รัฐร่วมเอกชนชูโมเดลซีไอวี พัฒนาความสำเร็จท่ามกลางวิกฤต

4 เม.ย. 2565 – จากสถานการณ์ไม่สู้ดีของเศรษฐกิจในปัจจุบัน ที่เดิมก็ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มาแล้วนานกว่า 2 ปี และทุกวันนี้ยังได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจากปัญหาสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนซ้ำเติมเข้าไปอีก แน่นอนว่าในประเทศไทย กลุ่มที่น่าเป็นห่วงที่สุดคงหนีไม่พ้นกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย ชาวบ้าน และเกษตรกร ที่แม้จะเร่งปรับตัวแล้วแต่ก็ยังไม่มีเงินทุนเพียงพอที่จะพยุงธุรกิจไว้ได้นาน ขณะที่การใช้ศักยภาพของพื้นที่หรือฝีมือที่เคยทำก็อาจจะไม่สะดวกเช่นเคย

ต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องที่เปราะบางอย่างมากท่ามกลางสถานการณ์ดังกล่าว แต่ใช่ว่า “อาทิตย์เอกเขนก” ฉบับนี้จะพาไปดูความแร้นแค้นหรือหดหู่ใดๆ เพราะท่ามกลางวิกฤตต่างๆ ก็มักจะมีโอกาสที่สวยงามอยู่เสมอ ซึ่งเราจะพาไปดูโอกาสนั้นพร้อมๆ กับกระทรวงอุตสาหกรรม ที่นำโดย วรวรรณ ชิตอรุณ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ถือว่าเป็นแม่งานในการหยิบยกศักยภาพของพื้นที่หมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ หรือซีไอวี ที่อยู่ภายใต้การดูแลของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) หรือดีพร้อม มาพัฒนาร่วมกับภาคเอกชนให้ตอบโจทย์ความต้องการได้ตรงจุด

โดยที่ผ่านมา กระทรวงอุตสาหกรรมได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) กับบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค เพื่อพัฒนาโครงการ “ดีแทค เน็ตทำกิน” ร่วมกันยกระดับขีดความสามารถหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (ซีไอวี) ที่ได้เริ่มฝึกทักษะ 20 หมู่บ้านในเดือน ก.พ.-มี.ค.ที่ผ่านมา และตั้งเป้าขยายพื้นที่นำร่องครอบคลุม 152 หมู่บ้านที่มีศักยภาพ สร้างรายได้ 250 ล้านบาท จากทั้งหมดที่มี 250 หมู่บ้าน ผ่านการพัฒนาผู้ประกอบการชุมชนและปัจจัยสนับสนุนการท่องเที่ยว สร้างและพัฒนาไกด์ชุมชน สร้างและพัฒนานักขายชุมชน

วรวรรณ เล่าว่า ปัจจุบันจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบไปถึงเศรษฐกิจการค้า การผลิต อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง โดยเฉพาะจำนวนนักท่องเที่ยวลดลง ซึ่งส่งผลโดยตรงกับรายได้ของหมู่บ้านที่ลดลงมากกว่า 70% และหากถูกกระทบอีกระลอกจะเป็นความเสี่ยงต่อเนื่อง ภาครัฐจึงควรยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือเพื่อที่จะสร้างรายได้ที่มีเสถียรภาพและกระจายรายได้อย่างสมดุล สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป

และการแพร่ระบาดครั้งใหม่ในช่วงปลายปีที่ผ่านมาต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ก็ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อรายได้ท่องเที่ยวในกลุ่มกระแสหลักเท่านั้น แต่ยังสะเทือนถึงรายได้ท่องเที่ยวในกลุ่มชุมชนและแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่ เนื่องจากนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าพื้นที่ลดลง กระทรวงอุตสาหกรรมตระหนักถึงผลกระทบของการระบาดที่มีต่อผู้ประกอบการกลุ่มวิสาหกิจชุมชน จึงได้ทำการคัดเลือกหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (ซีไอวี) ที่มีศักยภาพ จำนวน 152 หมู่บ้าน เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวและการบริโภคสำหรับเศรษฐกิจระดับชุมชน

โดยการพัฒนาผู้ประกอบการชุมชนเชื่อมโยงกับอัตลักษณ์ในพื้นที่ นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการและการตลาดรองรับการท่องเที่ยวระดับชุมชน งานฟื้นฟูการท่องเที่ยวและกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน และการเข้าสู่ยุคเน็กซ์นอร์มอล (Next Normal) ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดดังกล่าว โดยร่วมมือกับดีแทคในโครงการ “ดีแทค เน็ตทำกิน” ที่มุ่งเสริมความรู้การทำธุรกิจในยุคดิจิทัล

ด้าน ประเทศ ตันกุรานันท์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มเทคโนโลยี ดีแทค กล่าวว่า ดีแทคเห็นในศักยภาพที่โดดเด่นของภูมิปัญญาชุมชนที่ตกผลึกถ่ายทอดมาจากรุ่นสู่รุ่น โดยหมู่บ้านซีไอวีมีอัตลักษณ์ของผลิตภัณฑ์และมีเรื่องราวที่น่าสนใจ เมื่อนำภูมิปัญญาของชุมชนผสานกับดิจิทัลจะติดปีกให้กับชุมชนอย่างยั่งยืน และที่ผ่านมาพบว่าผู้ประกอบการที่ร่วมโครงการดีแทค เน็ตทำกิน มีรายได้เพิ่มขึ้นถึง 40-50% และเพื่อสร้างโอกาสหาเลี้ยงชีพใหม่บนแพลตฟอร์มดิจิทัลได้อย่างมั่นใจ

สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้ ทีมดีแทค เน็ตทำกิน จะเริ่มฝึกทักษะให้กับ 20 หมู่บ้านนำร่อง จาก 152 หมู่บ้าน ในเดือน ก.พ.และ มี.ค.นี้ พร้อมขยายผลลงพื้นที่ให้ครอบคลุมทั้ง 152 หมู่บ้านภายใน 1-2 ปีนับจากนี้ โดยร่วมสนับสนุนใน 3 ด้าน คือ 1.ทีมดีแทค เน็ตทำกิน ติดอาวุธทักษะทางดิจิทัลให้กับชุมชนหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ โดยทีมงานผู้สอนจะลงพื้นที่สอนและเป็นพี่เลี้ยงให้ผู้ประกอบการ ให้เข้าใจและสามารถนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในการจัดการธุรกิจ

2.สัญญาณอินเทอร์เน็ตครอบคลุมทุกหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ดีแทคติดตั้งคลื่น 700 MHz แล้วมากกว่า 12,700 สถานีฐาน ขยายสัญญาณครบ 77 จังหวัด ครอบคลุมแล้ว 923 อำเภอทั่วไทย รวมถึงแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ 3. #ดีทั่วดีถึง รีวอร์ด ครั้งแรกเชื่อมต่อผู้ประกอบการซีไอวีกับ dtac reward สู่ฐานผู้ใช้งานดีแทคกว่า 20 ล้านราย เพิ่มช่องทางออนไลน์ในการทำตลาดให้กับชุมชน

นอกจากนี้ ในระหว่างวันที่ 21-22 มี.ค.ที่ผ่านมา วรวรรณก็ยังได้ลงพื้นที่หมู่บ้านซีไอวีภาคเหนือ โดยจะนำร่องที่บ้านออนใต้ อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ ต้นแบบแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม รวมถึงบ้านแป้นใต้ อำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง ซึ่งเป็นชุมชนเศรษฐกิจพอเพียง ต้นแบบความร่วมมือภาครัฐและภาคเอกชน โดยจุดเด่นของชุมชนจึงเห็นว่า ความร่วมมือระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรมและดีแทคได้ช่วยเสริมศักยภาพการทำการตลาดได้มากขึ้น โดยเฉพาะการทำตลาดออนไลน์ในยุคดิจิทัล การทำคอนเทนต์เพื่อเล่าเรื่องของชุมชน ซึ่งนอกจากจะเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวในชุมชนให้เกิดขึ้นแล้ว ยังจะเป็นการเพิ่มช่องทางการจำหน่าย เพิ่มรายได้มากขึ้นจากเดิมอีกด้วย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สะสางปัญหา กากแคดเมียม เดิมพันการเมืองครั้งสำคัญ พิมพ์ภัทรา-รมว.อุตสาหกรรม

ปัญหาการพบกากแร่อันตรายแคดเมียม ที่มีการขนย้ายมาจากจังหวัดตาก ซึ่งปัจจุบันมีการยึดอายัดได้ประมาณ 12,500 ตัน หลังพบที่สมุทรสาคร ชลบุรี และกรุงเทพฯ

'พิมพ์ภัทรา' ดึงดีเอสไอ-ปปง. ร่วมสอบปมกากแคดเมียม ชี้หากมีแต่คนใน ก.อุตฯ สังคมจะคาใจ

น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รมว.อุตสาหกรรม ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาการลักลอบขนย้ายกากสารแคดเมียมที่ผิดกฎหมาย ว่า คำสั่งการการประชุมครม. ที่ผ่านมา เป็นการทำงานร่วมกันของทั้ง 6 กระทรวง

กมธ.อุตสาหรรม ไล่บี้เอาผิดเจ้าหน้าที่รัฐ รับผลประโยชน์ขนย้ายกากแคดเมียม

นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สส.ราชบุรี พรรครวมไทยสร้างชาติ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.)การอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ว่า ในวันที่ 17 เมษายน เวลา 10.00 น.ที่รัฐสภา กมธ.อุตสาหกรรม

พิมพ์ภัทรา คุมเข้มมาตรการขนย้ายกากแคดเมียม ต้นทางถึงปลายทาง

รมว.อุตสาหกรรม” เข้ม มาตรการขนย้ายกากแคดเมียม และความแข็งแรงของบ่อฝังกลบ เร่งสร้างความมั่นใจและทำความเข้าใจชุมชนรอบโรงงาน จ.ตาก และเตรียมความพร้อมขนส่งให้ปลอดภัยตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง พร้อมรายงานการปรับปรุงทั้งระบบภายในวันที่ 16 เมษายน