สงครามยูเครนกับ หน้าหนาวยุโรป

หน้าหนาวนี้สำหรับชาวยุโรปหนาวแน่!

รัสเซียประกาศลดการส่งก๊าซไปให้กับยุโรปตะวันตก อ้างว่าสาเหตุหนึ่งเพราะต้องปิดซ่อมท่อก๊าซ North Stream 1 ประจำปี 10 วัน

ต่อมา Gazprom รัฐวิสาหกิจพลังงานยักษ์ของรัสเซียก็บอกว่าอาจจะไม่สามารถส่งก๊าซตามสัญญาเพราะ “เหตุสุดวิสัย”

ซึ่งจะทำให้คู่สัญญาไม่อาจจะเรียกร้องให้มีการลงโทษหรือปรับรัสเซียในกรณีที่ไม่อาจจะส่งมอบได้ตามจำนวนที่ตกลงกันไว้

ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซียออกมาสำทับว่า แม้มอสโกจะทำตามพันธกรณีในเรื่องนี้ แต่ก็ไม่อาจจะรับรองว่าจะสามารถส่งให้ได้ครบถ้วนตามที่ตกลงกันไว้

ต่อมา Gazprom ก็ออกข่าวว่า อาจจะสามารถส่งก๊าซได้เพียง 20% ของความสามารถในการผลิตเท่านั้น ปัญหาเทคนิคเกี่ยวกับกังหันในระบบ

ในบัดดลนั้นเอง สมาชิกสหภาพยุโรปก็ประชุมด่วน สรุปว่าจะร่วมกันลดการใช้ก๊าซลง 15% โดยด่วน

สงครามในยูเครนย่างเข้าสู่เดือนที่ 6 การเผชิญหน้าระหว่างรัสเซียกับตะวันตกมีครบทุกมิติ

ไม่ว่าจะเป็นการสู้รบในสมรภูมิ

การปะทะกันในเวทีทางการทูต

หรือการกดดันซึ่งกันและกันในด้านเศรษฐกิจ

อียูบอกว่าไม่ต้องการจะเป็นเหยื่อของ “การแบล็กเมล์ด้านพลังงาน” จากรัสเซีย

อีกทั้งเพื่อลดความเสี่ยงอันเกิดจากผลกระทบทางเศรษฐกิจที่จะสร้าง “ความหายนะ” ให้กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในความขัดแย้งนี้

ก่อนหน้านี้ คณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) ประชุมแล้วนำเสนอแผนฉุกเฉินนี้ให้ประเทศสมาชิกทั้ง 27

เริ่มด้วยการบอกว่าการปรับตัวเช่นนี้ให้ทำแบบ “สมัครใจ” ก่อน

และหากจำเป็นก็จะพิจารณาอำนาจทางกฎหมายเพื่อบังคับใช้นโยบายนี้ในวันข้างหน้า

เพราะต้องคอยติดตามว่ารัสเซียจะเดินหน้าลดปริมาณก๊าซที่จะส่งให้หรือไม่

หรือถึงขั้นหยุดการส่งออกก๊าซมาให้สมาชิกอียูเลยหรือไม่

เสียงกร้าวที่สุดมาจากประธานคณะกรรมาธิการยุโรป เออร์ซูลา ฟ็อน แดร์ ไลเอิน

เธอเป็นหญิงกร้าวที่ออกมาประกาศว่า “สหภาพยุโรปต้องเตรียมแผนเชิงรุกไว้ เราต้องเตรียมตัวรับสถานการณ์ที่รัสเซียอาจหยุดส่งก๊าซทั้งหมดอย่างสิ้นเชิง”

แปลว่าต้องเผื่อสถานการณ์ที่มาพร้อมกับ “ฉากทัศน์ที่เลวร้ายที่สุด”

เธอย้ำว่า “นี่คือสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นแบบเดียวกับที่เราเคยเจอมาก่อนแล้ว”

ไม่ต้องแปลกใจที่เธอจะออกมาบอกว่ารัสเซียใคร่ครวญแล้วที่จะต้องเดินหน้าอย่างนี้ เพราะต้องการจะกดดันยุโรปตะวันตกด้วยการลดการส่งก๊าซ”

Gasprom เป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาลรัสเซีย จึงต้องทำตามที่รัฐบาลสั่งการ

เริ่มด้วยการปิดท่อส่งหลัก Nord Stream 1 ซึ่งส่งก๊าซธรรมชาติไปยังเยอรมนีและยุโรปตะวันตกอื่น

เหตุผลทางการคือ การปิดซ่อมบำรุงรักษาประจำปี

เหมือนจะบอกว่าไม่มีเจตนาซ่อนเร้นทางการเมืองแต่อย่างไร

แต่ไม่มีใครเชื่อ...และปูตินเองก็คงจะรู้ว่าโลกตะวันตกก็คงไม่เชื่อเหมือนกัน

เมื่อไม่มีความชัดเจนว่าการส่งก๊าซจะกลับมาในภาวะปกติเมื่อไร

และแม้จะกลับมาทำงานตามปกติแล้วก็ไม่อาจจะรับรองว่าจะสามารถส่งปริมาณเท่าเดิมหรือไม่

ยุโรปตะวันตกก็เตรียมหนาวได้

ทั้งๆ ที่กำลังเจอกับ “คลื่นความร้อน” ที่หนักหนาที่สุดในประวัติศาสตร์ในหลายๆ ประเทศก็ตาม

ที่ผ่านมารัสเซียเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติถึง 40% ของปริมาณทั้งหมดที่ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปใช้

พอสงครามยูเครนเริ่ม สมาชิกอียูก็ตระหนักฉับพลันว่าจะต้องเริ่มหาแหล่งพลังงานใหม่ๆ มาใช้เพื่อลดการพึ่งพามอสโก

วิ่งกันให้วุ่นเพื่อหาแหล่งพลังงานจากประเทศอื่น เช่น ตะวันออกลาง, เอเชียกลางและทุกแหล่งที่พึงจะหาได้

นอกจากนี้ก็ยังวางแผนให้ภาคอุตสาหกรรมในยุโรปลดการใช้ก๊าซธรรมชาติ

และยังรณรงค์ให้ประชาชนและทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการประหยัดพลังงานอย่างเข้มข้นด้วย

แต่รัสเซียก็จับจ้องว่าสหภาพยุโรปจะมีมาตรการกดดันตนอย่างไร

ซึ่งก็เกิดขึ้นพร้อมๆ กับเรื่องจะหาก๊าซมาชดเชยของรัสเซียที่หายไปอย่างไร

อียูก็เดินหน้ากดดันมอสโกตามคาด

มาตรการชุดที่ 7 เพิ่งได้รับอนุมัติจากที่ประชุมของเหล่าบรรดานักการทูตของอียู 27 ประเทศ

แต่ประธานาธิบดีเซเลนสกีของยูเครนออกมาแย้งว่า มาตรการคว่ำบาตรรอบที่ 7 ของสหภาพยุโรปที่มีต่อรัสเซียยังไม่เพียงพอที่จะบีบบังคับให้รัสเซียยอมมานั่งโต๊ะเจรจาเพื่อแสวงหาสันติภาพได้

รัสเซียปฏิเสธข้อกล่าวหาว่าตนกำลังใช้พลังงานเป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อข่มขู่คุกคามตะวันตก

ยืนยันว่ารัสเซียยังทำหน้าที่เป็นผู้จัดส่งพลังงานที่ไว้วางใจได้

น่าเชื่อได้ว่าทั้ง 2 ฝ่ายจะเดินหน้ากดดันซึ่งกันและกันอย่างต่อเนื่อง

ปูตินรู้ดีว่ายุโรปตะวันตกกำลังเดือดร้อนทั้งเรื่องขาดแคลนก๊าซ ซึ่งนำไปสู่ราคาข้าวของที่พุ่งพรวดพราด

นำไปสู่ความไม่พอใจของประชาชน

และจะมีผลกระทบต่อการเมืองในประเทศ ซึ่งจะแสดงออกในรูปของการไม่ไว้วางใจผู้นำทางการเมือง

เราเห็นความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในอังกฤษ, อิตาลีและฝรั่งเศสที่มีผลกระทบต่อความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของยุโรปตะวันตกต่อการสนับสนุนยูเครนในการสู้รบกับรัสเซีย

รัสเซียเชื่อว่าจะต้องให้ความหนาวเหน็บในฤดูหนาวที่กำลังจะมาถึงช่วยให้มอสโกบรรลุเป้าหมายทางทหารของตนในยูเครนอย่างแน่นอน

ดังนั้นไม่ว่าฝ่ายไหนจะอ้างเหตุผลอันใด ก็เชื่อได้ว่าทุกอย่างกำลังเดินไปสู่การพิสูจน์ว่าใครจะมีความพร้อมที่จะผ่านฤดูหนาวที่กำลังจะมาถึงนี้เพียงใด.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สงครามพม่า: ไทยอาจมีสภาพเหมือน ‘โปแลนด์’ ของสงครามยูเครน?

ข้อสังเกตของอาจารย์สุรชาติ บำรุงสุข ว่าไทยอาจกลายเป็น “โปแลนด์” ในกรณีสงครามกลางเมืองพม่า เป็นประเด็นที่น่าสนใจสำหรับการวางยุทธศาสตร์ของไทยต่อสถานการณ์รอบบ้านเรา

ทำไม IMF กับ Apple ของจีนกันคนละมุม?

สองคนมองสองมุม ผู้อำนวยการ IMF เตือนว่าเศรษฐกิจจีนอยู่ในช่วงมาถึง “ทางสองแพร่ง” ต้องเลือกระหว่างนโยบายในอดีตหรือ “การปฏิรูปตลาด” เพื่อปลดล็อกการเติบโต

ปูติน-เซเลนสกีแลกหมัด กรณีเหตุก่อการร้ายมอสโก

ตกลงใครอยู่เบื้องหลังเหตุก่อการร้ายต่อโรงคอนเสิร์ตชานเมืองมอสโกที่มีคนตายกว่า 130 คนเมื่อค่ำวันศุกร์ที่ผ่านมา จนกลายเป็นเหตุการณ์ระดับโลก?

คำเตือนก่อเหตุร้ายมอสโก มาจากตะวันตกก่อน 2 สัปดาห์

สองสัปดาห์ก่อนเกิดเรื่องใหญ่เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา สหรัฐฯเตือนคนของตนในรัสเซียให้หลีกเลี่ยงที่ชุมนุมชนในกรุงมอสโกเพราะอาจจะมีการโจมตีของผู้ก่อการร้าย