มะกันเข้าสู่ภาวะ‘ถดถอย’หรือยัง? อย่าลืมปัจจัย‘อารมณ์-ความรู้สึก’

เป็นที่ถกเถียงกันอย่างกว้างขวางว่า หลังจากได้เห็นตัวเลขติดลบของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ล่าสุดแล้ว ถือได้ว่าเข้าสู่ภาวะ “เศรษฐกิจถดถอย” แล้วหรือยัง

ว่ากันตามหลักวิชาการเขาเรียกว่า ‘technical recession’ หรือ “ถดถอยทางเทคนิค”

นั่นคือภาษานักวิชาการที่ถือหลักว่าหากจีดีพีของประเทศติดลบ 2 ไตรมาสติดต่อกันก็เข้าข่าย recession

แต่รัฐบาลสหรัฐฯ ตั้งแต่ตัวประธานาธิบดีโจ ไบเดน ถึงรัฐมนตรีคลัง  เจเน็ต เยลเลน ถึงประธานธนาคารกลางเจโรม เพาเวลล์ ต่างก็ยืนยันว่าต้องดูตัวเลขเศรษฐกิจอื่นๆ เช่นการจ้างงานและการใช้จ่ายด้วย จึงจะสามารถสรุปได้ว่าเข้าสู่ภาวะถดถอยหรือไม่

สำหรับประชาชนแล้ว การถกเถียงระหว่างนักวิชาการกับนักการเมืองเป็นเพียงเรื่อง “เทคนิค”

แต่ชีวิตความเป็นอยู่จริงๆ ของชาวบ้านนั้น มัน “ถดถอย” สำหรับคนจำนวนไม่น้อย...และ “เฟื่องฟู” สำหรับคนอีกจำนวนหนึ่งที่ได้ประโยชน์จากวิกฤตเศรษฐกิจ

จึงเป็นเรื่องที่ใครจะมองจากมุมไหน และจะใช้ตัวเลขชุดไหนในการวิเคราะห์เท่านั้นเอง

นักวิเคราะห์หลายค่ายอธิบายว่า แม้ตัวเลขทางเทคนิคจะเข้าโซน “ถดถอย” แต่ก็ไม่ได้แปลว่าเศรษฐกิจ​สหรัฐฯ เข้าสู่ “การชะลอตัวอย่างรุนแรง”

ช่วงครึ่งปีแรกนั้น อเมริกาเจอปัญหาเงินเฟ้อ​หนักที่สุดในหลายสิบปี

มีผลทำให้ผู้คนชะลอการลงทุนและการบริโภค​ โดยเฉพาะภาคอสังหาริมทรัพย์ เพราะต้นทุนการกู้บ้านพุ่งสูง มีผลส่งให้ยอดการก่อสร้างบ้านใหม่หดตัวลง ตลาดอสังหาฯ ก็ซึมลงอย่างชัดเจน

​                    พอถึงไตรมาสสอง เมื่อ Fed ขึ้นดอกเบี้ยแรง​ ก็มีผลทำให้ใช้จ่ายภายในประเทศก็อ่อนแอลงในระดับหนึ่ง

บางคนเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า pre-recession

หรือ “อาการ” ที่ส่อไปในทางถดถอย แต่ยังไม่ถดถอยจริง

ที่นักลงทุนกังวลคือเศรษฐกิจอเมริกันจะเข้าสู่ภาวะถดถอยจริงก็คือ หากถึงต้นปีหน้ายังไม่สามารถแก้ปัญหา​เงินเฟ้อ​ได้​ 

ซึ่งแปลว่า Fed จะต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยแรงต่อเนื่อง​อีก

บางคนตั้งข้อสงสัยว่า การใช้ “ยาแรง” ต่อเนื่องอาจจะจงใจให้คนไข้ล้มหมอนนอนเสื่อสักพัก

นั่นคือให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจลดความร้อนแรงจริงๆ ด้วยการต้อง “ตัดขา” ไม่ให้วิ่งเร็วเกินไปนัก

อาการที่จะทำให้มีการยืนยันว่าเศรษฐกิจถดถอยจริง ต้องดูที่อัตราการว่างงานที่จะเพิ่มขึ้นมากน้อยเพียงใด

และตัวเลขการใช้จ่ายจริงที่จะไม่ใช่เพียงการคำนวณทางเทคนิคเท่านั้น

ทุกวันนี้ อัตราการว่างงานของสหรัฐฯยังถือว่าต่ำ​ 

และคนก็ยังพร้อมจะจับจ่ายใช้สอย

คนยังพร้อมใช้เงินซื้อข้าวของแม้จะแพงขึ้น

ถ้าอัตราเงินเฟ้อลดลงอย่างมีนัย​สำคัญ​ ราคาสินค้าก็คาดว่าจะลดลง และกำลัง​ซื้อของคนสหรัฐฯ ​ในวันข้างหน้าก็กระเตื้องกลับมาได้

นักวิเคราะห์บางสำนักเชื่อว่า แม้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังไม่เข้าภาวะถดถอย แต่ที่ปฏิเสธไม่ได้คือจะโตช้าลง

ก็ด้วยปัญหาเงินเฟ้อที่ทำให้ต้องเร่งขึ้นอัตรา​ดอกเ​บี้​ย​

ซึ่งอาจจะทำให้อัตราโตจีดีพีของสหรัฐฯ ปีนี้และปีหน้าต่ำ​ 2%

ค่ายนี้วิเคราะห์ว่า ถ้าปีหน้า Fed ลดดอกเบี้ยเพราะสามารถจัดการกับปัญหาเงินเฟ้อได้ ทุกอย่างก็น่าจะดูดีขึ้น

เพราะถ้าดอกเบี้ยลดลง​ นักลงทุนก็จะยินดีโดยเชื่อว่าสภาพ​คล่องที่ดีขึ้นจะกลับมาพยุงมูลค่าสินทรัพย์​ 

นั่นแปลว่า การลงทุน​ในสินทรัพย์​เสี่ยงน่าจะกลับมาดีขึ้น​ 

ในมุมมองของคณะกรรมการของสำนักวิจัยเศรษฐกิจแห่งชาติสหรัฐฯ  หรือ National Bureau of Economic Research (NBER) ตัวเลขโตจีดีพีไม่ได้เป็นดัชนีหลักที่จะกำหนดว่าเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอยแล้วหรือยังเสมอไป

โดยอ้างตัวเลขการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น 475,000 ตำแหน่งในปีนี้ ที่ทำให้องค์กรนี้ยืนยันว่าสหรัฐฯ ยังไม่เข้าสู่ Recession 

NBER บอกว่านอกจากตัวเลขจ้างงานดีขึ้นแล้ว การใช้จ่ายผู้บริโภค การลงทุนของภาคเอกชนต่างก็ส่งสัญญาณเชิงบวก 

ถามว่าเขาใช้อะไรวัดว่าเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอยหรือไม่ 

คำตอบคือ NBER อ้างถึง 6 ปัจจัย ได้แก่

รายได้ที่แท้จริงของบุคคลหักออกด้วยรายจ่าย

ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร

ตัวเลขการจ้างงานจากการเก็บสถิติของสำนักงานสถิติแรงงานสหรัฐฯ

รายจ่ายการบริโภคที่แท้จริง

ยอดขายที่ปรับด้วยความผันผวนของราคา

การผลิตภาคอุตสาหกรรม 

ซึ่งเขาบวกลบคูณหารปัจจัยต่างๆ เหล่านี้แล้วก็สรุปว่า “อย่าเพิ่งด่วนสรุป”

แต่นั่นไม่ได้แปลว่าความกังวลเรื่อง recession จะหมดไป

ก็เพราะเงินเฟ้อกับดอกเบี้ยที่ยังอาละวาดอยู่ในตลาดนี่แหละ

อีกทั้งยังมีปัจจัยเรื่อง “จิตวิทยา” ของผู้คนอีกด้วย

ภาษาเศรษฐศาสตร์เรียก “อารมณ์คน” หรือ Sentiment 

ต้องยอมรับว่าความรู้สึกของคนทั่วไปต่อเศรษฐกิจนั้นอยู่ในเชิงลบ

และเป็นเชิงลบที่อยู่ในระดับไม่เคยได้สัมผัสมาก่อน

พูดง่ายๆ คือ ถ้าคนทั้งหลายเกิดความหวาดกลัว ไม่มีอารมณ์ใช้จ่าย ไม่มีอารมณ์ลงทุน ไม่มีอารมณ์จะผลิตเพิ่ม

วันนี้ในหลายๆ วงการเริ่มจะมี “ความรู้สึก” ว่าจะไปทิศทางนั้นมากขึ้นหากสถานการณ์ไม่กระเตื้องขึ้นในเร็ววัน

นั่นแหละคือสัญญาณอันตรายของจริง!

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เชื่อไหม:อิสราเอลกับ อิหร่านเคยรักกัน?

อิสราเอลกับอิหร่านเปิดศึกสงครามที่สร้างความสั่นสะเทือนไปทั่วโลกวันนี้ มีคำถามว่าทั้ง 2 ชาตินี้กลายเป็นศัตรูคู่อาฆาตกันอย่างรุนแรงเช่นนี้มาตั้งแต่เมื่อไหร่ และมีเหตุผลแห่งความบาดหมางกันอย่างไร

จีน-อินเดีย: 'สันติภาพร้อน' ที่ทำให้ร่วมแก้วิกฤตพม่าไม่ได้

วิกฤตพม่าทำให้ผมคิดถึงความความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอินเดียวันนี้ เพราะหากสองยักษ์แห่งเอเชียทำงานร่วมกัน ไทยก็อาจจะเป็นมือประสานให้เกิดกระบวนการเจรจาในพม่าได้

บทเรียนสีหนุวิลล์สำหรับไทย

ความสัมพันธ์อันใกล้ชิดของจีนกับกัมพูชามาในหลายรูปแบบ...และหนึ่งในนั้นคือการสร้างสีหนุวิลล์เป็นศูนย์กลางด้านความบันเทิง หรือที่เรียกว่า Entertainment Complex

อิหร่าน-อิสราเอล: ทุกฉากทัศน์ล้วนเสี่ยงสูง

คณะรัฐมนตรีสงครามหรือ War Cabinet ของอิสราเอลประชุมกันเคร่งเครียดมาหลายรอบ...สรุปได้เพียงว่าจะต้องตอบโต้อิหร่านแน่...แต่ไม่ระบุว่าเมื่อไหร่และด้วยยุทธการแบบใด

สิงคโปร์ผลัดใบการเมืองครั้งสำคัญ ‘หลี่’ (72) ส่งไม้ต่อ ‘หว่อง’ (52)

นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของสิงคโปร์ Lawrence Wong ที่จะรับตำแหน่งอย่างเป็นทางการวันที่ 15 พฤษภาคมนี้ต้องถือว่ามาจากครอบครัวชนชั้นทำงานจริง ๆ