เว้นวรรครัฐประหาร (ตอนที่ ๒)

 

หากมองในภาพรวมแล้ว จะพบแนวโน้มที่รัฐประหารไทยจะลดน้อยลงดังที่ได้แสดงให้เห็นไปตอนที่แล้ง   และเมื่อพิจารณาช่วงระยะเวลาที่ปลอดรัฐประหารในการเมืองไทย เราจะพบว่ามีสามช่วง อันได้แก่ ช่วงระหว่าง พ.ศ. 2501-2514, ช่วงระหว่าง พ.ศ. 2520-2534.  และช่วงระหว่าง พ.ศ. 2535-2549 ซึ่งในแต่ละช่วงเวลาทั้งสามนี้มีในระยะเวลาใกล้เคียงกัน นั่นคือ 13-14  ปี                                   

ปัจจัยที่ทำให้ช่วงเวลาทั้งสามนี้ปลอดรัฐประหารมีดังต่อไปนี้คือ                                        

หนึ่ง “ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๐๑-๒๕๑๔”                

ในช่วงระหว่าง พ.ศ. ๒๕๐๑-๒๕๐๖ เป็นช่วงที่อยู่ภายใต้การปกครองของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ไม่มีการเลือกตั้ง และไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับถาวร  แต่อยู่ภายใต้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช ๒๕๐๒ และอยู่ในช่วงระหว่างร่างรัฐธรรมนูญ  หลังจากที่จอมพลสฤษดิ์ถึงแก่อสัญกรรมในปี พ.ศ. ๒๕๐๖  จอมพลถนอม กิตติขจร ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจากมติสภาร่างรัฐธรรมนูญ จนกระทั่งเมื่อร่างรัฐธรรมนูญเสร็จ มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๑๑  จอมพลถนอมและนายทหาร-ตำรวจและอดีตข้าราชการระดับสูงได้ร่วมกันตั้งพรรคการเมืองชื่อ “พรรคสหประชาไทย” และลงสมัครรับเลือกตั้ง โดยรองหัวหน้าพรรคได้แก่ จอมพลประภาส จารุเสถียร ยังดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกในเวลาเดียวกันด้วย รวมทั้งรองหัวหน้าพรรคอีกคนหนึ่งคือ พลตำรวจเอกประเสริฐ รุจิรวงศ์ ก็ยังดำรงตำแหน่งอธิบดี กรมตำรวจ (ตำแหน่งผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติในปัจจุบัน) ในเวลาเดียวกันด้วย  การควบรวมทั้งอำนาจฝ่ายการเมืองและอำนาจฝ่ายราชการโดยเฉพาะทหารและตำรวจส่งผลให้รัฐบาลในช่วงเวลานั้นมีเอกภาพความเข้มแข็ง แต่กระนั้น เมื่อเกิดปัญหาความขัดแย้งในสภาผู้แทนราษฎร  จอมพลถนอมในฐานะนายกรัฐมนตรีก็ยังต้องใช้การแก้ปัญหาด้วยวิธีการทำรัฐประหารตัวเองในปี พ.ศ. ๒๕๑๔  สรุปได้ว่า สภาวะปลอดรัฐประหารในช่วงนี้เกิดขึ้นเพราะฝ่ายที่มีศักยภาพในการทำรัฐประหารเป็นผู้ครองอำนาจเอง ทำให้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๑๑ ต้องสิ้นสุดลง และมีการประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. ๒๕๑๕

สอง “ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๒๐-๒๕๓๔”

คณะรัฐประหารที่นำโดยพลเรือเอกสงัด ชะลออยู่ได้ทำรัฐประหารอีกครั้งหลังจากครั้งแรกวันที่ ๖เมษายน พ.ศ. ๒๕๑๙ จากสาเหตุไม่พอใจรัฐบาลของนายธานินทร์ กรัยวิเชียรที่มีแนวนโยบายรัฐที่ขวาจัด  หลังรัฐประหาร พ.ศ. ๒๕๒๐  หัวหน้าคณะรัฐประหารดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเอง นั่นคือ พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ จนเมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๒๑ และมีการเลือกตั้งในปี พ.ศ. ๒๕๒๒ หลังการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาได้ลงคะแนนเสียงสนับสนุนให้พลเอกเกรียงศักดิ์เป็นนายกรัฐมนตรี ด้วยรัฐธรรมนูญเปิดโอกาสให้ อันเป็นที่มาของการเมืองไทยในแบบ “ประชาธิปไตยครึ่งใบ” แต่ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๒๓ พลเอกเกรียงศักดิ์ได้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี อันมีสาเหตุเนื่องมาจากการที่รัฐบาลตัดสินใจเพิ่มราคาค่าน้ำมันตามราคาตลาดโลก ซึ่งทำให้หลายฝ่ายได้รับความเดือดร้อนและโจมตีรัฐบาล  และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ลงคะแนนเสียงสนับสนุนให้ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไปในวันที่ ๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๓ โดยขณะนั้น พลเอกเปรมยังดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกอีกตำแหน่งหนึ่งด้วยในเวลาเดียวกัน และยังดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกไปจนถึงวันที่ ๒๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๒๔  แต่อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในขณะที่พลเอกเปรมควบรวมตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและผู้บัญชาการทหารบกอยู่นั้นก็ตาม  ได้มีการพยายามทำรัฐประหารเกิดขึ้นในระหว่างวันที่ ๑-๓ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๔  แต่ในที่สุดก็ต้องล้มเหลว  ด้วยทางฝ่ายรัฐบาล พลเอกเปรมได้กราบบังคมทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช, สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถและพระบรมวงศานุวงศ์เสด็จพระราชดำเนินไปประทับที่กองทัพภาคที่ ๒ ค่ายสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา และตั้งกองบัญชาการตอบโต้ และใช้อำนาจปลดผู้ก่อการออกจากตำแหน่งทางทหาร โดยได้กำลังสนับสนุนจากพลตรี อาทิตย์ กำลังเอก รองแม่ทัพภาคที่ ๒ ส่งผลให้การกบฏยุติลงอย่างรวดเร็วในเวลาเช้าตรู่ของวันที่ ๓ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๔ 

กล่าวได้ว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้พลเอกเปรมสามารถต้านทานกระแสความพยายามทำรัฐประหารได้สำเร็จคือ             

. ปัจจัยสถาบันพระมหากษัตริย์

ข. ปัจจัยความไม่เป็นเอกภาพภายในกองทัพ

ค. ปัจจัยภาพลักษณ์ของพลเอกเปรมที่ได้รับการยอมรับจากสังคมว่าเป็นผู้นำที่ซื่อสัตย์มีประวัติใสสะอาด

ขณะเดียวกัน หนึ่งในเหตุผลสำคัญนอกเหนือไปจากเหตุผลสามข้อที่ทำให้ความพยายามทำรัฐประหารของพลเอกสัณฑ์ จิตรปฏิมาล้มเหลวก็คือ  การที่พลเอกสัณฑ์เคยมีข่าวพัวพันในกรณีสังหารประชาชนจำนวนราว ๑,๐๐๐-๓,๐๐๐ คนในจังหวัดพัทลุงในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๑๕  ที่เป็นที่รู้จักกันในชื่อปฏิบัติการ “ถีบลงเขาเผาถังแดง” ข้อมูลดังกล่าวนี้ได้ถูกเปิดเผยโดยทางการสหรัฐอเมริกาหลังจากเหตุการณ์ได้ผ่านไปแล้วกว่าสี่สิบปี  ข้อมูลดังกล่าวนี้น่าจะเป็นที่รู้กันภายในทหารระดับสูงของไทย (ดู Matthew Zipple, “Thailand’s Red Drum Murders Through an Analysis of Declassified Documents,”  Southeast Review of Asian Studies 36, 2014)

ปัจจัยทั้งสามนี้ก็ส่งผลให้การเมืองไทยปลอดรัฐประหารไปจนถึงพลเอกเปรมพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปี พ.ศ. ๒๕๓๑ และ พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนต่อไปหลังจากที่ได้รับเสียงสนับสนุนจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และต่อมาถูกทำรัฐประหารในปี พ.ศ. ๒๕๓๔      

สี่ “ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๓๕-๒๕๔๙ 

หลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ๒๕๓๕  สถานะชื่อเสียงและ ความไว้วางใจต่อกองทัพในสังคมไทยได้ตกต่ำลงไปอย่างมาก  อีกทั้งเหตุการณ์พฤษภาทมิฬได้สะท้อนให้เห็นถึงความตื่นตัวทางการเมืองอย่างแข็งขันของประชาชนชนชั้นกลางที่ปฏิเสธการสืบทอดอำนาจ แม้ว่าจะยอมรับการทำรัฐประหารเพื่อล้มรัฐบาลที่ทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างรุนแรง แม้ว่ารัฐบาลนั้นจะมาจากการเลือกตั้งก็ตาม กล่าวได้ว่า ความตื่นตัวและเติบโตของพลังประชาชนชั้นกลางในทางการเมืองในเหตุการณ์ดังกล่าวนี้เป็นผลพวงจากความต่อเนื่องและเสถียรภาพทางการเมืองที่มีผลต่อพัฒนาการทางเศรษฐกิจและการเมืองในยุคของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ภายใต้ “ประชาธิปไตยครึ่งใบ”  และในช่วงระหว่าง พ.ศ. ๒๕๓๕-๒๕๔๙  นี้ มีการเลือกตั้งอย่างต่อเนื่อง และพรรคการเมืองผลัดเปลี่ยนขึ้นมาเป็นรัฐบาลตามครรลองประชาธิปไตย โดยนายกรัฐมนตรีคือหัวหน้าพรรคการเมืองและได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร อีกทั้งบริบทการเมืองระหว่างประเทศได้ก้าวเข้าสู่ยุคหลังสงครามเย็นที่เน้นการค้าเสรีและการค้าผ่านการติดต่อด้วยเทคโนโลยีสื่อสารสมัยใหม่  เศรษฐกิจไทยได้ถูกผนวกเข้ากับเศรษฐกิจโลกมากขึ้นนำไปสู่ความเสี่ยงมากขึ้นในแง่ของทั้งโอกาสและวิกฤตในเวลาเดียวกัน                             

และช่วงเวลา ๑๔ ปีแห่งความต่อเนื่องและเสถียรภาพทางการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นกว่าช่วง “ประชาธิปไตยครึ่งใบ”  ก็ส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจขยายฐานกว้างมากขึ้นของประชาชนส่วนใหญ่ด้วย  อีกทั้งหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬยังได้เกิดปรากฎการณ์ทางการเมืองที่สำคัญดังที่จะได้กล่าวในตอนต่อไป         

(แหล่งอ้างอิง: Suchit Bunbongkarn, “The Armed Forces and Democratic Development in Thailand,” in Military Engagement: Influencing Armed Forces Worldwide to Support Democratic Transition Volume II, ed. Dennis C. Blair (Washington, DC: Brookings Institution Press, 2013).

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 9)

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 8)

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490

ไทยในสายตาต่างชาติ: สมัยรัชกาลที่เจ็ด (ตอนที่ 20: การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ในสายตาผู้ช่วยทูตทหารฝรั่งเศส)

(ต่อจากตอนที่แล้ว) ในรายงานลงวันที่ 24 กันยายน 1932 (พ.ศ. 2475) ของพันโท อองรี รูซ์ ผู้ช่วยทูตทหารบกและทหารเรือประจำสยาม ประจำสถานอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสยาม มีความว่า