ทำไมข่าวเปโลซีจะเยือน ไต้หวันเป็นเรื่องร้อนที่ปักกิ่ง?

จะมองว่าเป็นเรื่องเกทับของจีนครั้งใหม่ก็ได้ หรือจะมองว่าครั้งนี้ปักกิ่งไม่มีทางเลือก นอกจากจะต้อง “สั่งสอน” อเมริกาอย่างจริงจังเสียที

เหตุใดข่าวการจะไปเยือนไต้หวันของ แนนซี เปโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐฯ จึงทำให้เกิดความตึงเครียดไปทั่ว?

ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ก็มีนักการเมืองทั้งจากคองเกรสและรัฐบาลที่วอชิงตันแวะเวียนไปไต้หวันเป็นระยะๆ

แม้ทุกครั้งที่ผ่านมา ปักกิ่งจะส่งเสียงต่อต้านคัดค้าน แต่ก็เหมือนจะทำเป็นพิธีเพื่อระงับยับยั้งไม่ให้อเมริกาเหลิงคิดว่าจะทำอะไรกับไต้หวันโดยไม่คำนึงถึงนโยบาย “จีนเดียว” ก็ได้

แต่คราวนี้จีนออกมาเตือนอเมริกาอย่างขึงขังและกว่าทุกครั้ง

ประกาศซ่าปักกิ่งจะตอบโต้อย่างแข็งขัน หากประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ แนนซี เปโลซี เดินทางเยือนไต้หวันตามที่เป็นข่าว

เหตุผลคือเปโลซีมีสถานภาพทางการเมืองในอเมริกาที่อาวุโส...จัดอยู่ในอันดับ 2 รองจากตำแหน่งประธานาธิบดี

และหากเธอไปไต้หวันจริงก็จะเป็นนักการเมืองสหรัฐฯ ที่มีตำแหน่งอาวุโสสูงสุดที่ไปเยือนไต้หวันตั้งแต่ปี 1997

จีนขู่ว่าจะมี “มาตรการที่เด็ดเดี่ยวและเข้มงวด” ที่ไม่ระบุรายละเอียดหากเธอยังดื้อดึงที่จะมาไต้หวัน

ทำให้เกิดความตึงเครียดขึ้นในภูมิภาคนี้ทันที...โดยเฉพาะเมื่อโยงกับสงครามยูเครนที่มีผู้คนเปรียบเทียบว่ามีความละม้ายกับกรณีจีนกับไต้หวันในหลายๆ มิติ

แม้จีนจะยืนยันตลอดว่ายูเครนกับไต้หวันเป็นคนละเรื่อง เพราะไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน ขณะที่ยูเครนเป็นประเทศอธิปไตยของตนเอง

คำถามสำคัญก็คือ เปโลซีอยากไป “เที่ยว” ไต้หวันทำไม?

เปโลซีเคยวิพากษ์วิจารณ์จีนอย่างเข้มข้นมาตลอดกว่า 3 ทศวรรษที่เธอมีตำแหน่งในสภาคองเกรสสหรัฐฯ

เธอนั่งเก้าอี้ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ตั้งแต่ปี 2019 และก่อนหน้านั้นระหว่างปี 2007 ถึง 2011 เธอดำรงตำแหน่งเป็น ส.ส.จากแคลิฟอร์เนีย

เธอเป็นสมาชิกพรรคเดโมแครตตั้งแต่ปี 1987 และถึงวันนี้ก็เป็นสตรีเพียงคนเดียวที่ได้ดำรงตำแหน่งประธานสภาฯ

ดังนั้นความเคลื่อนไหวของเปโลซีในเรื่องการเมืองระหว่างประเทศจึงมีผลกระทบกับจีน

เปโลซีวิพากษ์จีนมาอย่างต่อเนื่อง

เธอเคยไปแขวนป้ายบนจัตุรัสเทียนอันเหมินของปักกิ่งเพื่อรำลึกถึงผู้เสียชีวิตในการปราบปรามผู้ประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยอย่างนองเลือดในปี 1989

นอกจากนี้ ตั้งแต่ปี 2019 เป็นต้นมา เธอยังออกมาสนับสนุนการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกงอย่างไม่ลดละ

จึงไม่ต้องสงสัยว่าเปโลซีตกเป็นเป้าการวิจารณ์จากทางการจีนอย่างต่อเนื่องมาเช่นกัน

การเมืองในสหรัฐฯ ยืนข้างไต้หวัน ทั้ง 2 พรรคในสภาคองเกรสมีความเห็นค่อนข้างสอดคล้องต้องกันว่าสหรัฐฯ ต้องปกป้องไต้หวัน ไม่ให้ปักกิ่งยึดกลับไปเป็นของตน

สัปดาห์ที่ผ่านมา เปโลซียืนยันว่า “มันเป็นเรื่องสำคัญที่เราจะต้องแสดงการสนับสนุนไต้หวัน”

ประธานาธิบดีไช่ อิงเหวิน ของไต้หวัน เดินหน้าท้าทายสิ่งที่รัฐบาลของเธอเรียกว่า “ภัยคุกคามจากปักกิ่ง”

รัฐบาลไต้หวันวันนี้สนับสนุนค่านิยมหลักประชาธิปไตย และนโยบายเสรีที่สอดคล้องกับแนวทางของเปโลซี

ซึ่งรวมถึงการยอมรับการแต่งงานของคนเพศเดียวกัน และเครือข่ายประกันสังคมที่เข้มแข็ง

ด้านจีนยืนยันนั่งยันตลอดว่าไต้หวันเป็นอาณาเขต

และหากใครประกาศแยกตัวออก ปักกิ่งก็พร้อมที่จะดำเนินการอย่างจริงจัง

หากแม้จะต้องใช้กำลังเพื่อบรรลุเป้าหมายนั้นก็จะทำ

ปักกิ่งทำให้เห็นด้วยว่าเอาจริงกับเรื่องนี้เป็นพิเศษด้วยการเสริมกำลังทางทหารที่มุ่งในภารกิจเรื่องนี้เป็นการเฉพาะ

ที่ผ่านมาปักกิ่งคัดค้านการติดต่ออย่างเป็นทางการระหว่างไทเปและวอชิงตัน และขู่ว่าจะตอบโต้เป็นประจำ

แต่ครั้งนี้ดูเหมือนเดิมพันจะถูกยกระดับขึ้น

                    ย้อนกลับไปเมื่อปี 1995 จีนเปิดตัวการซ้อมรบทางทหารและยิงขีปนาวุธลงสู่น่านน้ำใกล้ไต้หวันเพื่อตอบโต้การเยือนสหรัฐฯ ในปี 1995 โดยประธานาธิบดีลี เถิงฮุย ของไต้หวัน แต่วันนั้นไม่ใช่วันนี้

เพราะขีดความสามารถทางทหารของจีนวันนี้ก้าวไปไกลกว่าเดิมมากมายนัก

เริ่มมีการออกข่าวว่า ถ้าเปโลซีตัดสินใจเยือนไต้หวันจริง จีนอาจจะใช้วิธีการสกัดทางอากาศด้วยการส่งเครื่องบินรบขึ้นไปประกบกลางหาวเพื่อไม่ให้เครื่องบินโดยสารของเธอลงจอดไต้หวัน

เป็นไปได้ไหมที่ปักกิ่งอาจจะตัดสินใจประกาศน่านฟ้าเหนือไต้หวันเป็น “เขตห้ามบิน” หรือ No-Fly Zone เพื่อไม่ให้เครื่องบินของเปโลซีร่อนลงได้?

นั่นอาจจะเป็นการปล่อยข่าวเพื่อขู่อเมริกา

แต่ก็สร้างความตื่นเต้นสยดสยองในมวลหมู่นักการเมืองทั้งบนเกาะไต้หวัน, แผ่นดินใหญ่จีนและสหรัฐฯ

เดิมเปโลซีมีแผนจะไปเยือนไต้หวันในเดือนเมษายน แต่ถูกเลื่อนออกไปหลังติดโควิด-19

หลังจากนั้นเธอก็ปิดปากเงียบ ไม่ตอบคำถามว่าตกลงเธอจะมาไทเปหรือไม่ และมาเมื่อไหร่

จังหวะเวลาเป็นเรื่องสำคัญ เพราะมีข่าวก่อนหน้านี้ว่าเธอและคณะจะมาเยือนไทเปตรงกับการเฉลิมฉลองของจีนในวันครบรอบ 1 ส.ค. ของการก่อตั้งกองทัพปลดแอกประชาชน ซึ่งจีนถือว่าเป็นการเหยียบจมูกผู้นำปักกิ่งกันเลยทีเดียว

อีกทั้งเป็นช่วงเวลาที่มีการนัดคุยกันทางโทรศัพท์ระหว่างประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ กับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน

สำหรับสี จิ้นผิง แล้ว ประเด็นไต้หวันมีความสำคัญสำหรับการกระชับอำนาจทางการเมืองในจีนมาก            

เพราะการประชุมใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในปลายปีนี้จะประกาศต่อเทอมการบริหารประเทศไปอีกหนึ่งสมัย คือวาระ  5 ปี ของสมัยที่ 3

สี จิ้นผิง จะยอมให้สหรัฐฯ มาท้าทายอำนาจและบารมีของตนในประเด็นละเอียดอ่อนอย่างไต้หวันไม่ได้เป็นอันขาด

แล้วผู้นำไต้หวันมองเรื่องนี้อย่างไร?

ประธานาธิบดีไช่ อิงเหวิน ได้ให้การต้อนรับบุคคลสำคัญจากต่างประเทศ ไม่ว่าจากสหรัฐฯ ยุโรป และเอเชียมาตลอด

เธอใช้การมาเยือนของอาคันตุกะต่างชาติที่จีนคัดค้านเป็นปราการยันจีนเอาไว้มาตลอด

ดังนั้นสำหรับเธอแล้วการมาเยือนของเปโลซีจะช่วยเสริมอำนาจต่อรองของเธอได้อีกชั้นหนึ่ง

ไต้หวันจัดการซ้อมรบอย่างสม่ำเสมอ และครั้งล่าสุดเธอก็ไปร่วมสังเกตการณ์ด้วยตนเองเพื่อสะท้อนถึงความสำคัญของการสร้างแสนยานุภาพทางทหาร เพื่อตั้งรับกับสถานการณ์อันไม่พึงปรารถนาจากแผ่นดินใหญ่

แม้การซ้อมรบครั้งนี้จะไม่มีส่วนสัมพันธ์กับการมาเยือนของเปโลซี แต่การซ้อมรบของทั้งจีนและไต้หวันก็มีฉากการบุกไต้หวันของกองทัพจีนเหมือนๆ กัน!.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สงครามพม่า: ไทยอาจมีสภาพเหมือน ‘โปแลนด์’ ของสงครามยูเครน?

ข้อสังเกตของอาจารย์สุรชาติ บำรุงสุข ว่าไทยอาจกลายเป็น “โปแลนด์” ในกรณีสงครามกลางเมืองพม่า เป็นประเด็นที่น่าสนใจสำหรับการวางยุทธศาสตร์ของไทยต่อสถานการณ์รอบบ้านเรา

ทำไม IMF กับ Apple ของจีนกันคนละมุม?

สองคนมองสองมุม ผู้อำนวยการ IMF เตือนว่าเศรษฐกิจจีนอยู่ในช่วงมาถึง “ทางสองแพร่ง” ต้องเลือกระหว่างนโยบายในอดีตหรือ “การปฏิรูปตลาด” เพื่อปลดล็อกการเติบโต

ปูติน-เซเลนสกีแลกหมัด กรณีเหตุก่อการร้ายมอสโก

ตกลงใครอยู่เบื้องหลังเหตุก่อการร้ายต่อโรงคอนเสิร์ตชานเมืองมอสโกที่มีคนตายกว่า 130 คนเมื่อค่ำวันศุกร์ที่ผ่านมา จนกลายเป็นเหตุการณ์ระดับโลก?

คำเตือนก่อเหตุร้ายมอสโก มาจากตะวันตกก่อน 2 สัปดาห์

สองสัปดาห์ก่อนเกิดเรื่องใหญ่เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา สหรัฐฯเตือนคนของตนในรัสเซียให้หลีกเลี่ยงที่ชุมนุมชนในกรุงมอสโกเพราะอาจจะมีการโจมตีของผู้ก่อการร้าย