เมื่อคนจีนประท้วง เบิกเงินฝากตัวเองไม่ได้

วันก่อนเขียนถึงปัญหาคนจีนในหลายเมืองออกมาประท้วงไม่ยอมจ่ายค่าผ่อนส่งบ้าน เพราะความล้มเหลวของหลายบริษัทอสังหาริมทรัพย์

วันนี้มีรายละเอียดที่ควรแก่การติดตามเพิ่มเติม

เพราะมีผลกระทบไปถึงผู้ฝากเงินรายกลางและรายย่อยที่ไม่สามารถจะถอนเงินฝากของตัวเองได้

เริ่มมีนักวิเคราะห์พูดถึง “ระเบิดหนี้จีน” ที่สร้างความกังวลมากขึ้น

คนที่อ่านว่านี่เป็นสัญญาณเตือนภัยบอกว่า ความเชื่อมั่นในความมั่นคงของธนาคารจีนได้รับผลกระทบค่อนข้างหนักจากความล้มเหลวของธนาคารขนาดเล็กหลายแห่งในมณฑลเหอหนานในเดือนเมษายนปีนี้

เป็นกรณีศึกษาที่โยงไปถึงสินทรัพย์ประมาณ 4 หมื่นล้านหยวน (6 พันล้านดอลลาร์ หรือกว่า 2 แสนล้านบาท) และจำนวนลูกค้าประมาณ 400,000 ราย

ธนาคารในชนบทที่ปิดตัวลงย่อมเป็นส่วนหนึ่งของกลไกในระบบการเงินของจีน

ที่หวั่นเกรงว่าจะเกิดการ “ตูมตาม” ของระเบิดหนี้ของสถาบันการเงินที่อยู่ภายใต้การดูแลที่มีปัญหาความโปร่งใส ประกอบกับความสงสัยว่ามีการทุจริตส่งผลกระทบไปกว้างไกล

ปัญหายิ่งวุ่นวายมากขึ้นเมื่อเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นจัดการกับผลกระทบนั้นด้วยวิธีการที่ค่อนข้างจะแข็งกร้าว ไม่มีการสื่อสารและทำความเข้าใจกับผู้ซื้อบ้านที่เดือดร้อน

ไม่ช้าไม่นานภาพและข่าวของการกระชากลากถูผู้ประท้วงโดยเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นก็ถูกแพร่กระจายไปทั่ว

ยิ่งทำให้เกิดปฏิกิริยาทางลบกับระบบของรัฐมากขึ้นอีก

เมื่อเกิดกรณีเช่นนี้ สิ่งที่ผู้รับผิดชอบควรจะต้องพิจารณาเบื้องต้นคือ วิธีที่เยียวยาด้วยการชดเชยผู้ฝากเงินที่เดือดร้อน

ตามระเบียบของทางการ ผู้เสียหายมีสิทธิ์ได้รับเงินชดเชยสูงถึง 500,000 หยวน

แต่ดูเหมือนว่าเจ้าหน้าที่กลับทำทุกอย่างเพื่อปิดปากผู้ที่ออกมาร้องเรียน

วิธีการที่ค่อนข้างจะไร้ความเห็นอกเห็นใจชาวบ้านเจ้าของเงินฝากก็เกิดขึ้น เมื่อเจ้าหน้าที่เริ่มด้วยการจำกัดการเคลื่อนไหวของผู้ฝากเงิน โดยเปลี่ยนรหัสทดสอบ COVID บนสมาร์ทโฟนของพวกเขาเป็นสีแดง

ผลก็คือเจ้าของมือถือไม่สามารถใช้บริการขนส่งสาธารณะ หรือแม้แต่ขับรถของตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ

พอเกิดเสียงโวยวายในที่สาธารณะบังคับก็กดดันให้รัฐบาลเหอหนานเลิกวิธีที่ชวนให้เกิดความวุ่นวายนี้

แต่เมื่อผู้ฝากเงินหลายร้อยรายไม่สามารถเข้าถึงเงินฝากของตนในธนาคารที่ล้มเหลว และได้รวมตัวกันในวันที่ 10 กรกฎาคม เพื่อประท้วงหน้าสำนักงานสาขาธนาคารประชาชนในเมืองเจิ้งโจว เมืองหลวงของเหอหนาน เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นได้ส่งทีมงานบุกทำร้ายร่างกายผู้ฝากเงิน

โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจในเครื่องแบบยืนคุมเชิงอยู่แบบหน้าตาเฉย

เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยนอกเครื่องแบบกระชากลากถูและดึงเสื้อของผู้ประท้วงกลางถนน ทั้งๆ ที่ไม่ใช่การก่อหวอดเรื่องการเมืองที่อ้างว่ากระทบความมั่นคงได้

เหตุผลมีง่ายๆ คือคนฝากเงินธนาคารเบิกเงินของตัวเองไม่ได้ เพราะธนาคารขาดเงิน

การใช้ความรุนแรงกับชาวบ้านที่เดือดร้อนน่าจะเป็นเพราะเจ้าหน้าที่บ้านเมืองต้องการจะปกปิดข่าวร้ายอะไรหลายอย่าง

ไม่แต่แค่ปิดบังความไร้ประสิทธิภาพของการบริหารท้องถิ่น

แต่ยังพยายามซ่อนปัญหาที่ใหญ่กว่านั้น คือสถานการณ์ที่ธนาคารขนาดเล็กเหล่านี้ล้มเหลว

รัฐบาลจีนเริ่มใช้การกู้เพื่อกระตุ้นการเติบโตตั้งแต่ปี 2552 ทำให้เกิดคำถามว่าพรรคคอมมิวนิสต์จีนจะเดินตามนโยบายนี้ได้นานเพียงใดโดยไม่ต้องเจอปัญหา

ทางการได้ออกมายืนยันตลอดว่า รัฐบาลและพรรคสามารถควบคุมสถานการณ์ได้

และตอกย้ำเสมอว่าการคาดคะเนว่าจีนจะประสบกับปัญหา “ฟองสบู่ทางเศรษฐกิจ” นั้นไม่มีพื้นฐานใดๆ

หลายคนก็อยากจะเชื่ออย่างนั้น เพราะไม่อยากจะเห็นภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจของประเทศที่เศรษฐกิจใหญ่อันดับ 2 ของโลกมีปัญหา

แต่เมื่อตัวเลขจากบางสำนักวิเคราะห์เปิดเผยว่า ระบบธนาคารของจีนมีอัตราส่วนหนี้สินต่อ GDP อยู่ที่ 264% ก็เริ่มมีคำถามจากหลายๆ ฝ่ายว่าสภาพที่แท้จริงเป็นเช่นไร

หลายคนที่มองโลกในแง่ดีบอกว่า ปักกิ่งดูเหมือนจะสามารถ “ท้าทายแรงโน้มถ่วงทางการเงิน” ได้

ไม่มีใครเชื่อว่าเรื่องหนี้จะกลายเป็นวิกฤตต่อระบบใหญ่ของจีน

แต่มีสัญญาณเตือนหลายอย่างที่บ่งชี้ว่าจีนอาจเผชิญกับปัญหาที่หนักกว่าที่คนทั้งหลายเคยเชื่อ

เพราะอาการไม่น่าสบายใจมีให้เห็นมากขึ้น

นักวิเคราะห์บางสำนักบอกว่า ปัญหาของสถาบันการเงินมีหลายประการ เช่น

การกำกับดูแลที่อ่อนแอ

การบริหารความเสี่ยงที่ต่ำกว่ามาตรฐาน

และคอร์รัปชัน

ทั้งหมดนี้มีแนวโน้มจะผลักดันให้ธนาคารขนาดเล็กแบบในมณฑลเหอหนานเข้าสู่ภาวะล้มละลาย

ที่ต้องกังวลหากไม่ได้รับการแก้ไขก็เป็นเพราะระบบธนาคารขนาดเล็กและขนาดกลางเกือบ 4,000 แห่งของประเทศที่มีสินทรัพย์เกือบ 14 ล้านล้านดอลลาร์ (กว่า 500,000 ล้านล้านบาท)

ที่น่ากลัวต่อมาก็คือ การล้มละลายต่อเนื่องแบบ “โดมิโน”

เพราะสถาบันการเงินอยู่ได้ด้วย “ความน่าเชื่อถือ” เป็นหลัก

หากความน่าเชื่อถือขาดสะบั้นลง ทั้งระบบก็จะถูกกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

โดยความบังเอิญแท้ๆ ที่ขณะที่ทางการเหอหนานปราบปรามเหยื่อของความล้มเหลวของธนาคารที่นั่น เจ้าหน้าที่ในเซี่ยงไฮ้ได้นำตัวอดีตมหาเศรษฐีผู้หนึ่งที่ถูกกล่าวหาว่ามีอิทธิพลกำกับควบคุมธนาคารขนาดกลางในมองโกเลียในอย่างลับๆ

พอรัฐบาลยึดธนาคารนี้เพราะล้มละลายในปี 2019 ก็ต้องเอาเงินหลายพันล้านดอลลาร์ไปอุ้มเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการลามต่อ

ระบบธนาคารจีนถูกกล่าวหาว่ามี “ธนาคารเงา” ที่แฝงไว้ข้างหลังเพื่อดำเนินกิจกรรมที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย

ที่ผ่านมาอะไรๆ ที่ปัดไว้ใต้พรมอาจจะไม่โผล่ออกมา เพราะเศรษฐกิจของจีนสามารถเติบโตได้ในอัตราที่สูงพอสมควร โดยเฉลี่ย 6.8% ต่อปี ตั้งแต่ปี 2554 ถึง 2563

เศรษฐกิจที่เติบโตเร็วอย่างนี้ย่อมทำให้การบริหารปัญหาอื่นๆ ได้ง่ายขึ้น

แม้กระทั่งจะปกปิดภาระหนี้ไม่ให้เห็นภาพจริงก็ยังทำได้...แม้จะเป็นเพียงชั่วคราวก็ตาม

แต่ลางร้ายก็เกิดขึ้นกับภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีน China Evergrande Group ซึ่งเป็นผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ที่สุดของประเทศที่กู้ยืมไปแล้วกว่า 300,000 ล้านดอลลาร์ เกิดผิดนัดจ่ายดอกเบี้ยพันธบัตรของตน

และดูเหมือนว่าอาจมีการผิดนัดชำระหนี้เพิ่มขึ้นอีก เพราะเหล่าบรรดานักพัฒนาอสังหาฯ จีนได้เร่งซื้อหุ้นกู้มูลค่า 13 พันล้านดอลลาร์ ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้

สัญญาณอันตรายอาจไปโผล่ที่ต่างจังหวัดก่อน...แล้วจึงมาระเบิดกลางกรุงอีกที

น่าติดตามมากว่ารัฐบาลของสี จิ้นผิง จะถอดสลัก “ระเบิดหนี้” นี้ได้อย่างไร.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สงครามพม่า: ไทยอาจมีสภาพเหมือน ‘โปแลนด์’ ของสงครามยูเครน?

ข้อสังเกตของอาจารย์สุรชาติ บำรุงสุข ว่าไทยอาจกลายเป็น “โปแลนด์” ในกรณีสงครามกลางเมืองพม่า เป็นประเด็นที่น่าสนใจสำหรับการวางยุทธศาสตร์ของไทยต่อสถานการณ์รอบบ้านเรา

ทำไม IMF กับ Apple ของจีนกันคนละมุม?

สองคนมองสองมุม ผู้อำนวยการ IMF เตือนว่าเศรษฐกิจจีนอยู่ในช่วงมาถึง “ทางสองแพร่ง” ต้องเลือกระหว่างนโยบายในอดีตหรือ “การปฏิรูปตลาด” เพื่อปลดล็อกการเติบโต

ปูติน-เซเลนสกีแลกหมัด กรณีเหตุก่อการร้ายมอสโก

ตกลงใครอยู่เบื้องหลังเหตุก่อการร้ายต่อโรงคอนเสิร์ตชานเมืองมอสโกที่มีคนตายกว่า 130 คนเมื่อค่ำวันศุกร์ที่ผ่านมา จนกลายเป็นเหตุการณ์ระดับโลก?

คำเตือนก่อเหตุร้ายมอสโก มาจากตะวันตกก่อน 2 สัปดาห์

สองสัปดาห์ก่อนเกิดเรื่องใหญ่เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา สหรัฐฯเตือนคนของตนในรัสเซียให้หลีกเลี่ยงที่ชุมนุมชนในกรุงมอสโกเพราะอาจจะมีการโจมตีของผู้ก่อการร้าย