ปรับตัวมุ่งสู่ Net Zero

อรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ชี้แนะว่า ทางรอดภาคธุรกิจส่งออกไทยต้องปรับตัวมุ่งสู่ Net Zero พร้อมนำนวัตกรรมด้านสิ่งแวดล้อมมาปรับใช้เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ขณะนี้ทุกเวทีการค้าโลก รวมถึงนักธุรกิจทั่วโลกต่างให้ความสำคัญกับเรื่องสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง และพร้อมให้การสนับสนุนสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้นภาคธุรกิจจะต้องปรับตัวเพื่อรองรับกับการเปลี่ยนแปลงนี้ ซึ่งในงานเสวนาเรื่อง Fast Track to the Net Zero ที่จัดขึ้นโดยกลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย เพื่อสร้างความยั่งยืนด้วยนวัตกรรมที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้น้อยลง ซึ่งอรมนได้มีข้อแนะนำทางรอดภาคธุรกิจส่งออกไทยว่า ปัจจุบันทุกเวทีการค้าระหว่างประเทศมุ่งไปสู่การมีส่วนร่วมเพื่อแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Change ล่าสุดบนเวที WTO มีสมาชิก 6 ประเทศ อาทิ นิวซีแลนด์ นอร์เวย์ สวิตเซอร์แลนด์ ไอซ์แลนด์ ฯลฯ

เสนอให้มีการลดภาษีสินค้าและบริการด้านสิ่งแวดล้อม, จัดทำแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการติดฉลากสิ่งแวดล้อม และขอให้ยกเลิกการอุดหนุนน้ำมันฟอสซิล

ขณะที่ เวทีการประชุม APEC ซึ่งปีนี้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ก็ให้ความสนใจเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพราะสมาชิกมีการจัดทำบัญชีรายการสินค้าเพื่อลดภาษีนำเข้าให้เหลือไม่เกิน 5% ใน 54 รายการสินค้า เช่นเดียวกับเวทีของ FTA ยุคใหม่ มักมีประเด็นการเจรจาเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเช่นกัน

สำหรับเวทีใหญ่อย่างกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ซึ่งมีสมาชิกถึง 197 ประเทศทั่วโลกก็เช่นกัน มีหลักการสำคัญระบุว่า ทุกประเทศมีความรับผิดชอบในการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และประเทศพัฒนาแล้วควรจะมีการดำเนินการที่เข้มข้นกว่าประเทศกำลังพัฒนา และมาตรการที่ใช้แก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่ควรเป็นการแอบแฝงการกีดกันการค้า ซึ่งในการประชุมรัฐภาคี UNFCCC ครั้งที่ 26 เมื่อปลายปีที่แล้ว นอกจากข้อตกลงที่จะร่วมมือกันรักษาอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียสแล้ว ยังมีข้อตกลงที่จะเร่งความพยายามในการลดการใช้พลังงานถ่านหิน ยกเลิกการอุดหนุนเชื้อเพลิงฟอสซิล และเร่งระดมเงินทุนเพื่อช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนา เป็นต้น

ในขณะที่รัฐบาลไทยก็ให้การสนับสนุนมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยตั้งเป้าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 40% ภายในปี พ.ศ.2573 และมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero ภายในปี พ.ศ.2608 ซึ่งที่ผ่านมามีการดำเนินงานที่สำคัญในเรื่องนี้

ดังนั้น ภาคอุตสาหกรรมของไทยต้องเร่งรีบปรับตัว โดยเฉพาะภาคการส่งออก คงไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ในเรื่องของการปรับตัวให้ทันสถานการณ์ รวมถึงการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาช่วยกระบวนการผลิตที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งเรื่องการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่ำ และมุ่งสู่ Net Zero ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดแบบ 'Bio-Circular-Green Economy' หรือ BCG ที่ประเทศไทยกำลังพยายามเดินไปในเส้นทางนี้อยู่แล้ว

โดยภาคธุรกิจด้านการผลิตควรเตรียมความพร้อมเรื่องการประเมินคาร์บอนฟุตพรินต์ขององค์กรและผลิตภัณฑ์ ซึ่งมีองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) สามารถเป็นที่ปรึกษาในการประเมินเรื่องนี้ รวมทั้งเข้าร่วมโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย และซื้อขายคาร์บอนเครดิต และสุดท้าย ใช้ความพยายามในเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมาเป็นจุดขาย เพื่อดึงดูดผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้

และทางรอดอีกทางหนึ่งคือ แสวงหาโอกาสใหม่ๆ ของธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการลดการปล่อยคาร์บอนฯ ซึ่งตอนนี้ FTA ไม่ได้คุยเฉพาะเรื่องการเปิดตลาดสินค้าเท่านั้น แต่ยังมีเรื่องการบริการและการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งบริษัทเอกชนของไทยควรศึกษาและสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ เพื่อพัฒนาธุรกิจบริการให้คำปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อม พลังงานหมุนเวียน เป็นต้น ส่วนผู้ประกอบการขนาดเล็ก หรือ SME ก็ควรจะต้องติดตามและเรียนรู้เทรนด์เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตามทิศทางของโลก เพื่อนำไปปรับใช้กับการวางแผนธุรกิจด้วย

เพราะขณะนี้ได้เริ่มเห็นกลุ่มประเทศ EU ที่เตรียมจะใช้มาตรการ CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism) เก็บภาษีคาร์บอนกับสินค้านำเข้า โดยมีผลบังคับใช้ในปี 2566 กับสินค้า 5 ประเภท ได้แก่ ซีเมนต์ ไฟฟ้า ปุ๋ย เหล็กและเหล็กกล้า และอะลูมิเนียม และเตรียมขยายไปในสินค้าประเภทอื่นด้วยในอนาคต ในช่วง 3 ปีแรก (2566-2568) จะเป็นช่วงเปลี่ยนผ่าน ให้ผู้นำเข้าเพียงแค่รายงานข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ EU ทราบ และตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2569 เป็นต้นไป ผู้นำเข้าจะต้องจ่ายภาษีคาร์บอนตามปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสินค้าที่ตนนำเข้า.

บุญช่วย ค้ายาดี

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เดินให้สุดทำอย่างจริงจัง

ปัจจุบันพบปัญหาถังก๊าซหุงต้มในท้องตลาดเสื่อมสภาพและหมดอายุตกค้างอยู่ในระบบจำนวนมาก อีกทั้งยังมีการลักลอบนำถังก๊าซหุงต้มมาเติมในสถานีบริการ LPG เป็นระยะ ซึ่งนอกจากจะผิดกฎหมายแล้ว

ดันสงกรานต์ไทยสู่เทศกาลโลก

หลังจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงวัฒนธรรม และกระทรวงมหาดไทย จับมือจัดงาน “Maha Songkran World Water Festival 2024 เย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์ 2567”

เน้นเชิงรับมากกว่าเชิงรุก

ก๊าซหุงต้ม หรือก๊าซปิโตรเลียมเหลว (Liquefied Petroleum Gas) หรือก๊าซ LPG ด้วยคุณสมบัติพิเศษของมันก็คือ การที่มีสารโพรเพนและบิวเทนอยู่ในตัว ซึ่งสารสองนี้เป็นสารที่ติดไฟง่าย

เจาะลึกพฤติกรรมนักท่องเที่ยวชาวไทย

ในช่วงที่ผ่านมาได้มีผลการวิจัยของมินเทล (Mintel) พบว่า ผู้บริโภคชาวไทยหันมาใช้ช่องทางออนไลน์มากขึ้นในการหาแรงบันดาลใจด้านการท่องเที่ยว และแบ่งปันประสบการณ์ท่องเที่ยวของตนเอง

วิกฤตเลวร้ายกว่าต้มยำกุ้ง?

ตกเป็นประเด็นอีกครั้ง สำหรับเรื่องวิกฤตเศรษฐกิจของไทย เพราะล่าสุด 'ทักษิณ ชินวัตร' อดีตนายกรัฐมนตรีได้มาพูดย้ำว่า ประเทศไทยตอนนี้มันยากกว่าสมัยช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง เพราะมีความซับซ้อนและยากมากกว่า และมองว่าการแก้ไขมันต้องมีการเปลี่ยน เพราะโลกมันเปลี่ยนไม่เหมือนเดิม

จับชีพจร“ท่องเที่ยวไทย”เริ่มฟื้นตัว

“ท่องเที่ยว” ถือเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมสำคัญในการขับเคลื่อนและกระตุ้นการขยายตัวของเศรษฐกิจ เรียกได้ว่าเป็นอุตสาหกรรมหลักๆ ที่สร้างรายได้มหาศาลให้ประเทศตลอดช่วงที่ผ่านมา