‘ตะวันตกมองหา Soft-landing ไทยต้องคิดสูตร Smooth takeoff’

ถ้าธนาคารกลาง หรือ Fed สหรัฐฯ เดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยในอัตราที่สูงขึ้นทุกรอบเพื่อสู้กับอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งแรง ประเทศไทยควรจะทำอย่างไร?

มีการคาดเดากันในมวลหมู่ผู้รู้ทั้งหลายว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. ของแบงก์ชาติจะปรับขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมคราวหน้าเท่าไหร่?

จะอยู่ในระดับ 0.25% หรือเล่นยาแรงด้วยการดันขึ้น 0.5%?

แต่ถ้าฟังผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ไทยกับสหรัฐฯ อยู่คนละบริบท ดังนั้นเราไม่จำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยตาม Fed

แนวทางวิเคราะห์ของผู้ว่าฯ เศรษฐพุฒิน่าสนใจ เพราะไม่สอดคล้องกับบางสำนักที่เสนอว่าไทยต้องขึ้นดอกเบี้ยให้สอดคล้องกับแนวทางของตะวันตก เพราะหากอัตราดอกเบี้ยของเราห่างจากของอเมริกามาก เงินจะไหลออก ก็จะสร้างปัญหาอื่นๆ ตามมา

เมื่อเร็วๆ นี้ ดร.เศรษฐพุฒิพูดในหัวข้อ ‘ชีพจรเศรษฐกิจการเงินภาคใต้และความท้าทายที่ต้องก้าวข้าม’ ภายในงานสัมมนาวิชาการ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้ ประจำปี 2565 ตอนหนึ่งว่า

ภาวะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันมีการฟื้นตัวชัดเจน และเห็นสัญญาณการฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะการอุปสงค์ในประเทศที่ยังเติบโต เพราะรายได้ของคนปรับตัวดีขึ้น โดยรายได้ของครัวเรือนระดับกลางและระดับล่างกลับมาขึ้นมา เทียบกับปีก่อนๆ ที่ติดลบไปมาก

ขณะที่รายได้ของครัวเรือนเกษตรกรยังเติบโต ส่งผลให้การฟื้นตัวของการบริโภคและเศรษฐกิจน่าจะไปได้อย่างต่อเนื่อง

แต่ ดร.เศรษฐพุฒิก็ยอมรับว่า แม้เศรษฐกิจไทยจะมีสัญญาณการฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจาก 2 ปัจจัย

ได้แก่ เงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งเป็นผลจากสงครามบวกกับการคว่ำบาตร และการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว

 “ความเสี่ยงหลักๆ ในแง่เศรษฐกิจ ตัวใหญ่ที่สุด เหนื่อยที่สุด หนักที่สุด เป็นห่วงที่สุด คือ ท่องเที่ยว ตอนนี้สัญญาณมันดี เพราะคนอัดอั้น อยากกลับมาท่องเที่ยว ถ้าเป็นไปตามแนวโน้มนี้ ตัวเลขจะออกมาดี โดยเราประมาณการว่านักท่องเที่ยวจะอยู่ที่ 6 ในปีนี้ ซึ่งจะเพิ่มจีดีพีได้ 0.4%

 “และถ้าไม่มีอะไรประหลาดๆ เกิดขึ้น เช่น การกลายพันธุ์ของไวรัส คนไม่เดินทาง ก็น่าจะฟื้นได้ ซึ่งอันนั้นเป็นเรื่องใหญ่ที่สุด ส่วนอีกอันคือ เรื่องเงินเฟ้อ” ดร.ศรษฐพุฒิระบุ

ผู้ว่าฯ ธปท.บอกด้วยว่า แม้ว่าในขณะนี้การดูแลเงินเฟ้อถือเป็นโจทย์ใหญ่ของประเทศและ ธปท. แต่การดูแลอัตราเงินเฟ้อที่ ธปท.ใช้กรอบดูแลเงินเฟ้อที่เรียกว่า flexible inflation targeting หรือการดูแลเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่นนั้น ไม่ได้หมายความว่า เงินเฟ้อจะต้องอยู่ในกรอบที่ 1-3% ตลอดเวลา

ในการบริหารเรื่องนี้นั้นบางช่วงอาจหลุดจากกรอบบ้าง แต่ในระยะยาวต้องอยู่ในกรอบ รวมทั้งต้องเหมาะสมกับบริบททางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป

 “ธปท.จะต้องทำให้เครื่องยนต์เงินเฟ้อ ‘ไม่ติด’ คือ ต้องไม่ให้คนคิดว่าเงินเฟ้อจะขึ้น ซึ่งสิ่งที่ทำให้เครื่องยนต์เงินเฟ้อติดก็คือ การคาดการณ์เงินเฟ้อข้างหน้า ถ้าคนคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะวิ่งไปเรื่อยๆ อย่างนี้เรียกว่าเครื่องยนต์เงินเฟ้อติดแล้ว และโอกาสจะกลับมาอยู่ในกรอบก็น้อย...”

ดังนั้นหน้าที่ของ ธปท.คือ ต้องยึดเหนี่ยวไม่ให้คาดการณ์เงินเฟ้อหลุดไป เพราะถ้ามันหลุดไป การดึงกลับมามันยาก

ประเด็นเรื่องเงินเฟ้อก็ต้องโยงกับเรื่องนโยบายดอกเบี้ย

ดร.เศรษฐพุฒิบอกว่า ขณะนี้ตลาดการเงินและนักวิเคราะห์ยังคงเชื่อว่า เงินเฟ้อระยะยาวยังอยู่ในกรอบ แม้ว่าการคาดการณ์เงินเฟ้อในระยะสั้นจะเริ่มวิ่งแล้ว ส่วนการดูแลเงินเฟ้อโดยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนั้น

 “ขอย้ำว่าจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยในยามจำเป็น และต้องทำแบบค่อยเป็นค่อยไป...”

แล้วท่านก็เจาะเข้าประเด็นว่า                

 “ช่วงหลังผมเห็นเยอะมาก ท่านๆ ก็คงเห็นตามบทวิเคราะห์ ตามสื่อ บอกว่าเฟดขึ้นดอกเบี้ยอย่างนี้ๆ เราก็ต้องขึ้นตามแบบนี้ๆ เร็วแบบสไตล์เขา...

 “แต่อย่างที่เรียน บริบทเขากับบริบทเรามันต่างกันโดยสิ้นเชิง บริบทประเทศพัฒนาแล้ว สหรัฐ ยุโรป เขาเจอบริบทที่อุปสงค์เขาโตเร็วมาก การฟื้นตัวของเศรษฐกิจมันไปเร็ว ไปแรง เขาอยู่ในอีกช่วงหนึ่งของวัฏจักรเศรษฐกิจ เขาเศรษฐกิจ over heat ตลาดแรงงานเขามาแรงมาก แต่ของเราไม่ใช่อย่างนั้น ของเรา เราเพิ่งเริ่มฟื้น...”

ดร.เศรษฐพุฒิอธิบายว่า โจทย์ของต่างชาติ คือต้องทำอย่างไร เขาต้องขึ้นดอกเบี้ยเร็ว เพื่อควบคุมเรื่องเงินเฟ้อ ทำให้เศรษฐกิจเขา soft landing

แต่ของไทยเราไม่ใช่ soft landing

“โจทย์ของเราคือทำให้การฟื้นของเรามันไปได้ต่อเนื่อง เป็นเรื่อง Smooth takeoff คือให้ takeoff ได้อย่างไม่สะดุด...”

 “ดังนั้นการ take action ของนโยบายการเงิน ทางฝั่งดอกเบี้ยต้องทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป มันไม่ใช่บทแบบที่เห็นในเมืองนอกที่ต้องเหยียบเบรกแรง โจทย์ของเราเป็นเรื่องการถอนคันเร่ง” ดร.เศรษฐพุฒิกล่าว

และย้ำว่า ที่ผ่านมาอัตราดอกเบี้ยของไทยอยู่ในระดับต่ำมากเมื่อเทียบกับเงินเฟ้อ และต่ำสุดเมื่อเทียบกับภูมิภาค อีกทั้งเป็นระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ด้วย

 “ดังนั้นเมื่อบริบทต่างๆ เปลี่ยนไป ธปท.ก็ต้องถอนคันเร่ง แต่ไม่ใช่การเหยียบเบรก และไม่ได้เป็นลักษณะเดียวกับที่สหรัฐและยุโรป รวมทั้ง ธปท.ได้มีมาตรการเพื่อดูแลกลุ่มเปราะบางที่จะได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไว้แล้ว...”

นี่คือแนวคิดวิเคราะห์ที่น่าสนใจ ซึ่งอาจจะแตกต่างไปจากการมองปัญหาเดียวกันของนักวิเคราะห์ในภาคเอกชนและวิชาการหลายสำนัก

ซึ่งผมเห็นว่าเป็นเรื่องธรรมดา เพราะหลายสิ่งหลายอย่างที่เราเห็นอยู่ขณะนี้ไม่เคยปรากฏขึ้นมาพร้อมๆ กัน

คนอยู่ภาคเอกชนกับคนที่เป็นคนกำกับกติกาย่อมจะต้องมองจากคนละมุม

แต่ท้ายที่สุดการเปิดเวทีแลกเปลี่ยนข้อมูลและความเห็นเป็นเรื่องสำคัญที่สุด เพราะจะนำไปสู่การสรุปเป็นนโยบายที่จะตอบโจทย์ที่ประชาชนต้องการเห็นทางแก้ไข

โดยเฉพาะเมื่อโจทย์ทุกวันนี้ยากขึ้นทุกวัน และทุกฝ่ายอ่านโจทย์เดียวกันไปในทิศทางเดียวกันหรือเปล่า

ในภาวะที่เครื่องมือหรืออาวุธที่ใช้ต่อสู้กับปัญหาหนักๆ ที่มะรุมมะตุ้มมาจากทุกทิศทุกทางนั้นมีจำกัดและไม่ได้มีประสิทธิภาพเท่ากันในทุกบริบท.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สงครามพม่า: ไทยอาจมีสภาพเหมือน ‘โปแลนด์’ ของสงครามยูเครน?

ข้อสังเกตของอาจารย์สุรชาติ บำรุงสุข ว่าไทยอาจกลายเป็น “โปแลนด์” ในกรณีสงครามกลางเมืองพม่า เป็นประเด็นที่น่าสนใจสำหรับการวางยุทธศาสตร์ของไทยต่อสถานการณ์รอบบ้านเรา

ทำไม IMF กับ Apple ของจีนกันคนละมุม?

สองคนมองสองมุม ผู้อำนวยการ IMF เตือนว่าเศรษฐกิจจีนอยู่ในช่วงมาถึง “ทางสองแพร่ง” ต้องเลือกระหว่างนโยบายในอดีตหรือ “การปฏิรูปตลาด” เพื่อปลดล็อกการเติบโต

ปูติน-เซเลนสกีแลกหมัด กรณีเหตุก่อการร้ายมอสโก

ตกลงใครอยู่เบื้องหลังเหตุก่อการร้ายต่อโรงคอนเสิร์ตชานเมืองมอสโกที่มีคนตายกว่า 130 คนเมื่อค่ำวันศุกร์ที่ผ่านมา จนกลายเป็นเหตุการณ์ระดับโลก?

คำเตือนก่อเหตุร้ายมอสโก มาจากตะวันตกก่อน 2 สัปดาห์

สองสัปดาห์ก่อนเกิดเรื่องใหญ่เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา สหรัฐฯเตือนคนของตนในรัสเซียให้หลีกเลี่ยงที่ชุมนุมชนในกรุงมอสโกเพราะอาจจะมีการโจมตีของผู้ก่อการร้าย