ถ้าปูตินหยุดส่งก๊าซ-น้ำมัน ให้ตะวันตก...จะเกิดอะไรต่อไป?

เมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อน เจพี มอร์แกน ธนาคารสหรัฐ ออกมาเตือนว่าหากรัสเซียระงับการส่งออกน้ำมันโดยสิ้นเชิง เศรษฐกิจโลกอาจได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจนทำให้ราคาน้ำมันพุ่งขึ้น 4 เท่า เป็นเกือบ 400 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลทันที

แต่เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันดิบร่วงลงมาต่ำกว่า 100 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล เพราะความหวาดหวั่นเรื่องภาวะเศรษฐกิจถดถอยระดับโลก

ซึ่งจะทำให้ความต้องการใช้น้ำมันของโลกลดน้อยลง

แต่ไม่มีใครไว้วางใจใครได้ทั้งนั้น เพราะการขึ้นลงของราคาน้ำมันและก๊าซนั้นมีปัจจัยอย่างอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องจนไม่อาจจะพิจารณาจากแค่เรื่องอุปสงค์-อุปทาน หรือ demand-supply ได้อีกต่อไป

แต่ที่เป็นคำถามใหญ่สำหรับยุโรปตะวันตกและชาวโลกก็คือ

ถ้ารัสเซียตัดสินใจหยุดส่งก๊าซและน้ำมันไปให้ยุโรปตะวันตกโดยสิ้นเชิง จะเกิดอะไรขึ้น?

นี่ไม่ใช่คำถามล้อเล่นอีกต่อไป

เพราะสัปดาห์ที่ผ่านมา รัสเซียสั่งปิดการจ่ายก๊าซธรรมชาติส่วนใหญ่ไปยังยุโรปที่ผ่านทางท่อส่ง Nordstream 1

มอสโกบอกว่าเหตุผลสำคัญคือ เป็นการปิดเพื่อการซ่อมบำรุงรักษาตามแผนตามปกติ

แปลว่าคงจะเป็นเรื่องสั้นๆ ชั่วคราวเท่านั้น

แต่รัฐบาลเยอรมันเริ่มกังวลอย่างจริงจังว่ารัสเซียจะปิดก๊อกน้ำแบบถาวร เพราะปูตินทำให้เห็นแล้วว่าอาวุธของรัสเซียนอกจากปืนผาหน้าไม้แล้วก็คือพลังงานนี่แหละ

คล้ายๆ กับจะส่งเสียงเตือนไปว่าตะวันตกอย่าได้ซ่ากับรัสเซียก็แล้วกัน

เพราะได้เริ่มลดการส่งก๊าซไปยังยุโรปแล้วในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา หลังจากตะวันตกประกาศคว่ำบาตรรัสเซียเพราะสงครามยูเครน

ส่งผลให้ราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

จึงไม่ใช่เรื่องยากเลยที่จะประเมินว่าสถานการณ์อันน่ากลัวนี้จะเกิดขึ้นได้อย่างไร

และทำไมนักวิเคราะห์หลายสำนักจึงทำนายว่าถ้าเกิดเรื่องอย่างนี้โลกก็จะเผชิญกับ “หายนะ” ทางเศรษฐกิจเป็นแน่แท้

จะว่าไปแล้ว รัสเซียก็ได้ “ส้มหล่น” จากวิกฤตครั้งนี้ เพราะมีรายได้เพิ่มเป็นพันล้านดอลลาร์จากการขายน้ำมันและก๊าซแม้ในจังหวะที่ถูกคว่ำบาตรก็ตาม

เพราะพลังงานรัสเซียได้ราคาสูงขึ้น

นับตั้งแต่เกิดสงคราม ราคาน้ำมันและก๊าซถูกกำหนดในระดับสากล และในตลาดนี้รัสเซียเป็นผู้เล่นหลักเลยทีเดียว

มาตรการห้ามรัสเซียขายพลังงานให้กับยุโรปตะวันตกยิ่งทำให้ราคาพุ่งสูงขึ้นไปถึงระดับที่ JP Morgan เรียกว่า "สตราโตสเฟียร์" ในทันที

Stratosphere หมายถึงราคาพุ่งขึ้นไปบนชั้นบรรยายเหนือโลกไปแล้ว

สหรัฐฯ อาจจะไม่เดือดร้อนมากนัก เพราะมีน้ำมันของตัวเอง แต่ยุโรปก็ยังคงพึ่งพารัสเซียอยู่อย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมในเยอรมนีและอิตาลีจะได้รับผลกระทบจากต้นทุนด้านพลังงานที่สูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ผลที่ตามมาคือ บริษัทหลายพันแห่งที่ไม่มีสายป่านยาวพอก็มีอันต้องล้มละลาย

ตามมาด้วยผู้คนนับล้านจะตกงาน

ปูตินใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นอาวุธในการทำสงครามด้านเศรษฐกิจ

สัปดาห์ก่อนก็แผลงฤทธิ์ด้วยการปิดการจ่ายก๊าซไปยังหลายประเทศในยุโรป เพราะไม่จ่ายเป็นรูเบิล

หลายประเทศยอมจำนนแบบไม่ประกาศยอมแพ้ แต่แอบยอมตามเงื่อนไขของมอสโก

อีกด้านหนึ่ง ปูตินยังระงับการส่งออกอาหารของยูเครนเพื่อผลักดันราคาทั่วโลก

นั่นก็ถือได้ว่าเป็นอาวุธสำคัญสำหรับปูตินในการกดดันตะวันตกให้ต้องยอมเขา

ตอนแรก นักวิเคราะห์บางคนคิดว่าปูตินไม่ฉลาดที่บุกยูเครน ทำให้แหล่งรายได้สำคัญหดหาย

แต่รัฐบาลรัสเซียได้สร้าง “กันชน” เงินสดเพียงพอเพื่อช่วยยันแรงกดดันจากตะวันตก

ฝั่งยุโรปก็ต้องปรับตัวเป็นการใหญ่ ภายในปีหน้า เยอรมนีวางแผนที่จะ “หย่านม” จากการพึ่งพาพลังงานรัสเซีย

ผลของการใช้พลังงานเป็นอาวุธไม่เพียงแต่กระทบปากท้องของชาวบ้านเท่านั้น แต่ยังมีผลต่อเนื่องทำให้ตลาดหุ้นดิ่งลง และบรรยากาศการลงทุนทั่วโลกตกอยู่ในภาวะซึมเซาอย่างกว้างขวาง

อีกด้านหนึ่ง การปรับตัวอย่างแรงทำให้รัฐบาลตะวันตกออกกฎหมายพิเศษในภาวะฉุกเฉินเพื่อพัฒนาอุปกรณ์พลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมในระดับอุตสาหกรรม

พร้อมทั้งปูทางให้เกิดฟาร์มพลังงานแสงอาทิตย์และกังหันลมแห่งใหม่ได้อย่างรวดเร็ว

ผลพลอยได้คือความเร่งด่วนในการสร้างฟาร์มพลังงานสะอาดได้อย่างรวดเร็วและราคาถูก

ข้อดีคือการผลิตฟาร์มพลังงานแสงอาทิตย์และกังหันลมจำนวนมากอย่างรวดเร็ว จะทำให้แหล่งจ่ายไฟฟ้าปลอดคาร์บอน และลดแรงกดดันต่อแหล่งจ่ายก๊าซที่จำเป็นสำหรับการปรุงอาหารและการทำความร้อน

ที่เป็นตัวเสริมอีกอย่างหนึ่งคือ รัฐบาลยุโรปตะวันตกหลายแห่งเลือกที่สามารถออกเงินอุดหนุนเพิ่มเติมสำหรับการซื้อรถยนต์ไฟฟ้า

เป็นการลดการพึ่งพาน้ำมันจากต่างประเทศเพื่อการขนส่ง

หลายประเทศรายงานว่า เพราะแรงกดดันที่หนักหน่วงรุนแรงนี่แหละที่ทำให้สามารถลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเป็น 2 เท่า

วิกฤตครั้งนี้จึงเกิดความตื่นตัวกันไปทั่ว

นโยบายลดการพึ่งพาน้ำมันและก๊าซ (บางประเทศเปรียบเสมือนเป็นการเสพติด) ที่เคยเดินไปอย่างช้าๆ เพราะมีแรงต่อต้านจากอุตสาหกรรมน้ำมันเดิมและความไม่คุ้นเคยของผู้บริโภคนั้น อยู่ดีๆ ก็สามารถเดินหน้าได้อย่างจริงจัง

เพราะไม่มีปัจจัยอะไรจะช่วยผลักดันนโยบายที่ยากและจำเป็นได้ดีเท่ากับวิกฤตที่รุนแรง

ดังนั้นถ้าถามว่า หากปูตินหยุดการจ่ายก๊าซและน้ำมันให้โลกตะวันตกอย่างถาวรเลย จะเกิดอะไรขึ้น

คำตอบก็คือ ความปั่นป่วนจะตามมา

พอเกิดความวุ่นวาย ทุกประเทศก็จะวิ่งเข้าหา “พลังงานทางเลือก” อย่างเร่งร้อนและฉับพลัน

เป็นการปรับตัวที่เจ็บปวด...เป็นยาขมหม้อใหญ่

แต่คนไข้อาการหนักขนาดเข้าห้องไอซียูนั้น จำเป็นต้องให้ยาแรงเพื่อกระตุ้นให้ตื่นเพื่อค้นพบตัวเองได้อย่างเป็นรูปธรรมจริงๆ

สงครามสร้างหายนะ

ขณะเดียวกันก็ปลุกให้ทุกคนต้องตื่นขึ้นมาถามตัวเองว่า : จะรอดและรุ่งต้องเปลี่ยนตัวเองให้เร็ว, แรงและยั่งยืน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

มะกันทุ่ม 3.5 ล้านล้านบาท ให้ยูเครน, อิสราเอล, ไต้หวัน!

งบประมาณก้อนใหญ่ที่สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ อนุมัติเพื่อช่วยยูเครน, อิสราเอล และไต้หวันเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา จะช่วยลดความกังวลของยูเครนว่ากำลังจะแพ้สงครามได้หรือไม่...ยังต้องคอยดูของจริงในสมรภูมิรบต่อไป

เชื่อไหม:อิสราเอลกับ อิหร่านเคยรักกัน?

อิสราเอลกับอิหร่านเปิดศึกสงครามที่สร้างความสั่นสะเทือนไปทั่วโลกวันนี้ มีคำถามว่าทั้ง 2 ชาตินี้กลายเป็นศัตรูคู่อาฆาตกันอย่างรุนแรงเช่นนี้มาตั้งแต่เมื่อไหร่ และมีเหตุผลแห่งความบาดหมางกันอย่างไร

จีน-อินเดีย: 'สันติภาพร้อน' ที่ทำให้ร่วมแก้วิกฤตพม่าไม่ได้

วิกฤตพม่าทำให้ผมคิดถึงความความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอินเดียวันนี้ เพราะหากสองยักษ์แห่งเอเชียทำงานร่วมกัน ไทยก็อาจจะเป็นมือประสานให้เกิดกระบวนการเจรจาในพม่าได้

บทเรียนสีหนุวิลล์สำหรับไทย

ความสัมพันธ์อันใกล้ชิดของจีนกับกัมพูชามาในหลายรูปแบบ...และหนึ่งในนั้นคือการสร้างสีหนุวิลล์เป็นศูนย์กลางด้านความบันเทิง หรือที่เรียกว่า Entertainment Complex