กับกระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงอุตสาหกรรมก็มีเงินทุนอยู่ในหลายส่วนที่จะช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการได้ เช่นสำนักงานปลัดกระทรวง ทางอุตสาหกรรมจังหวัดแต่ละแห่ง จะมีเงินกองทุนที่เรียกว่า เอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ ที่จะไปช่วยผู้ประกอบการให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนให้ได้ หรือของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ก็มีงบประมาณที่จะช่วยผู้ประกอบการเช่นกัน โดยงบแต่ละกอง ได้มีการมอบนโยบายไปว่า การมีเงิน ไม่เท่ากับการเข้าถึงเงิน คือ แต่ละกรมจะมีงบอยู่เท่าใดก็ตาม  แต่หากคน(ผู้ประกอบการ) เข้าไม่ถึงงบ ก็ไม่เกิดประโยชน์เพราะฉะนั้น ทำอย่างไรก็ได้ ให้คนได้รับรู้ แล้วมายื่นขอ แล้วได้เข้าถึง ก็ถือว่าประสบความสำเร็จ

การออกใบอนุญาตตั้งโรงงาน ต้องรวดเร็ว-ชัดเจน ปลดล็อก อุปสรรคการลงทุน

"รมว.อุตสาหกรรม"กล่าวอีกว่า อีกเรื่องหนึ่งที่พยายามทำคือเรื่อง การอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการ วันนี้ทุกกรมต้องชัดเจนว่า หากคนเข้ามาติดต่อแล้ว กี่วันจะได้ กี่วันจะแล้วเสร็จ เพราะผู้ประกอบการ ก็มีต้นทุนเช่น ต้องไปซื้อที่ดิน ดังนั้น หากมาติดต่อราชการที่กระทรวงอุตสาหกรรม มันต้องชัดเจนว่ากี่วันถึงจะสำเร็จเรียบร้อย

....มันก็เลยเป็นเหตุของการที่เราเคยไปคุยที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อต้องการทราบว่า เรื่องใบอนุญาตที่มีคนยื่นขอมา มีค้างอยู่เท่าใด และที่ค้างอยู่เพราะสาเหตุใด เรื่องเหล่านี้ต้องตอบผู้ประกอบการให้ได้ เพราะนี้คือความเชื่อมั่นของนักลงทุน เพราะวันนี้ต่อให้ นายกรัฐมนตรีเดินทางไปต่างประเทศ ไปชวนนักลงทุนต่างประเทศ ให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากมายขนาดไหน แต่ถ้าในประเทศ ไม่ขยับหรือมีการติดขัด ความเชื่อมั่นมันก็ไม่เกิดขึ้น ก็เคยคุยกับที่ประชุมผู้บริหารกระทรวงอุตสากรรม ว่าเรื่องแบบนี้มันต้องชัดเจน ของกรมโรงงานอุตสาหกรรม การยื่นเรื่องเข้ามาค้างอยู่เท่าใด ค้างเพราะสาเหตุใด ต้องอธิบายให้ชัด ต้องมีเหตุผลที่จะตอบผู้ประกอบการให้ได้ว่ามันติดขัดอยู่ตรงขั้นตอนใด ไม่ใช่ว่ามาแล้วสามเดือน หกเดือน แปดเดือน แต่ก็ยังไม่ได้ โดยที่ไม่มีคำตอบให้ แบบนี้ไม่ได้ เพราะนี้คืออุปสรรคของการลงทุน

-หลายคนอาจสงสัยว่า ในส่วนของสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมหรือสมอ.ได้มีการตรวจสอบคุณภาพของสินค้าอุตสาหกรรมที่มาจากต่างประเทศโดยเฉพาะจีนหรือไม่?

ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมทั้งที่ผลิตในประเทศและนำเข้าจากต่างประเทศเข้ามา จะต้องผ่านการพิจารณาของสมอ.แน่นอน โดยสินค้าที่นำเข้ามา ก็ต้องได้มาตรฐานถึงจะนำเข้ามาได้ ไม่ใช่เข้ามาแล้วเป็นขยะ หรือนำเข้ามาแล้วมาเกิดอันตรายกับผู้บริโภค แต่หลายครั้งที่สมอ.ทำงาน หรือที่กระทรวงอุตสาหกรรมทำเรื่องของสินค้าที่มีคุณภาพ หลายคนก็อาจบ่นว่าเขามีงบเพียงเท่านี้ เขาจะไปซื้อของในราคาแพงได้อย่างไร ซึ่งเราไม่ได้บอกว่าให้คุณซื้อของแพง แต่เราจะบอกว่าอยากให้คุณซื้อของที่มีคุณภาพ และได้รับมาตรฐาน

อย่างที่เคยเกิดกรณีพาวเวอร์แบงค์ระเบิด คือของทุกอย่างต้องมีคุณภาพ แล้วผู้ใช้ก็จะปลอดภัย หรือเรื่อปลั๊กไฟที่ใช้ในบ้านที่เป็นเรื่องใหญ่ เพราะปลั๊กไฟทำให้เกิดประกายไฟได้ ถ้าเกิดไฟฟ้าลัดวงจร นี้คือความปลอดภัยของผู้บริโภค ซึ่งสมอ.ต้องเข้าไปดูแลเรื่องมาตรฐานผลิตภัณฑ์ หากไม่ได้รับมาตรฐาน ก็มีการสุ่มตรวจแล้วก็จับ

โดยแต่ละปี ทางสมอ.มีการตั้งเป้าว่าจะรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ปีละสี่ร้อยผลิตภัณฑ์ แต่ตอนนี้ขอให้ตั้งเป้าเป็นปีละหนึ่งพัน เพราะถ้าจำนวนมาตรฐานเพิ่มขึ้น เท่ากับตัวผลิตภัณฑ์ จะมีจำนวนมากขึ้น ทำให้ประชาชนก็จะมั่นใจมากขึ้นว่าสินค้าที่ใช้มีคุณภาพและมาตรฐานที่ดี แต่ก็อยากให้ผู้บริโภคเวลาจะซื้อสินค้าขอให้ดูด้วยว่ามีเครื่องหมายมอก.หรือไม่ เพราะเป็นสิ่งยืนยันว่า สินค้าที่นำไปใช้ได้รับมาตรฐาน อย่างน้อยก็มีความปลอดภัย

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ช็อก! อธิบดีกรมโรงงาน ยื่นหนังสือลาออกฟ้าแลบ ก่อนเกษียณอายุ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในระหว่างการประชุมคณะกรรมาธิการอุตสาหกรรม ที่มีนายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สส.ราชบุรี พรรครวมไทยสร้างชาติ เป็นประธาน ซึ่งมีระเบียบวาระพิจารณากรณีการขนกากแร่อุตสาหกรรม บริษัท ผาแดง อินดัสทรี จำกัด(มหาชน)

กมธ.ที่ดิน บี้รัฐชี้แจงปมขนย้ายกากแคดเมียม ไฟไหม้โรงงานสารเคมีระยอง

คณะกรรมาธิการ (กมธ.) การที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร นำโดยนายพูนศักดิ์ จันทร์จำปี สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานกมธ. , นายฐิติกันต์ ฐิติพฤฒิกุล สส.ภูเก็ต พรรคก้าวไกล

'ดร.เอ้' สลดใจรัฐล้มเหลวแก้ปัญหา 'กากแคดเมียม' ตั้งแต่ต้นจนจบ จี้ถามผู้รับผิดชอบ 4 ข้อ

ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก เรื่อง ปัญหากากแคดเมียม ความล้มเหลวของรัฐ ตั้งแต่ต้น จนจบ(ไม่)ลง มีเนื้อหาดังนี้

'ดร.เอ้' ไม่เห็นด้วย วิธีขนย้าย 'แคดเมียม' ของรัฐบาล แนะรีบทำ 4 ข้อ ด่วน!

ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ (ดร.เอ้) รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กทม. ไม่เห็นด้วยกับการเตรียมขนย้ายกากแคดเมียมกลับไปยังบ่อฝังกลบที่ จ.ตาก ที่รัฐบาลให้ข้อมูล