จับตาการทูตข้ามโลก ของผู้นำอินโดฯโจโกวี

นี่เป็นภาพเก่าของการพบปะระหว่างผู้นำจีนกับอินโดนีเซีย

วันนี้เราจะเห็นประธานาธิบดีโจโก วิโดโดของอินโดนีเซีย บินไปปักกิ่งเพื่อพบประธานาธิบดีสี จิ้นผิง และนายกรัฐมนตรีหลี่   เค่อเฉียง ของจีน

เป็นการไปเยือนที่มีความหมายพิเศษ เพราะโจโกวีมีฐานะผู้นำต่างชาติคนแรกที่ผู้นำจีนยอมให้เข้าพบตัวเป็นๆ ในรอบ 2 ปีเลยทีเดียว

สื่อจีนบอกว่า นี่อาจเป็นการส่งสัญญาณที่สำคัญว่าจีนยอมผ่อนคลายมาตรการสกัดโควิดที่เข้มงวดลง เพื่อกระชับความสัมพันธ์ทางการทูตกับชาติอื่นๆ

หวัง เหวินปิน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน กล่าวว่า วิโดโดได้รับคำเชิญจากสี จิ้นผิง ให้เดินทางมาเยือนด้วยตนเอง โดยเขาจะได้เข้าร่วมประชุมกับสี จิ้นผิง และหลี่เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีน วันนี้กับพรุ่งนี้

วาระประชุมทางการคือการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเชิงลึกเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระดับทวิภาคี ตลอดจนประเด็นปัญหาหลักๆ ในระดับภูมิภาคและในระดับโลก 

การเดินทางเยือนของวิโดโดถือเป็นการส่งสัญญาณครั้งสำคัญว่าจีนได้เริ่มเปิดประตูรับผู้นำจากต่างประเทศมากขึ้น 

หลังจากที่ไม่ได้ต้อนรับแขกต่างชาติตั้งแต่โควิด-19 เริ่มระบาดรุนแรงในปี 2020 

ยกเว้นในช่วงการจัดมหกรรมโอลิมปิกฤดูหนาวเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งจีนได้เปิดบ้านต้อนรับผู้นำจากต่างชาติด้วยความระมัดระวังอย่างสูง

ตอนนี้ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย บินตรงมาจับไม้จับมือกับสี จิ้นผิง ในงานเปิดมหกรรมโอลิมปิกฤดูหนาว

มีการออกแถลงการณ์ยาวเหยียดถึง 5,000 คำ เพื่อตอกย้ำถึง “ความสัมพันธ์ไร้ขีดจำกัด”

ก่อนที่ปูตินจะสั่งทหารรัสเซียบุกเข้ายูเครนไม่กี่วัน

ทำให้เกิดคำถามว่า ปูตินกระซิบบอกผู้นำจีนว่ากำลังจะมี “ปฏิบัติการพิเศษทางทหาร” ในยูเครนในอีกไม่กี่วันข้างหน้าหรือเปล่า

ครั้งสุดท้ายที่สี จิ้นผิง ได้เดินทางเยือนต่างประเทศด้วยตนเองคือเมื่อเดือนมกราคม 2020 ก่อนที่จะล็อกดาวน์นครอู่ฮั่น และมีการเดินทางเยือนฮ่องกงเพื่อร่วมพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งของ จอห์น ลี ผู้บริหารสูงสุดคนใหม่ของฮ่องกง เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม

บทบาทของโจโกวีในฐานะนักการทูตระดับโลกมีให้เห็นเด่นชัดขึ้นในช่วงหลัง

เมื่อสัปดาห์ก่อน เขาก็สร้างข่าวเกรียวกราวด้วยการบินไปมอสโกเพื่อพบกับปูติน

จากนั้นก็บินมากรุงเคียฟเพื่อจับมือกับประธานาธิบดีเซเลนสกี

โดยที่ผู้นำอินโดฯ บอกว่าได้นำเอาสารจากปูตินมาฝากด้วย

อีกทั้งยังเสนอตัวพร้อมจะเล่นบทคนกลางให้คู่กรณีในสงครามยูเครนด้วย

ก่อนหน้าจะบินไปมอสโก โจโกวีบินไปเยอรมนีก่อนเพื่อพบกับผู้นำ G-7 โดยเฉพาะประธานาธิบดีโจ ไบเดน เพื่อบอกให้รู้ล่วงหน้าว่าเขาจะไปพบทั้งปูตินและเซเลนสกี

ไบเดนมิอาจทัดทานได้

                    เพราะแม้ไบเดนจะเคยขอให้อินโดฯ ซึ่งจะเป็นประธานจัดการประชุมสุดยอด G-20 ในเดือนพฤศจิกายนที่บาหลี

อย่าได้เชิญปูตินไปร่วมเพื่อเป็นการร่วมกับตะวันตกในการคว่ำบาตรรัสเซีย แต่โจโกวีก็หาทางออกได้อย่างสวยงาม

คือเล่นบทเป็นเจ้าภาพระดับโลกที่ต้องยื่นมือไปให้ทุกฝ่าย

โดยที่ไบเดนและผู้นำนาโตไม่อาจจะแสดงความขุ่นข้องหมองใจได้เลย

ปูตินบอกว่าจะไปร่วมประชุม G-20 ที่บาหลีในวันที่ 15-16 พฤศจิกายน

สี จิ้นผิง กับไบเดนจะมาด้วยหรือไม่ยังไม่แน่

เซเลนสกีบอกว่าเขาอาจร่วมประชุมผ่านช่องทางออนไลน์ แต่ก็ขอพิจารณาว่าใครจะเข้าร่วมด้วยบ้างก่อน

ไทยเราจะเป็นเจ้าภาพประชุมสุดยอด APEC 18-19 ในเดือนเดียวกัน

                    เรายังไม่รู้ว่าผู้นำมหาอำนาจประเทศไหนจะมาหรือไม่มา...แม้ว่ารัฐมนตรีต่างประเทศจีน หวัง อี้ ที่เพิ่งมาเยือนไทย จะบอกนายกฯ ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่าหาก “ไม่ติดขัดอะไร” ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ก็จะมาร่วมประชุม APEC

แต่กว่าจะถึงเดือนพฤศจิกายนยังอีกหลายเดือน อะไรๆ ก็ย่อมจะเกิดขึ้นได้ในสมรภูมิรบยูเครน

แต่ที่แน่ๆ คือไบเดนกำลังเตรียมจะพูดคุยกับสี จิ้นผิง เรื่องลดภาษีศุลกากรของสินค้าจีนเข้าอเมริกา

ที่ยุคโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ใช้เป็นอาวุธต่อสู้กับปักกิ่งเอาไว้

ไบเดนบอกว่าที่ต้องผ่อนคลายเรื่องนี้กับจีน ก็เพื่อแก้ปัญหาการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานและอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น 

เหตุเกิดตั้งแต่กรกฎาคม 2018 เมื่อสหรัฐฯ ประกาศกำหนดอัตราภาษี 25% สำหรับสินค้าจีนมูลค่า 34,000 ล้านดอลลาร์ 

หลังจากนั้นก็เพิ่มเติมรายชื่อสินค้าใหม่ ๆ เพิ่มเข้าไปอีกจนมีมูลค่า 37,000 ล้านดอลลาร์ 

ข่าวยืนยันว่าไบเดนกำลังพิจารณาที่จะยกเลิกบางส่วนเพื่อบรรเทาเงินเฟ้อ ซึ่งแตะระดับมากกว่า 9% ในเดือนมิถุนายน

แต่นั่นไม่ได้แปลว่าวอชิงตันจะเลิกคิดแข่งกับปักกิ่งในตลาดโลก

สหรัฐฯ ยังเดินหน้าหาช่องทางการทูตและความช่วยเหลือด้านการพัฒนาในย่านอินโดแปซิฟิกเพื่อสกัดการเติบใหญ่ของจีนในอีกหลายๆ มิติ

หนึ่งในความพยายามนั้นคือแผนการจัดตั้งสถานทูตในคิริบาสและตองกาเพื่อตอบสนองต่ออิทธิพลที่เพิ่มขึ้นของจีนในอินโดแปซิฟิก

เพื่อยันกับที่จีนกำลังเจรจาข้อตกลงด้านความมั่นคงกับหมู่เกาะโซโลมอน

สหรัฐฯ ยังเดินหน้าสร้างพันธมิตรในย่านนี้ด้วยการกระชับความสัมพันธ์ทุกๆ ด้านกับญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์

รวมพลังกันแล้วก็ให้การสนับสนุนการทูตและเศรษฐกิจไปยังประเทศเกาะเล็กๆ ในภูมิภาคนี้

ดังนั้นเมื่อผมเห็นผู้นำอินโดนีเซียเล่นเกมการทูตเหนือเมฆด้วยการบินไปหาสี จิ้นผิงวันนี้ ก็ย่อมจะตระหนักได้ถึงนโยบายเชิงรุกของเพื่อนเราในอาเซียนประเทศนี้ที่ไม่ยอมให้การแข่งขันของยักษ์ใหญ่มาส่งผลกระทบต่อทิศทางพัฒนาประเทศของตน

เราควรต้องเรียนรู้จากเพื่อนบ้าน

หรือเราจับมือกับเพื่อนบ้าน

และสร้างพลังต่อรองร่วมกันเพื่อให้อาเซียนเป็นกลุ่มก้อนที่มีศักยภาพในเวทีโลกอันยุ่งเหยิงทุกวันนี้ได้ ก็จะตอบโจทย์ของไทยเราได้อย่างแน่นอน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เชื่อไหม:อิสราเอลกับ อิหร่านเคยรักกัน?

อิสราเอลกับอิหร่านเปิดศึกสงครามที่สร้างความสั่นสะเทือนไปทั่วโลกวันนี้ มีคำถามว่าทั้ง 2 ชาตินี้กลายเป็นศัตรูคู่อาฆาตกันอย่างรุนแรงเช่นนี้มาตั้งแต่เมื่อไหร่ และมีเหตุผลแห่งความบาดหมางกันอย่างไร

จีน-อินเดีย: 'สันติภาพร้อน' ที่ทำให้ร่วมแก้วิกฤตพม่าไม่ได้

วิกฤตพม่าทำให้ผมคิดถึงความความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอินเดียวันนี้ เพราะหากสองยักษ์แห่งเอเชียทำงานร่วมกัน ไทยก็อาจจะเป็นมือประสานให้เกิดกระบวนการเจรจาในพม่าได้

บทเรียนสีหนุวิลล์สำหรับไทย

ความสัมพันธ์อันใกล้ชิดของจีนกับกัมพูชามาในหลายรูปแบบ...และหนึ่งในนั้นคือการสร้างสีหนุวิลล์เป็นศูนย์กลางด้านความบันเทิง หรือที่เรียกว่า Entertainment Complex

อิหร่าน-อิสราเอล: ทุกฉากทัศน์ล้วนเสี่ยงสูง

คณะรัฐมนตรีสงครามหรือ War Cabinet ของอิสราเอลประชุมกันเคร่งเครียดมาหลายรอบ...สรุปได้เพียงว่าจะต้องตอบโต้อิหร่านแน่...แต่ไม่ระบุว่าเมื่อไหร่และด้วยยุทธการแบบใด