สมุดปกขาวญี่ปุ่นระบุ จีน-รัสเซียคือภัยคุกคามต่อตน

 “สมุดปกขาว” ล่าสุดของญี่ปุ่นบอกอะไรเราหลายอย่างเกี่ยวกับสถานะแห่งภูมิรัฐศาสตร์ของย่านนี้...ที่โยงกับสงครามยูเครนและกระทบต่อการจัดระเบียบโลกใหม่ที่เราเห็นอยู่ขณะนี้

รายงานวิเคราะห์สถานการณ์ของกระทรวงกลาโหมญี่ปุ่นเตือนภัยคุกคามจากสายสัมพันธ์ใกล้ชิดระหว่างรัสเซียกับจีน

และความประหวั่นพรั่นพรึงว่าฉนวนระเบิดต่อไปคือไต้หวัน ซึ่งกำลังถูกแรงกดดันกระหน่ำอย่างหนัก

กระทรวงป้องกันประเทศของญี่ปุ่นเผยแพร่รายงานกลาโหมประจำปีนี้เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาสดๆ ร้อนๆ นี่เอง

ข้อใหญ่ใจความของรายงานที่น่าสนใจฉบับนี้คือ การเตือน “ภัยคุกคาม” ที่อาจจะทวีความตึงเครียดมากยิ่งขึ้น

ญี่ปุ่นกลัวที่สุดคือ การที่ยักษ์ใหญ่อย่างจีนกระชับความสัมพันธ์กับรัสเซีย

ยิ่งเกิดสงครามยูเครนก็ยิ่งทำให้มอสโกกับปักกิ่งขยับเข้าใกล้กันกว่าเดิมอีก

ญี่ปุ่นมองต่อไปว่า ถ้ารัสเซียบุกยูเครนได้ ทำไมจีนจะไม่คิดว่าจะสามารถบุกไต้หวันได้ด้วย

รายงานของญี่ปุ่นฉบับนี้กล่าวถึงสถานการณ์ที่กองทัพรัสเซียตัดสินใจทำสงครามรุกรานประเทศเพื่อนบ้านอย่างยูเครน

สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงสถานะเดิมก่อนหน้านี้ (Status Quo)

การทำเช่นนี้เท่ากับเป็นการ “เปลี่ยนกติกาโลก” ที่ระบุว่าไม่มีประเทศไหนสามารถใช้กำลังเข้าไป “เปลี่ยนสถาะเดิม” ของอีกประเทศหนึ่งได้

แต่เมื่อมันเกิดขึ้นแล้วก็ไม่มีองค์กรระหว่างประเทศใดสามารถระงับยับยั้งการกระทำของรัสเซียได้

รายงานของญี่ปุ่นฉบับนี้บอกว่า การใช้กำลังบังคับประเทศอื่นแต่เพียงฝ่ายเดียวไม่เคยเป็นที่ยอมรับของประชาคมโลก

แต่วันนี้สิ่งที่เกิดขึ้นในยูเครนอาจจะเป็นความพยายามของรัสเซียที่จะทำให้ “ความไม่ปกติ” นี้กลายเป็น “ความปกติใหม่” หรือ New Normal

รายงานนี้ยังสำรวจภูมิทัศน์รัฐศาสตร์ด้านความมั่นคงระดับโลก โดยเฉพาะในมิติของภัยคุกคามที่มีต่อญี่ปุ่น

ญี่ปุ่นมองเห็นภัยอะไรที่คุกคามตน?

รายงานบอกชัดว่า โตเกียวมีความกังวลว่าสายสัมพันธ์ที่แนบแน่นและแน่นแฟ้นของรัสเซียและจีน ซึ่งจะยิ่งสร้างความตึงเครียดให้กับญี่ปุ่น

ที่ญี่ปุ่นต้องกังวล เพราะเป็นหนึ่งในประเทศที่สนับสนุนการดำเนินนโยบายคว่ำบาตรต่อรัสเซียที่นำโดยประเทศพันธมิตรยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป เพื่อตอบโต้กรณีที่รัสเซียบุกยูเครน

อีกทั้งญี่ปุ่นเองก็มีกรณีพิพาทเรื่องดินแดนกับรัสเซีย

และความบาดหมางระหว่างญี่ปุ่นกับจีนก็ไม่เลยลดระดับลงอย่างมีนัยสำคัญเลย

ที่เพิ่มความตึงเครียดมากขึ้นในย่านนี้ก็คือ การซ้อมรบทางทหารใกล้บริเวณดังกล่าวบ่อยครั้งมากยิ่งขึ้น

เช่น การซ้อมรบระหว่างจีนและรัสเซียใกล้ดินแดนอธิปไตยของญี่ปุ่นอย่างคึกคัก

ฝั่งตะวันตกที่เป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่นก็มิใช่ว่าจะไม่ได้แสดงกิจกรรมทางทหารที่มีความร้อนแรงขึ้น

โดยเฉพาะในช่วงที่มีการประชุม 4 เส้า หรือ Quad (จตุภาคี) ที่สหรัฐฯ เป็นโต้โผหลัก ที่จัดขึ้นในกรุงโตเกียว เมืองหลวงของญี่ปุ่น เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

นอกจากนี้ รายงานนี้ยังอ้างถึงไต้หวันที่มีการเสริมความแข็งแกร่งด้านความมั่นคงเพิ่มมากขึ้นอย่างมาก

โดยเฉพาะในช่วงที่รัสเซียทำสงครามรุกรานยูเครนและพัฒนาความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับรัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่

หากจีนกับไต้หวันเผชิญหน้ากันหนักขึ้น ญี่ปุ่นก็ถือว่านั่นคือภัยคุกคามต่อตน

ไม่ว่าจะมองในแง่ภูมิรัฐศาสตร์, เศรษฐศาสตร์, การเมืองและสังคม

ความกังวลของญี่ปุ่นถูกสะท้อนในความพยายามเพิ่มงบทางการทหารมากยิ่งขึ้นตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา

กระนั้นญี่ปุ่นก็ยังคงเป็นประเทศที่มีอัตราค่าใช้จ่ายด้านการทหารต่อ GDP ของประเทศน้อยที่สุดในบรรดากลุ่มประเทศ G7

นายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะ ของญี่ปุ่น ตั้งเป้าจะเพิ่มงบประมาณด้านการป้องกันประเทศให้ถึง 2% ของ GDP ญี่ปุ่น

ท่ามกลางข้อจำกัดหลายด้าน

เช่น ญี่ปุ่นยังไม่อาจมี “กองทัพ” ในความหมายปกติเหมือนประเทศอื่น

เพราะรัฐธรรมนูญญี่ปุ่นที่สหรัฐฯ เป็นคนเขียนขึ้นในฐานะผู้ชนะสงครามจำกัดงบประมาณด้านการทหารของประเทศนี้ไว้ นับตั้งแต่ญี่ปุ่นพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2

โดยรายงานฉบับนี้ยังมองจีนเป็นตัวแสดงหลักด้านความมั่นคง "ที่ต้องจับตามอง"

อีกทั้งยังต้องมองไปที่เกาหลีเหนือที่ไม่เคยปิดบังจุดยืนของตนว่าญี่ปุ่นเป็นศัตรูสำคัญรองจากสหรัฐฯ

คิม จองอึน แห่งเปียงยางย้ำมาตลอดว่าญี่ปุ่นและเกาหลีใต้คือ “สมุน” ของสหรัฐฯ ในความพยายามที่จะปิดล้อมเกาเหลีเหนือด้วยการซ้อมรบเป็นประจำ

ญี่ปุ่นย่อมนอนไม่หลับขณะที่เกาหลีเหนือเดินหน้าพัฒนาขีปนาวุธและอาวุธนิวเคลียร์อย่างต่อเนื่อง

และก็ยังทดลองยิงอาวุธร้ายแรงเหล่านั้นข้ามเกาะญี่ปุ่นเป็นระยะๆ โดยไม่สนใจไยดีกับเสียงต่อต้านคัดค้านจากประชาคมโลก

การที่อดีตนายกฯ ญี่ปุ่น ชินโซะ อาเบะ ถูกลอบสังหารนั้น มีบางสำนักตีความว่า อาจจะมาจากแนวทางเชิงรุกของเขาที่จะเพิ่มงบประมาณทางทหารเพื่อสร้างให้ญี่ปุ่นมีศักยภาพทางทหารอย่างคึกคักกว่าเดิม

คนที่ต่อต้านแนวทางนี้มีอยู่ในแวดวงการเมืองและประชาสังคมไม่น้อย

นายกฯ ญี่ปุ่นคิชิดะ ปัจจุบันก็ยอมรับว่ารัฐบาลของเขาจำเป็นต้องจับมือกับสหรัฐฯ และโลกตะวันตกเพื่อสร้างเกราะกำบังด้านความมั่นคงให้กับตนเอง

รัสเซียกับจีนมองญี่ปุ่นด้วยความระแวงคลางแคลงมาตลอด

ผมอ่านรายงานนี้แล้วอดคิดไม่ได้ว่าไทยและอาเซียนจะออก “สมุดปกขาวด้านความมั่นคง” เพื่อวิเคราะห์สถานการณ์ความตึงเครียดระดับโลกหรือไม่

และถ้ามี Asean Security White Paper จะมีแนววิเคราะห์และเสนอทางออกอย่างไร?

น่าคิดมากครับ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

พม่าจะเดินตามรอยเกาหลีเหนือ? ทำไมจึงมีนักวิเคราะห์บางสายตั้งคำถามนี้?

เพราะมีข่าวหลายกระแสที่บ่งบอกไปในทิศทางที่ว่า ผู้นำทหารพม่ากำลังมองคิม จองอึน แห่งเกาหลีเหนือเป็น “แม่แบบ” ของการสร้างอำนาจต่อรองกับประเทศที่พยายามจะกดดันให้ต้องยอมเสียงเรียกร้องให้กลับไปสู่ความเป็นประชาธิปไตย

สงครามพม่า: ไทยอาจมีสภาพเหมือน ‘โปแลนด์’ ของสงครามยูเครน?

ข้อสังเกตของอาจารย์สุรชาติ บำรุงสุข ว่าไทยอาจกลายเป็น “โปแลนด์” ในกรณีสงครามกลางเมืองพม่า เป็นประเด็นที่น่าสนใจสำหรับการวางยุทธศาสตร์ของไทยต่อสถานการณ์รอบบ้านเรา

ทำไม IMF กับ Apple ของจีนกันคนละมุม?

สองคนมองสองมุม ผู้อำนวยการ IMF เตือนว่าเศรษฐกิจจีนอยู่ในช่วงมาถึง “ทางสองแพร่ง” ต้องเลือกระหว่างนโยบายในอดีตหรือ “การปฏิรูปตลาด” เพื่อปลดล็อกการเติบโต

ปูติน-เซเลนสกีแลกหมัด กรณีเหตุก่อการร้ายมอสโก

ตกลงใครอยู่เบื้องหลังเหตุก่อการร้ายต่อโรงคอนเสิร์ตชานเมืองมอสโกที่มีคนตายกว่า 130 คนเมื่อค่ำวันศุกร์ที่ผ่านมา จนกลายเป็นเหตุการณ์ระดับโลก?

คำเตือนก่อเหตุร้ายมอสโก มาจากตะวันตกก่อน 2 สัปดาห์

สองสัปดาห์ก่อนเกิดเรื่องใหญ่เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา สหรัฐฯเตือนคนของตนในรัสเซียให้หลีกเลี่ยงที่ชุมนุมชนในกรุงมอสโกเพราะอาจจะมีการโจมตีของผู้ก่อการร้าย